คำว่า "เด็กยุค 90" เป็น Buzzword ที่เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้มัน เพราะมันถูกตีความไปหลายรูปแบบ แต่นาน ๆ ทีก็ขออนุญาตใช้บ้างละกัน ผู้เขียนเชื่อว่าในช่วงปี ค.ศ. 1990-2000 (พ.ศ. 2533 - 2543) ผู้ที่หลงใหลในการฟังเพลงน่าจะต้องเคยใช้ โปรแกรมฟังเพลง Winamp ในการฟังเพลงกันมาอย่างแน่นอน
ภาพจาก : https://www.vgmpf.com/Wiki/index.php?title=Winamp
ในช่วงพีคมันเปรียบได้กับโปรแกรมพื้นฐานประจำเครื่องกันเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่า ลง Windows เสร็จ ก็ต้องดาวน์โหลด Winamp มาติดตั้งก่อนเลยเป็นลำดับต้น ๆ เรื่องน่าทึ่งคือ ในปัจจุบันนี้ ยังคงมีผู้ใช้งาน Winamp อยู่หลายล้านคนต่อเดือน ถึงแม้แนวโน้มของจำนวนผู้ใช้งานจะลดลงเรื่อย ๆ ก็ตาม
Winamp ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีการซื้อขายกิจการเกิดขึ้นหลายครั้ง และการมีอยู่ของมันก็ลบเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ไม่นานมานี้ มันได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับลูกเล่นใหม่อย่างการรองรับเทคโนโลยี NFT เสียด้วย
เราว่าเรื่องราวของ Winamp น่าสนใจดี เลยอยากหยิบมาเล่าให้อ่านกันในบทความนี้ ...
วินแอมป์ (Winamp) จัดว่าเป็นซอฟต์แวร์เก่าแก่ตัวหนึ่ง ที่เป็นมากกว่าแค่โปรแกรมฟังเพลง ความสำเร็จ ความนิยมของมันทำให้โปรแกรม Winamp เปรียบดั่งไอคอนทางวัฒนธรรมที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ Justin Frankel และ Dmitry Boldyrev เป็นผู้ที่พัฒนามันขึ้นมา พวกเขาปล่อยออกมาให้ใช้งานเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) มันประสบความสำเร็จ กลายเป็นโปรแกรมฟังเพลงขวัญใจมหาชน ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงพีค ๆ นั้น มีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านคน ทั่วโลกกันเลยทีเดียว
โดยเสน่ห์ของโปรแกรม Winamp ที่ทำให้ผู้ใช้หลงรักมีอยู่หลายอย่าง มันถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่ายมาก ๆ ผู้ใช้แค่ทำการลากไฟล์มาใส่บนตัวโปรแกรม ก็สามารถเล่นเพลงได้ทันที
และนอกจากนี้แล้วโปรแกรม Winamp ยังมีสกิน (Skin) และปลั๊กอิน (Plugin) ให้เลือกใช้งานเป็นจำนวนมาก ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งหน้าตาของ Winamp ให้เป็นไปตามรสนิยมได้
ภาพจาก : https://skins.webamp.org/
แต่บางที เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ โปรแกรม Winamp ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง คือการที่มันรองรับการเล่นไฟล์ MP3 ในช่วงยุค 90 ไฟล์ MP3 ยังถือเป็นของใหม่ในวงการเพลงดิจิทัล ซึ่ง Winamp ถือเป็นหนึ่งใน โปรแกรมฟังเพลงตัวแรก ๆ ที่รองรับการเล่นไฟล์เพลง MP3 ได้
แต่ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา ยุครุ่งเรืองของ Winamp ได้ผ่านไปแล้ว ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) บริษัท AOL ที่เป็นเจ้าของ Winamp ในเวลานั้น ได้ประกาศยุติการพัฒนา ถึงแม้จะมีแฟนเดนตายพยายามที่จะต่อชีวิตมันมาโดยตลอด ว่ามันกลายเป็นความทรงจำที่รอให้เรากลับไปคิดถึง โดยมีเวอร์ชัน 5.66 ที่ปล่อยออกมาในวันที่ 22 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) เป็นเวอร์ชันสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด
เพราะอยู่ดี ๆ หลังจากผ่านไป 9 ปี Winamp ก็กลับมาอีกครั้งในเวอร์ชัน 5.90 มันปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) และเวอร์ชันล่าสุด Winamp 5.9.2.10042 ก็เพิ่งจะปล่อยออกมาในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) นี่เอง อย่างไรก็ตาม การกลับมาใหม่อีกครั้งของ Winamp มันไม่ใช่แค่การเป็น โปรแกรมฟังเพลง เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ความสำเร็จของ โปรแกรม Winamp ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย มันมีเหตุผลหลายอย่างที่ช่วยผลักดันให้มันเป็นหนึ่งในไอคอนของยุคนั้นได้ เรื่องแรกเราได้อธิบายไปแล้วว่า Winamp เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกโปรแกรมฟังเพลงที่สามารถเล่นไฟล์ MP3 ได้ แต่มันไม่ได้มีดีเพียงแค่นั้น Winamp ใช้ทรัพยากรต่ำ และมี ส่วนเชื่อมต่อู้ใช้งาน (User interface - UI) ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานอีกด้วยเช่นกัน
และเหตุผลสุดท้ายคือ โปรแกรม Winamp นั้นเป็นที่รักของชาวอินเทอร์เน็ต มีกลุ่มผู้สนับสนุนมากมายช่วยกันพัฒนาสกิน (Skins) และปลั๊กอิน (Plugins) ออกมาให้ใช้ปรับแต่ง Winamp ให้ทำงานได้อย่างที่ผู้ใช้ต้องการ
ภาพจาก : https://www.mywinamp.com/winamp-plugins/
ถึงแม้ว่าจะมีโปรแกรมฟังเพลงตัวอื่นที่รองรับ MP3 ตามออกมาอีกหลายตัว แต่ไม่มีตัวไหนที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้เท่ากับ โปรแกรม Winamp อีกแล้ว แม้แต่ตอนที่ Apple เปิดตัว iPod ออกมา แทนที่จะจัดการกับเพลงด้วย iTunes หลายคนก็ยังเลือกใช้ Winamp ในการ Sync เพลงใส่เครื่อง เพราะมันใช้งานง่ายกว่ามาก
นอกจากนี้แล้ว โปรแกรม Winamp ก็ยังมีการพัฒนาลงระบบปฏิบัติการ Android ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) และ Mac OS ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) เพื่อขยายฐานผู้ใช้ ทั้งหมดที่ว่ามาทำให้ Winamp สามารถยืนหนึ่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายปี
ภาพจาก : https://hothardware.com/news/winamp-for-android-exits-beta
โปรแกรม Winamp เป็นผลงานการพัฒนาจากนักพัฒนาที่มีชื่อว่า Justin Frankel และ Dmitry Boldyrev ภายใต้ร่มเงาของบริษัท Nullsoft ที่ได้เปิดตัวออกมาในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ซึ่ง Winamp เป็นโปรแกรมฟังเพลง ที่สามารถรองรับไฟล์เสียง (Audio File) ได้แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ MP3, AAC, FLAC, WAV, WMA ฯลฯ
เดิมทีใช้ชื่อว่า "WinAMP" โดยมาจากการสมาสคำว่า "Windows" และ "AMP" เข้าด้วยกัน โดย AMP นั้นย่อมาจาก "Advanced Multimedia Products (AMP) MP3 File Playback Engine" เวอร์ชันแรกหน้าตาของ Winamp ดูโล่งมาก แต่ในเวอร์ชันถัดมาได้มีการออกแบบ UI ใหม่ มีการใส่ปุ่มที่ดูมีมิติเข้ามา และใช้ฟอนต์สีเขียวที่ดีไซน์เหมือนหลอดไฟ LED ที่จะเลื่อนแสดงข้อมูลอยู่บนหน้าต่างเล็ก ๆ ซึ่งมันได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ใครเห็นก็จดจำได้ในทันที ว่านี่คือ Winamp
โดยโปรแกรม Winamp ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนไปเตะตาบริษัท AOL ซึ่ง Nullsoft ก็ได้ขายกิจการให้ในราคาสูงถึง $80,000,000 ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)
WinAMP 0.2a | WinAMP 0.92 | Winamp 1 |
สำหรับโปรแกรม Winamp เป็นที่รักของผู้ใช้มาอย่างยาวนาน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจต้องการหารายได้ Winamp ในเวอร์ชันหลัง ๆ ถูกใส่ Ad-ware พ่วงเข้ามาในตัว คุณสมบัติในการเขียน แผ่น CD ที่เคยใช้งานได้ฟรี ก็กลายเป็นลูกเล่นพรีเมี่ยม ที่ต้องเสียเงินซื้อเพื่ม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "Winamp Pro"
นอกจากนี้แล้ว โปรแกรมWinamp ในเวอร์ชันหลัง ๆ ก็มีความต้องการทรัพยากรในการทำงานสูงขึ้นทั้งแรม และฮาร์ดดิสก์ ทำให้ผู้ใช้งานเริ่มหันไปใช้งานโปรแกรมฟังเพลงตัวอื่น ที่ใช้ทรัพยากรในการทำงานต่ำกว่าแทน อย่างเช่น VLC Media Player
รวมไปถึงการที่อุตสาหกรรมเพลงเกิดความเปลี่ยนแปลง ค่ายเพลง และผู้ให้บริการหลายรายเริ่มมองเห็นโอกาสในการทำเงินจากเพลงดิจิทัล อย่างการที่ Apple ได้เปิดตัว iTunes Music Store (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น iTunes Store) ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ผู้ใช้สามารถซื้อเพลงผ่าน iTunes เพื่อนำไปเล่นบน iPod ได้ โดยมีจุดเด่นที่มีระบบ DRM คุ้มครองลิขสิทธิ์ในการเล่นเพลง ทำให้ได้รับความสนใจ และไว้วางใจจากค่ายเพลงต่าง ๆ ในการนำเพลงมาวางจำหน่ายบน iTunes ภายหลังระบบนี้ก็ได้กลายเป็นร้านค้าเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ภาพจาก : https://www.macrumors.com/2023/04/28/itunes-music-store-turns-20/
ไหนจะเป็นการมาของอุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง ที่ทำให้พฤติกรรมในการฟังเพลงของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น Pandora, MySpace, Deezer หรือชื่อที่ทุกคนน่าจะคุ้นหูกันดีอย่าง Spotify
ใน Winamp เวอร์ชัน 5.66 ที่ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) พร้อมกับการประกาศจาก AOL ว่าจะปิดตัวเว็บไซต์ Winamp.com ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน หลังจากนั้น Winamp จะถูกปิดไม่ให้ดาวน์โหลดอีกต่อไป
แต่เพียง 5 วันหลังจากนั้น ก็มี Winamp เวอร์ชัน 5.6666 ก็ถูกปล่อยออกมา โดยเพิ่มเติมเวอร์ชัน "Pro" และ "Full" ออกมาด้วย โดยในขั้นตอนติดตั้ง จะเพิ่มตัวเลือกในการปฏิเสธที่จะไม่ติดตั้ง OpenCandy, Emusic, AOL Search และ AOL Toolbar เข้ามา ซึ่งนี่ถือเป็น Winamp เวอร์ชันสุดท้ายที่ปล่อยออกมาจาก AOL/Nullsoft
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเส้นตายที่ AOL ได้ประกาศเอาไว้ เว็บไซต์ Winamp ก็ไม่ได้ถูกปิดตัวลงตามแผน ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2014 ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า Radionomy สถานีวิทยุออนไลน์สัญชาติเบลเยียมได้ซื้อกิจการ Nullsoft ซึ่งประกอบไปด้วย Winamp และ SHOUTcast โดยที่ไม่มีการประกาศมูลค่าของดีลนี้ออกมา แต่มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าอยู่ที่ประมาณ $5,000,000 - $10,000,000 รวมกับหุ้นจำนวน 12% ของบริษัท Radionomy ด้วย ซึ่ง Radionomy ได้นำเว็บไซต์ Winamp กลับมาออนไลน์ และสามารถดาวน์โหลดได้อีกครั้ง
