การประกอบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการที่จะประกอบเกมมิ่งพีซี การ์ดจอ (Graphics Cards) เป็นส่วนสำคัญที่คุณต้องเลือกซื้อด้วยความรอบคอบเลย สามารถกล่าวได้ว่าสำหรับเกมมิ่งพีซีแล้ว การ์ดจอนั้นสำคัญกว่าซีพียูด้วยซ้ำไป
หลักการเลือกซื้อการ์ดจอก็มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณา ไม่อย่างนั้น โอเค ถ้าคุณเป็นสุลต่านมีเงินเยอะ ก็ไม่ต้องคิดมาก แค่เลือกซื้อการ์ดจอที่แพงที่สุดที่มีขายมาใช้งาน ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องคิดเยอะหน่อย
ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีการเลือกซื้อการ์ดจอกัน โดยมันก็มีหลายปัจจัยที่เราต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย อย่างเช่น ความละเอียดหน้าจอ, พาวเวอร์ซัพพลาย (PSU), ขนาดของเคสคอมพิวเตอร์ (Computer Case Size) ฯลฯ จะต้องเลือกอย่างไร ? เชิญอ่านต่อได้เลย
ภาพจาก https://www.nvidia.com/th-th/geforce/graphics-cards/30-series/
ในท้องตลาดมีการ์ดจอให้เลือกอยู่หลายยี่ห้อ, หลายรุ่น และหลายระดับราคา มือใหม่เห็นแล้วอาจจะรู้สึกงง ไม่รู้ว่าควรเลือกโดยพิจารณาจากอะไรดี ดังนั้น เรามาเริ่มด้วยสิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อการ์ดจอกันก่อน
เกมสมัยใหม่ที่มีกราฟิกคุณภาพสูง ก็จำเป็นต้องพึ่งพาการ์ดจอที่มีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้การ์ดจอจะแรงขนาดไหน แต่ซีพียูก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน หากงบประมาณมีจำกัดก็ควรจัดสรรงบให้มีความสมดุลกัน การ์ดจอเรือธงจับคู่กับซีพียูตัวล่างสุด ในการใช้งานจริงอาจจะให้ประสิทธิภาพต่ำกว่า การ์ดจอระดับกลางที่จับคู่กับซีพียูระดับกลาง
ในปัจจุบันนี้ การ์ดจอส่วนใหญ่สามารถเล่นเกมบนความละเอียด FHD 1080p ที่เฟรมเรท 30-60 Fps ได้อย่างสบาย ๆ แต่ถ้าหากหน้าจอที่คุณใช้มีความละเอียดสูงกว่านั้น เช่น 2K หรือ 4K จำนวนพิกเซลที่เยอะขึ้น ก็หมายถึงความต้องการทรัพยากรในการเรนเดอร์ภาพสูงตามไปด้วย ดังนั้นก็ควรเลือกการ์ดจอระดับสูงที่แรงหน่อยมาใช้งาน
หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบมาตรฐานทั่วไปจะมีอัตรารีเฟรชเรทอยู่ที่ 60-80Hz ถ้าหากคุณใช้หน้าจอธรรมดา ความละเอียดหน้าจอ (Screen Resolution) อยู่ที่ 1080p และ รีเฟรชเรท (Refesh Rate) อยู่ที่ 75Hz คุณก็ไม่จำเป็นต้องซื้อการ์ดจอระดับเรือธงมาใช้ให้เปล่าประโยชน์ เพราะหน้าจอแสดงผลของคุณไม่อาจแสดงผลลัพธ์คุณภาพสูงสุด ที่ตัวการ์ดจอสามารถทำได้อยู่ดี เอาเงินไปลงทุนในส่วนของซีพียู, แรม ฯลฯ แทนดีกว่า
พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply Unit หรือ PSU) เป็นตัวจ่ายไฟให้กับระบบคอมพิวเตอร์ หากเป็นการประกอบคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่เลย คุณก็ไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะยังไงคุณก็ต้องซื้อใหม่อยู่แล้ว แต่ในกรณีที่เป็นการอัปเกรดเปลี่ยนแค่ตัวการ์ดจอ ก็อย่าลืมเช็คกำลังไฟของพาวเวอร์ซัพพลายที่มีอยู่ด้วย ว่าสามารถจ่ายพลังงานให้การ์ดจอไหวหรือเปล่า ?
เพราะการ์ดจอระดับสูงนั้นต้องการพลังงานไฟฟ้าในการทำงานสูงพอสมควร อย่างเช่น Geforce RTX 3090 กำลังไฟของกราฟิกการ์ดต้องการ 350 วัตต์ (Watts) เมื่อรวมทั้งระบบ ทาง NVIDIA ก็แนะนำให้ใช้พาวเวอร์ซัพพลายขนาด 750 วัตต์ (Watts) ถ้าพาวเวอร์ซัพพลายที่มีอยู่จ่ายไฟได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องเตรียมเงินสำหรับค่าพาวเวอร์ซัพพลายตัวใหม่เอาไว้เผื่อด้วย
การ์ดจอตัวแรง มักจะมีขนาดใหญ่พอสมควร สำหรับคนที่ใช้เคสแบบขนาดใหญ่ (Full Tower) หรือขนาดกลางๆ หน่อย (Mid Tower) ก็ไม่น่าจะเจอปัญหานี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าใครที่ใช้เคสแบบ Mini Tower หรือ MINI-ITX ก็จะมีข้อจำกัดในการเลือกซื้อการ์ดจอพอสมควร โดยอาจจะใส่ได้แค่การ์ดจอที่ทำเป็นรุ่น Mini ออกมาเท่านั้น
ภาพจาก https://www.asus.com/Motherboards-Components/Graphics-Cards/Dual-Mini/DUAL-RTX3060TI-O8G-MINI/
การ์ดจอเป็นสินค้าที่มีราคาขายปลีกที่แนะนำของผู้ผลิต (Manufacturer's Suggested Retail Price (MSRP)) กำกับเอาไว้อยู่ เมื่อคุณไปซื้อการ์ดจอ ราคาก็จะไม่แตกต่างไปจากราคา MSRP มากนัก หากพบว่าเจอราคาต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซื้อจากร้านบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีชื่อเสียง ควรระวังว่าอาจจะได้การ์ดจอปลอมมาแทน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ (ปี ค.ศ. 2014 หรือ พ.ศ. 2564) เนื่องจากปัญหาด้านการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้การ์ดจอมีราคาสูงกว่าราคา MSRP ไปหลายเท่าตัวเลยล่ะ
ในอดีต การใช้การ์ดจอ 2 ตัวทำงานร่วมกัน หรือที่ทาง NVIDIA เรียกว่า SLI ส่วนทาง AMD เรียกว่า CrossFire นั้นเป็นที่นิยมพอสมควร แต่ปัจจุบันนี้ สามารถกล่าวได้ว่ามันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ แถมยังต้องตั้งค่ายุ่งยากด้วย เอาเงินสำหรับซื้อการ์ด 2 ตัว ไปซื้อการ์ดจอเพียงตัวเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงเลยดีกว่า
อย่าคาดหวังว่าการ์ดจอรุ่นที่แปะชื่อรุ่นห้อยท้ายว่า OC (Overclock) จะมีความแรงกว่ารุ่นมาตรฐานที่ไม่ได้ OC อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะแรงกว่าประมาณ 5-10% เท่านั้น
ภาพจาก https://www.zotac.com/us/product/graphics_card/zotac-gaming-geforce-rtx-3070-twin-edge-oc
หากคุณค้นหาข้อมูลของการ์ดจอที่มีให้เลือกซื้อ จะพบว่ามันมีหลายรุ่น หลายผู้ผลิต เป็นร้อย ๆ รุ่นเลยล่ะ แต่ตัวชิปประมวลผลของการ์ดจอจริง ๆ แล้วจะมีมาจากแค่เพียง 2 บริษัทเท่านั้น นั่นก็คือ NVIDIA และ AMD (กำลังจะมีการ์ดจอจาก Intel Xe Graphic มาแข่งขันด้วยเป็นรายที่สาม คาดว่าจะเปิดตัวตอนปลายปี พ.ศ. 2564)
คำถามที่หลายคนชอบถาม และก่อให้เกิดการวิวาทะอยู่บ่อยครั้ง คือ การ์ดจอ NVIDIA หรือ AMD ค่ายไหนดีกว่ากัน ?
หากมองในแง่ของประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว การ์ดจอในระดับเดียวกันของ NVIDIA ก็จะเหนือกว่า AMD อยู่พอสมควร แต่อย่าลืมว่าการ์ดจอจาก AMD ก็มีราคาที่ถูกกว่า ในแง่ของความแรงต่อเม็ดเงินแล้ว การ์ดจอของ AMD ก็อาจจะให้ความรู้สึกที่คุ้มค่ากว่า
ภาพจาก https://www.tomshardware.com/reviews/gpu-hierarchy,4388.html
ถัดมาในเรื่องของเทคโนโลยี Ray Tracing ที่หลายคนมองว่าไม่จำเป็น แต่เรามองว่ามันมีผลต่อความสวยงามมากพอสมควรนะ แม้ปัจจุบันนี้ เกมที่รองรับเทคโนโลยีดังกล่าวยังมีอยู่จำนวนไม่มาก แต่อย่าลืมว่าเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Sony PlayStation 5 และ Microsoft Series X ต่างก็ใส่เทคโนโลยีนี้เข้ามาให้แล้ว เกมที่เปิดตัวใหม่จึงคาดหวังได้ว่าจะมีการใส่เทคโนโลยี Ray Tracing เข้ามาเพิ่มความสวยงามด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งสำหรับการทำ Ray Tracing ในขณะนี้ การ์ดจอจาก NVIDIA ก็ทำได้ดีกว่าเช่นกัน
ผล Benchmarks Ray Tracing ที่ความละเอียด 1080p
ภาพจาก https://www.tomshardware.com/features/amd-vs-nvidia-best-gpu-for-ray-tracing
สุดท้าย คือ เรื่องของซอฟต์แวร์เพิ่มคุณภาพกราฟิก อันนี้ทั้งสองค่ายมีด้วยกันทั้งคู่นะ โดย NVIDIA จะเรียกว่า Deep Learning Super Sampling (DLSS) ใช้เทคโนโลยี AI ในการทำงาน ส่วนทาง AMD จะเรียกว่า AMD FidelityFX Super Resolution (FSR) ที่เป็นแบบ โอเพ่นซอร์ส (Open Source) อันนี้ตอบได้ยาว่าเทคโนโลยีไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับเกม และสถานการณ์ในขณะนั้นเลย
คลิปจากช่อง https://www.youtube.com/channel/UCEKJKJ3FO-9SFv5x5BzyxhQ
การ์ดจอเป็นสินค้าที่มีการกำหนดราคาอย่างความตรงไปตรงมาพอสมควร หรือพูดง่าย ๆ ว่า ยิ่งแพง ยิ่งมีประสิทธิภาพสูง เราสามารถแบ่งกลุ่มการ์ดจอตามราคา และประสิทธิภาพ ได้ดังต่อไปนี้
อิงตามข้อมูลในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
GPUs (เรียงตามลำดับสูงไปต่ำ) | ระดับราคา | เหมาะสำหรับ |
---|---|---|
Nvidia GeForce GT 1030 / AMD Radeon RX 550 | ถูกมาก | คนที่แทบจะไม่เล่นเกม หรือทำกราฟิกเลย และตัว CPU ที่ใช้งานไม่มีการ์ดจอแบบออนบอร์ด |
Nvidia GeForce GTX 1650 Super, Nvidia GTX 1650 / AMD Radeon RX 5500 XT 4GB. / 8GB. รุ่นเก่า : Nvidia GTX 1060, GTX 1050 Ti, GTX 1050 / AMD RX 590, RX 580, RX 570, RX 560 | เริ่มต้น | เพียงพอต่อการเล่นเกมที่ความละเอียด 1080p โดยปรับคุณภาพกราฟิกต่ำ-ปานกลาง |
Nvidia GeForce RTX 2060, GTX 1660 Ti, GTX 1660 Super, GTX 1660 / AMD Radeon RX 5700, RX 5600 XT รุ่นเก่า : Nvidia GTX 1070 Ti, GTX 1070 / AMD RX Vega 56 | ปานกลาง | เล่นเกมที่ความละเอียด 1080p ได้ดี และรองรับอุปกรณ์ VR |
Nvidia GeForce RTX 3070, RTX 3060 Ti, RTX 3060, RTX 2070 Super, RTX 2070, RTX 2060 Super / AMD Radeon RX 6800, RX 5700 XT รุ่นเก่า : Nvidia GTX 1080 Ti, GTX 1080 / AMD Radeon VII, RX Vega 64 | สูง | สำหรับคนที่ต้องการเล่นเกมที่ความละเอียดระดับ 2K, 1080p แบบที่เฟรมเรทระดับสูง, มี Ray Tracing และรองรับการเล่นเกมผ่าน VR ได้เป็นอย่างดี |
Nvidia GeForce RTX 3090, RTX 3080, RTX 2080 Ti, RTX 2080 Super, Titan RTX / AMD Radeon RX 6900 XT, RX 6800 XT รุ่นเก่า : Nvidia Titan V, Titan Xp | พรีเมี่ยม | ถ้าต้องการเล่นเกมที่ความละเอียด 4K และปรับคุณภาพกราฟิกของเล่นแบบสูงสุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเฟรมเรทจะตก |
ควรจะเลือกการ์ดจอที่มีแรม อย่างต่ำ 6 GB. มาใช้งาน แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นก็ควรจะ 8 GB. หรือมากกว่านั้น หน่วยความจำของการ์ดจอจะช่วยให้มันเรนเดอร์กราฟิกได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเล่นเกมที่ความละเอียดสูง อย่าง 2K หรือ 4K
คุณต้องแน่ใจว่าภายในเคส มีพื้นที่ว่างพอสำหรับติดตั้งการ์ดจอ ซึ๋งการ์ดจอนั้นก็มีอยู่หลาย Form factor ต่างกันที่ ความยาว, ความหนา และความสูง โดยตามปกติแล้วขนาดของการ์ดจอมักจะแปรผันตามประสิทธิภาพของมัน ยิ่งแรงยิ่งมีขนาดใหญ่
ภาพจาก https://www.ign.com/articles/nvidia-geforce-rtx-3090-founders-edition-review
ค่า TDP เป็นค่าประเมินการกระจายความร้อน (ตรวจสอบได้ในสเปกของการ์ดจอ) แต่มันก็สามารถใช้คาดการณ์จำนวน "วัตต์ (Watts)" ที่คุณต้องใช้ในการทำงานของการ์ดจอได้ด้วย ตัวอย่างเช่น หากคุณมี PSU ขนาด 400 วัตต์ ใช้ซีพียู 95 วัตต์ แล้วต้องการจะเพิ่มการ์ดจอที่มี TDP 250W
และเมื่อรวมกับฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ที่ต้องใช้ไฟด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แรม, หน่วยความจำ, ระบบระบายความร้อน ฯลฯ PSU ขนาด 400 วัตต์ ก็น่าจะจ่ายไฟไม่ไหวแล้ว โดยทั่วไปแล้ว PSU ขนาด 600W สามารถใช้งานกับการ์ดจอรุ่นเก่าได้อย่างสบาย ๆ แต่หากคุณเล็งการ์ดจอรุ่นใหม่ระดับเรือธง อย่างเช่น RTX 3080 / RX 6800 XT เอาไว้ ก็ควรจะอัปเกรด PSU ที่รองรับกำลังวัตต์มากขึ้นไปอีก
ข้อมูลเพิ่มเติม : เครื่องมือคำนวณ ความต้องการของ PSU จากเว็บไซต์ Outervision.com
การ์ดจอยิ่งแรง อัตราการกินไฟก็ยิ่งสูงตามไปด้วย กำลังไฟ 75 วัตต์ ที่พอร์ต x16 PCIe จ่ายได้ จึงไม่เพียงพอต่อการทำงานของการ์ดจอ ทำให้มันต้องพึ่งพา ขั้วต่อสายไฟ (Power Connector) เข้ามาช่วย ซึ่งก็มีอยู่ 3 มาตรฐาน 6 พิน, 8 พิน และ 12 พิน
โดยการ์ดจอแต่ละรุ่นก็จะเลือกใช้มาตรฐาน ขั้วต่อสายไฟ ที่แตกต่างกันออกไป โดยบางรุ่นใช้ 6 พิน เส้นเดียว, บางรุ่นใช้ 6 พิน และ 8 พิน พร้อมกัน ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า PSU ของคุณ มีสายไฟ ที่มีขั้วต่อ เพียงพอต่อความต้องการของตัวการ์ดที่คุณเลือก
