ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? ต่างจากหูฟังปกติอย่างไร ? และข้อดี-ข้อเสีย

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? ต่างจากหูฟังปกติอย่างไร ? และข้อดี-ข้อเสีย
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/headphone-concept-illustration_8610295.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 2,927
เขียนโดย :
0 %E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? ต่างจากหูฟังปกติอย่างไร ? และข้อดี-ข้อเสีย

หากคุณได้มีโอกาสได้ฟังเพลงจากหูฟัง หรือลำโพงที่มีคุณภาพสูงเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเกิดสัมผัสรับรู้ที่คล้ายคลึงกันว่า "เอ๊ะ มันมีเสียงเครื่องดนตรีชนิดนี้ ตรงจังหวะนี้ด้วยเหรอ ?" เนื่องจากหูฟังที่มีคุณภาพสูงจะสามารถแสดงรายละเอียดเสียงได้ดี เก็บมาครบทุกเม็ด ในขณะที่หูฟัง หรือลำโพงคุณภาพต่ำมักจะพลาดไม่สามารถเล่นเสียงเหล่านั้นออกมาให้ผู้ฟังได้ยินได้

บทความเกี่ยวกับ Headphone อื่นๆ

ในการฟังเพลงสำหรับคนทั่วไป รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ อาจสามารถมองข้ามไปได้ แต่สำหรับมืออาชีพที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเสียง หรือนักฟังเพลงที่ต้องการสัมผัสกับความละเมียดละไมในการเรียบเรียงที่สุดแสนประณีตจากตัวศิลปินอย่างครบถ้วน พวกเขาจำเป็นต้องได้ยินเสียงอย่างครบถ้วน และถูกต้อง

นั่นจึงมีการผลิตหูฟังคุณภาพสูงที่สามารถเล่นเสียงได้อย่างแม่นยำออกมา ซึ่งมันเรียกว่า "หูฟังมอนิเตอร์ (Monitor Headphone)" ทั้งนี้ หูฟังคุณภาพสูงอาจไม่จำเป็นต้องเป็นหูฟังมอนิเตอร์ เสมอไป และถึงแม้ว่าหูฟังแบบมอนิเตอร์จะเล่นเสียงได้อย่างละเอียด แต่มันก็ไม่ใช่หูฟังที่เหมาะกับทุกคน ด้วยเหตุผลหลายอย่าง

ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายความแตกต่างระหว่างหูฟังปกติ กับหูฟังมอนิเตอร์ ให้เข้าใจกันมากขึ้น

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? (What is Monitor Headphone ?)

อันที่จริงก็ตามชื่อของมันเลย คำว่า "มอนิเตอร์ (Monitor)" ซึ่งก็แปลว่า การเฝ้าสังเกต หรือ การสังเกตการณ์ หูฟังมอนิเตอร์ ก็คือหูฟังที่เอาไว้ใช้ในการตรวจฟังเสียงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการฟังเสียงในห้องอัด หรือดักฟังการสื่อสารของกองทัพศัตรูก็ตาม หากนิยามมันก็คือหูฟังที่ใช้ในการตรวจสอบ หรือฟังเสียงอะไรสักอย่าง

สำหรับหูฟังมอนิเตอร์ ในบทความนี้ เราจะหมายถึงหูฟังระดับมืออาชีพที่ใช้งานกันในขั้นตอนบันทึกเสียง ไม่ว่าจะเป็นในสตูดิโอเพลง หรือกองถ่ายงานวิดีโอ ทำให้บ่อยครั้งที่หูฟังมอนิเตอร์ มีอีกชื่อเรียกคือ "หูฟังสตูดิโอ (Studio Headphone)" นั่นเอง

โดยหูฟังมอนิเตอร์ ถูกออกแบบมาให้มันสามารถเล่นเสียงได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่ถูกบันทึกมากที่สุด โดยปราศจากการปรุงแต่งเสียง ด้วยความที่มันเล่นเสียงด้วยความถี่ที่ค่อนข้างเรียบ ทำให้เสียงมีความใส และสมจริง การนำหูฟังประเภทนี้มาใช้ฟังเพลงจึงให้ประสบการณ์ที่ดีเช่นกัน

การออกแบบหูฟังมอนิเตอร์ จะเป็นไปตามรูปแบบในการใช้งาน เช่น นักร้องจะใช้หูฟังแบบปิด (Closed-Back Headphone) เพราะต้องฟังเสียงเครื่องดนตรีในขณะที่ร้อง การใช้หูฟังแบบปิดจะช่วยไม่ให้เสียงเล็ดลอดออกจากหูฟังไปเข้าไมค์บันทึกเสียง ในขณะที่วิศวกรด้านเสียง (Sound Engineer) ที่มิกซ์เสียงไม่ต้องกังวลกับปัญหาดังกล่าว

หูฟัง Audio-Technica รุ่น ATH-R70x
Audio-Technica - ATH-R70x
ภาพจาก : https://www.audio-technica.com/en-us/ath-r70x

หูฟังมอนิเตอร์ แตกต่างจากหูฟังทั่วไปอย่างไร ? (How is Monitor Headphone different from Regular Headphone ?)

สิ่งแรกที่ทำให้มันมีความแตกต่างกันคือหูฟังทั่วไป เป็นหูฟังที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานทั่วไปตามชื่อของมัน ในขณะที่หูฟังมอนิเตอร์ ไม่ได้เป็นแบบนั้น

ความแตกต่างประการแรกคือลักษณะของเสียง หูฟังทั่วไปทางผู้ผลิตจะมีการออกแบบ และปรับแต่งเสียงมาพิเศษ ให้เน้นไปในโทนเสียงใด โทนเสียงหนึ่งเป็นพิเศษ บางค่ายจะมีการจูนลักษณะเสียงจนเป็นเอกลักษณ์ของค่ายไปเลย เช่น หูฟังของ Beats by Dr. Dre จะขึ้นชื่อเรื่องเสียงเบสที่หนักเป็นพิเศษ, B&O จะมาในแนวนุ่มฟังสบาย ๆ ฯลฯ

หูฟัง Beats by Dr. Dre
ภาพจาก : https://www.beatsbydre.com/

นอกจากเรื่องของลักษณะเสียงแล้ว หูฟังมอนิเตอร์ ส่วนมากมักต้องการพลังงานในการขับเสียงที่สูงกว่าหูฟังทั่วไป เพราะมีค่าโอห์ม (Ohm Ω) สูงกว่าหูฟังทั่วไป หากคุณใช้หูฟังมอนิเตอร์ มาต่อฟังโดยตรงก็อาจทำให้ได้ยินเสียงค่อนข้างเบา หรือแทบไม่ได้ยินเลย

ในเรื่องของวัสดุ และงานประกอบ หูฟังมอนิเตอร์ เนื่องจากออกแบบมาให้ใช้ทำงาน เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ ไม่ใช่แกดเจ็ตเพื่อความบันเทิง ดังนั้น มันจึงมักใช้วัสดุที่มีความทนทานสูง, ตัวหูฟังมักมีการแยกชิ้นส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการปรับแต่ง และบำรุงรักษา

เรื่องสุดท้ายคือความสบายในการสวมใส่ เพราะในการทำงานกับเสียง ตัววิศวกรเสียงมักจะต้องสวมใส่หูฟังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ดังนั้น ตัวหูฟังจึงถูกออกแบบ และเลือกใช้วัสดุที่ช่วยเพิ่มความสบายในการสวมใส่มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ข้อดีของการใช้ หูฟังมอนิเตอร์ (Pros of using Monitor Headphone)

ตอบสนองต่อย่านความถี่เสียงแบบ Flat

หูฟังมอนิเตอร์ ถูกพัฒนาให้ตอบสนองต่อย่านความถี่เสียงแบบ Flat นั่นหมายความว่าเสียงที่คุณได้ยิน จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ศิลปิน หรือโปรดิวเซอร์อยากให้เป็น ไม่มีการเพิ่มเสียงเบส หรือเสียงสูงให้ต่างไปจากต้นฉบับ แต่ผู้ใช้สามารถมาปรับแต่งเสียงผ่านการตั้งค่าอีควอไลเซอร์ (Equalizer) เพิ่มเติมได้ตามความต้องการ แต่ถ้าเราเลือกที่จะทำแบบนั้น มันก็ขัดต่อจุดประสงค์ในการใช้งานหูฟังมอนิเตอร์

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? ต่างจากหูฟังปกติอย่างไร ? และข้อดี-ข้อเสีย
ภาพจาก : https://www.headphonesty.com/2020/08/what-are-monitor-headphones/

มีขอบเขตย่านความถี่เสียงที่กว้างกว่า

หูของมนุษย์ส่วนใหญ่สามารถตอบสนองต่อย่านความถี่ตั้งแต่ 20 Hz ถึง 20,000 Hz ซึ่งหูฟังมอนิเตอร์ ที่ดีส่วนใหญ่สามารถเล่นเสียงอย่างครบถ้วน

หากคุณเป็นศิลปิน หรือวิศวกรเสียง มันมีความจำเป็นอย่างมาก ที่คุณจะต้องได้ยินข้อมูลเสียงทั้งหมดให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้การทำงานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? ต่างจากหูฟังปกติอย่างไร ? และข้อดี-ข้อเสีย
ภาพจาก : https://guitargearfinder.com/guides/best-daws-for-guitar/

มีความทนทาน และสวมใส่สบาย

อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของหูฟังมอนิเตอร์ ก็จะเป็นเรื่องความทนทาน และการออกแบบที่เน้นความสบายในการสวมใส่ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ใช้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นการทำงานโดยเฉพาะ นอกจากโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และน้ำหนักเบาแล้ว ฟองน้ำที่ครอบหูก็จะใช้วัสดุที่นุ่มเป็นพิเศษ ผู้ใช้สามารถใช้งานหูฟังต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้โดยไม่รู้สึกหนักหัว หรือปวดทับใบหู

อย่างไรก็ตาม ขนาดของตัวหูฟังมอนิเตอร์ มักจะมีความเทอะทะ และมีดีไซน์ที่ขาดความแฟชั่นไปเมื่อเทียบกับหูฟังทั่วไป

เสียงที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง

มันเป็นข้อดี แต่อาจเป็นข้อเสียของผู้ฟังบางกลุ่มได้เช่นกัน เพราะหูฟังมอนิเตอร์ จะไม่มีการเพิ่มเสียงเบส หรือเสียงสูง มันจึงให้ประสบการณ์ในการฟังเพลงที่แตกต่างไปจากหูฟังทั่วไปเป็นอย่างมาก เพลงที่คุณเคยฟังอาจรู้สึกแตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจน ส่วนจะดีขึ้นหรือแย่ลง ก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล

ข้อเสียของการใช้ หูฟังมอนิเตอร์ (Cons of using Monitor Headphone)

หูฟังมอนิเตอร์ ส่วนใหญ่มักต้องการพลังงานในการขับเสียงสูงกว่าหูฟังทั่วไป ดังนั้น หากต้องการซื้อหูฟังประเภทนี้มาใช้ อาจต้องนำเครื่องเล่นเพลงที่ใช้งานอยู่ไปทดสอบด้วย ว่ามีกำลังในการขับเสียงพอหรือไม่ ? 

หรือไม่ก็ต้องใช้ AMP หรือ DAC/AMP เข้ามาช่วยในการขับเสียง แทนการต่อตรง เพื่อให้สามารถเล่นเสียงออกมาได้ แต่ก็จะมีข้อเสียตรงความสะดวกในการพกพาที่ลำบากมากขึ้น

หูฟังมอนิเตอร์ คืออะไร ? ต่างจากหูฟังปกติอย่างไร ? และข้อดี-ข้อเสีย
ภาพจาก : https://www.headfonia.com/fiio-q3-review/

หูฟังมอนิเตอร์ เหมาะสำหรับการฟังเพลงหรือไม่ ? (Is Monitor Headphone suitable for listening to music ?)

ถึงเราจะบอกว่าเสียงของหูฟังมอนิเตอร์ จะแสดงรายละเอียดเสียงได้ดี เก็บมาครบทุกย่าน แต่ถ้าถามว่ามันเหมาะกับการฟังเพลงหรือไม่ ? สำหรับนักฟังเพลงทั่วไปแล้ว น่าเสียดายที่เราต้องตอบว่า "ไม่"

เหตุผลก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ชอบเสียงที่มี Equalizer เป็นทรงตัว "V" มากกว่า คือเบสหนัก เสียงแหลมสูง เพราะมันฟังเพลงได้สนุกกว่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหูฟังทั่วไปที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ทางผู้ผลิตได้พยายามปรับแต่งเสียงให้ออกมาแบบนั้น คำว่า "Extra Bass" ที่พิมพ์อยู่บนกล่องหูฟัง เป็นการตลาดชั้นดี ที่ทำให้ผู้บริโภคอยากจะตัดสินใจซื้อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด อย่างเช่น เวลาเราฟังเพลง EDM เราก็อยากสัมผัสกับเบสที่กระแทกใส่หูมาเป็นลูก ๆ มากกว่า

การปรับแต่งเสียงผ่าน อีควอไลเซอร์ (Equalizer)
ภาพจาก : https://www.headfonia.com/eq-to-the-rescue/3/

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า หูฟังมอนิเตอร์ จะไม่เหมาะกับการฟังเพลงแต่อย่างใด แค่ความสนุกในการฟังมันเป็นอีกรูปแบบที่อาจไม่เหมาะกับทุกคนเท่านั้นเอง หากคุณอยากได้ยินเสียงเพลงในแบบที่ศิลปินอยากให้ได้ยิน ถ้าเป็นอย่างนั้น คำตอบก็คือ "ใช่" ครับ


ที่มา : descriptive.audio , www.headphonesty.com , www.therevolverclub.com , www.hifireport.com , williamssoundstudio.com

0 %E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น