ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตของคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟน (Smartphone), แท็บเล็ต (Tablet) และอุปกรณ์อื่นๆ ได้ง่ายขึ้น และมีกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ หูฟัง (Headphone, Earphone) แต่รู้ไหมว่า หูชั้นในของเด็กนั้นมีความอ่อนไหว และไวต่อเสียงต่างๆ มาก จึงจำเป็นต้องมีการดูแลในเรื่องการฟังของเด็กๆ มากเป็นพิเศษ
มีกฎง่ายๆ เมื่อพูดถึงเรื่องระดับเสียงที่ปลอดภัย และไม่ปลอดภัย (Safe and Unsafe Decibel Levels) นั่นก็คือ ยิ่งเสียงนั้นดังมากเท่าไร ระยะเวลาที่สามารถฟังได้อย่างปลอดภัยก็จะยิ่งสั้นลงเท่านั้น ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำว่า ระดับเสียงต่างๆ ที่คนเราได้ยินในชีวิตประจำวัน ที่ปลอดภัย จะอยู่ที่ 85 dB. (เดซิเบล) เป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมง โดยมีการคำนวณและประเมินความเสี่ยงต่างๆ อย่างละเอียด ก็หมายความว่า หากอยากฟังเสียงระดับ 100 dB. ก็จะฟังได้เพียงแค่ 2 ชั่วโมงจึงจะปลอดภัยนั่นเอง
หูฟังสำหรับเด็ก (Kids Headphones) ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ได้ฟังเสียงต่างๆ ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง หรือแม้แต่เรียนออนไลน์ (Online Learning) ได้ในระดับเสียงที่ปลอดภัย และไม่กระทบต่อสุขภาพการได้ยินในอนาคต โดยควรเลือกใช้หูฟังที่ออกแบบมาเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ และไม่ควรใช้หูฟังประเภท In-ear เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแก้วหูของเด็ก มากกว่าประเภท On-ear หรือ Over-ear ซึ่งหูฟังสำหรับเด็กทั้งในไทย และในต่างประเทศก็มีวางจำหน่ายหลายแบรนด์ อาทิ แบรนด์ Philips, Smiggle, JVC และ Puro เป็นต้น
โดยทั่วไป หูฟังของผู้ใหญ่ตามท้องตลาด จะมีระดับเสียงสูงสุดประมาณ 115 dB. แต่หูฟังสำหรับเด็ก จะมาพร้อมฟังก์ชันการจำกัดระดับเสียง หรือ Volume Limiting ซึ่งจะจำกัดความดังของเสียง ให้มีระดับเสียงที่ปลอดภัยสำหรับหูของเด็ก ซึ่งก็คือ ไม่เกิน 85 dB. หรือจะตั้งค่าให้มีระดับเสียงที่เบากว่านั้นก็ได้ ซึ่งนอกจากเด็กๆ แล้ว ผู้ใหญ่ คนทั่วไปที่ต้องการป้องกัน ถนอมการได้ยินของตัวเอง ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน
หูฟังสำหรับเด็กนั้นเป็นตัวช่วยที่จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่า เด็กๆ จะถูกจำกัดระดับเสียงให้ไม่ดังเกินไปก็จริง แต่สิ่งสำคัญก็คือ เด็กๆ ควรได้รู้ถึงอันตรายของเสียงที่ดังเกินไป และรู้จักป้องกันหูของตัวเองเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง อาจใช้วิธีชวนเด็กๆ พูดคุยถึงอันตรายเหล่านั้น และมีการกำหนดช่วงพักการฟัง (Listening Breaks) เพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาว ไม่ให้ฟังติดต่อกันนานๆ โดยมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ และผู้ปกครองควรทดสอบหูฟังของบุตรหลานทุกครั้งก่อนใช้งาน เพื่อตรวจเช็กระดับเสียงด้วย
|