ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

URL Shortener คืออะไร ? การย่อความยาวของ URL มีประโยชน์อย่างไร ?

URL Shortener คืออะไร ? การย่อความยาวของ URL มีประโยชน์อย่างไร ?
ภาพจาก : https://miro.medium.com/v2/resize%3Afit%3A640/format%3Awebp/1%2Aj3xVt5zsYuAB19-QATkk_w.png
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 1,239
เขียนโดย :
0 URL+Shortener+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+URL+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

URL Shortener คืออะไร ?

เมื่อเราพบเจอเรื่องราวที่น่าสนใจบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นบทความ, วิดีโอ, สินค้าที่น่าสนใจ ฯลฯ แล้วต้องการแบ่งปันเรื่องราวนั้นให้กับเพื่อนผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Social Media), หรือแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันแชท (Instant Messaging Applications) เป็นต้น

บทความเกี่ยวกับ URL อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : URL คืออะไร ? URL มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? และมาดูตัวอย่างของ URL ในรูปแบบต่าง ๆ กัน

ใด ๆ ก็ตาม วิธีการง่าย ๆ ที่หลายคนนิยมใช้ในการแชร์คอนเทนต์ให้เพื่อนก็คือ การคัดลอกที่อยู่ ตัวลิงก์ URL ส่งให้เพื่อน อย่างไรก็ตาม หาก URL มีความยาวมากเกินไป มันก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการนำไปแชร์ต่อ นอกจากจะดูไม่สวยงามรกตาแล้ว โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันบางตัว ก็มีการจำกัดตัวอักษรที่สามารถพิมพ์ต่อโพสต์ได้เอาไว้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลให้มีคนไอเดียดีพัฒนา URL Shortener อย่างเว็บไซต์ TinyURL, bit.ly ฯลฯ ขึ้นมา

URL Shortener คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? มาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นกันได้ในบทความนี้ ...

เนื้อหาภายในบทความ

URL Shortener คืออะไร ? (What is URL Shortener ?)

URL Shortener มีคุณสมบัติการทำงานตามชื่อของมันเลยนั่นคือ ลดความยาว หรือย่อขนาดของลิงก์ URL ให้สั้นลงกว่าเดิม ช่วยให้ลิงก์อ่านได้ง่ายขึ้น, ดูสะอาดตา, ง่ายต่อการนำไปแชร์ต่อบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ, มีผลดีต่อการทำ SEO และผู้ให้บริการ URL Shortener บางราย ยังเพิ่มความสามารถในการติดตามลิงก์เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ผลลัพธ์ทางการตลาดได้อีกด้วย

อย่างเช่น มีเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ใช้ URL ว่า

ก่อนย่อ : https://shopee.co.th/SONY-ILCE-7C-กล้องฟูลเฟรมขนาดกะทัดรัด-Alpha-7C-ตัวกล้อง-i.106754729.7569686983?

จะเห็นได้ว่า URL มันยาวมาก แต่เมื่อย่อแล้ว มันก็จะเหลือแค่

หลังย่อ : https://tinyurl.com/4jn6eb95

จากที่ดูผลลัพธ์ด้านบนจะเห็นได้ว่าขนาดความยาวของ URL สั้นลงกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งขั้นตอนย่อลิงก์นี้เรียกว่าการทำ URL Shortening นั่นเอง

ความยาวสูงสุดของ URL 

ความยาวสูงสุดของ URL มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้ และการรองรับของตัวเว็บเซิร์ฟเวอร์ด้วย 

เว็บเบราว์เซอร์

ความยาวสูงสุดของ URL

 Chrome  2,083 ตัวอักษร
 Firefox  65,536 ตัวอักษร
 Safari  80,000 ตัวอักษร
 Internet Explorer  2,083 ตัวอักษร
 Edge  2,083 ตัวอักษร

URL Shortener ทำงานอย่างไร ? (How does URL Shortener work ?)

สถาปัตยกรรมการทำงานของระบบ URL Shortener ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบไปด้วย ฟังก์ชันที่จำเป็นตต่อการทำงาน และฟังก์ชั่นเสริมการทำงาน

ฟังก์ชันที่จำเป็นต่อการทำงาน (Functional requirements)

ต่อไปนี้เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบ URL Shortener

  • Short URL Generation (สร้าง URL แบบสั้น) : เป็นระบบที่สามารถสร้าง URL ขนาดสั้นมีค่าเฉพาะไม่ซ้ำกันให้กับ URL ที่กำหนดได้
  • Redirection (เปลี่ยนเส้นทาง) : หลังจากสร้าง URL สั้นขึ้นมาสำเร็จแล้ว ตัวระบบจะต้องสามารถทำ Redirection จาก "URL สั้น" กลับไปยัง "URL ต้นฉบับ" ได้
  • Custom Short Links (ปรับแต่งลิงก์สั้น) : ผู้ใช้ควรจะสามารถสร้างลิงก์ URL สั้นได้ ด้วยตนเองผ่านเครื่องมือที่ระบบจัดเตรียมไว้ให้
  • Deletion (การลบ) : ผู้ใช้ควรสามารถที่จะลบลิงก์ URL สั้น ที่สร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเอง

จะเห็นได้ว่าหลักการทำงานของ URL Shortener มีพื้นฐานที่ง่ายมาก ๆ สร้าง URL สั้นขึ้นมาให้ผู้ใช้ แล้วเก็บข้อมูล URL จริงขนาดเต็มไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ แล้วมีระบบ Redirection ให้เมื่อคลิกเปิด URL สั้นแล้ว ถูกพาไปที่ URL จริงเท่านั้นเอง

URL Shortener คืออะไร ? การย่อความยาวของ URL มีประโยชน์อย่างไร ?
ภาพจาก https://medium.com/javarevisited/day-1-high-level-system-design-series-url-shortening-d28888d71084

ฟังก์ชั่นเสริมการทำงาน

ในส่วนนี้จะเป็นสิ่งที่ระบุระบบควรทำงานอย่างไร ? ในขณะหัวข้อก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องว่าระบบควรทำอะไรได้บ้าง ?

  • Availability (ความพร้อมใช้งาน) : นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะข้อมูล URL ถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ ถ้าหากระบบล่มจะทำให้การเปลี่ยนเส้นทาง (Redirection) หยุดทำงาน ซึ่งส่งผลให้ลิงก์ URL สั้นไม่สามารถใช้งานได้
  • Scalability (การขยายขนาด) : เมื่อฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น ระบบควรออกแบบมาให้รองรับการขยายขนาดได้ตั้งแต่แรก
  • Readability (อ่านง่าย) : ลิงก์ URL สั้นที่ถูกย่อแล้ว ควรจะอ่าน, พิมพ์ และจดจำได้ง่าย 
  • Latency (ความหน่วง) : การเข้าลิงก์ผ่าน URL สั้น จะมีความล่าช้ากว่าการเข้าลิงก์โดยตรงอยู่เล็กน้อย เนื่องจากต้องเสียเวลาในจังหวะทำ Redirection
  • Unpredictability (ไม่สามารถคาดเดาได้) : หากมุมในมองของความปลอดภัย ลิงก์ URL สั้นที่ระบบสร้างขึ้นไม่ควรถูกคาดเดาได้ง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้ใครบางคนคาดเดา URL ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของเราได้

URL Shortener คืออะไร ? การย่อความยาวของ URL มีประโยชน์อย่างไร ?
ภาพจาก https://medium.com/javarevisited/day-1-high-level-system-design-series-url-shortening-d28888d71084

ประวัติความเป็นมาของ URL Shortener (History of URL Shortener)

หลังจากที่ World Wide Web ได้เริ่มตั้งไข่ในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) โลกดิจิทัลก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) Uniform Resource Locator (URL) ซึ่งเปรียบเสมือนที่อยู่ของเว็บไซต์ก็ถูกสร้างขึ้น

ข้ามเวลามาในเดือนกันยายนของปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) Nimrod Megiddo และ Kevin S. McCurley สองนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้ยื่นจดสิทธิบัตรหมายเลขทะเบียน US6957224B1 ในหัวข้อ "Efficient retrieval of uniform resource locators" (การดึงข้อมูลที่อยู่ทรัพยากรแบบสม่ำเสมออย่างมีประสิทธิภาพ) ซึ่งเป็นหลักการทำงานในรูปแบบของ URL Shortener โดยในสิทธิบัตรได้ระบุเอาไว้ว่า

ระบบ, วิธีการ และผลิตภัณฑ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการให้ลิงก์ไปยังข้อมูลที่อยู่ระยะไกล ระบบนี้อาจมี หรือไม่มีเซิร์ฟเวอร์ก็ได้แต่หากมีการรวมเซิร์ฟเวอร์อยู่ด้วย URL (Uniform Resource Locator) จะถูกลงทะเบียนกับเซิร์ฟเวอร์ ลิงก์ย่อ จะถูกเชื่อมโยงกับ URL ที่ลงทะเบียนแล้ว เมื่อมีการร้องขอลิงก์ย่อ ฐานข้อมูลรีจิสทรีจะถูกค้นหา URL ที่เชื่อมโยง หากพบว่าลิงก์ย่อเชื่อมโยงกับ URL URL จะถูกดึงมา 

ตัวสิทธิบัตรได้รับการยอมรับในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) แต่ว่ามันตามกฏของ US Patent แล้ว ตัวสิทธิบัตรจะมีการเปิดเผยสู่สาธารณะหลังจากที่ยื่นจดได้ 18 เดือน

แต่บริการ URL Shortener ที่ทำให้คนรู้จักเทคโนโลยีนี้เป็นรายแรก คือ TinyURL ที่เปิดให้บริการในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)

Kevin Gilbertson หรือที่เพื่อน ๆ มักจะเรียกเขาว่า Gilby นักพัฒนาเว็บไซต์ที่ในขณะนั้นมีอายุเพียง 24 ปี ไม่รู้ตัวเลยว่า สิ่งที่เขากำลังสร้างมันจะกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจุดประกายให้มีบริษัทเปิดให้บริการในรูปแบบเดียวกันตามมาอีกหลายร้อยบริษัท

ในตอนนั้น เขาต้องการรวบรวมโพสต์จำนวนมากของกลุ่มนักปั่นจักรยานล้อเดียวมาเก็บไว้บนหน้าเพจเว็บไซต์ แต่เขาประสบปัญหาว่าลิงก์ URL ของแต่ละโพสต์นั้นมีความยาวมาก ทำให้ทำงานยาก เขาจึงมีความคิดที่จะหาทางทำให้ลิงก์ URL เหล่านั้นสั้นขึ้น เขาจึงสร้างเว็บไซต์ TinyURL ขึ้นมา 

Gilby ไม่ได้มีแผนธุรกิจอะไรในการสร้าง TinyURL ขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว เขาคิดเพียงแค่ว่า จะหาทางแก้ไขปัญหา และปรับปรุง ประสบการณ์ในการใช้งาน (User Experience) ที่เขากำลังเผชิญอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไรเท่านั้นเอง แต่หลังจากนั้น TinyURL ได้เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายบริษัท จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจชนิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จ

URL Shortener คืออะไร ? การย่อความยาวของ URL มีประโยชน์อย่างไร ?
Kevin Gilbertson
ภาพจาก https://blog.rebrandly.com/link-management/the-history-of-url-shorteners/

มีเว็บไซต์หลายแห่งที่นำระบบ URL Shortener มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน อย่างในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ทาง WordPress ก็ได้ประกาศว่า "wp.me" จะถูกนำมาใช้เป็น URL Shortener เมื่อต้องการสร้างลิงก์ไปยัง Blog ของ WordPress.com ในปีเดียวกันนี้เอง เว็บไซต์ bit.ly ที่ก่อตั้งมาได้เพียงปีเดียว ก็มีผู้ใช้บริการมากถึง 2,100,000,000 ครั้ง (2.1 พันล้านครั้ง) แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ และความนิยมของบริการ URL Shortener ได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จของบริการ URL Shortener ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้กับแพลตฟอร์ม Twitter หรือที่ปัจจุบันนี้ใช้ชื่อว่า X ด้วย ในยุคแรกเริ่มนั้น Twitter นั้นอนุญาตให้ผู้ใช้เขียนได้เพียง 140 ตัวอักษร ต่อหนึ่งโพสต์เท่านั้น หากผู้ใช้ต้องการแชร์ลิงก์บน Twitter การย่อ URL ให้สั้นลง จะช่วยให้มีพื้นที่เหลือสำหรับพิมพ์ข้อความอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งในภายหลัง Twitter ก็พัฒนาระบบย่อลิงก์อัตโนมัติช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลาย่อลิงก์เองอีกต่อไป

ข้อดี-ข้อเสียของการใช้ URL Shortener (URL Shortener Pros and Cons)

ข้อดีของ URL Shortener

ง่ายต่อการจดจำ และนำไปใช้

คนส่วนใหญ่สามารถจำได้เพียง Domain name หลักเท่านั้น  ส่วนตัวอักษรของที่อยู่ลิงก์ที่ห้อยตามท้าย URL หลักนั้น ไม่มีใครจดจำได้ หรือเสียเวลาที่จะพยายามจดจำมัน จาก "https://shop.thaiware.com/4714-IDM-One-Year-License.html#features-of-idm" ให้เหลือแค่ "https://tinyurl.com/atzrz4bm"

ข้ามข้อจำกัดของพื้นที่

URL ที่มีความยาวนั้นเปลืองพื้นที่ ดูไม่สวยงาม และยากต่อการนำไปใช้ แต่ด้วยการใช้ URL Shortener คุณก็สามารถแบ่งปัน URL ได้ง่ายขึ้น เช่น ส่งผ่าน SMS, ใส่ในช่อง Bio ของ Instagram เป็นต้น

ช่วยในการเก็บข้อมูล และทำตลาด

ในปัจจุบันนี้ มีบริการ URL Shortener ที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์, เก็บรายงาน และติดตามการคลิกลิงก์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการทำตลาดได้อีกด้วย

ปรับแต่ง URL ได้

หนึ่งในลูกเล่นที่น่าสนใจของ URL Shortener คือ มันอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่ง URL ได้อิสระในระดับหนึ่ง รวมถึงทำให้ URL สั้นที่สุดเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ หรือปรับ URL ให้เข้ากับแคมเปญ และชื่อบริษัทได้อีกด้วย

ข้อเสียของ URL Shortener

ลดคุณค่าของลิงก์

URL Shortener เป็นการซ่อน URL รูปแบบหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งมันกลายเป็นลิงก์ที่ดูน่าสงสัย ทำให้ลิงก์ที่แท้จริงซึ่งอาจเป็นลิงก์ที่มีคุณภาพ แต่ถูกมองข้ามไปเพราะลิงก์ประเภทนี้มักไม่มีรายละเอียดบอกอะไรแก่ผู้ใช้เลย

ลิงก์เสีย

บ่อยครั้งที่ลิงก์ URL ที่ถูกย่อมักจะเสียไม่ใช้งานได้แล้ว แม้ว่าลิงก์ต้นฉบับอันที่จริงแล้ว อาจจะยังใช้งานได้อยู่ ซึ่งเหตุผลก็มาจากผู้ให้บริการย่อลิงก์นั้นอาจจะเลิกให้บริการไปแล้ว หรือฐานข้อมูลได้ลบที่อยู่ลิงก์ต้นฉบับไปแล้ว ส่งผลให้เมื่อผู้ใช้คลิกที่ลิงก์ดังกล่าว จะปรากฏว่าเสีย และไม่สามารถใช้งานได้

เพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

เพราะการย่อ URL สามารถซ่อนที่อยู่ลิงก์ได้ แฮกเกอร์จึงใช้ประโยชน์จากมันในการทำ Phishing ล่อลวงให้เหยื่อเข้าลิงก์ปลอม ภายหลังผู้ให้บริการบางรายได้พยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มคุณสมบัติให้ผู้ใช้สามารถดูพรีวิวของลิงก์ก่อนที่จะคลิกเปิดได้


ที่มา : buffer.com , medium.com , bitly.com , betterprogramming.pub , blog.rebrandly.com , saturncloud.io , patents.google.com , www.papaki.com

0 URL+Shortener+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+URL+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น