ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?

ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?
ภาพจาก : https://www.soundproofbrosaudio.com/uploads/images/210119192559WFkR.jpg
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 811
เขียนโดย :
0 %E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A+Lightning+%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99+%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD+Bluetooth+%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

เนื้อหาภายในบทความ


ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?

บทความเกี่ยวกับ Apple อื่นๆ

ไม่นานมานี้ ระหว่างที่นอนไถ X (Twitter) อยู่ ก็ไปเจอเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับหูฟังแบบมีสายที่หัวเป็นแบบ Lightning โดยชายคนหนึ่งเขาเล่าว่า ได้ทำหูฟังหาย ก็เลยตัดสินใจซื้อหูฟังราคาถูกจากร้านกิ๊ฟช็อปที่อยู่ในสนามบินมาใช้แก้ขัดชั่วคราวระหว่างโดยสารบนเครื่องบิน แต่ปรากฏว่าพอนำมาเสียบกับ iPhone แล้ว มันกลับไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเขาได้ทำการเคลมสินค้า กับทางร้าน แต่เปลี่ยนอันก็แล้ว เปลี่ยนยี่ห้อก็แล้ว ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ จนในที่สุด ก็มีฮีโรที่ไม่ได้ใส่ผ้าคลุมเป็นลูกค้าแถวนั้นที่เห็นเหตุการณ์อยู่ เดินเข้ามาแนะนำว่า "คุณต้องต่อ บลูทูธ (Bluetooth) ด้วย" ซึ่งพอเขาทำตามคำแนะนำนั้น ปรากฏว่าหูฟังเส้นดังกล่าวก็ใช้งานได้จริง ๆ !

เป็นเรื่องราวที่อ่านแล้วสะดุดใจมาก เพราะผู้เขียนมีประสบการณ์ร่วมโดยตรง โดยมีน้องที่ออฟฟิศลืมเอา AirPods มาจากบ้าน น้องก็เลยไปซื้อหูฟังราคาถูกที่ 7-11 มาใช้แก้ขัด (ขออนุญาตไม่ระบุยี่ห้อ) เหตุการณ์ก็เหมือนย่อหน้าแรกเลยคือ เสียบแล้วเพลงไม่ดัง ไม่ได้ยินอะไรเลย พอน้องมาขอความช่วยเหลือ ก็มืด 8 ด้าน เช่นกัน แต่โชคดีที่ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบอ่านคู่มือ ซึ่งเจ้าหูฟังราคาถูกตัวนี้ก็ไม่มีคู่มือให้มาหรอก แต่สังเกตพบว่าบนกล่องบรรจุภัณฑ์มันมีเขียนคำแนะนำเอาไว้ว่าให้ "เปิดบลูทูธก่อนใช้งาน"

ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?
ภาพจาก : https://shop.asakithai.com/th/product/898739/SMALLTALK-ASAKI-A-K13MAX

สงสัยกันไหมว่า ? ในเมื่อมันเป็นหูฟังแบบมีสาย แล้วทำไมต้องเชื่อมต่อ Bluetooth ก่อนใช้งานด้วย ? คำตอบของเรื่องนี้น่าสนใจกว่าที่คิด มันเป็นความอัจฉริยะในการคิดนอกกรอบ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ผลิตรายไหนที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมาเป็นเจ้าแรก 

อุปกรณ์เสริมที่ใช้พอร์ต Lightning ต้องเข้าร่วม MFi Program (Accessories using the Lightning port must participate in the MFi Program)

พอร์ต Lightning เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อแบบ กรรมสิทธิ์ (Proprietary) ที่เป็นของ Apple ดังนั้น หากคุณต้องการผลิตอุปกรณ์เสริมขึ้นมารองรับพอร์ต Lightning ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ และขออนุญาตจากทาง Apple เสียก่อน

หลังจากที่ผ่านการทดสอบ และได้รับใบอนุญาตแล้ว ทางผู้ผลิตจึงจะสามารถแปะโลโก้ MFi (ย่อมาจาก Made for iPhone / iPod / iPad) ลงบนบรรจุภัณฑ์ได้ เป็นการรับประกันให้ลูกค้าที่เห็นรู้ว่า อุปกรณ์เสริมชิ้นนี้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ของ Apple ได้อย่างแน่นอน

ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/MFi_Program

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าร่วม MFi Program ทางผู้ผลิตจะต้องเสียค่าสมาชิกให้กับ Apple ปีละ $99 (ประมาณปีละ 3,651 บาท) แล้วยังมีค่าธรรมเนียมที่คิดเพิ่มตามจำนวนการผลิตอีก นั่นทำให้อุปกรณ์เสริมที่มีโลโก้ MFi ติดบนตัวผลิตภัณฑ์มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไปโดยปริยาย

และเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเราไปซื้ออุปกรณ์เสริมของ Apple ก็น่าจะสังเกตเห็นว่า แม้จะเป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวกัน สเปคเดียวกัน แต่รุ่นที่มีโลโก้ MFi อยู่จะมีราคาแพงกว่ารุ่นที่ไม่มีมาก ในการทำหูฟังแบบ Lightning จำเป็นต้องมี MFi เพื่อให้มันรับส่งข้อมูลเสียงได้ แต่ MFi Program เป็นกำแพงต้นทุน ที่ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม ไม่สามารถทำราคาสินค้าให้ถูกได้ แต่ถ้าไม่มี MFi ก็ไม่สามารถทำหูฟังแบบ Lightning ได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยความอัจฉริยะของใครสักคน ในที่สุดทางผู้ผลิตก็หาทางออกที่ทำให้ แม้หูฟังจะไม่มี MFi ก็ยังสามารถทำงานได้ ด้วยเหตุนี้จึง ทำให้เราเห็นหูฟัง Lightning ราคาถูกมีออกมาวางจำหน่ายมากมาย ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่นำมาใช้ในการลดต้นทุนต้องยอมรับว่า นี่มัน IQ200 ชัด ๆ

ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?
ภาพจาก : https://makeameme.org/meme/when-my-iq

พอร์ต Lightning จ่ายพลังงานได้อย่างเดียว ถ้าไม่มี MFi (The Lightning port can only provide power if there is no MFi)

ในกรณีที่ตัวอุปกรณ์เสริมไม่ผ่านการรับรอง MFi จะส่งผลให้ตัวอุปกรณ์เสริมดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมต่อเพื่อรับส่งข้อมูลกับ iPhone หรือ iPad ได้ จะทำได้แค่เพียงดึงพลังงานผ่านพอร์ต Lightning เท่านั้น

สัญญาณเสียงก็ถือเป็นข้อมูลชนิดหนึ่ง นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมหูฟังแบบ Lightning จำเป็นต้องมี MFi จึงจะทำงานได้

ทำไมหูฟังแบบ Lightning บางรุ่น ต้องต่อ Bluetooth ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ?
ภาพจาก : https://allegro.pl/oferta/razer-hammerhead-lightning-apple-ios-sluchawki-13179284103

แก้ปัญหาด้วย Bluetooth (Solve problems with Bluetooth)

ในเมื่อการทำหูฟังแบบมีสายต่อผ่านพอร์ต Lightning จะต้องเข้าร่วม MFi Program ซึ่งมันเป็นการเพิ่มต้นทุน ดังนั้น จึงมีผู้ผลิตหัวใสหาทางออกที่ทำให้หูฟังใช้งานได้ โดยไม่ต้องมี หรือเข้าร่วม MFi Program นั่นคือใช้เทคโนโลยี Bluetooth แทน

การเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เป็นเทคโนโลยีที่มีกำแพงราคาต่ำกว่า MFi แต่คำถามที่ตามมาคือ

ถ้าเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth แล้ว ทำไมถึงยังต้องทำเป็นหูฟังแบบมีสายต่อผ่าน Lightning อยู่ล่ะ ?

คำตอบก็เป็นเรื่องต้นทุนอีกเช่นเคย อย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มี หรือเข้าร่วม MFi Program ของทาง Apple แต่ตัวอุปกรณ์ก็ยังสามารถดึงพลังงานไฟฟ้าออกมาใช้ได้ ดังนั้น ถึงจะเป็นหูฟัง Bluetooth ที่เชื่อมต่อแบบไร้สายก็จริง แต่เพื่อลดต้นทุน จึงตัดแบตเตอรี่ออก แล้วดึงพลังงานมาจากสายผ่านพอร์ต Lightning แทน

ผลจึงออกมาเป็นหูฟังที่เชื่อมต่อแบบไร้สาย แต่ต้องมีสายเชื่อมต่อผ่านพอร์ต Lightning เพื่อให้มันทำงานได้ และไม่ต้องมี MFi ออกมาขายในราคาถูกได้นั่นเอง

ข้อดี และข้อเสีย ของหูฟังประเภทนี้ (Pros and Cons of this type of Headphones)

แม้การใช้ Bluetooth จะช่วยให้หูฟังทำงานได้โดยไม่ต้องมี MFi อย่างไรก็ตาม มันอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานได้ เพราะตามหลักการทำงานแล้ว คุณไม่ได้ใช้หูฟังแบบมีสายอยู่ และคุณไม่สามารถใช้งานมันได้ในขณะที่ปิด Bluetooth เอาไว้อยู่

อีกประเด็นหนึ่งคือ ในทางเทคนิคแล้วคุณภาพเสียงของหูฟังแบบไร้สาย ก็ไม่เทียบเท่ากับหูฟังแบบมีสายอีกด้งบ อย่างไรก็ตาม หูฟังประเภทนี้เป็นหูฟังราคาถูกที่ไม่ได้มีคุณภาพเสียงแต่แรกอยู่แล้ว

แล้วก็หูฟังประเภทนี้แม้จะถูกกว่าหูฟัง MFi แต่เอาจริง ๆ ก็ยังไม่ถูกเท่าหูฟังแบบมีสายจริง ๆ อยู่ดี เพราะมีต้นทุนค่าชิป Bluetooth เพิ่มเข้ามา


ที่มา : www.howtogeek.com , 9to5mac.com , mfi.apple.com

0 %E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A+Lightning+%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99+%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD+Bluetooth+%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น