ระบบปฏิบัติการ Android นั้น มีอยู่มากมายหลายแบบตั้งแต่ที่มันได้ถือกำเนิดขึ้นมา เนื่องจากเดิมที Google ไม่ใช้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เมื่อผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนำ Android ไปใช้ จึงมีการปรับแต่งโค๊ดให้มีลักษณะเป็นของตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ก็อย่างเช่น TouchWiz ของ Samsung หรือ EMUI ของ Huawei ซึ่งข้อดีก็จะอยู่ตรงที่มีลูกเล่นเฉพาะตัวเพิ่มขึ้นมาให้ใช้งาน แต่แม้ว่าจะมีลูกเล่นเยอะขนาดไหน แต่ Pure Android ก็ยังเป็นรอมที่น่าใช้ที่สุดอยู่ดี เหตุผลคืออะไร ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
Android เดิมๆ ของ Google จะนิยมเรียกว่า Pure Android หรือ Stock Android ซึ่งสมาร์ทโฟนที่ใช้ Pure Android ที่เป็นที่รู้จักดีก็คือ Nexus หรือ Pixel นั่นเอง
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของ Android ที่ยังเจอปัญหากันอยู่ก็คือ เรื่องมัลแวร์และช่องโหว่ต่างๆ ที่ถูกพบเจอเป็นระยะ ซึ่งปัญหานี้ในระยะหลัง Google ได้แก้ปัญหาไปมากแล้ว หรือหากพบช่องโหว่ขึ้นมา ก็จะมีการอัพเดทปิดช่องโหว่ให้อย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ Google ปิดช่องโหว่ของ Android อย่างรวดเร็ว แต่ Android เวอร์ชันที่ค่ายสมาร์ทโฟนผลิตขึ้นมากลับไม่ได้อัพเดทเร็วตามไปด้วย เนื่องจากต้องนำโค๊ดของ Google มาแก้ไขใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีความล่าช้าเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับการอัพเดททุกรุ่นอีกด้วย มักจะมีแค่รุ่นเรือธง หรือรุ่นยอดนิยมเท่านั้นที่จะได้รับการอัพเดท
แน่นอนว่าหากเราใช้ Pure Android เราจะได้รับการอัพเดทในทันทีโดยตรงจาก Google
ในขณะที่ตอนนี้ Android ได้ออกมาถึงเวอร์ชัน 8.0 Oreo แล้ว แต่ผู้ใช้ Android ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ ยังคงต้องใช้งานเวอร์ชัน 5.0 Lollipop, 6.0 Marshmallow หรือ 7.0 Nougat กันอยู่เลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้อัพเวอร์ชันล่าสุดกันในตอนไหน หรือแม้แต่การถูกลอยแพก็ไม่น่าแปลกอะไร
ซึ่งหากเราใช้ Pure Android เครื่องของเราจะได้รับอัพเดทอย่างรวดเร็วหลังจากที่ Google ได้ปล่อยเวอร์ชันใหม่ออกมา ไม่ต้องรอคอยอย่างไร้จุดหมายแต่อย่างใด
นอกเหนือจากระบบปฏิบัติการแล้ว ผู้ใช้งานจะได้สัมผัสกับแอปฯ ใหม่ล่าสุดของ Google ได้ทันทีที่มันพร้อมใช้งาน เช่น Google Assistant เป็นต้น
นอกจากการปรับแต่งหน้าตาและฟีเจอร์ของระบบปฏิบัติการแล้ว ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมักจะพยายามยัดเยียดแอปฯ ของตนเองใส่เข้ามาในระบบด้วย หรือที่เรียกกันว่า Bloatware ซึ่งบางตัวก็ซ้ำซ้อนกับแอปฯ เดิมบน Android บางตัวเราก้ไม่ได้อยากจะใช้งานเลยสักนิด ซึ่งแอปฯ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะลบไม่ได้เลย นอกจากว่าเราจะทำการ Root เครื่องเสียก่อน
ผลที่ได้ คือ เราอาจจะมี Chrome ที่ Google ให้เรามา และอาจจะมี Opera ใส่มาให้ด้วย หรือทั้งๆ ที่มี Google Play อยู่แล้ว แต่เรากลับเจอ App Store ของค่ายมือถือใส่เข้ามาด้วย (ตัวอย่างเช่น Galaxy Apps ใน Samsung Galaxy)
จากประเด็นเรื่อง Bloatware นอกจากจะสร้างความซ้ำซ้อนที่น่ารำคาญแล้ว การที่ต้องโหลดแอปฯจำนวนมากขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อแบตเตอรี่รวมถึงประสิทธิภาพอีกด้วย และอีกประเด็นก็คือพื้นที่หน่วยความจำในเครื่องที่ต้องเสียให้กับการติดตั้ง Bloatware
ในการจะลบพวก Bloatware เหล่านี้ ส่วนใหญ่ เราจะต้อง Root เครื่องก่อน ถึงจะลบมันออกไปได้ แม้ว่าแอปฯเหล่านี้จะกินพื้นที่ไม่มากนัก แต่หากสมาร์ทโฟนที่เราใช้มีหน่วยความจำที่น้อยมากอยู่แล้วล่ะก็ ทุก MB ก็อยากจะใช้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดใช่ไหมล่ะ
พูดข้อดีกันไปเยอะแล้ว มาพูดถึงข้อเสียกันบ้าง ปัญหาหลักของ Pure Android คือ มันไม่น่าสนใจ สมาร์ทโฟนที่เป็น Pure Android มักจะขาดเสน่ห์เฉพาะตัวที่เป็นจุดขาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็ คือ Galaxy Note การที่ Samsung จะทำให้ Android สามารถขีดเขียนหน้าจอ ด้วย S Pen ได้สะดวกขนาดนี้ จำเป็นต้องมีการโค๊ดโปรแกรมเข้าไปในเฟิร์มแวร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่แอปฯ แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการเลย
ส่วนปัญหาเรื่องการอัพเดทหรืออัพเดทช้ามาก ในปัจจุบันนี้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ก็เริ่มนโยบาย ให้คำมั่นสัญญาในการออกอัพเดทเฟิร์มแวร์เครื่องให้เร็วกว่าในอดีต และก็มีการการันตีว่าจะได้อัพเดทไปอีกปีสองปีก็ว่ากันไปตามแต่นโยบายของแต่ละบริษัท จุดนี้ก็ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีมากขึ้น
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |