Wi-Fi Alliance ประกาศใช้ Wi-Fi CERTIFIED 6 มาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) เราสามารถเรียกมันย่อ ๆ ว่า Wi-Fi 6 Wi-Fi 6 หรือถ้าอยากจะเรียกให้ดู Geek ขึ้นจะเรียกชื่อทางเทคนิคของมันว่า 802.11ax ก็ได้ มันเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดของการเชื่อมต่อไร้สาย 802.11 หรือที่เราเรียกกันว่า Wi-Fi
ความเจ๋งของอุปกรณ์ที่ใช้ Wi-Fi 6 คือ มันสามารถรองรับการทำงานร่วมกับมาตรฐานเดิมอย่าง Wi-Fi 5 (802.11ac) ได้ด้วย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ในระบบเครือข่ายของเราใหม่ทั้งหมด
เทคโนโลยี Wi-Fi 6 ไม่ใช่การเชื่อมต่อรูปแบบใหม่ แต่มันเป็นการอัปเกรดจากมาตรฐานเดิม Wi-Fi 5 (IEEE 802.11ac) ทำงานบนคลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz มีการปรับปรุงเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อในเครือข่ายให้สูงขึ้น, เพิ่มประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ (Wi-Fi Spectrum) ฯลฯ จะมีคุณสมบัติอะไรที่น่าสนใจบ้าง ลองมาดูกัน
เป็นคุณสมบัติที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้แบนด์วิดท์ (ปริมาณการรับ และการส่งข้อมูลในระบบ) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการลดระยะเวลาที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลไป-กลับระหว่างตัวอุปกรณ์ และเราเตอร์ ผลก็คือทำให้เหลือแบนด์วิดท์ไว้ให้อุปกรณ์ตัวอื่นในเครือข่ายมากขึ้น
Wi-Fi 6 รองรับการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์หลายตัวภายในเวลาเดียวกัน ผ่าน 8x8 MU-MIMO โดยแบ่งแบนด์วิดท์ได้ถึง 1.2 Gbps ให้แต่ละ Client ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ชุด (2x2) และหากใช้แบนด์วิดท์ทั้งหมด (รวมความถี่ 5 GHz) ด้วย ก็จะทำแบนด์วิดท์ได้สูงถึง 4.8 Gbps
ข้อมูลเพิ่มเติม : MU-MIMO Wi-Fi คือ อะไร ?
อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่อะไร มีมาตั้งแต่ใน 802.11AC Wave 2 ที่เปิดตัวในปี 2016 ซึ่งก็สืบทอดมาใช้ต่อใน Wi-Fi 6 นี้ด้วย โดยยิ่งช่องรับส่งข้อมูลมีความกว้างมากเท่าไหร่ ปริมาณข้อมูลที่รับ-ส่งได้ก็จะยิ่งมากขึ้น รองรับกิจกรรมอย่างการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ หรือเกมระดับ 4K ได้
เป็นคุณสมบัติที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปกรณ์ IoT เป็นอย่างมาก โดย TWT จะอนุญาตให้เราเตอร์ของคุณ สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ในเครือข่าย และอุปกรณ์ IoT เพื่อให้รู้ว่าจะมีการเชื่อมต่อเกิดขึ้นในตอนไหน และความถี่เท่าไหร่ หากตรวจสอบแล้วพบว่าในช่วงเวลานั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องการรับส่งข้อมูล มันก็สั่งพักการเชื่อมต่อเอาไว้ก่อนได้ นั่นช่วยให้ประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ได้เยอะมาก แถมยังได้แบนด์วิดท์คืนเพิ่มมาอีกด้วย
QAM หรือ Quadrature amplitude modulation เป็นกระบวนการส่งสัญญาณดิจิทัลที่ Wi-Fi ใช้ในการรับส่งข้อมูล ซึ่งใน Wi-Fi 6 มันสามารถส่งได้ถี่ถึง 1024-QAM เร็วกว่ามาตรฐานเดิมถึง 4 เท่า (W-Fi 5 ทำได้ 256-QAM) ทำให้การเชื่อมต่อในบริเวณที่มีอุปกรณ์แออัด อย่างเช่นห้างสรรพสินค้า หรือสนามกีฬา ทำได้ดียิ่งขึ้น
เป็นเทคนิคในการส่งสัญญาณ โดยแทนที่จะปล่อยคลื่นไปทั่วทั้งห้อง ก็จะบีบรัศมีให้แคบลง ยิงไปยังอุปกรณ์โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้การรับส่งราบรื่นขึ้นยิ่งกว่าเดิม
ภาพจาก https://www.dolcera.com/web/blog/wifi-6-the-revolutionizer/
ทั้ง Wi-Fi 5 และ Wi-Fi 6 ทำงานอยู่บนสองคลื่นความถี่ คือ 2.4 GHz และ 5 GHz แต่ในเดือนเมษายน ปี 2020 (พ.ศ. 2563) ทางคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (Federal Communications Commission (FCC)) ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มความถี่ 6 GHz ให้เข้ามาอีกหนึ่งคลื่น ซึ่งเทคโนโลยี Wi-Fi 6E ก็คือ Wi-Fi 6 ที่รองรับการทำงานของคลื่น 6 GHz นั่นเอง โดยตัว "E" ย่อมาจากคำว่า Extension ที่แปลว่า ส่วนขยาย
พูดง่าย ๆ ว่า Wi-Fi 6E คือ Wi-Fi 6 ที่รองรับคลื่น 6 GHz นั่นเอง
ภาพจาก https://www.roadtovr.com/qualcomm-wifi-6e-fastconnect-vr-streaming-latency/
ในทางเทคนิคแล้ว Wi-Fi 6 GHz มีความเร็วสูงสุด 9.6 Gbps เท่ากับ Wi-Fi 5 GHz ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดของมาตรฐาน Wi-Fi 6 แม้ในการใช้จริง Wi-Fi 5 GHz มันจะไม่สามารถส่งได้เร็วถึงระดับนั้นก็ตาม
แต่ด้วย Wi-Fi 6 GHz ความเร็วที่เราสามารถใช้งานได้จริงจะเพิ่มขึ้นนะครับ เนื่องจากความถี่ 6 GHz ช่วยให้ช่องสัญญาณ (Channel) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีช่องสัญญาณ 80 MHz เพิ่มมาอีก 14 ช่อง และ 160 MHz เพิ่มมาอีก 7 ช่อง ทำให้ความเร็วในการใช้งานจริงสูงขึ้นกว่าเก่า ที่สำคัญ คือ ช่องเหล่านี้จะทำงานเป็นอิสระไม่ทับซ้อนกัน ช่วยลดความแออัดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีเครือค่ายอยู่เป็นจำนวนมาก
ภาพจาก https://www.wi-fi.org/discover-wi-fi/wi-fi-certified-6
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของเทคโนโลยี หรือมาตรฐานของ Wi-Fi ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi 4 (802.11n), Wi-Fi 5 (802.11ac, Wi-Fi 6 (802.11ax) และ Wi-Fi 6E (802.11ax)
IEEE | 802.11n | 802.11ac Wave 2 | 802.11ax | |
ชื่อ | (Wi-Fi 4) | (Wi-Fi 5) | (Wi-Fi 6) | (Wi-Fi 6E) |
เปิดตัว (ค.ศ.) | 2009 | 2013 | 2019 | 2020 |
ความถี่ | 2.4 GHz & 5 GHz | 5 GHz | 2.4 GHz & 5 GHz | 6 GHz |
Channel Bandwidth | 20MHz, 40MHz | 20MHz, 40MHz, 80MHz, 80+80MHz & 160MHz | 20MHz/40MHz @2.4 GHz, 80MHz, 80+80MHz & 160MHz @5 GHz | 20MHz, 40MHz, 80MHz,80+80MHz & 160MHz @6 GHz |
FFT Sizes | 64, 128 | 64, 128, 256, 512 | 64, 128, 256, 512, 1024, 2048 | |
Subcarrier Spacing | 312.5kHz | 312.5kHz | 78.125 kHz | |
Highest Modulation | 64-QAM | 256-QAM | 1024-QAM | |
Data Rates | 9.02Mb/s | 3.5Gb/s | 9.6Gb/s (1.5Gb/s ต่ออุปกรณ์) | 9.6Gb/s (2.3Gb/s ต่ออุปกรณ์) |
SU/MU-MIMO-OFDM/A | SU-MIMO-OFDM | SU-MIMO-OFDM Wave 1, | MU-MIMO-OFDMA |
เทคโนโลยี Wi-Fi 6E รองรับการใช้งานกับอุปกรณ์รุ่นเก่า (Backward Compatible) ทั้ง Wi-Fi 6 หรือเวอร์ชันเก่ากว่านั้น แต่ถ้าเราต้องการใช้คุณสมบัติของ Wi-Fi 6E ทั้งเราเตอร์ และอุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6E ด้วย เพราะ Wi-Fi 6E นั้นทำงานบนคลื่นความถี่ 6 GHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ใหม่ที่อุปกรณ์รุ่นเก่าไม่รองรับ
ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) นี้ Wi-Fi 6 ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว อุปกรณ์ที่วางจำหน่ายในปีนี้ส่วนใหญ่ก็รองรับ Wi-Fi 6 กันหมดแล้วแหละ ในส่วนของอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6E นั้น ก็มีแล้วเช่นกัน โดยส่วนตัวคิดว่าหากต้องการเปลี่ยนเราเตอร์ใหม่ในตอนนี้ การเลือกซื้ออุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6 และ Wi-Fi 6E ด้วย ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว
ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีเลือกซื้อ Router Wi-Fi ควรพิจารณา จากคุณสมบัติข้อใดบ้าง ?
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |