เวลาที่หาข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของฮาร์ดแวร์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับความสว่าง เราอาจจะเกิดความสับสนกับหน่วยวัดค่าความสว่าง เพราะมันมีหลายหน่วย มีทั้ง Nits และ Lumens หรือบางครั้งก็อาจเจอ คำว่า Luminance และ Lux ด้วย ซึ่งเราสามารถพบเห็นค่าเหล่านี้ได้ในอุปกรณ์ที่มีแหล่งกำเนิดแสงในตัว ไม่ใช่แค่เพียงพวกหลอดไฟเท่านั้น แต่ในหน้าจอแสดงผลต่าง ๆ ทั้งจอคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ก็มีการใช้ค่าเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ในบทความนี้ เราอยากจะมาอธิบายความแตกต่างระหว่าง Nits และ Lumens ให้เข้าใจกันมากขึ้น เวลาอ่านสเปคตอนเลือกซื้อของจะได้ไม่เกิดความสับสน
ภาพจาก : https://www.deepskycorp.com/technology/hdr/index.html
ค่า Nits เป็นคำที่ถูกนำมาใช้อยู่เสมอ เมื่อเรากล่าวถึงโทรทัศน์ หรืออุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต มันเป็นหน่วยวัดที่เกี่ยวข้องกับระดับความสว่างของแสงที่ตาของเรามองเห็นในบริเวณที่เฉพาะเจาะจง
ที่มาของค่า Nits นั้นเทียบเท่ากับแสงสว่างที่มาจากเทียนจำนวน 1 เล่ม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ยกตัวอย่างเช่น หากหน้าจอระบุว่ามีความสว่าง 500 Nits นั่นหมายความว่าหน้าจอดังกล่าวจะมีความสว่างเท่ากับแสงจากเทียนจำนวน 500 เล่ม ที่กระจุกรวมกันอยู่ภายในพื้นที่ 1 ตารางเมตร
คำว่า Candela ก็เป็นอีกคำที่มักจะมาพร้อมกับคำว่า Nits อันที่จริงแล้ว 2 คำนี้สามารถใช้งานได้กันได้ โดย Nits ถือเป็นคำย่อของคำว่า "Candela per square metre" ปัจจุบันนี้ Nits ถูกนำมาใช้เป็นค่ามาตรฐานในโลกของหน้าจอแสดงผล เราสามารถสังเกตได้ว่า เราไม่เคยเห็นโทรทัศน์ หรือสมาร์ทโฟนบอกรายละเอียดของความสว่างหน้าจอด้วยคำว่า Candela เลย จะใช้กันแต่คำว่า Nits เท่านั้น
โดยพื้นฐานแล้ว Nits ใช้ในการบ่งบอกว่าหน้าจอจะมีความสว่างสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ ? ซึ่งค่าความสว่างนี้มีผลต่อการมองเห็นภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรับชมเนื้อหาแบบ High Dynamic Range (HDR)
ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะบันทึกการถ่ายทำด้วยความสว่างขั้นต่ำ 400 Nits แต่ในยุคสมัยนี้ก็มีไม่น้อยที่บันทึกการถ่ายทำที่ระดับสูงกว่า 1,000 Nits ภาพยนตร์บางเรื่องมีการบันทึกด้วยความสว่างมากกว่า 4,000 Nits ด้วยซ้ำ
หากหน้าจอแสดงผลที่เราใช้งาน ไม่สามารถแสดงผลความสว่างได้เท่ากับที่ต้นฉบับบันทึกค่ามา ก็จะทำให้เวลารับชมไม่สามารถเห็นภาพในคุณภาพแบบที่ผู้ผลิตต้องการให้เราเห็นได้ ถึงแม้ว่าจะมีขั้นตอนการปรับภาพอย่างชาญฉลาด เพื่อรีดเค้นความสว่างสูงสุดที่หน้าจอรองรับได้ออกมาแล้วก็ตาม
ในเชิงเทคนิค หน้าจอที่มีความสว่างมากกว่า 400 nits ก็รองรับ HDR แล้ว แต่มันก็มีความสว่างน้อยเกินไป ทำให้ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างได้มากนัก อย่างน้อยควรจะใช้หน้าจอแสดงผลที่ทำความสว่างได้มากกว่า 600 Nits แต่ถ้าต้องการประสบการณ์ในการรับชม HDR ที่ดีที่สุด ก็ควรจะรับชมผ่านหน้าจอที่รองรับความสว่างอย่างน้อย 1,000 Nits
อย่างไรก็ตาม ค่า Nits เยอะ ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของภาพจะดีเสมอไป เพราะหากภาพสว่างเกินไป มันก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพด้านอื่น ๆ ของภาพได้เช่นกัน สิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดคือ ความสว่างทำให้สีโดนแสงกลบจนทำให้มองเห็นสีได้ซีดลง และไฟ Backlit ก็ที่สว่างเกินก็สามารถทำให้สีดำที่ควรจะมืดสนิท ดูเป็นสีเทาขึ้นมาแทน
ภาพจาก : https://www.pcmag.com/news/not-crazy-expensive-alienwares-34-inch-quantum-dot-oled-monitor-gets-1299
