MU-MIMO Wi-Fi คือ อะไร ในช่วงสองปีหลังมานี้ จะสังเกตได้ว่าเมื่อพูดถึงเทคโนโลยี Wi-Fi เรามักจะได้ยินคำว่า "รองรับ MU-MIMO" กันอยู่บ่อยๆ ซึ่งคนที่กำลังมีความคิดจะเปลี่ยนเราเตอร์ใหม่ในปัจจุบันนี้ ควรเลือกรุ่นที่รองรับ MU-MIMO ด้วย เพื่อให้เราใช้งาน Wi-Fi ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับคนที่มีความ Geek คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่ามัน คือ อะไร ทำไม MU-MIMO ถึงมีความสำคัญต่อระบบ Wi-Fi มาหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสายแลน MU-MIMO ไม่ช่วยให้คุณเล่นเน็ตได้เร็วขึ้น แต่ส่งผลโดยตรงกับการใช้ผ่าน Wi-Fi เพราะยุคนี้เราใช้ Wi-Fi บนอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, Kindles หรือ กล้องวงจรปิด เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เรามักจะให้มันเชื่อมต่อกับระบบ Wi-Fi
ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ เราเตอร์ตัวเก่าที่เราใช้อยู่ จะทำงานแบบ SU-MIMO หรือ Single-User Multiple-Input Multiple-Output มันเป็นรูปแบบการทำงานที่มาพร้อมกับมาตรฐาน Wi-Fi 802.11n ที่เปิดตัวตัวแต่ปี 2007 ทำหน้าที่ในการรับหรือส่งไฟล์ระหว่างอุปกรณ์ Wi-Fi สองตัว
ปัญหา คือ เมื่อมีอุปกรณ์หลายตัวเชื่อมต่อพร้อมกันอยู่ในระบบ เราเตอร์จะทำหน้าที่เหมือนคนแจกไพ่ มันก็จะแจกสลับไล่กันไปตามจำนวนผู้เล่นในวง ซึ่งขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้แทบจะไม่รู้สึกว่ามีการรอคิวอยู่แต่อย่างใด แต่ถ้ามีอุปกรณ์เรียกเข้ามาพร้อมกันจำนวนมากล่ะก็ จะเกิดปัญหาคอขวดในการรับส่งข้อมูลทันที พูดตามภาษาชาวบ้านก็ที่เรียกกันว่า "เน็ตสะดุด" นั่นเอง
MU-MIMO หรือ Multi-User Multiple-Input Multiple-Output จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั่นเอง มันมาพร้อมกับมาตรฐาน Wi-Fi 802ac Wave 2 ที่เปิดตัวในปี 2015 มันสามารถรับส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ได้พร้อมกันทีละหลายตัว ทำให้ปัญหาคอขวดหมดไป หากเทียบเป็นคนแจกไพ่ ก็เป็นเหมือนคนที่มีแขน 8 ข้าง แจกไพ่ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
เพื่อความไม่เข้าใจผิด MU-MIMO ไม่ได้ทำให้ความเร็วของอินเทอร์เน็ตของเราเร็วขึ้นแต่อย่างใด แต่มันจะช่วยให้ความเร็วในการใช้งานไม่ลดลง เมื่อมีอุปกรณ์หลายตัวเชื่อมต่อพร้อมๆ กัน
MU-MIMO มีหลายขนาดให้เลือกใช้ อาจจะเป็น 2X2, 3X3 หรือ 4X4 ก็ได้ สมมติ เราเตอร์ของเรารองรับ 4X4 MU-MIMO แต่เราเชื่อมต่ออุปกรณ์ไว้ 6 เครื่อง ก็จะมีบางเครื่องที่ต้องทำงานแบบ SU-MIMO
ทั้งนี้สัญญาณแบบ MU-MIMO จะเข้ารหัสบนโปรโตคอล 802.11ac เท่านั้นนะครับ แต่เชื่อว่าไม่น่าเป็นปัญหา เพราะอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันน่าจะรองรับมาตรฐานนี้กันหมดแล้ว
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |