หากพูดถึงค่าใช้จ่ายอันดับต้น ๆ ภายในบ้านที่หลายคนต้องเอามือก่ายหน้าผากทุกเดือนสิ่งนั้นก็คงเป็น "ค่าไฟ" และถ้าคุณกำลังศึกษาวิธีการเลือกหลอดไฟเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่ โดยบทความนี้เราก็จะมาพูดถึงเรื่องของหลอดไฟชนิดต่าง ๆ กันว่าเลือกใช้แบบไหนถึงจะประหยัด และ คุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ยังได้เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย หลอดไฟ 3 ชนิดได้แก่ หลอดไฟฮาโลเจน (Halogen), หลอดไฟคอมแพ็คฟลูออเรสเซนต์ (CFL) และหลอดไฟ LED
เมื่อศึกษาทุกอย่างดีและเลือกใช้อย่างเหมาะสม คุณก็จะสามารถลดการใช้พลังงานและยังลดอัตราการเกิดขยะอันตรายที่จะ ทำร้ายทั้งพวกเรา และ โลกที่เราอาศัยอยู่ได้ด้วย
หลอดไฟฮาโลเจน (Halogen Light Bulb) อยู่ในตระกูล "หลอดไส้" ที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาลดข้อเสียเรื่องความร้อนสูงและอายุการใช้งานที่ต่ำของตัว "หลอดไส้ดั้งเดิม" ลักษณะการทำงานของมันเป็นเช่นเดียวกับหลอดไส้ คือ เมื่อกระแสไฟเข้าสู่เต้ารับก็จะส่งไปยังตัวไส้ทังสเตน (ขดรวด) ซึ่งจะทำปฏิกิริยาให้เกิดความร้อนและกลายเป็นแสงจ้าที่มีความเข้มข้นสูง และ เป็นแสงที่ธรรมชาติไม่หลอกตา
แต่สำหรับหลอดฮาโลเจนนั้นจะมีไส้หลอดอยู่ในแคปซูลควอทซ์ที่ภายในบรรจุก๊าซฮาโลเจนซึ่งประกอบด้วยธาตุอโลหะ 2 ชนิดคือ โบรมีน (Br) และ ไอโอดีน (I) ตัวก๊าซชนิดนี้เป็นก๊าซเฉื่อย มีคุณสมบัติสามารถเผาไหม้ได้ และเมื่อกระแสไฟฟ้าเริ่มเข้าสู่ตัวหลอด จะทำให้การเผาไหม้นั้นเกิดขึ้นที่อนุภาคของก๊าซควบคู่ไปด้วย ทำให้มีประสิทธิภาพในการส่องสว่างที่สูงขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ยังไปบวกผนวกกับการที่อนุภาคก๊าซนี้สามารถนำใช้ซ้ำได้ จึงทำให้อายุการใช้งานของหลอดฮาโลเจนสามารถอยู่ได้ยาวนานขึ้นกว่าหลอดไส้ธรรมดา เฉลี่ยคือ 2,500 ชั่วโมง (Hours) ขณะที่หลอดไส้ทั่วไปมีอายุการใช้งานเพียง 800 - 1,200 ชั่วโมง (Hours) นอกจากนี้ความร้อนที่ปล่อยออกมาจากตัวหลอดก็ยังน้อยลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามมันก็มีข้อเสียอยู่ดีเพราะมันก็คือ หลอดไส้ อยู่วันยังค่ำดังนั้นถ้าพูดถึงการใช้จริง ก็ยังถือว่าประหยัดพลังงานน้อยที่สุด และอายุการใช้งานก็ยังสั้นกว่าหลอดชนิดอื่น แม้จะมีราคาต่อตัวหลอดไม่แพงแต่คุณก็ยังต้องสับเปลี่ยนบ่อยเมื่ออายุการใช้งานมันหมดลงอยู่ดี
หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ (CFL Light Bulbs) หรือ ที่คนทั่วไปเรียก "หลอดตะเกียบ" จัดอยู่ในตระกูลของหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ที่มีประสิทธิภาพในการให้แสงสว่าง และ ประหยัดพลังงานเทียบเท่ากับหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดทั่วไป (หลอดยาว) แต่มันถูกพัฒนามาให้ใช้ทดแทนหลอดไส้ได้ โดยมีการออกแบบให้มีขนาดเล็กลงและบิดหลอดเป็นเกลียว เพื่อทำให้มีขนาดพอดีที่จะขันเข้ากับฐานซ็อกเก็ตของหลอดไส้ได้
ถ้าพูดถึงประสิทธิภาพของหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ เราสามารถอ้างอิงตามความสามารถของหลอดฟลูออเรสเซนต์ได้เลย เพราะการทำงานเหมือนกันหมดทุกอย่างเพียงแค่เปลี่ยนจากแท่งยาวเป็นเกลียว โดยหลอดชนิดนี้ก็จะใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไส้ทั่วไปประมาณ 1 ต่อ 4 แถมยังให้ปริมาณแสงเท่ากับหลอดไส้ด้วย ระยะการใช้งานที่ยาวนานกว่า 10 เท่า
ด้านข้อเสียของหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ คือเนื่องจากภายในมีส่วนประกอบของสารปรอทอยู่เล็กน้อย ทำให้เวลาเปลี่ยนหลอดไฟ จำเป็นต้องกำจัดอย่างเหมาะสม หมายความว่าหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ อาจเป็นตัวเลือกในการประหยัดพลังงานที่ดี แต่ไม่ใช่ตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ดังนั้นหลังจากถอดเปลี่ยนควรใส่ถุงปิดผนึกให้เรียบร้อยและคัดแยกเป็นขยะอันตรายลงในถังแดง ไม่ควรใส่รวมกับขยะชนิดอื่น ๆ เพราะหากมีการจัดการขยะเผาไหม้ทั่วไป สารปรอทข้างในหลอดอาจฟุ้งกระจายเป็นพิษกับคนที่เกี่ยวข้องได้
สำหรับ หลอดไฟแอลอีดี (LED Light Bulbs) หรือ เทคโนโลยี Light Emitting Diode (ตัวเต็มของคำว่า LED) ที่ให้กำเนิดแสงก็เป็นหลอดไฟที่มีวางขายในตลาดทั่วไป และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในด้านความประหยัดพลังงานนั้นถือว่ามากกว่าหลอดไส้ถึง 90 % ในขณะที่เมื่อเทียบกับหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์แล้วก็มีความประหยัดต่างกันนิดหน่อย เพราะใช้กำลังไฟต่ำและโดยทั่วไปที่วางจำหน่ายในตลาดมีความสว่างสูงสุด 200 ลูเมนต่อวัตต์ ซึ่งทำให้มันมีความสว่างมากพอเมื่อเทียบกับหลอดไส้ทั่วไป ในขณะที่ยังกินไฟน้อย
แม้หลอดไฟ LED จะมีราคาค่อนข้างสูงแต่ต้องบอกว่าอายุการใช้งานนั้นยาวนานกว่าหลายเท่านัก ทำให้คุณไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหลอดไฟบ่อย ๆ แถมยังประหยัดพลังงานด้วย ดังนั้นถ้าพูดถึงในระยะยาวไฟ LED อาจจะคุ้มค่าที่สุด ยิ่งพอเป็นสมัยนี้ราคายิ่งถูกลงไม่เหมือนแต่ก่อน ถ้าหาดี ๆ คุณอาจเจอหลอดไฟ LED ราคาไม่เกิน 50 บาทก็ได้
นับว่าหลอดไฟ LED นั้นดีกว่าในทุกด้าน รวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ เนื่องจากปราศจากสารปรอทนั่นเอง แต่ถ้าคุณยังไม่แน่ใจ ตารางต่อไปนี้คือการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายให้ดูอย่างชัดเจน
ชนิดหลอดไฟ | ฮาโลเจน (Halogen) | คอมแพ็คฟลูออเลสเซนต์ (CFL) | แอลอีดี (LED) |
ช่วงอายุการใช้งาน (Expected Lifespan) | 2,000 ชั่วโมง | 10,000 ชั่วโมง | 25,000 ชั่วโมง |
กำลังไฟฟ้าเฉลี่ย | 60 วัตต์ (Watts) | 14 วัตต์ (Watts) | 8.5 วัตต์ (Watts) |
ราคาเฉลี่ย | 30 บาท | 60 บาท | 150 บาท |
กำลังไฟเมื่อเทียบการใช้งาน 25,000 ชั่วโมง | 1500 ยูนิต (kWh) | 350 ยูนิต (kWh) | 212.5 ยูนิต (kWh) |
ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้ไฟต่อหน่วย (เฉลี่ยหน่วยละ 4 บาท) ใน 25,000 ชั่วโมง | 6,000 บาท | 1,400 บาท | 850 บาท |
จำนวนการเปลี่ยนหลอดไฟเมื่อเทียบกับเวลา 25,000 ชั่วโมง | 12.5 หลอด | 2.5 หลอด | 1 หลอด |
ค่าเปลี่ยนหลอดไฟตลอดการใช้งาน 25,000 ชั่วโมง | 375 บาท | 150 บาท | 150 บาท |
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด (25,000 ชั่วโมง) | 6,375 บาท | 1,550 บาท | 1,000 บาท |
หมายเหตุ
สำหรับตารางนี้เป็นการคิดจากค่าใช้จ่ายหลอดไฟแต่ละชนิดในราคาเฉลี่ย รวมถึงเรื่องอัตราค่าไฟเฉลี่ยซึ่งยึดตาม กกพ.(คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ที่ให้ค่าเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 3.78 ในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) สามารถตีเป็นตัวเลขให้คำนวณง่าย ๆ คือ 4 บาท และผลของการเปรียบเทียบก็เป็นไปตามตารางข้างต้น
ทั้งนี้ การเลือกใช้หลอดไฟ แต่ละชนิด หลายคนก็ไม่ได้บอกแค่ว่าอะไรประหยัดที่สุดอย่างเดียว เพราะยังมีเรื่องของประเภทการใช้งาน และโทนสีของแสง เช่น หากเป็นห้องทำงานออฟฟิศ คุณอาจต้องใช้หลอดไฟ LED ที่ให้โทนสีอุ่นเพื่อทำให้มีสมาธิ นอกจากนี้ก็ยังคุ้มค่าที่สุดเมื่อต้องมีการเปิดใช้ต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง ในขณะที่หากเราซื้อมาติดโรงจอดรถคุณอาจใช้แค่เพียงหลอดฮาโลเจน เพราะไม่ค่อยได้เปิดใช้งานบ่อยอยู่แล้วเป็นต้น
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |