มาตรฐาน Dolby Atmos และ DTS:X เป็นมาตรฐานของ ระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งคู่มอบประสบการณ์ในการรับฟังเสียงแบบรอบทิศทางอย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝนตก หรือเครื่องบินที่บินผ่านเหนือหัวคุณ หากมีฉากที่รถแล่นผ่านบนหน้าจอ คุณก็จะได้ยินเสียงรถเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวา นี่เป็นความสุนทรีย์ของระบบเสียงรอบทิศทางที่ทำให้หลายคนหลงใหล
ระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound) นั้นหมายถึงระบบเสียงที่ให้ประสบการณ์ในการฟังที่มีมิติมากขึ้น ไม่ได้มีทิศทางเสียงที่มาจากด้านหน้าผ่านลำโพงเพียง 1 หรือ 2 ตัว แต่จะเป็นเสียงที่มาจากลำโพงหลายตัวที่อยู่รอบตัวของผู้ฟัง ซึ่งการจะทำให้เกิดมิติเสียงได้ก็จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งมาตรฐานที่นิยมใช้งานกันในปัจจุบันนี้ ก็จะมี Dolby Atmos และ DTS:X
หลักการทำงานของระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound) ให้ลองจินตนาการว่า มีลำโพงอยู่รายล้อมตัวผู้ฟัง เพื่อสร้างพื้นที่เสียงขึ้นมา โดยจะเรียกว่า "Sound" จากนั้นวิศวกรเสียง (Sound engineer) จะทำการตัดแบ่ง "เสียง" ออกเป็นชิ้นส่วน เพื่อนำไปจัดตำแหน่ง ว่าจะให้เสียงเล่นออกจากลำโพงตัวไหน เช่น ถ้ามีรถวิ่งผ่าน ก็กำหนดลำดับการเล่นเสียงจาก ลำโพงซ้าย ไปยังลำโพงขวา ก่อนจะไปจนที่ลำโพงด้านหลัง เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ยินคือ เหมือนมีรถแล่นผ่านเราไปอย่างสมจริง
ภาพจาก : https://www.electronicexpress.com/brands/enclave
ระบบเสียงรอบทิศทางที่เก่าแก่ และมีมานานแล้วก็คือ ระบบเสียงแบบ 5.1 และ 7.1 โดยระบบนี้ภาพยนตร์ หรือรายการทีวี จะมีการมิกซ์เสียงแยกออกเป็น 6 หรือ 8 ช่องทาง ประกอบไปด้วย ซ้าย, ขวา, กลาง, กลางซ้าย, กลางขวา และซับวูฟเฟอร์ ถ้าเป็น 7.1 ก็จะเพิ่มเฉียงซ้าย และเฉียงขวาเข้ามา
แต่ต่อมาได้มีความพยายามเพิ่มคุณภาพเสียงรอบทิศทางให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมาตรฐานของระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound) ก็จะมีอยู่หลายมาตรฐาน และรองรับจำนวนลำโพงได้แตกต่างกัน แต่ที่นิยมใช้งานกัน ก็จะมีมาตรฐาน Dolby Atmos และ DTS:X
Dobly Atmos เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานเป็นครั้งแรกภายที่โรงภาพยนตร์ในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ. 2555) พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Dolby Laboratories มันมีความแตกต่างจากระบบเสียงรอบทิศทางแบบดั้งเดิมตรงที่มีการเพิ่ม "ความสูง" เข้ามาในระบบ ทำให้เกิดระบบเสียงแบบ 3 มิติ ซึ่งหากเป็นระบบเก่าจะมีแค่เสียง "แนวตั้ง" กับ "แนวนอน" เท่านั้น หลังจากที่ทำตลาดในโรงภาพยนตร์จนประสบความสำเร็จ ก็เริ่มต่อยอดเข้าสู่ระบบเครื่องเสียงภายในบ้าน
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้อธิบายไปว่า Dobly Atmos มีการเพิ่ม "ความสูง" เข้ามาในระบบเสียง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ทาง Dolby จึงแนะนำว่าต้องมี "ลำโพงเพดาน" ด้วย
ซึ่งการติดตั้งลำโพงบนเพนดานนั้นไม่ง่าย หากไม่ใช่ผู้เล่นเครื่องเสียงแบบจริงจัง คงไม่มีใครลงทุนติดตั้งลำโพงเอาไว้บนเพดาน แต่โชคดีที่ยังพอมีทางเลือกอื่นที่พอจะทดแทนได้ ด้วยการใช้ทีวี, ลำโพง หรือซาวด์บาร์ ที่ได้รับการรับรอง Dolby Atmos-certified โดยมันจะใช้วิธีปล่อยเสียงขึ้นไปสะท้อนกับเพดานแทน ซึ่งก็ช่วยให้ได้ประสบการณ์เสียงรอบทิศทางที่ใกล้เคียงเหมือนมีลำโพงเพดานในระดับที่น่าพงพอใจ
ภาพจาก : https://www.smartprix.com/bytes/dolby-atmos/
Dolby Atmos จะมีรูปแบบการจัดวางลำโพง โดยเรียกเป็นตัวเลข เช่น 5.1.2 ซึ่ง "5" เลขตัวแรกจะหมายถึงจำนวนลำโพงบนพื้น ถัดมาหลักที่สอง "1" จะหมายถึงจำนวนลำโพงซับวูฟเฟอร์ และหลักสุดท้าย "2" จะหมายถึงจำนวนลำโพงเพดาน หรือลำโพงที่ได้รับการรับรอง Dolby Atmos-certified
สำหรับรูปแบบการจัดวางก็จะมีทั้งหมด ดังต่อไปนี้
DTS:X เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากระบบเครื่องเสียงภายในบ้าน เปิดตัวในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โดยมีเป้าหมายในการทำงานเหมือนกับ Dolby Atmos
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการทำงานของ DTS:X มีความแตกต่างจาก Dolby Atmos ตรงที่มันใช้แพลตฟอร์ม Multi-Dimensional Audio (MDA) ซึ่งเป็นแบบ โอเพ่นซอร์ส (Open-Source) เป็นรากฐานในการทำงาน พอเป็น Open-Source มันจึงอนุญาตให้ผู้ผลิตนำไปใช้ในการผลิตลำโพงแบบไหนก็ได้ที่รองรับเทคโนโลยี DTS:X ต่างจาก Dolby Atmos ซึ่งมีกรรมสิทธิ์คุ้มครองจำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการใช้งาน
อีกข้อดีของการที่มันเป็น Open-Source คือ ช่วยให้วิศวกรเสียงมีอิสระในการออกแบบวิธีจัดวางลำโพง อย่างไรก็ตาม นี่ก็อาจเป็นข้อเสียตรงที่การจัดวางลำโพง จะขาดความเที่ยงตรงเมื่อเทียบกับ Atmos และในระบบเสียง DTS:X ไม่บังคับว่าต้องใช้ลำโพงเพดานด้วย แต่ถ้ามีก็จะให้ประสบการณ์ที่ดีกว่า
ในการใช้งานระบบ DTS:X ครั้งแรก จะมีการเล่นเสียงที่ไมค์ในลำโพงจะตรวจจับได้ เพื่อวัดระยะห่าง และตำแหน่งของลำโพง จากนั้น สัญญาณเสียงจะถูกส่งไปเล่นยังลำโพงในตำแหน่งที่กำหนดโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ มันยังอนุญาตให้ผู้ใช้ปรับแต่งเสียงได้ด้วย เช่น เพิ่มระดับเสียงของลำโพงตัวกลาง เพื่อให้เสียงสนทนามีความชัดเจนมากขึ้น
และเนื่องจากการที่ DTS:X ไม่บังคับว่าต้องมีลำโพงเพดาน ดังนั้นในการจัดวาง จึงมีอิสระมากกว่า อาจจะเป็น 5.1, 7.1 หรือแม้แต่ 11.2 ก็ได้ โดยรองรับลำโพงได้สูงสุดถึง 32 ตัว และข้อดีอีกอย่างคือ หากคุณมีระบบเสียงรอบทิศทางแบบเดิมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็สามารถจะใช้กับระบบเสียง DTS:X ได้ด้วย โดยไม่ต้องอัปเกรดเพิ่ม
ภาพจาก : https://www.son-video.com/guide/dtsx-le-home-cinema-immersif
Dolby Atmos | DTS:X | |
ปีที่เปิดตัว | ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) | ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) |
จำนวนลำโพงที่รองรับ | 5.1.2, 5.1.4; 7.1.2, 7.1.4 | 5.1; 7.1 ฯลฯ |
ต้องการลำโพงเพดาน | ใช่ | ไม่จำเป็น |
การสนับสนุนย้อนหลัง | ใช่ (Dolby TrueHD) | ใช่ (DTS-HD Master Audio) |
บิทเรต (Bitrate) | 768 kbps | 1.5 Mbps |
Audio Tracks สูงสุด | 128 | ไม่จำกัด |
Speaker Feeds สูงสุด | 64 | 32 |
รองรับ Blu-ray | ใช่ | ใช่ |
รองรับวิดีโอเกม | ใช่ | ใช่ |
รองรับบริการ Streaming | ส่วนใหญ่รองรับ | มีน้อยมากที่รองรับ |
รองรับ HDMI | ใช่ | ใช่ |
การบีบอัด | Lossless |
ในแง่ของคุณสมบัติด้านการทำงานแล้ว เอาจริง ๆ มันก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ในส่วนของคุณภาพเสียงก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของลำโพงที่เลือกใช้งานมากกว่า แต่ในทางทฤษฏีแล้ว DTS:X สามารถรองรับการเข้ารหัสด้วยบิทเรต (Bitrate) ได้สูงกว่า Dolby Atmos แต่ในการฟังจริง ก็ยากที่จะแยกแยะความแตกต่างได้
Dolby Atmos ใช้การเข้ารหัสแบบบีบอัดได้ดีกว่า จึงทำให้มีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่า หมายความว่าผู้ผลิตสามารถใส่เนื้อหาลงไปได้มากกว่าด้วย แต่ประะเด็นนี้ก็อย่างที่เราว่าไป จะขนาดไฟล์เท่าไหร่ แต่เสียงก็แยกความแตกต่างได้ยากอยู่ดี
ดังนั้น Dolby Atmos หรือ DTS:X ดีกว่ากัน ? เราคิดว่าจำนวนเนื้อหาน่าจะเป็นคำตอบที่ตัดสินได้ดีกว่า ซึ่งในจุดนี้ Dolby Atmos ค่อนข้างเหนือกว่าอย่างชัดเจน เพราะแพร่หลาย และหาสื่อมารับชมได้ง่ายมาก Netflix, Disney+ Amazon Prime, Video, iTunes, Vudu และแผ่นภาพยนตร์ Blu-Ray ต่าง ๆ ล้วนแต่รองรับมาตรฐาน Dolby Atmos เพราะเป็นเทคโนโลยีที่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ใช้งานกันอยู่แล้ว ในขณะที่ DTS:X นั้น ไม่ค่อยมีสื่อที่รองรับมากนัก มักพบเจอได้แค่ในแผ่น Blu-ray เท่านั้น อนึ่ง Netflix นั้นรองรับทั้ง Dolby Atmos และ DTS:X
อีกข้อแตกต่างที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย ก็คือ DTS:X เป็นระบบเปิดที่สามารถใช้ลำโพงอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ลำโพงพกพา ส่วนใหญ่จะสามารถนำมาใช้งานในระบบได้เลย และสามารถจัดวางตำแหน่งลำโพงได้ค่อนข้างอิสระ ในขณะที่ Dolby Atmos จำเป็นต้องใช้ลำโพงที่ได้รับการรับรองเท่านั้น และจะมีข้อจำกัดในการจัดวางตำแหน่งลำโพงที่เข้มงวดกว่าด้วย
แต่สุดท้ายแล้ว อันที่จริงเราอาจจะไม่ต้องเลือก เครื่องเสียงที่รองรับ Dolby Atmos ส่วนใหญ่ก็จะรองรับ DTS:X อยู่แล้ว เพียงแต่เครื่องเสียงที่รองรับ DTS:X อาจจะไม่รองรับ Dolby Atmos เสมอไป ดังนั้น ถ้าไม่อยากเลือก ก็แค่ซื้อลำโพงเครื่องเสียงที่รองรับ Dolby Atmos มาใช้เท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าราคามันอาจจะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
2 พฤษภาคม 2567 14:01:47
|
||
GUEST |
Kanit
พวกคุณรู้ระบบ แต่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการจัดตำแหน่ง ของลำโพง โดยปกติลำโพงคู่หน้า จะมีระบุว่า L และ R ซึ่งหมายความว่า มีทั้งซ้ายและขวา ผมจึงอยากทราบว่า คุณจะวางลำโพงคู่หน้า ทางซ้ายมือหรือ ขวามือ ของทีวีหรือ ทางซ้ายมือหรือขวามือของเราที่นั่งชมทีวี ผมไม่เคยเห็นมีใครให้ความสำคัญ กับจุดนี้เลย เพราะ ถ้าหากเราวางถูกต้อง เวลาเราดูหนัง Action เช่น เกี่ยวกับการลบ เราก็จะได้ยินเสียงลูกกระสุน บินจากซ้ายไปขวา ตามหน้าจอทีวีที่เราดู หรือ พุ่งจากจอทีวีมาหาเรา
|
|