เดิมที Radionomy มีแผนที่จะเปิดให้บริการสตรีมมิ่งตัวใหม่ในชื่อ Winamp เพื่อแข่งขันกับ Spotify แต่ Alexandre Saboundjian ซีอีโอ ได้มองว่าตลาดสตรีมมิ่งมีการแข่งขันที่สูงเกินไป และแต่ละบริษัทก็มีสถานภาพทางการเงินที่ไม่สู้ดีนัก จึงตัดสินใจยุติแผนนี้ไป สุดท้ายแล้ว ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) Radionomy ก็เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ หันมาใช้ชื่อ Shountcast เป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการวิทยุออนไลน์ให้กับผู้บริการรายอื่นแทน อย่างไรก็ตาม Shoutcast ก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Targetspot และได้ขายกิจการในส่วนที่เป็นวิทยุทั้งหมดต่อให้กับบริษัท Azerion ที่เป็นบริษัทโฆษณาดิจิทัลในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2563)
บริษัทส่วนที่เหลือได้ชื่อใหม่ว่า "Llama Group" ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวลามะ มาสค็อตดั้งเดิมของ Winamp
ภาพจาก : https://joyreactor.cc/post/3299562
บริษัท Llama Group นอกจาก Winamp แล้ว ก็ได้ให้บริการจัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงแบบ Royalty-Free ในชื่อ Jamendo และให้บริการระบบจัดการลิขสิทธิ์ในชื่อ Bridger
และไม่นานมานี้ หลังจากเว้นช่วงไปอย่างยาวนาน โปรแกรม Winamp เวอร์ชัน 5.9 ก็ได้ถูกปล่อยออกมาให้ดาวน์โหลด แต่มันไม่ใช่แค่โปรแกรมฟังเพลงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
Alexandre Saboundjian กล่าวว่า " เราต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแฟน กับตัวศิลปินอีกครั้ง นี่คือภารกิจที่เรามอบหมายให้กับ Winamp"
ผลออกมาก็คือ แทนที่จะเป็น Winamp ที่มีการอัปเดตต่อจากเวอร์ชันเดิม มันเป็นซอฟต์แวร์ตัวใหม่ที่คงคุณสมบัติพื้นฐานของ Winamp เอาไว้ อย่างการเล่นเพลงที่มีในระบบ และการปรับแต่งอีควอไลเซอร์ แต่นอกเหนือจากนั้น เป็นของใหม่ทั้งหมด อย่างเช่น มีการเพิ่มระบบ Skin ที่ได้มีการขายออกมาในรูปแบบ NFT (ที่แฟน Winamp ดูจะไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่นัก) ระบบจ่ายเงินสนับสนุนให้ศิลปินโดยตรง
นอกเหนือจากการเล่นเพลง MP3 หรือเพลงนามสกุลอื่น ๆ แล้ว โปรแกรม Winamp ได้เน้นไปที่บริการวิทยุออนไลน์ โดยทาง Llama Group เผยว่า ในแต่ละสัปดาห์พวกเขาจะได้รับคำร้องขอให้เพิ่มสถานีวิทยุจากผู้ให้บริการต่าง ๆ เข้าไปในฐานข้อมูลของ Winamp พวกเขาก็เลยปรับปรุงระบบวิทยุออนไลน์ใน Winamp เวอร์ชันใหม่ ให้ใช้งานง่ายขึ้นด้วย
ภาพจาก : https://player.winamp.com/trending
ปัจจุบันนี้ โปรแกรม Winamp ยังมีผู้ใช้มากถึง 83 ล้านคน โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดมาจากประเทศบราซิลที่มีผู้ใช้มากถึง 10.3% ตามมาด้วยประเทศอินเดีย 8%, รัสเซีย 6.5% และสหรัฐอเมริกา 5.8%
Llama Group เชื่อว่า Winamp เวอร์ชันใหม่นี้ ด้วยการรักษาจิตวิญญาณของ Winamp เวอร์ชันเดิมเอาไว้ และมีคุณสมบัติใหม่ ๆ ที่ช่วยในการปฏิสัมพันธ์กับตัวศิลปิน จะทำให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานมันอีกครั้ง
ใครที่สนใจ หรือคิดถึง Winamp ก็ดาวน์โหลดมาลองใช้งานกันได้นะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |