การประกอบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้สักเองสักเครื่องหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะสมัยนี้มีข้อมูลมากมายที่สามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่การเลือกสเปกที่เหมาะสมกับความต้องการ, ขั้นตอนการประกอบ ไปจนถึงการเปรียบเทียบราคา ง่ายถึงขนาดที่กดสั่งจากร้าน เพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมง ชิ้นส่วนทั้งหมดก็มาส่งถึงบ้านพร้อมให้ประกอบเครื่องแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากไม่เคยประกอบคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย ไม่ว่าจะศึกษามาดีขนาดไหน ? แต่ถ้าไม่ผ่านประสบการณ์มาบ้าง มันก็มักจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ในบทความนี้จะมาแนะนำ 10 ข้อผิดพลาด ที่มือใหม่มักจะพลาดเวลาที่ประกอบคอมพิวเตอร์กัน จะมีอะไรบ้าง ? ไปอ่านกันเลย
นี่เป็นข้อผิดพลาดง่าย ๆ ที่มือใหม่มักมองข้ามไป โดยเกิดขึ้นก่อนที่คุณจะเริ่มประกอบร่างคอมพิวเตอร์ของคุณเสียอีก ลองจินตนาการภาพตามดูว่าคุณเคยเจอประสบการณ์แบบนี้ไหม ?
ลิสต์รายการชิ้นส่วนที่ต้องการ ➜ ได้ของมา ➜ แกะทุกอย่างจากกล่อง ➜ เริ่มต้นประกอบ แล้วก็พบว่า ...
ชุดน้ำสามตอนอย่างดีที่คุณซื้อมาใหญ่เกินกว่าจะยัดลงไปในเคสคอมพิวเตอร์, การ์ดจด RTX 4080 ยาวเกินกว่าที่จะติดตั้งลงไปได้ หรือแม้แต่เคสเล็กไปจนไม่สามารถใส่ แผงวงจรหลัก หรือ เมนบอร์ด (Mainboard) เข้าไปได้ ความผิดพลาดนี้ยังเกิดในระดับเทคนิคได้ด้วย เช่น ซื้อซีพียู AND Ryzen 7000 มา ซึ่งมันใช้ซ็อกเก็ตแบบ AM5 แต่คุณดันซื้อเมนบอร์ดรุ่นเก่าที่ยังใช้ซ็อกเก็ตแบบ AM4 มา ทำให้ไม่สามารถติดตั้ง หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ลงบนเมนบอร์ดได้
ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีเลือกซื้อเคสคอมพิวเตอร์ มาใช้ (Computer Case Buying Guides and Tips)
ทางออกที่ผู้เขียนคิดว่าง่ายที่สุดคือ ใช้บริการเว็บไซต์ PCPARTPICKER (ลองเอาชื่อไป Google ดู) ที่สามารถจัดสเปกได้ โดยที่เมื่อเราเลือกชิ้นส่วนเริ่มต้นแล้ว เวลาเราเลือกชิ้นส่วนถัดไป มันจะทำการคัดเลือกชิ้นส่วนที่สามารถทำงานร่วมกันได้แค่เพียงอย่างเดียวเลย
หากดูในกลุ่มที่มีการปรึกษาปัญหาคอมพิวเตอร์ นี่ก็เป็นหนึ่งคำถามแอบตลกที่เรามักจะเจอกันบ่อยมาก กับการที่ประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วทดสอบใช้งาน แต่พบว่าอุณหภูมิของเครื่องสูงกว่าที่มันควรจะเป็น
ปัญหานี้มักเกิดจากการ "ลืม" ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายความร้อนแบบ ระบบระบายความร้อนด้วยพัดลม (Air Cooler) หรือของเหลว (Liquid Cooler) ก็ตาม ทางผู้ผลิตจะติดตั้งฟิล์มกันรอยเอาไว้ที่ผิวหน้าสัมผัสของฮีตซิ้งเอาไว้ ก่อนจะติดตั้งเพื่อใช้งาน เราจะต้องลอกฟิล์มดังกล่าวออกก่อน โดยผู้ผลิตจะมีระบุไว้ในคู่มือ และพิมพ์ข้อความเอาไว้บนฟิล์มด้วย
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม หลายคนมักจะลืมแกะมันออก แม้แต่ร้านขายคอมพิวเตอร์ ก็ยังมีรายงานการบ่นจากผู้ใช้เป็นประจำ ว่าร้านก็ลืมแกะมาให้
ซึ่งเราน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่นำความร้อนได้ต่ำมาก เมื่อเราไม่ได้แกะฟิล์มออก มันก็จะทำให้ความร้อนไม่สามารถถ่ายเทจากซีพียูมาสู่ฮีตซิ้งได้ ทีนี้ไม่ว่าคุณจะทา ซิลิโคนสำหรับ CPU (Thermal Paste) เอาไว้ท่าไหนก็ตาม มันก็ไม่สามารถช่วยอะไรคุณได้
ภาพจาก : https://simplifion.com/products/rgb-aio-360-mm-cpu-liquid-cooler/
ประเด็นนี้มันค่อนข้างซับซ้อนอยู่สักเล็กน้อย โดยในการติดตั้งฮีตซิ้งลงบนตัวซีพียู สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้ส่วนหน้าสัมผัสมันอยู่แนบสนิทกับกระดองของซีพียูให้มากที่สุด เพื่อให้ความร้อนสามารถถ่ายเทได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งการจะติดตั้งให้มันแนบสนิทได้ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบตัวฮีตซิ้ง โดยปกติแล้วมันมักจะมี "ฐานยึด" ให้มาด้วย ซึ่งหากเราติดตั้งฐานผิดจากที่ผู้ผลิตออกแบบไว้ ก็มีโอกาสสูงที่ฮีตซิ้งจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ดังนั้น คู่มือที่มีแนบมาในกล่องจึงสำคัญมาก อย่าลืมอ่าน ทำความเข้าใจให้ดีก่อนลงมือติดตั้ง
และสิ่งสุดท้ายคือการไขสกรูยึดฐาน เราจำเป็นต้องขันให้ครบทุกตัว ไม่ควรข้ามไม่ขันตัวใดตัวหนึ่งไป เพราะจะส่งผลต่อแรงกดของฮีตซิ้งอย่างแน่นอน
สำหรับการทา Thermal Paste คนที่ไม่เคยทามาก่อน ก็อาจจะไม่แน่ใจว่าควรจะป้ายเยอะขนาดไหน หากไม่ศึกษาข้อมูลมาก่อน ผลก็จะออกมาไม่ทาเยอะไป ก็ทาน้อยไป บางคนบีบหมดหลอดละเลงลงไปราวกับบีบครีมแต่งหน้าเค้ก
อันที่จริง Thermal Paste ควรป้ายในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งก็มีหลายเทคนิค อาจจะบีบเป็นขนาดเท่าเม็ดถั่ว, ทำเป็นกากบาท, 3 ขีด ก็แล้วแต่ความถนัด ขอให้ปริมาณมันพอเหมาะก็พอ แต่โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นมือใหม่ก็จะแนะนำเป็นการป้ายแบบ 3 ขีด ส่วนแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็จะเป็นการทาบาง ๆ ทั้งหน้าสัมผัสเหมือนกับการทาเนยบนขนมปัง
ภาพจาก : https://koolingmonster.com/insights/how-to-apply-thermal-paste-to-a-cpu-2022-step-by-step-beginner-guide
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่แม้แต่มือเก๋าที่ชำนาญยังลืม แล้วมักจะช่างมันเพราะขี้เกียจรื้อออกมาประกอบใหม่ ด้านหลังของเคสคอมพิวเตอร์มักจะเป็นศูนย์รวมพอร์ตเชื่อมต่อ I/O ต่าง ๆ ที่อยู่บนเมนบอร์ด ซึ่งตัวเคสก็จะมีฝาปิดหรือที่เรียกว่า I/O Shield ให้มาด้วย ปัญหาก็คือถ้าลืมติดตั้งมันแต่แรก แล้วประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จไปแล้ว มันต้องรื้อชิ้นส่วนมาประกอบใหม่หลายส่วน เนื่องจากมันต้องติดตั้งด้านในเคสก่อนที่เราจะติดตั้งเมนบอร์ด หากขี้เกียจ หลายคนก็เลยเลือกที่จะ "ช่างมัน" ไป ปล่อยให้ด้านหลังเคสมันเป็นรูโบ๋ไปเลย โดยปลอบใจตัวเองว่า มันอยู่ด้านหลังยังไงก็มองไม่เห็นอยู่แล้ว
ซึ่งในความเป็นจริง เจ้าแผ่น I/O Shield นี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไร ไม่ส่งผลอะไรต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ มันแค่ทำให้เคสคอมพิวเตอร์ของเราดูประหลาดเฉย ๆ เท่านั้นเอง อย่างมากก็เพิ่มรูให้ฝุ่นเข้าง่ายขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
เอาว่าถ้าไม่อยากรื้อเคสเพื่อติดตั้ง I/O Shield อย่าลืมติดตั้งมันให้เรียบร้อยก่อนที่จะติดตั้งเมนบอร์ดละกัน
ภาพจาก : https://www.reddit.com/r/PcBuild/comments/1057qwz/any_possible_way_to_install_an_io_shield_from_the/
นี่เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หากคุณไม่ทำมันอย่างระมัดระวัง และถ้าพลาดไปแล้ว ก็แก้ไขยากหรือต้องทำใจยอมรับสภาพไปเลย
บนเคสคอมพิวเตอร์ของคุณมักจะมี พอร์ต USB อยู่ด้วย ในการใช้งานมันเราจะต้องนำสายจากเคสไปเสียบกับช่อง USB ที่อยู่บนเมนบอร์ด ซึ่งเจ้าหัวนี้มันเล็ก และเสียบยากมาก โดยจะเป็นหัวแบบ Pin ขนาดเล็ก ถ้าเราเสียบสลับด้าน แล้วพยายาม "ฝืน" ยัดมันลงไป ก็จะทำให้ "ขา" ล้มจนเสียหายได้ ถ้าไม่รุนแรงมากก็ยังพอจะดัดมันกลับมาได้ แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะขาหักพอร์ตเสียไปเลย ทำให้เราไม่สามารถใช้งานพอร์ต USB ที่อยู่บนเคสได้อีกต่อไป
ดังนั้นตอนต่อสายจากเคสเข้ากับเมนบอร์ดควรจะมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
ข้อมูลเพิ่มเติม : พอร์ต USB คืออะไร ? มีกี่แบบ ? มีวิวัฒนาการอย่างไรบ้าง ?
พัดลมของคอมพิวเตอร์นั้นถูกออกแบบมาให้สามารถติดตั้งได้ทั้ง 2 ด้าน ดังนั้นจะติดด้านไหนมันก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่าพัดลมมันหมุนได้เพียงทิศทางเดียว ดังนั้นการจะดูดลมเข้า หรือเป่าลมออก ก็ขึ้นอยู่กับด้านของพัดลม
ดังนั้น ตอนที่ติดตั้งพัดลมภายในเคส อย่าลืมดูด้วยว่าติดพัดลมถูกด้านหรือเปล่า เพื่อให้ การจัดการทิศทางลม (Airflow Management) ภายในเคสเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น มีการดูดลมเย็นเข้า เป่าลมร้อนออก ถ้าติดตั้งพลาดให้พัดลมทุกตัวดูดอากาศเข้า แต่ไม่มีระบายออก จะส่งผลเสียต่อการไหลเวียนของอากาศภายในเคส ทำให้อุณหภูมิภายในเคสสูงผิดปกติได้
ภาพจาก : https://www.intel.sg/content/www/xa/en/gaming/resources/pc-cooling-the-importance-of-keeping-your-pc-cool.html
การคิดว่าเสียบ RAM ช่องไหนก็ได้ หรือคิดว่าทุกช่องมีค่าเท่ากันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แม้ว่าในทางเทคนิคแล้ว ไม่ว่าคุณจะเสียบ RAM ที่ช่องไหนก็ตาม คอมพิวเตอร์ก็สามารถตรวจพบ และทำงานได้ เช่นเสียบ RAM สองช่องแรกติดกัน หรือสองช่องตรงกลาง
อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้ว ผู้ผลิตมักจะได้ไม่ออกแบบมาให้เราเสียบด้วยรูปแบบด้งกล่าว แม้ว่ามันจะใช้ได้ แต่ก็เป็นการทำงานที่ไม่เต็มประสิทธิภาพที่เราควรจะได้ สังเกตว่าช่องเสียบ RAM มักจะทำสีมาให้ โดยสลับกันสองคู่สี อย่างในภาพตัวอย่างด้านล่างนี้ จะเป็น ดำ-เทา-ดำ-เทา
เมนบอร์ดส่วนใหญ่ในยุคนี้จะให้ RAM มา 4 ช่อง ในแง่เทคนิคแล้ว การนับช่องจะนับช่องแรกจากฝั่งที่อยู่ใกล้กับซีพียู ถ้าสังเกตดี ๆ บนเมนบอร์ดจะมีชื่อช่องระบุเอาไว้ด้วยดังนี้ A1, A2, B1 และ B2 ในการติดตั้งแรมจะมีมาตรฐานดังนี้
ตอนที่เราได้เคสคอมพิวเตอร์มา เราจะสังเกตเห็นว่าภายในเคสจะมี "รู" อยู่ภายในกระจายอยู่เต็มผนังเคส ซึ่งเป็นรูสำหรับใช้ขันสกรูยึดเมนบอร์ดเข้ากับตัวเคสคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรยึดเมนบอร์ดเข้ากับเคสโดยตรง
เหตุผลก็มาจากการที่เคสส่วนใหญ่ก็จะผลิตจากโลหะที่สามารถเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้ และเมนบอร์ดของคุณก็จะมีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนขณะที่มันกำลังทำงาน หากเรายึดมันเข้ากับเคสโดยตรงก็อาจทำให้เกิดการลัดวงจรจนเสียหายได้ แถมอันตรายต่อตัวผู้ใช้ด้วย
ทางแก้ก็ง่ายนิดเดียว คือใช้ขาตั้งเพื่อยกตัวเมนบอร์ดให้ลอยขึ้นมาจนไม่สัมผัสกับตัวเคส ซึ่งมันมีให้มาในกล่องเมนบอร์ดอยู่แล้ว อย่าลืมหยิบมันมาใช้รองให้เรียบร้อยก่อนติดตั้งก็แล้วกัน
ภาพจาก : https://openbenchtable.com/how-to/motherboard-mounting-guide-for-open-benchtable-and-obt-mini/
มาถึงประเด็นสุดท้าย และเป็นข้อผิดพลาดที่อันตรายที่สุดที่มือใหม่มีโอกาสทำมันเสียด้วย ทั้งที่ พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply Unit - PSU) เป็นฮาร์ดแวร์ที่สำคัญมาก เพราะมันเป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดให้กับระบบคอมพิวเตอร์ของคุณ แต่มันกลับเป็นชิ้นส่วนที่มักถูกมองข้ามไม่ให้ความสำคัญ มือใหม่หลายคนเลือกซื้อรุ่นที่ถูกที่สุดโดยไม่สนใจอย่างอื่น
การเลือกใช้ PSU ราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นเหมือนเอาฮาร์ดแวร์ราคาแพงทั้งหมดของคุณไปฝากไว้กับปลั๊กไฟห่วย ๆ ที่พร้อมจะช๊อตได้ตลอดเวลา มันอาจจะไม่สามารถจ่ายไฟได้เสถียรพอ หรือไม่มีระบบป้องกันจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นใส่มาให้
อีกประเด็นหนึ่งก็เป็นเรื่องของกำลังไฟ เราไม่ควรเลือก PSU เท่ากับความต้องการแบบพอดีเป๊ะ ควรจะเลือกเผื่อเอาไว้บ้าง ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ของคุณต้องการพลังงาน 700W ก็ควรเลือกซื้อ PSU ที่มีขนาดอย่างน้อยสัก 850W แล้วก็อย่าลืมเรื่องมาตรฐาน อย่างน้อยควรได้ มาตรฐาน 80 Plus ระดับเงิน (Bronze) ด้วย มันอาจจะราคาแพงกว่า PSU ที่คุณเล็งไว้ในทีแรก แต่เชื่อเถอะว่ามันเป็นชิ้นส่วนที่ควรค่าแก่การลงทุน
หวังว่าหลังอ่านบทความนี้จบ จะช่วยให้ใครที่คิดจะประกอบคอมพิวเตอร์มีความผิดพลาดเกิดขึ้นน้อยลงไม่มากก็น้อยนะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
6 พฤษภาคม 2566 20:54:17
|
||
ข้อ 5 ผมเป็นบ่อยมาก
|
||