ภาพจาก https://www.tomshardware.com/reviews/gpu-buying-guide%2C5844.html
พอร์ตสัญญาณภาพมีอยู่หลายมาตรฐาน โดยมาตรฐานหลักในปัจจุบันก็จะเป็น HDMI หรือไม่ก็ DisplayPort จอรุ่นใหม่บางรุ่นรองรับ USB Type-C ด้วย ส่วนจอรุ่นเก่ามักจะใช้พอร์ต VGA หรือ DVI ซึ่งการ์ดจอรุ่นใหม่ในปัจจุบัน มักไม่ใส่พอร์ตเหล่านี้มาให้แล้ว หากหน้าจอแสดงผลที่คุณมีเป็นแบบเก่า ก็ชั่งน้ำหนักเอาว่า จะซื้อจอใหม่, ใช้อะแดปเตอร์แปลงโดยแลกกับสัญญาณภาพที่คุณภาพต่ำลง หรือหาซื้อการ์ดจอรุ่นเก่า
https://www.msi.com/Graphics-Card/GeForce-RTX-3070-SUPRIM-X-8G/Gallery#lg=1&slide=4
ผู้ผลิตบางรายมีการ Overclocked (OC) ความเร็วของการ์ดจอให้สูงกว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อเพิ่มราคา ซึ่งการ OC ช่วยให้เฟรมเรทขณะเล่นเกมสูงขึ้นได้เล็กน้อย แต่ในภาพรวมแล้ว ความเร็วของหน่วยความจำ และระบบระบายความร้อนส่งผลต่อความเร็วในการทำงานได้มากกว่า ดังนั้นเวลาเลือกการ์ดก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องความเร็วว่ายี่ห้อนั้นเร็วกว่ายี่ห้อนี้ (นิดนึง) การ์ดรุ่นเดียวกันที่คนละยี่ห้อ จูนสเปกมาต่างกัน ไม่ได้ส่งผลในการใช้งานได้ชัดเจนขนาดนั้น
การ์ดจอรุ่นเดียวกัน แต่ละผู้ผลิตอาจจะเลือกใช้แรมต่างชนิดกัน ซึ่งสเปกในส่วนนี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของการ์ดจอได้พอสมควรเลย ตัวอย่างเช่น GTX 1650 DDR6 จะแรงกว่า GTX 1650 GDDR ถึงประมาณ 15%
ภาพจาก https://graphicscardhub.com/gtx-1650-gddr6-vs-gddr5/
สำหรับคนที่ต้องการเล่นเกมผ่านระบบ VR คุณจำเป็นต้องใช้การ์ดจอที่มีประสิทธิภาพสูงพอสมควร ยิ่ง VR ที่มีความละเอียดสูง ยิ่งจำเป็นต้องใช้การ์ดจอที่มีความแรงมากตามไปด้วย ขั้นต่ำที่เล่นได้ดี อย่างน้อยก็ควรเลือก Nvidia RTX 2060 Super / AMD RX 5700 หรือรุ่นที่แรงกว่านี้
เราอธิบายไปแล้วในหัวข้อข้างต้น ตรงนี้เลยขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ณ เวลานี้ การ์ดจอที่ทำ Ray Tracing ได้ดีที่สุด ยังต้องยกให้ RTX 30-series ก่อนในยกนี้ ส่วน AMD RX 6000-series ประสิทธิภาพในการทำ Ray Tracing ไม่ต่างจาก RTX 20-series มากนัก แต่ว่าขาดเทคโนโลยีสนับสนุนอย่าง DLSS ซึ่งก็ต้องรอเกมที่รองรับ FidelityFX Super Resolution ออกมามากกว่านี้ก่อน
สุดท้ายนี้ จะซื้อการ์ดจอรุ่นไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณยินดีจะจ่ายให้มันเท่าไหร่ และที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือ คุณหาซื้อได้หรือเปล่า ? เพราะตอนนี้การ์ดจอขาดตลาด หายากพอสมควร ที่มีขาย ก็ราคาสูงกว่าในสถานการณ์ปกติมากพอสมควร ไม่ก็บังคับซื้อแบบพ่วงขายกับฮาร์ดแวร์ส่วนอื่นด้วย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |