หน้าจอเรียกค่าไถ่ของ WannaCry
เป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีเมื่อช่วงวันที่ 12 พฤษภาคม 2017 ได้มีการรายงานจากหลายแหล่งข่าว ถึงการแพร่ระบาดของ Ransonware หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ตัวร้ายภายใต้ชื่อ WannaCry ซึ่งตรวจพบการแพร่ระบาดในระบบคอมพิวเตอร์เกินกว่า 100 ประเทศ เกิดผลกระทบสูงต่อหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศอังกฤษ ซึ่งในประเทศไทยก็มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของ Ransonware ตัวนี้ พิษสงของมัลแวร์เรียกค่าไถ่คือ มันจะทำการเข้ารหัสไฟล์ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ทำให้เราไม่สามารถเปิดไฟล์ขึ้นมาใช้งานได้ และถ้าต้องการให้ไฟล์กลับใช้งานได้ตามเดิม ก็ต้องส่งเงินไปให้แฮกเกอร์ผู้ที่ส่งมัลแวร์มาเล่นงานเรา แลกกับการปลดล็อกให้ไฟล์กลับมาใช้งานได้ตามเดิม
และในทิปส์นี้ เราขอแนะนำเทคนิคดีๆ เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อของ Ransomware ครับ
ความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่ที่เราจะได้รับจากการโจมตีโดย Ransomware คือ การสูญเสียไฟล์ภาพถ่าย หรือไฟล์เอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำงาน วิธีการจัดการความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการ แบ็กอัพ หรือ Copy ไฟล์ข้อมูลชุดหนึ่ง เก็บไว้ในสื่อจัดเก็บข้อมูลที่ไม่ได้เชื่อมต่ออยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เช่น ฮาร์ดดิสก์แบบภายนอกสักตัวที่เอาไว้เก็บไฟล์แบ็กอัพโดยเฉพาะ
เมื่อคอมพิวเตอร์ของเราโดนโจมตีโดย Ransomware ก็ไม่ต้องเป็นกังวลกับการสูญเสียไฟล์ แค่เพียงจัดการล้างเครื่องให้สะอาดปราศจากมัลแวร์ (อาจจะจัดการฆ่า Ransomware ด้วยโปรแกรม Antivirus หรือการเรียกคืน Restore point ย้อนเวลากลับไปยังจุดที่เครื่องคอมฯ ของเรายังไม่โดนโจมตีโดย Ransomware) เมื่อเครื่องสะอาดแล้ว ค่อยนำไฟล์ที่แบ็กอัพไว้มาใส่ลงในเครื่อง
แฮกเกอร์พยายามหาช่องทางในการส่ง Ransomware เข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา หลังจากนั้นก็สั่งรัน Ransomware เพื่อให้เข้ารหัสไฟล์ข้อมูลของเรา ซึ่งช่องทางหลักที่แฮกเกอร์ชอบใช้ในการจัดส่ง Ransomware คือ อีเมลล่อลวง การคลิกที่แบนเนอร์โฆษณาชวนเชื่อบนเว็บไซต์ รวมถึงแฝงมาในแอปฯ หรือโปรแกรมบางตัว
เราต้องมีความระมัดระวังตัวให้มาก ไม่ควรเปิดอีเมลที่ส่งมาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรเปิดเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ อย่าคลิกบนแบนเนอร์โฆษณาชวนเชื่อที่มีเนื้อหาเกินจริง ไม่ควรดาวน์โหลดเครื่องมือ Crack ของโปรแกรมต่างๆ และควรดาวน์โหลดโปรแกรม หรือแอปฯ จากเฉพาะแหล่งที่น่าเชื่อถือ และก่อนที่จะดาวน์โหลดแอป/โปรแกรมตัวใหม่ ก็ควรตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ของผู้พัฒนาว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือไม่ก็ตรวจสอบฟีดแบ็กจากผู้ที่เคยใช้โปรแกรมตัวดังกล่าว ว่ามีมัลแวร์อะไรมาเป็นของแถมหรือไม่
ซอฟต์แวร์ Antivirus ที่ได้รับการอัพเดตอยู่อย่างสม่ำเสมอ สามารถยับยั้งไม่ให้ Ransomware ลักลอบเข้ามาในเครื่องคอมฯ ของเราได้ และซอฟต์แวร์ Antivirus โดยส่วนใหญ่สามารถสแกนไฟล์ที่เรากำลังดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต ว่ามีมัลแวร์ใดๆ แฝงมาหรือไม่ และสามารถยับยั้งการดาวน์โหลดได้หากพบสิ่งแปลกปลอม แถมยังสามารถป้องกันการที่จะมี Ransomware ใดๆ แอบติดตั้งตัวเองในขณะที่เราเปิดเว็บที่มันแฝงอยู่ได้ด้วย และท้ายที่สุดคือ มันสามารถสแกนเครื่องคอมฯ เพื่อมองหา และกำจัด Ransomware ที่แอบอยู่ในเครื่อง
จากข้อมูลของ ThaiCERT เปิดเผยว่า เมื่อวัน 14 มีนาคม 2017 ทาง Microsoft ได้ปล่อยการอัพเดตระบบ Windows เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry เข้ามาโจมตีเครื่องได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการปล่อยอัพเดตเพื่ออุดช่องโหว่ให้กับระบบปฏิบัติการหลายเวอร์ชัน อาทิ Windows Vista, Windows 7, Windows 8.1, Windows 10, Windows Server 2008, Windows Server 2012 และ Windows Server 2016 ดังนั้น เครื่องคอมฯ ที่ได้รับการอัพเดตระบบ Windows รวมถึงอัพเดตโปรแกรมต่างๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะโดนโจมตีด้วย Ransomware และมัลแวร์ต่างๆ ลงไปได้มาก
การเช็คว่าระบบปฏิบัติการ Windows 10 ในเครื่องคอมฯ ของเรา ได้รับการอัพเดตเป็นเวอร์ชันล่าสุดแล้วหรือยัง ให้ไปที่ Setting > Update & security > จะมีการเปิดหน้าต่าง UPDATE & SECURITY ขึ้นมา คลิกที่ > Windows Update > คลิกที่ปุ่ม Check for updates ระบบก็จะทำการตรววจสอบทันทีว่า Windows ของเราเป็นเวอร์ชันอัพเดตล่าสุดแล้วหรือยัง และถ้ายังไม่เป็นเวอร์ชันล่าสุด ขั้นตอนการอัพเดตก็จะเริ่มต้นขึ้นทันทีครับ
ไม่แนะนำให้จ่ายเงินเมื่อโดนมัลแวร์เรียกค่าไถ่เล่นงาน เพราะนั่นยิ่งจะทำให้แฮกเกอร์ย่ามใจ และส่งมัลแวร์เรียกค่าไถ่ไปเล่นงานคนอื่นๆ อีก เพราะเป็นวีธีการหารายได้แบบง่ายๆ บนความเดือดร้อนของผู้อื่น และต้องบอกว่ามีโปรแกรมหลายๆ ตัวที่สามารถถอดรหัสไฟล์ที่โดนเล่นงานโดย Ransomware ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินให้กับแฮกเกอร์ ลองดูตัวอย่างโปรแกรมถอดรหัส Ransomware ได้ที่เว็บไซต์นี้ noransom.kaspersky.com
หรือในอีกทางหนึ่ง ถ้าได้ทำการแบ็กอัพไฟล์ข้อมูลสำคัญไว้แล้ว เราก็สามารถเอาไฟล์ที่แบ็กอัพไว้นำมาใช้งานต่อได้เลย
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |