RAM (Random Access Memory) เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของคอมพิวเตอร์ (สมัยนี้ก็ต้องบอกว่าในสมาร์ทโฟนด้วยเนอะ) ประเด็นที่เราจะเล่าถึงในบทความนี้ จะเป็นความเข้าใจผิดเข้าใจผิดของ RAM ที่บอกต่อกันมานมนาน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องจริง แต่หลายคนก็หลงเชื่อกันไปแล้ว จะมีประเด็นอะไรบ้าง มาลองอ่านกันเลย
ข้อมูลเพิ่มเติม : RAM (Random Access Memory) คืออะไร ?
ส่วนใหญ่แล้วในคอมพิวเตอร์ มักจะมีช่องใส่ RAM มาให้อย่างน้อย 2 ช่อง เมนบอร์ดในปัจจุบันนิยมให้มาถึง 4 ช่องด้วยซ้ำไป เรื่องที่หลายคนมักเข้าใจผิด คือ คุณไม่สามารถใส่ RAM คนละขนาดคู่กัน หรือไม่ก็ห้ามใส่ RAM คนละยี่ห้อพร้อมกัน
แต่นั่นไม่ใช่ "เรื่องจริง" นะครับ ความจริงเราสามารถใส่ RAM คนละยี่ห้อ และคนละขนาด พร้อมกันได้ หรือแม้แต่ใส่ RAM ที่มีความเร็วแตกต่างกัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน
แล้วปัญหา คือ อะไร ? ทำไมหลายคนถึงไม่แนะนำ ?
คำตอบ คือ RAM ไม่ได้ทำงานแยกกันอย่างอิสระ เมื่อมี RAM มากกว่าหนึ่งตัวในระบบ มันจะร่วมมือทำงานประสานกัน แน่นอนว่า RAM ที่มีสเปก, คุณสมบัติ, แรงดันไฟ และความเร็วในการทำงานเหมือนกัน จะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีที่สุด ทำให้ระบบมีความเสถียรภาพ สามารถรีดประสิทธิภาพการทำงานของ RAM ออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งวิธีการเลือกที่ง่ายที่สุด ก็คือ การใช้ RAM รุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันนั่นเอง
RAM จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมันได้จับคู่กับ RAM ที่มีฮาร์ดแวร์เหมือนกัน เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด RAM ที่คุณเลือกมาใส่เพิ่ม ควรจะมีแรงดันไฟที่เท่ากัน และมีตัวควบคุมที่เข้ากันได้ดีกับ RAM ตัวอื่นด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการใส่ RAM ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ลงในทุกช่องบนเมนบอร์ด จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ลองดูตัวอย่างในภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าสเปกของ RAM ไม่ได้มีแค่ความจุเท่านั้น มันมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย การหา RAM ยี่ห้ออื่นที่มีสเปกเทียบเท่ากันมาใส่ มันก็ทำได้ แต่ถ้าเราเลือกรุ่นเดียวกันเลย มันก็ง่ายกว่า ใช่ไหมล่ะ ?
ภาพจาก : https://www.corsair.com/us/en/Categories/Products/Memory/Vengeance-PRO-RGB-Black/p/CMW32GX4M2C3200C16#tab-tech-specs
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถ หรือไม่ควรใส่ RAM ที่มีขนาดต่างกันเลยนะ ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ของคุณเดิมที่มี RAM อยู่ 4 GB. หากต้องการเพิ่ม RAM ให้กับระบบ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องซื้อ RAM ขนาด 4 GB. มาใส่เพิ่มเสมอไปนะ คุณสามารถซื้อ RAM ใหม่ขนาด 8 GB. หรือใหญ่กว่านั้นมาก็ได้ จากนั้นเมื่อเราตั้งการทำงานให้เป็นโหมด Dual-channel (หรือ Flex) แล้ว ระบบก็จะทำงานเหมือนกับว่ามี RAM ขนาด 4 GB. จำนวนสองตัวทำงานร่วมกันอยู่
ส่วนพื้นที่ RAM ส่วนที่เหลือ จะทำงานในโหมด Single-channel แทน ในภาพรวมแล้ว ทางเลือกนี้ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ได้ผลลัพธ์ทางประสิทธิภาพที่ดีที่สุด แต่มันก็เร็วกว่าระบบเดิมที่คุณใช้งานอยู่อย่างแน่นอน
ทางด้านปัญหาเรื่องความเร็ว RAM (ค่า Frequency หรือ Speed) ในกรณีที่เราเลือกใช้ RAM ที่มีความเร็วแตกต่างกัน ก็ไม่ใช่ปัญหา เราสามารถใส่ และมันก็ทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ความเร็วของ RAM ตัวที่เร็วกว่า จะถูกปรับลดความเร็วมาให้เท่ากับ RAM ตัวที่ช้ากว่าเท่านั้นเอง
มีความเชื่อว่าคุณต้องใช้ RAM เป็นเลขคู่ หรือเลือกที่จะใส่ RAM เพียงตัวเดียวเท่านั้น จริง ๆ ปัญหานี้ก็คล้ายคลึงกับในหัวข้อแรก เราไม่จำเป็นต้องใส่ RAM จำนวน 2, 4 หรือ 6 ตัว คุณสามารถเลือกที่จะใส่ 1, 3 หรือ 5 ตัวก็ได้ ถ้ามันใส่ตัวเดียวไม่ได้ หรือใส่เป็นเลขคี่ไม่ได้ ผู้ผลิตคงไม่ผลิต RAM มาขายแบบเดี่ยวหรอก
การใส่ RAM 3 หรือ 5 ตัว ไม่ใช่เรื่องผิด หรือไม่สามารถทำได้แต่อย่างไร แต่ข้อจำกัดก็จะมีตามที่เรากล่าวไปแล้วด้านบน คือ มันจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพ ตรงที่เมื่อเราใส่ RAM เป็นเลขคู่ มันจะทำงานในโหมด Dual-channel ซึ่งเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของระบบดีที่สุด แต่ในกรณีที่ใส่เป็นเลขคี่มันจะทำงานในโหมด Single-channel แทน ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเท่านั้นเอง
ในกรณีที่เราใส่ RAM ทั้งหมด 3 ตัว ที่มีคุณสมบัติเข้ากันได้ สองตัวแรกก็จะทำงาน ในโหมด Dual-Channel ส่วนเศษที่เหลือจะทำงานในโหมด Single-Channel ซึ่งมันก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่แย่นะ
นี่เป็นเรื่องลี้ลับที่กล่าวขายกันมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่แค่บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แม้แต่ในเวลา เรื่องเล่านี้ก็ถูกนำมาเล่าต่อให้กับ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนด้วยเช่นกันว่า การเคลียร์ RAM ช่วยให้ระบบเร็วขึ้น !
ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน น่าจะเคยเจอโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน ที่ใช้ชื่อประมาณว่า "RAM Boosters" หรือ "Memory Optimizers" กันมาบ้างแหละ คุณสมบัติในการทำงานของมันส่วนใหญ่ก็จะเป็นการล้างข้อมูลที่อยู่ใน RAM ออก เพื่อให้ได้พื้นที่ว่างบน RAM กลับคืนมา แล้วก็เคลมว่าการกระทำเช่นนี้ จะช่วยให้ระบบทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องจริงนะครับ ในความเป็นจริงเราต้องคาดหวังว่า RAM จะมีข้อมูลที่จำเป็นอยู่นั้น เพื่อให้ระบบสามารถเรียกใช้งานได้อย่างรวดเร็วต่างหาก
หน้าที่ของ RAM ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ว่าง แต่เป็นพื้นที่ที่ระบบปฏิบัติการ และโปรแกรมต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงาน การไปลบข้อมูลเหล่านั้นออก เสียเวลาทั้งการที่ระบบต้องมาลบ และบรรจุข้อมูลกลับเข้าไปใหม่
คาดว่าเรื่องเล่านี้เกิดมาจากการที่เมื่อ RAM ถูกใช้จนเต็มความจุ มันจะทำให้ระบบทำงานได้ช้าลง สืบเนื่องมาจากระบบมีการเขียน, อ่าน, ลบ ข้อมูลบน RAM อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการทำงาน แต่อย่างไรมันก็ต้องเต็ม และการล้างมันก็ต้องเรียกข้อมูลใหม่อยู่ดี ทางแก้ของปัญหานี้ คือ การเพิ่มขนาดของ RAM เข้าไปในระบบต่างหาก นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการสมัยใหม่ยังมีการใช้เทคนิคที่เรียกว่า "Pagin File" หรือที่เรียกกันว่า "Virtual Memory" เข้ามาช่วยด้วย โดยเมื่อความจุของ RAM เต็ม ระบบคอมพิวเตอร์จะทำการนำข้อมูลไปเก็บไว้ในหน่วยความจำอื่นที่มีความเร็วต่ำกว่าแทนบางส่วน เพื่อลดภาระการทำงานของ RAM ให้เองโดยอัตโนมัติ
ดังนั้น การใช้พวกโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันในการล้างข้อมูลใน RAM จึงไม่ช่วยอะไร เสียเวลาไปเปล่า และหากโชคร้ายไปกว่านั้น ในโปรแกรมเหล่านั้น อาจมี มัลแวร์ (Malware) แฝงมาด้วยก็เป็นได้
RAM มีบทบาทที่สำคัญมากในการทำงานของโปรแกรม เวลาที่คุณตรวจสอบความต้องการของระบบในการทำงานของโปรแกรม นักพัฒนาจึงนิยมระบุเอาไว้ด้วยว่า โปรแกรมนี้ต้องการ RAM อย่างน้อยเท่าไหร่ ?
จากภาพตัวอย่างด้านบนนี้ ผู้พัฒนาได้แนะนำเอาไว้ว่าต้องการ RAM ขนาด 8 GB. ในการทำงาน ถ้าคอมพิวเตอร์ของคุณมี RAM ขนาด 8 GB. ถามว่ามันเพียงพอต่อการทำงานของโปรแกรมดังกล่าวไหม คำตอบคือ "ใช่" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า มันไม่สามารถทำงานได้เร็วกว่านั้น
ตัวอย่างการใช้งานที่น่าจะเห็นได้อย่างชัดเจน ก็อย่าง เว็บเบราว์เซอร์ Chrome แรม 8 GB. มันก็ทำงานได้ แต่พอคุณเปิดใช้งานแท็บจำนวนมาก คุณจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่ามันทำงานได้ช้าลง เนื่องจากมันต้องใช้พื้นที่ RAM มากขึ้นในการทำงาน หรือจะเป็นในการเล่นเกม เมื่ออยู่ในแผนที่ขนาดใหญ่ มีวัตถุที่ต้องเรนเดอร์เป็นจำนวนมาก ความต้องการของ RAM ก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
นี่ยังไม่รวมถึงว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ใช้มักจะเปิดโปรแกรมหลายตัวพร้อมกัน เราอาจจะตรวจสอบการใช้ทรัพยากรของระบบแล้วพบว่า พื้นที่ RAM เพิ่งถูกใช้ไปเพียง 60% ยังเหลือพื้นที่อีกตั้ง 40% แต่ในความเป็นจริง เวลาที่โปรแกรมทำงาน ในการทำงานของคุณสมบัติบางอย่าง มันอาจจะเรียกใช้งานพื้นที่ RAM มากกว่าปกติในชั่วขณะหนึ่ง ดังนั้นการมีพื้นที่ RAM เหลือไว้เกินความต้องการจึงมีข้อดีมากกว่าข้อเสียอย่างแน่นอน
ถ้าวัดกันที่ความต้องการของตัวระบบปฏิบัติการ Windows แล้วล่ะก็ RAM 4 GB. คือ ขนาดขั้นต่ำที่ระบบสามารถทำงานได้ และ 8 GB. คือ ขนาดที่แนะนำสำหรับการใช้งานโดยทั่วไป
แต่ถ้าเป็นคนทำกราฟิก, ตัดต่อเสียง, ตัดต่อวิดีโอ, เล่นเกม ฯลฯ ที่โปรแกรมที่ใช้มีความต้องการทรัพยากรสูง ก็ควรมองไปที่ RAM ขนาด 16 GB. เลย หรือหากมีเงินพอที่จะจับจ่าย RAM 32 GB. ก็ไม่ได้ถือว่าเยอะเกินไปนะ อย่างคอมพิวเตอร์ของผู้เขียนที่ใช้เขียนบทความนี้อยู่ มี RAM ขนาด 32 GB. เมื่อกดดู Resource ก็ใช้ไป 14.5 GB. แล้ว
มันก็ผิดสักเท่าไหร่ หากจะมองว่าการที่มี RAM เยอะ ๆ จะช่วยให้ระบบสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่มันก็ไม่แค่เรื่องของขนาดเพียงอย่างเดียว มันมีคุณสมบัติอื่น ๆ ของ RAM ที่เราต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วย
โดยปัจจัยนอกเหนือจากขนาดแล้ว สิ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของ RAM ก็คือความเร็ว เหมือนกับ CPU ตัว RAM เองก็มีความเร็วของสัญญาณนาฬิกาเช่นกัน (Clock Speed) ยิ่งมีค่าตัวเลขสูงเท่าไหร่ ก็หมายความว่าการทำงานของ RAM ก็จะทำได้เร็วขึ้นด้วยนั่นเอง
RAM ธรรมดาทั่วไปจะมีความเร็วประมาณ 2,400 MHz - 3,000 MHz ในขณะที่ RAM ราคาสูงอาจจะมีความเร็วสูงถึง 5,333 MHz เลยทีเดียว แต่ราคาก็จะเอาเรื่องอยู่พอสมควรนะ
ภาพจาก : https://www.kingston.com/th/gaming/hyperx-predator-ddr4?speed=5333mhz&module%20capacity=8gb&kit=kit%20of%202
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพิจารณาซื้อ RAM ความเร็วสูงมาใช้งาน ควรตรวจสอบคุณสมบัติของเมนบอร์ดที่ใช้งานอยู่ด้วย ว่ารองรับ RAM ได้ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่ หากเราซื้อ RAM ที่มีความเร็วสูงเกินกว่าที่เมนบอร์ดรองรับ มันใช้งานได้ก็จริง แต่ก็จะทำงานได้ช้ากว่าที่มันควรจะทำได้นะครับ
ภาพจาก : https://www.gigabyte.com/us/Motherboard/Z590-AORUS-XTREME-rev-10/sp#sp
อีกประเด็นที่ควรให้ความสนใจด้วย คือ การใช้ RAM ที่มีความเร็วแตกต่างกัน มันจะทำงานได้เร็วสุดเท่ากับตัวที่ทำงานได้ช้าสุดนะครับ ตัวอย่างเช่น ใส่ RAM ชนิด 2,400 MHz คู่กับแบบ 3,600 MHz มันจะทำงานที่ความเร็ว 2,400 MHz ทั้งสองตัวนะครับ
สุดท้าย RAM ที่มีความเร็วสูงมีราคาที่แพงกว่า RAM ความเร็วปกติมาก และถึงแม้ว่า RAM ความเร็วสูงจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่าก็จริง แต่หากงบประมาณมีจำกัด ควรพิจารณาดูด้วยว่า ในการใช้งานของเรา การเพิ่มความจุ RAM จะเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่ากว่าการเพิ่มความเร็ว RAM หรือเปล่า
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 2
9 มีนาคม 2565 01:02:48
|
||
GUEST |
BAS
มีประโยชน์มากๆ ครับ ไขข้อข้องใจได้ทุกแง่มุม
|
|
ความคิดเห็นที่ 1
29 พฤศจิกายน 2564 20:21:56
|
||
GUEST |
O
ขอบคุณครับ บทความดีมาก
|
|