การ Kill Tasks หรือ Boost RAM เป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นบนแอนดรอยด์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยม โดยในปัจจุบัน มีแอปพลิเคชันประเภทนี้มากมายให้ดาวน์โหลดกันใน Google Play Store รวมไปถึงหลายๆ แบรนด์ผู้จำหน่ายมือถือเองก็ยังมีฟังก์ชันเหล่านี้ในตัวด้วย แต่เอาจริงๆ แล้วฟังก์ชันเหล่านี้ขัดกับการทำงานของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อยู่ ถ้าใครต้องการจะเพิ่มความเร็วมือถือด้วยฟังก์ชันนี้มาดูกันว่าเพราะอะไร ?
ภาพจาก https://www.theregister.com/2016/10/03/eu_turns_screws_on_android/?ma=1503878415001
ก่อนจะดูว่า Kill Tasks หรือ Boost RAM ทำงานยังไงถึงขัดกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ลองมาดูกันก่อนว่า หน่วยความจำสำรองหรือที่เราเรียกกันว่า แรม (RAM หรือ Random-access Memory) ทำหน้าที่อะไรทั้งบนอุปกรณ์มือถือและคอมพิวเตอร์
ภาพจาก https://www.trustedreviews.com/opinion/how-much-ram-does-a-phone-need-2931510
ระบบปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์ วินโดวส์หรืออะไรก็ตาม ใช้แรมในการเก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันที่กำลังทำงานอยู่ (Running Applications) หมายความว่า ทุกครั้งที่เราเปิดแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์มือถือ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะโหลดข้อมูลนั้นไว้บนแรมสักพักหนึ่ง ทำให้เวลาเราสลับแอปพลิเคชั่นใช้งานไปๆ มาๆ ก็จะสามารถใช้งานแอปพลิเคชันนั้นๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องโหลดใหม่
แต่ก็เป็นไปตามชื่อ 'หน่วยความจำสำรอง' ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ในแรมจะหายไปเมื่อเราปิดมือถือ (Shutdown) ซึ่งต่างจากหน่วยความจำเครื่อง (Storage) ที่จะไม่หายไปแม้เราจะทำการรีบูทเครื่อง และข้อดีอีกอย่างของแรมก็คือสามารถโหลดใช้งานได้เร็วกว่าหน่วยความจำตัวเครื่องนั่นเอง
ถึงแม้จะเป็นฮาร์ดแวร์ชนิดเดียวกัน แต่ระหว่างวินโดวส์กับแอนดรอยด์ก็มีวิธีการใช้งานแรมที่ต่างกัน โดยบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์จะเหลือพื้นที่ว่างของแรมที่ไม่ได้ใช้เอาไว้สำหรับโปรแกรมที่จะถูกเปิดขึ้นในอนาคต และเมื่อเราเปิดโปรแกรมจนแรมไม่สามารถรับไหว วินโดวส์ก็จะใช้ฮาร์ดไดรฟ์เพื่อเป็นแรมสำรองแทน ซึ่งฮาร์ดไดรฟ์แม้จะเป็น SSD ก็ยังมีความเร็วน้อยกว่าแรม จึงทำให้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ทำงานได้ช้าลงเมื่อเราเปิดโปรแกรมมากๆ ถึงจุดนี้เราก็ต้องปิดโปรแกรมบ้างเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น
ส่วนทางฝั่งแอนดรอยด์จะมีการทำงานเหมือนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux) ที่จะไม่ปล่อยพื้นที่แรมให้สูญเปล่า โดยพื้นที่แรมที่ไม่ได้เก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันต่างๆ ที่รันอยู่ก็จะถูกนำไปเก็บข้อมูลแคช (Cache) ที่ทำให้ประสิทธิภาพของระบบลื่นไหลขึ้น ซึ่งเมื่อเราเปิดแอปพลิเคชันเยอะๆ ตัวระบบก็จะทำการจัดสรรเก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันที่เพิ่งเปิดใช้งานไว้ในแรมและเคลียร์ข้อมูลของแอปที่เก่ากว่าเพื่อรันแอปพลิเคชันใหม่แทน
สมมติว่า สมาร์ทโฟนเรามีแรมทั้งหมด 4GB ส่วนการเปิดใช้งานแต่ละแอปพลิเคชันใช้แอปละ 500MB ก็เท่ากับว่าแรมสามารถรองรับแอปพลิเคชั่นได้ทั้งหมด 8 แอปด้วยกัน
ถ้าเราลองเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาใช้งาน 4 แอป สลับแอปพลิเคชันไปมาระหว่างกันก็จะสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ทันที หรือแม้แต่จะทิ้งเอาไว้ครึ่งชั่วโมงกลับมาเปิดแอปพลิเคชันเดิมๆ ก็ยังสามารถเข้าใช้งานได้ทันทีไม่ต้องโหลดใหม่
แต่ถ้าเราเปิดแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นมาอีก 5 แอป (ซึ่งเกินมา 1 แอปที่แรมรองรับได้) ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะเริ่มวิเคราะห์จัดระเบียบว่าแอปพลิเคชันไหนมีความสำคัญน้อยที่สุดโดยดูจากแอปพลิเคชันล่าสุดที่เราใช้งานทั้งแอปพลิเคชันที่เปิดใช้และทำงานอยู่ในเบื้องหลัง จากนั้นจึงและปิดแอปพลิเคชันที่สำคัญน้อยสุด เพื่อรองรับแอปพลิเคชันใหม่ที่เปิดขึ้นมา
จะเห็นได้ว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มีขั้นตอนในการจัดสรรทรัพยากรด้วยตัวเองอยู่แล้วด้วยการจัดลำดับความสำคัญให้กับแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เรียกใช้งาน เก็บแอปที่ใช้งานบ่อยๆ ใช้งานล่าสุด หรือกำลังทำงานอยู่เบื้องหลังไว้ในแรมเพื่อให้เรียกใช้ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดการกับแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งานออกไปจากแรมเมื่อพื้นที่แรมไม่เพียงพอสำหรับการเปิดแอปใหม่
แต่การทำงานของฟังก์ชันหรือแอปพลิเคชั่นสำหรับ Boost RAM จะลิสต์รายการทั้งหมดที่กำลังทำงาน และบังคับปิด (Kill Tasks) รายการเหล่านั้นและลบ Cache ทั้งหมดเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับแรมมากขึ้น ปัญหาก็คือ...
วิธีการของ RAM Booster มันขัดกับกระบวนการจัดการแรมของแอนดรอยด์
ในเมื่อแอนดรอยด์มีการจัดการข้อมูลแรมอยู่แล้ว โดยการเก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันที่ใช้บ่อยๆ ไว้ในแรมเพื่อสามารถเรียกใช้หรือสลับใช้ได้ทันที การบังคับปิดแอปเหล่านั้นจึงทำให้ต้องโหลดแอปพลิเคชันใหม่อีกครั้ง นอกจะไม่ช่วยแล้วยังกลายเป็นเพิ่มภาระให้กับตัวเครื่องและเปลืองพลังงานแบตเตอรี่มากขึ้นไปอีก
ภาพจาก https://apkhut.wordpress.com/2016/02/12/top-10-cleaner-and-speed-booster-apps-for-android/
ซึ่งกลไกดังกล่าวยังรวมไปถึงการเคลียร์ปิดแอปพลิเคชันทั้งหมดในเมนู Recent อีกด้วยเพราะให้ผลลัพธ์เดียวกันกับการ Kill Tasks (แต่การปิดการใช้งานแอปพลิเคชันใช้กับการแก้ปัญหาในกรณีที่แอปค้างหรือทำงานผิดปกติและต้องการโหลดใหม่ได้)
จากข้อมูลในข้างต้นจะเห็นได้ว่าการปิดการทำงานของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ไม่ได้ทำให้สมาร์ทโฟนทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วการที่แอนดรอยด์ทำงานได้ช้ามาจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่า และเราได้รวบรวมปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทำงานได้เร็วขึ้นมาให้แล้ว
หน้าแรกของสมาร์ทโฟนเป็นหนึ่งจุดที่กินทรัพยากรเครื่องอยู่ไม่น้อยในทุกครั้งที่เปิดใช้งานขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Live Wallpaper ที่เคลื่อนไหวได้ ไอคอนแอปพลิเคชัน รวมไปทั้ง Widgets ต่างๆ หากลองเคลียร์สิ่งเหล่านี้ออก จะรู้สึกได้ว่าเราสามารถเริ่มใช้งานมือถือได้อย่างเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Launcher ดั้งเดิมของสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นถูกออกแบบมาให้ดึงฟีเจอร์ของตัวมือถือออกมาได้มากที่สุด ถ้าฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นเรื่องความเร็วก็ดีไป แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เน้นเรื่องความเร็ว การเลือกใช้ Launcher ทางเลือกจึงอาจทำให้สมาร์ทโฟนทำงานได้เร็วกว่า
สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มักใช้ เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) หรือ โปรแกรมเปิดเว็บตัวหลักเป็น Google Chrome ซึ่งเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่กินทรัพยากรสูงมาก และอาจทำให้เครื่องช้าถ้าสเปคมือถือเราไม่ได้สูงมาก ลองเปลี่ยนเป็น เว็บเบราว์เซอร์ ทางเลือกอย่าง Puffin หรือ Opera ดู
แอปพลิเคชันบางตัว แม้จะเป็นแอปพลิเคชันชื่อดังก็ใจร้ายใช้ทรัพยากรเครื่องหนักอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น แอป Snapchat, แอป Facebook หรือ แอป Google Maps ซึ่งแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็มีเวอร์ชั่นที่กินทรัพยากรเครื่องน้อยให้ใช้งาน อย่างเช่น Facebook Lite หรือ Google Maps Go
ถึงแม้ว่าแอนดรอยด์จะได้ชื่อว่ามีแอปพลิเคชันปลอมและเสี่ยงต่อความปลอดภัยเยอะ แต่ถ้าเราเลือกใช้แอปพลิเคชันจากผู้พัฒนาและสโตร์ที่น่าเชื่อถือก็ลดความเสี่ยงได้สูง ไม่จำเป็นต้องใช้แอนตี้ไวรัสที่จะมาดึงความเร็วของสมาร์ทโฟนให้ช้าลงไปอีก
หลายๆ แอปพลิเคชันจะต้องซิงค์ข้อมูลอยู่เรื่อยๆ และสามารถทำงานอัตโนมัติในเบื้องหลังได้โดยที่เราไม่รู้ตัว และด้วยความที่เราไม่รู้นั่นแหละมือถือก็เลยช้าลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไล่ปิดฟังก์ชันซิงค์อัตโนมัติให้หมด หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ตั้งเวลาซิงค์ไม่ให้รบกวนเวลาการใช้งานของเราก็ได้ครับ
ซอฟต์แวร์ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่มักจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ ลองเช็คอัปเดตอย่างสม่ำเสมอเราก็จะได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไวขึ้นในทุกครั้งที่อัปเดต (แต่บางทีซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ก็อาจจะมีข้อบกพร่องที่ต้องรอการแก้ไขในอัปเดตครั้งหน้าอยู่เหมือนกัน)
ซึ่งกับแอปพลิเคชันต่างๆ ก็เช่นกัน ถ้ารู้สึกว่าแอปพลิเคชันทำงานช้าหรือมีปัญหาก็ลองเช็คอัปเดตกันดู
วิธีบ้านๆ ที่แทบจะใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ก็คือการปิดแล้วเปิดใหม่ ถ้าแก้ทางไหนๆ ก็ยังไม่สามารถทำให้อุปกรณ์ทำงานได้เร็วขึ้นก็ลองรีบูต (Reboot) หรือรีสตาร์ท (Restart) ดูซักที แต่ถ้ายังไม่หายอีกก็อาจต้องลอง คืนค่าจากโรงงาน (Factory Reset) ดู
ถ้าฟังก์ชันการบูสต์แรมไม่มีประโยชน์ แล้วหลายๆ แบรนด์สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์จะใส่ฟังก์ชันดังกล่าวเข้ามาทำไม? ถึงแม้ว่าการ Kill Tasks จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาการใช้งานในหลายๆ กรณี เช่น สมาร์ทโฟนบางรุ่นหากเปิดแอปพลิเคชั่นไว้เยอะๆ จะส่งผลต่อความเร็วในการใช้งานโดยรวมหรือเกิดปัญหาเวลาบูสต์เครื่องใหม่ หรือมีแอปพลิเคชันไม่พึงประสงค์แอบทำงานอยู่ รวมไปถึงบางแอปพลิเคชันที่ค้างหรือมีปัญหาในการทำงานที่ต้องการรันระบบขึ้นมาใหม่ การ Kill Tasks จึงมีประโยชน์ในกรณีเหล่านี้
บางทีการ Kill Task ก็ใช้หยุดการทำงานของแอปไม่พึงประสงค์ได้
ภาพจาก https://finance.yahoo.com/news/report-one-in-five-android-apps-is-malware-117202610899.html
แต่ถ้าใช้เฉพาะแอปพลิเคชันประจำวัน เช่น แอปแชท โซเชียล อีเมล์ แล้วเครื่องยังช้าอีกก็ต้องหาวิธีอื่นในการเพิ่มความเร็วมือถือแล้ว เพราะถึงแม้จะเคลียร์แรมไปแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็จะถูกเปิดกลับมาอยู่ดี
|
... |