สำหรับ Lumens จะหมายถึงปริมาณแสงที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดแสง อย่างพวกหลอดไฟ ในวงการเครื่องเล่นมัลติมีเดีย ค่า Lumens เปรียบได้กับคู่รักของโปรเจคเตอร์เลยก็ว่าได้ เพราะหลักการทำงานของมันจะเป็นการใช้แสงในการสร้างภาพให้ปรากฏบนฉากรับภาพ ยิ่งแหล่งกำเนิดแสงมีค่า Lumens สูงมากเท่าไหร่ ? ภาพที่ปรากฏบนฉากรับก็ยิ่งสว่างมากขึ้น
ในการเลือกซื้อหลอดไฟ เราจะเลือกจาก ค่า Lumens และค่า Lux ซึ่งเราเคยมีบทความอธิบายไปแล้ว ดังนั้นจะไม่เขียนซ้ำในบทความนี้อีกครั้ง อีกอย่างในบทความนี้เราเปรียบเทียบ Nits และ Lumens ในแง่ของความสว่างในการแสดงผลเป็นหลัก
สำหรับโปรเจคเตอร์ เรามักจะเห็นคำว่า "ANSI lumens" ด้วย โดย ANSI ย่อมาจากคำว่า "American National Standards Institute" (สถาบันมาตรฐานแห่งชาติอเมริกัน) มันเป็นมาตรฐานในการวัดค่า Lumens ที่นำค่าอื่น ๆ มาใช้คำนวณด้วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำที่สุด ทั้งนี้ เราอาจไม่เห็นข้อมูลจำเพาะของทั้งสองค่า เพราะผู้ผลิตอาจจะระบุมาเพียงค่าใดค่าหนึ่ง
แต่ถ้าต้องการหาค่าหยาบ ๆ ของค่า ANSI Lumen ก็แนะนำให้นำค่า Lumen มาหารด้วย 2.4 ตัวอย่างเช่น หากโปรเจคเตอร์ระบุว่ามีค่า 3,000 Lumen โดยนำ 3,000/2.4 ก็จะได้เท่ากับ 1,250 ANSI Lumen นั่นเอง
ภาพจาก : https://www.formovie.com/blogs/news/how-ansi-lumens-affects-your-viewing-experience
หลักการทำงานในการแสดงผลของเครื่องโปรเจคเตอร์มีความแตกต่างจากจอโทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เพราะอย่างหลัง แสงจะส่องจากแหล่งกำเนิดแสงเข้าหาเราโดยตรง ในขณะที่โปรเจคเตอร์จะฉายแสงเข้าไปที่ฉากรับ ดังนั้น ความสว่างของแสงจะต้องมีความแรงพอที่จะภาพจะยังคงสามารถรับชมได้อย่างชัดเจน และไม่ถูกแสงอื่นรบกวน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมภายในโรงภาพยนตร์ถึงต้องจัดสภาพแสงให้มืดสลัว
ความสว่างที่โปรเจคเตอร์ทำได้มักแปรผันกับราคา โดยยิ่งแพงก็ยิ่งสว่าง สำหรับการใช้งานตามบ้านมักจะมีความสว่างอยู่ที่ประมาณ 1,500 - 2,000 Lumens เท่านั้น ซึ่งมันเพียงพอต่อการใช้งานทั่ว หรือในภาคธุรกิจที่เอาไว้พรีเซนต์สไลด์งาน แต่ถ้านำมาใช้รับชมภาพยนตร์ ทำโรงภาพยนตร์ภายในบ้านก็จะไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก ควรเลือกที่ทำได้ 1,800 ANSI lumens ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด
อย่างไรก็ตาม Lumens ก็เหมือนกับ Nits สว่างมาก แต่ไม่มีระบบจัดการแสงที่ดี ก็สามารถทำร้ายคุณภาพโดยรวมของภาพได้เช่นกัน อาจทำให้สีซีด, และสีดำไม่มืดสนิท ส่งผลต่อความคมชัดได้
Nits ใช้ในการอธิบายความสว่าง (Luminance หรือ Brightness) ของวัตถุ ในขณะที่ Lumens หรือ ANSI lumens ใช้ในการวัดค่าว่ามีปริมาณแสงที่ส่งออกมามากขนาดไหน ? หากยังงง ลองดูภาพประกอบด้านล่างนี้ น่าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ภาพจาก : https://comparedisplays.com/10/what-is-a-nit-and-how-many-make-a-bright-display
หากเรามองไปที่ดวงอาทิตย์ ความสว่างของดวงอาทิตย์เราจะวัดค่าเป็น Nits ในขณะที่แสงจันทร์ที่เกิดจากการสะท้อนแสงมาจากดวงอาทิตย์ เราจะวัดความสว่างของแสงจันทร์ด้วยค่า Lumens นั่นเอง
สรุปอีกที หน่วยวัดทั้งสองใช้ในการวัดปริมาณแสง โดย Lumens คือบอกปริมาณแสงที่ถูกปล่อยออกมา ส่วน Nits จะบอกว่าแสงที่มองเห็นสว่างขนาดไหน ?
ถึงแม้ว่าค่า Nits และ Lumens จะเป็นค่าที่แตกต่างกัน แต่สามารถใช้สมการคณิตศาสตร์แปลงสองค่านี้กลับไปกลับมาได้นะ เผื่อนำไปใช้ในการเปรียบเทียบความสว่างระหว่างหน้าจอโทรทัศน์ กับเครื่องโปรเจคเตอร์
โดยอัตราการแปลงค่าจะอยู่ที่
ก็จะเห็นได้ว่า 1 Nits นั้น มีค่าสว่างกว่า 1 Lumens นะ
Lumen | Nits |
500 | 146 |
1,000 | 292 |
1,713 | 500 |
2,000 | 583 |
2,570 | 750 |
3,426 | 1,000 |
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |