ทุกคนต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง ทำงานได้เสถียร ซึ่งการจะรับประสบการณ์ที่ดีเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากคุณภาพของผู้ให้บริการแล้ว ฮาร์ดแวร์ที่เราเลือกใช้ก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ "เราเตอร์ (Router)" ที่มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดเส้นทางของ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet) ภายในบ้าน หรือที่ทำงานของคุณ พร้อมกับปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งแบบมีสาย (ใช้สาย LAN) และ ไร้สาย (ใช้ Wi-Fi) ให้แก่ผู้ที่ใช้เครือข่ายภายในองค์กร หรือภายในบ้านของคุณ
โดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะใช้งานเราเตอร์ที่ทาง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) แถมมาให้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่แล้ว เราเตอร์ที่แถมมามักจะเป็นเราเตอร์ธรรมดา ที่มีคุณสมบัติพอใช้งานได้เท่านั้น การใช้งานจึงอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ได้ไม่ดีอย่างที่คาดหวัง ทำให้ผู้ใช้หลายคนเลือกที่จะซื้อเราเตอร์มาเปลี่ยนใหม่ด้วยตนเอง
การเลือกเราเตอร์มีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่หลายอย่าง ในท้องตลาดก็มีเราเตอร์ให้เลือกมากมายหลายรุ่น มีคุณสมบัติการทำงานที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ในบทความนี้เราก็เลยมีแนวทางการเลือกซื้อเราเตอร์มาแนะนำ เพื่อคุณผู้อ่านจะได้เลือกซื้อเราเตอร์ได้อย่างตอบโจทย์ความต้องการกันง่ายขึ้น
หากจะซื้อเราเตอร์ใหม่มาใช้งานในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) นี้ สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญเลย คือ ควรเป็นเราเตอร์ที่รองรับมาตรฐาน Wi-Fi 6E (802.11ax) ซึ่งเป็นมาตรฐาน Wi-Fi เวอร์ชันล่าสุด (Wi-Fi 7 เปิดตัวแล้วก็จริง แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น)
ด้วยประสิทธิภาพของ Wi-Fi 6E ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ดีจากเทคโนโลยีล่าสุดที่มีความเร็วสูงกว่าเวอร์ชันก่อน ได้คลื่นความถี่ 6 GHz ที่มีความเสถียรดีกว่าคลื่นความถี่เดิมอย่าง 5 GHz และ 2.4 GHz ที่ใช้งานอยู่ในมาตรฐาน Wi-Fi เวอร์ชันก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : Wi-Fi 2.4 GHz, 5 GHz และ 6 GHz คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? และ เลือกใช้มาตรฐานไหนดี ?
โดยเฉพาะหากคุณเป็นเกมเมอร์ หรือสตรีมเมอร์ ควรจะเลือกเราเตอร์ที่รองรับสัญญาน Wi-Fi คลื่นความถี่ในย่าน 5 GHz หรือ 6 GHz มาใช้งาน เพื่อลดค่า ค่า Latency และสัญญาณรบกวน
ซึ่งเราเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบัน จะมีรุ่นที่สามารถปล่อยสัญญาณได้ครอบคลุมทั้ง 3 ย่านความถี่ 2.4 GHz, 5 GHz และ 6 GHz เลย ตอนเลือกซื้อก็ควรอ่านสเปก หรือสอบถามผู้ขายว่าเราเตอร์ที่เลือกรองรับสัญญาณดังกล่าวหรือไม่
Netgear Nighthawk RAXE500
ภาพจาก : https://www.netgear.com/home/wifi/routers/raxe500/
Quality of Service (QoS) เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มีอยู่ในเราเตอร์รุ่นใหม่ ๆ มันช่วยให้เราเตอร์สามารถจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลในเครือข่ายได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังใช้งานวิดีโอคอลอยู่ แล้วแฟนของคุณนอนกลิ้งดูซีรีส์บน Netflix คุณสมบัติ QoS จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีแบนด์วิธมากพอที่จะให้คุณใช้ในการสนทนาวิดีโอคอลได้อย่างราบรื่น ด้วยการให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ใช้การสื่อสารอยู่เหนือกว่าการดาวน์โหลดข้อมูลของ Netflix
ภาพจาก : https://networkencyclopedia.com/quality-of-service-qos/
ด้วยความสามารถของคุณสมบัติ QoS คุณจะได้รับประสบการณ์อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร หรือเล่นเกมออนไลน์ได้อย่างราบรื่น ลดปัญหา Lag จากค่า Latency ที่สูงขึ้นเมื่อมีการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ อย่างเช่นการดาวน์โหลดไฟล์, YouTube หรือ Netflix
MU-MIMO ย่อมาจากคำว่าว่า Multiple-Input and Multiple-Output คุณสมบัตินี้ช่วยให้เราเตอร์สามารถส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ที่อยู่ในระบบเครือข่ายได้หลายจุดในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันจะช่วยลดค่า Latency ให้ต่ำลง และลดปัญหาสัญญาณรบกวนกัน เมื่อมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งคนบนระบบเครือข่าย
เปรียบเทียบ SU-MIMO กับ MU-MIMO
ภาพจาก : https://7labs.io/tips-tricks/wi-fi-101.html
หากคุณใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงคนเดียวในบ้าน คุณสมบัติ MU-MIMO อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก แต่สำหรับบ้านที่มีคนอยู่บนเครือข่ายหลายคน หรือมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก การเลือกเราเตอร์ที่มีคุณสมบัติ MU-MIMO ก็เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน
ข้อมูลเพิ่มเติม : MU-MIMO Wi-Fi คือ อะไร ? เรื่องสำคัญที่ควรรู้ก่อนเปลี่ยนเราเตอร์หรือซื้อมือถือรุ่นใหม่
เราเตอร์รุ่นเก่ามักจะมาพร้อมกับเสาสัญญาณแค่เพียง 1-2 เสา เท่านั้น แต่ในเราเตอร์รุ่นใหม่ ๆ มีกจะมาพร้อมกับเสาเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปอาจจะมี 3-6 เสา และหากเป็นเราเตอร์รุ่นเรือธงระดับสูงก็อาจจะมีมาถึง 8 เสาเลยทีเดียว
เสาสัญญาณของเราเตอร์ ยิ่งมีจำนวนมาก ยิ่งช่วยเพิ่มความเร็ว และความเสถียรในการส่งสัญญาณ Wi-Fi ไปยังอุปกรณ์ตัวรับได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเราเตอร์ที่รองรับคุณสมบัติ MU-MIMO นอกจากนี้เสายังสามารถปรับทิศทาง เพื่อช่วยให้สัญญาณพุ่งตรงไปยังตำแหน่งของอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในขณะที่ใช้งาน
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญของเสาสัญญาณเราเตอร์ คือ ยิ่งมีเสามากเท่าไหร่ เราเตอร์ก็จะมีแบนด์วิธในการส่งสัญญาณมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันจะช่วยให้ความเร็วในภาพรวมของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นด้วย
TP-Link Archer AX6000
ภาพจาก : https://www.tp-link.com/th/home-networking/wifi-router/archer-ax6000/
เราเตอร์แต่ละรุ่นจะให้จำนวนพอร์ต Ethernet มาไม่เท่ากัน และ พอร์ต USB ก็อาจจะมี หรือไม่มีให้ก็ได้ หากคุณต้องการใช้พอร์ตเหล่านี้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ก็อย่าลืมตรวจสอบว่ามีพอร์ตพอต่อความต้องการหรือเปล่า ?
ข้อมูลเพิ่มเติม : พอร์ต USB สีแดง สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง สีดำ แตกต่างกันอย่างไร ?
แม้เราเตอร์จะสามารถปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ได้ แต่สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญเรื่อง Latency โดยเฉพาะนักเล่นเกม ก็จะนิยมเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบมีสายผ่านพอร์ต Ethernet กันมากกว่า เพราะได้ความเสถียร และค่า Latency ต่ำกว่าการเชื่อมต่อแบบไร้สายมาก
ในส่วนของพอร์ต USB ก็สามารถใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายอย่าง เช่น เครื่องพรินเตอร์ หรือฮาร์ดไดร์ฟ เพื่อแบ่งปันอุปกรณ์ให้เข้าถึง ใช้งานได้ง่ายจากอุปกรณ์อื่นที่อยู่บนเครือข่าย
ROG Rapture GT-AX11000
ภาพจาก : https://rog.asus.com/th/networking/rog-rapture-gt-ax11000-model/gallery
ต้องขออนุญาตบอกก่อนเลยว่า ความสามารถนี้ไม่จำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจจนอยากจะกล่าวถึง
หากคุณเป็นคนที่ชอบซุกซนปรับแต่งโน่น ตั้งค่านี่ เราเตอร์ก็เป็นอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถปรับแต่งเฟิร์มแวร์ ด้วยการติดตั้ง Custom Firmware ให้มันได้
มันมีคุณสมบัติบางอย่างที่เราเตอร์อาจจะไม่มีให้มา แต่เราสามารถใช้ Custom Firmware ที่ผู้พัฒนาโดย บุคคลที่สาม (3rd-party) พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสามารถให้มันได้ โดยจะเป็นพวกคุณสมบัติที่ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ เช่น QoS หรือระบบ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network - VPN) ซึ่งการเลือกเราเตอร์ก็จะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นมาอีกขั้น เพราะคุณจะต้องตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ของผู้พัฒนาด้วยตนเองว่า Custom Firmware ที่ต้องการใช้รองรับกับเราเตอร์รุ่นไหนบ้าง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เป็นสุลต่าน พร้อมจ่ายเงินซื้อเราเตอร์ระดับเรือธงมาใช้โดยไม่เกี่ยงราคา Custom Firmware ก็ไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่นัก เพราะผู้ผลิตจะใส่คุณสมบัติทุกอย่างมาเพื่อพร้อมใช้งานไว้อย่างครบครันอยู่แล้ว
Custom Firmware ของ DD-WRT
ภาพจาก : https://www.geckoandfly.com/24007/router-firmware/
เป็นอย่างไรกันบ้าง ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้การเลือกซื้อเราเตอร์ใหม่ของคุณผู้อ่านเป็นเรื่องง่ายมากขึ้นนะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |