หูฟังแบบเปิด (Open-Back Headphone) จัดเป็นสิ่งที่ค่อนข้างธรรมดาเอามาก ๆ ในโลกของเสียง โดยเฉพาะกับหมู่นักเทคนิคเสียงและ ผู้ที่ชื่นชอบเสียงเพลงคุณภาพสูง (Audiophile) แต่เมื่อหูฟังถูกพัฒนาให้มีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ก็มักจะกลายเป็นหูฟังแบบปิด (Close-Back Headphone) เสียส่วนใหญ่ ซึ่งคุณสมบัติของมันก็จะถูกเน้นหนักไปทางด้านของการตัดเสียงรบกวนรอบข้าง, ความสะดวกในการพกพา, และความสะดวกในการใช้งานแทน
ดูเหมือนว่า "คุณภาพเสียงที่ดี" กับ "ความสะดวกในการใช้งาน" จะเป็นสองขั้วคุณสมบัติที่ไม่มีวันจะมาบรรจบกันได้เลย แต่ทุกวันนี้ มีการพัฒนาหูฟังแบบเปิดในรูปแบบ Earbuds ที่เป็นการรวมทั้ง 2 คุณสมบัติเข้าด้วยกัน ทำให้ "เทคโนโลยีหูฟังแบบเปิด" กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้กันดีกว่าว่า มันทำงานอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรกันบ้าง และหากอยากใช้งานหูฟังแบบ Earbuds ที่ใช้เทคโนโลยี Open-back จะคุ้มค่ามั้ย ?
หูฟังแบบเปิด (Open-Back Headphone) จะทำให้อากาศสามารถทะลุผ่านเข้ามาทางเอียร์คัพ จากด้านหลังของไดรเวอร์ได้ ทำให้ไม่เกิดปัญหาเสียงสะท้อนและการสร้างความถี่ต่ำที่เกิดจากโครงด้านหลัง ซึ่งหูฟังระดับไฮเอนด์ราคาสูงจะมีแบบเปิดให้เลือกซื้อกัน เพราะมันทำให้เสียงที่ออกมามีความใสและเป็นธรรมชาตินั่นเอง
แต่มันจะมีคุณสมบัติแบบนั้นเฉพาะในกรณีที่ไม่มีเสียงอื่นใดในละแวกใกล้เคียงเท่านั้น เพราะหูฟังแบบเปิดก็มีคุณสมบัติตามชื่อ คือเปิดรับเสียงอื่น ๆ เข้ามาทั้งหมด ไม่สามารถปิดกั้นเสียงจากรอบข้างได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีเสียงจากหูฟังที่คุณฟังอยู่ เล็ดลอดออกไปภายนอกร่วมด้วย
ดังนั้น ถ้าหากคุณนำหูฟังแบบเปิดไปใช้เปิดเพลงขณะทำงานในออฟฟิศแล้วล่ะก็ เพื่อนร่วมงานของคุณก็จะได้ยินสิ่งที่คุณฟังอยู่ด้วยเช่นกัน แถมยังอาจพ่วงการได้ยินเพื่อนร่วมงานกำลังบ่นเกี่ยวกับคุณระหว่างฟังเพลงให้ด้วยเป็นของแถมอีกที ดังนั้น หูฟังแบบเปิด จึงเหมาะใช้งานในที่ที่เป็นส่วนตัวหรือเปิดฟังที่บ้านมากกว่า
เครดิตภาพ : https://www.pbtech.co.nz/product/HSTSEN506911/Sennheiser-HD-800-S-Open-backed-Flagship-Audiophil
นอกจากคุณสมบัติเรื่องเสียงแล้ว หูฟังแบบเปิดยังมีแนวโน้มว่ามีความบอบบางมากกว่าหูฟังแบบปิด เพราะมีโอกาสที่ความชื้นจะเข้าถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในได้มากกว่า หูฟังประเภทนี้ จึงต้องได้รับการดูแลรักษามากกว่าหูฟังแบบปิดด้วย
ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ หูฟังแบบเปิด (Open-Back Headphone) คุณควรเรียนรู้ข้อแตกต่างของการออกแบบระหว่างหูฟัง "แบบเปิด" และ "แบบปิด" กันสักเล็กน้อย นอกเหนือไปจากการที่เราบอกไปข้างต้นแล้วว่า แบบเปิดปล่อยให้อากาศเข้าได้ และแบบปิดก็จะปิดกั้นไม่ให้อากาศเข้าได้และเก็บเสียงได้ดีกว่า
ในหูฟังระดับที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ สามารถที่จะเข้าถึงได้ และนิยมใช้งานกัน เป็นจำนวนมาก จะมีอยู่ 3 แบบ (3 ประเภท) หลัก ๆ ด้วยกัน อันได้แก่
หูฟังเหล่านี้ มักที่จะเป็นหูฟังแบบปิด เพราะคนส่วนใหญ่นิยมแบบปิดกันมากกว่า แถมยังมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าด้วย ซึ่งการสวมใส่หูฟังแบบปิด คุณจะสามารถปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก และสนุกไปกับเสียงเพลงได้โดยไร้การรบกวน
อ่านเพิ่มเติม : หูฟัง Over-Ear หูฟัง On-Ear หูฟัง In-Ear และ Earbuds คืออะไร ? เลือกแบบไหนดี ?
ทว่า การออกแบบหูฟังแบบปิดก็มีข้อเสียของมันอยู่ นั่นก็คือ "ไม่ได้รู้สึกถึงการได้ยินอย่างเป็นธรรมชาติ"
คุณอาจสังเกตว่า เมื่อคุณฟังเพลงไปนาน ๆ ด้วยหูฟังแบบปิด หูของคุณจะเริ่มอุ่นขึ้นและมีเหงื่อออก นั่นเป็นเพราะว่าเอียร์คัพของหูฟังนั้นกักเก็บความร้อนเอาไว้ ทำให้ร่างการเกิดการขับเหงื่อตามธรรมชาติเพื่อระบายความร้อนออกเองโดยอัตโนมัติ
เครดิตภาพ : https://headphoneuniversity.com/why-do-headphones-make-my-ears-hot/
หูฟังแบบเปิด (Open-Back Headphone) สามารถแก้ไขปัญหานี้เพราะการออกแบบที่สามารถปล่อยให้อากาศไหลผ่านเข้าไป เสมือนว่าหูของเราหายใจได้ และยังทำให้ประสบการณ์ในการฟังนั้นสมจริงยิ่งขึ้นเหมือนเรานั่งอยู่ในที่ที่เสียงเพลงนั้น ๆ ถูกบันทึก ซึ่งหูฟังระดับไฮเอนด์หลาย ๆ ตัวจะออกแบบเป็นแบบเปิดเพราะมันให้สเตจเสียงที่ดีกว่า และให้ภาพรวมเสียงที่สมจริงกว่า
ถ้าคุณไปถามบรรดา Audiophile หรือที่คนไทยในแวดวงเรียกว่า นักฟังเพลงระดับหูทอง ในเรื่องของหูฟังที่ให้เสียงที่ดีที่สุดแล้วล่ะก็ แทบทุกคนจะแนะนำคุณเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า หูฟังแบบเปิด คือคำตอบที่คุณต้องการ
และเพื่อให้คุณสามารถสัมผัสกับประสิทธิภาพและแรงขับของหูฟังแบบเปิดอย่างเต็มที่ คุณจะต้องใช้หูฟังดังกล่าวในสถานที่ที่สงบเงียบมากที่สุด (หรือที่มีเสียงรอบข้างเบา ๆ) เพราะคุณจะได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่หูฟังขับออกมาให้อย่างครบครัน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม คนส่วนใหญ่ถึงใช้แต่เพียงภายในบ้าน หรือภายในอาคารเท่านั้น เพราะมันไม่เหมาะกับการไปยิม, ไปวิ่ง, โดยสารรถสาธารณะ, หรือที่อื่น ๆ ที่มีเสียงรบกวนมาก เพราะนอกจากเสียงรอบข้างจะไม่เป็นมิตรกับคุณสมบัติของมันแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องน้ำและความชื้นในกรณีที่เหงื่อออกด้วย
ทีนี้ในปัจจุบันไม่ได้มี หูฟังแบบเปิด (Open-Back Headphone) ที่เป็นเฮดโฟนขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มี หูฟังแบบเปิดประเภท Earbuds ที่มีขนาดเล็กพกพาได้ง่ายมาให้เลือกด้วย แล้วจะพิจารณาจากอะไรบ้างว่าควรหาซื้อมาใช้รึเปล่า ?
ถ้าพิจารณาแค่คุณสมบัติที่ว่า "ต้องการฟังเสียงรอบข้างด้วย" อาจจะไม่ค่อยคุ้มค่าแก่การหามาใช้เท่าไหร่ เพราะว่า ปัจจุบัน มีหูฟัง True Wireless Stereo (ทรูไวร์เลส) มากมายที่ใส่ "คุณสมบัติ Transparency Mode" หรือ โหมดที่เปิดรับเสียงรอบข้างเข้ามาให้เราได้ยินด้วยโดยใช้ไมโครโฟนที่ติดมาด้วยกันเป็นตัวรับเสียงเข้ามา ทำให้เราสามารถได้ยินได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หูฟังประเภท Open-Back Earbud ก็มีข้อได้เปรียบใหญ่ ๆ อยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ การที่มันเป็นหูฟังที่ทำให้คุณ "สามารถสัมผัสกับประสบการณ์การฟังแบบหูฟังเปิดได้แบบพกพาง่าย" และ "สะดวกกว่าการนำหูฟังตัวใหญ่ไปนอกบ้าน" ทำให้คุณสามารถฟังเสียงแบบธรรมชาติได้จริง ๆ โดยไม่ต้องผ่านไมค์ และสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวและเสียงรอบข้างได้ไม่ว่าคุณจะกำลังทำอะไรอยู่ในขณะฟังเพลงก็ตาม
ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ มันจะให้เสียงที่คล้ายคลึงกันกับหูฟัง Open-back Headphone ในขนาดตัวที่เท่ากับหูฟังทรูไวร์เลสเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น Sony Linkbud ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้ และ Audeze LCDi3 ซึ่งทั้งคู่ ล้วนเคยผลิตหูฟัง Open-back Headphone มาก่อน
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/what-are-open-back-earbuds-how-do-they-work/
ถึงแม้ว่าหูฟัง Open-Back Earbud จะเป็นหูฟังที่น่าหามาใช้งาน ไม่ว่าด้วยรูปทรงหรือคุณสมบัติก็ตาม แต่ถ้าคุณเป็นผู้ใช้งานทั่วไปที่ยังรู้สึกว่า บางเวลา ก็ยังต้องการตัดขาดจากโลกภายนอก หรือฟังเพลงโดยไม่ถูกรบกวนจากเสียงรอบข้าง การหาหูฟัง True Wireless ที่มีคุณสมบัติรับเสียงรอบข้างเข้ามาได้ น่าจะตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า เพราะถ้าคุณซื้อหูฟังแบบเปิดมาใช้งานเลยโดยตรง คุณจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงเสียงรอบข้างได้หากนำไปใช้งานนอกบ้าน
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ หูฟังแบบ Open-Back ถูกออกแบบมาสำหรับการฟังภายในอาคาร หรือภายในบ้านมากกว่า เพื่อให้คุณสามารถรับอรรถรสจากการฟังเพลงคุณภาพสูงเสมือนการได้ฟังอยู่ ณ ที่ที่เกิดแหล่งเสียงนั้นเองเลยแบบครบทุกมิติ
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |
ความคิดเห็นที่ 1
24 มีนาคม 2565 10:34:05
|
|||||||||||
คืออะไรค่ะ
|
|||||||||||