แชร์หน้าเว็บนี้ :
ทิปส์นี้จะต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว กับ แผ่นซีดี ดีวีดี สำหรับไรท์แผ่นชนิดต่างๆ รู้ไว้ใช่เสียหาย? ในเมื่อรู้ถึงคุณสมบัติของแผ่นแต่ละชนิดแล้วเราก็ต้องเลือกใช้งานให้ถูกต้อง ทั้งราคา ยี่ห้อ ความจุ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเทคการไรท์แผ่นให้คุ้มค่าและวิธีเก็บรักษาแผ่นอย่างถูกวิธีเพื่อให้แผ่น CD, DVD เหล่านี้อยู่กับเรานานๆ ไม่ว่าแผ่นแต่ละยี่ห้อแต่ละแบบก็เสียหายได้หากดูแลไม่ดี ฉะนั้นเรามาดูวิธีใช้แผ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยืดอายุการใช้งานให้ถึงที่สุดกัน
วิธีการเลือกซื้อแผ่นทั้ง CD และ DVD
สัญลักษณ์บนเครื่องอ่านและไรท์แผ่น : ให้เราสังเกตมาตรฐานบนเครื่องไรท์แผ่นและเครื่องเล่นแผ่นต่างๆ ให้มั่นใจก่อน ว่าสามารถไรท์และอ่านแผ่นแบบไหนได้บ้าง ความจุของแผ่น : นับเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการเลือกซื้อ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้งาน ความเร็วของการเขียนแผ่น : ยิ่งเร็วก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะเครื่องเล่นและเครื่องไรท์แผ่นความเร็วมาตราฐานอยู่ที่ 16x-24x จุดประสงค์ในการใช้งาน : ขึ้นอยู่กับรูปแบบของไฟล์ที่จะไรท์ลงแผ่น เช่น ไฟล์ข้อมูล (Data), เพลง (Audio / Music), ภาพยนตร์หรือซีรี่ย์ (Movie and Series) ยี่ห้อหรือแบรนด์ : ดูความสำคัญของข้อมูล เพราะยิ่งยี่ห้อดัง แบรนด์ชั้นนำก็จะมีอายุการใช้งานที่ทนทานและอยู่ได้ยาวนาน ราคาของแผ่น : บ่งบอกถึงประสิทธิภาพยิ่งแพง ยี่ห้อดังราคาและประสิทธิภาพของแผ่นก็ดีขึ้นตามไปด้วย
วิธีและเทคนิคการเขียนแผ่นอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด
บางคนไรท์แผ่นแบบไม่เสียดายของหรือไม่ได้คำนวณถึงการใช้แผ่น ทำให้เสียคุณค่าและเงินที่ต้องเสียไปในการซื้อแผ่นใช้งาน เรามาดูวิธีที่น่าลองฉุดคิดสักนิดกัน
คำนวณปริมาณไฟล์ที่จะไรท์ : คำนวณความจุข้อมูลรวมกันให้ครบตามความจุบนแผ่นที่ต้องการใช้งาน โดยให้เก็บไฟล์รวมกันในโฟลเดอร์ แล้วจึงทำการไรท์แผ่นซีดี จะทำให้ประหยัดแผ่นได้มากขึ้น ไม่ควรเปิดโปรแกรมซ้อนการทำงาน : ในขณะไรท์แผ่นไม่ควรเปิดโปรแกรมที่ใช้ซีพียูหรือกินทรัพยากรมากๆ เช่น การถอดรหัสหรือแปลงไฟล์วิดีโอ การประมวลผลชั้นสูง อาจจะทำให้การไรท์แผ่นผิดพลาดได้ง่ายขึ้น (แผ่นเสียนั่นเอง) แต่ถ้าใช้งานทั่วไปไม่ว่าจะเป็น การเปิดอินเทอร์เน็ตหรือพิมพ์เอกสาร ฟังเพลง ก็ไม่เป็นปัญหา การไรท์แผ่นเพื่อสำรองข้อมูล : ควรใช้โปรแกรมบีบอัดไฟล์จำพวก WinZIP หรือ WinRAR จะช่วยประหยัดพื้นที่ในการสำรองข้อมูลได้มากขึ้นถึง 2-3 เท่าและใช้แผ่นน้อยลง การสำเนาหรือคัดลอกแผ่น : ควรใช้โปรแกรมเฉพาะทาง อย่างโปรแกรม Alcohol 120% หรือ Nero Burning เพราะแผ่นต้นฉบับบางแผ่นมีการป้องกันไม่ให้ทำการคัดลอกได้ โดยโปรแกรมประเภทนี้มีโหมดสำหรับคักลอกแผ่นโดยเฉพาะ การเขียนข้อมูลขนาดเล็ก : หากจำเป็นต้องเขียนข้อมูลที่มีขนาดเล็ก ควรใช้โหมดการไรท์แผ่นแบบ Multisession ทำให้แผ่น CD-R, DVD-R สามารถไรท์ข้อมูลต่อได้อีกจนเต็มแผ่น การใช้งานแผ่นไรท์ในโหมด Multisession : แผ่นที่ไรท์ในโหมด Multisession อาจจะใช้งานไม่ได้กับไดร์ฟหรืออุปกรณ์อื่น ดังนั้นควรทำการ Finalize แผ่นก่อน ทำให้ไดร์ฟและอุปกรณ์ทั่วไปอ่านแผ่นได้ ความเร็วในการไรท์แผ่น : ต้องแน่ใจว่าเครื่องเล่นแผ่นสามารถอ่านแผ่นที่ความเร็วสูงได้ หากอ่านไม่ได้ ควรไรท์แผ่นในความเร็วที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การไรท์แผ่นหนังภาพยนตร์หรือวิดีโอ : ควรทำการแปลงสกุลไฟล์ของวิดีโอให้ตรงกับมาตรฐานแผ่นที่ระบุไว้ มั่นใจได้ว่าสามารถนำแผ่นไปใช้กับเครื่องเล่นได้ตามปกติ วิธีการดูแลรักษาแผ่น
เรียกได้ว่าเป็นวิธีง่ายมากๆ ที่หลายคนมักมองข้ามกัน ฉะนั้นลองมาสังเกตกันว่าเราเก็บรักษาแผ่นถูกวิธีรึไม่?
หยิบจับให้ถูก : ให้เลือกจับบริเวณขอบแผ่นหรือใช้นิ้วที่ถนัดสอดรูตรงกลางแผ่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรอยนิ้วมือ โดยไม่ได้ตั้งใจ เลี่ยงการสัมผัสผิวแผ่น : ไม่ควรสัมผัสผิวของแผ่นทั้ง 2 ด้าน ดังนี้ ด้านบันทึกข้อมูล หรือ ด้านสะท้อนแสง : ไม่ควรทำให้เกิดรอยใดๆ ทั้งสิน เนื่องจากรอยที่เกิดขึ้นอาจมีผลทำให้แผ่นบริเวณนั้นไม่สามารถอ่านได้หรือเกิดการสะดุดระหว่างการอ่าน ด้านลวดลาย หรือ สกรีนแผ่น (Label) : หลายคนมองข้าม คิดว่าด้านบันทึกข้อมูลของแผ่นสำคัญกว่าด้านสกรีนแผ่น แต่ความจริงแล้วด้านสกรีนแผ่น ก็สำคัญไม่แพ้กันเนื่องจากด้านนี้เป็นด้านที่ข้อมูลได้ถูกบันทึกอยู่ใกล้บริเวณนี้ที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุของแข็ง ขูดขีด บริเวณนี้เลย งดแผ่นเทปกาว : ไม่ควรนำแผ่นเทปกาว หรือวัสดุใดก็ตามแปะบนพื้นผิวแผ่น เนื่องจากจะทำให้แผ่นเสียความสมดุล ในขณะที่เครื่องอ่านแผ่น ทำให้แผ่นอ่านได้ลำบากแม้จะเพียงเล็กน้อย และเทปกาวมีผลทำให้เกิดรอยหรือหลุดร่อนตามเทปกาว ดูแลรักษาแผ่น CD-R และ CD-RW ให้ดี : เมื่อเกิดรอยจะทำให้การเขียนไรท์แผ่นผิดพลาด ส่วนแผ่นที่ไรท์เสร็จแล้วควรเก็บไว้ในกล่อง ซองพลาสติก หรือกระเป๋าใส่แผ่น จะช่วยยืดอายุแผ่นซีดีได้นานขึ้น ปากกาที่ใช้ในการเขียนหน้าแผ่น : ควรใช้ปากกาสำหรับเขียนแผ่นซีดีโดยเฉพาะ ห้ามใช้ปากกาลูกลื่นหรือปากกามีคม เด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้แผ่นเสียหาย เก็บรักษาในอุณหภูมิที่พอเหมาะ : ควรเก็บแผ่นไว้ในสถานที่และอุณหภูมิที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง -5 ถึง 55 C หรือประมาณ 23 ถึง 131 F ไม่ควรเก็บใกล้ความชื้นและไม่ควรให้แผ่นสัมผัสความร้อนจากแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน ทำความสะอาดแผ่นให้ถูกวิธี : เมื่อต้องทำความสะอาดแผ่นจากรอยเปื้อน ควรใช้ผ้านุ่มสะอาด ผ้าเช็ดแว่นตาจะดีที่สุด เช็ดแผ่นเบาๆ โดยเช็ดจากด้านในกลางแผ่นออกด้านนอก ในแนวรัศมีของแผ่น ไม่ควรเช็คในลักษณะทิศทางเส้นรอบวง และไม่ควรใช้สารละลายใดก็ตาม ในการทำความสะอาดแผ่น ซึ่งอาจทำให้แผ่นเสียหายได้ เก็บแผ่นใส่กล่องทุกครั้ง : ควรเก็บแผ่นไว้ในกล่องหรือใส่ซองทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันฝุ่นและหลีกลี่ยงการวางสิ่งของอื่นทับแผ่นโดยตรง อย่างน้อยบทความนี้จะทำให้คุณเลือกซื้อแผ่นให้ถูกต้องตามการใช้งาน ทั้งยังรีดการใช้งานแผ่นอย่างเต็มประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะ (แผ่นเสีย) ไปได้มากทีเดียว นอกจากนี้คงต้องลองทบทวนดูถึงวิธีเก็บรักษาแผ่น CD และ DVD ที่คุณใช้งานอยู่ทุกวันว่าถูกวิธีหรือไม่