เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักคำว่า Disc และ Disk (อ่านออกเสียงภาษาไทยเหมือนกันคือ "ดิสก์") กันอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ต้องเคยผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งคำที่สะกดคล้าย ๆ กันนี้ก็ชวนให้รู้สึกสับสนกันในหลาย ๆ ครั้ง จนอดสงสัยไม่ได้ว่าทั้ง 2 คำนี้มันต่างกันอย่างไรและควรใช้กับอะไรกันบ้างนะ ?
และจากข้อมูลที่เราไปหามาก็พบว่าไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่สงสัย แต่คนมากมายทั่วโลกก็สงสัยในประเด็นเดียวกันนี้เช่นกัน เราจึงได้รวบรวมความเหมือนและความต่างของคำว่า Disc และ Disk มาดังนี้
สำหรับ ที่มาของคำว่า Disc และ Disk นั้นก็มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า Discus ที่แปลได้ว่า Quoit (ห่วงที่ใช้เล่นในกีฬาโยนห่วง), Disk (แผ่นดิสก์) หรือ Dish (จาน) ส่วนในภาษากรีกสะกดคำนี้ว่า Diskos มาจากคำกริยาว่า Dikein ที่มีความหมายว่า “สำหรับโยน” และแน่นอนว่า Diskos ของชาวกรีกนั้นก็เป็นสิ่งที่มีรูปร่างกลมและแบนที่นักกีฬาชาวกรีกใช้เล่นกันมาอย่างยาวนานในกีฬาโอลิมปิกหรือที่สมัยนี้เรียกว่า Discus หรือกีฬาขว้างจักรนั่นเอง (เปลี่ยนไปใช้ตัว 'c' แล้วซะงั้น)
Discus หรือกีฬาขว้างจักร
ภาพจาก : https://seoandmma.files.wordpress.com/2018/08/discusgif.gif
ซึ่งต่อมาคำว่า Discus นี้ก็ได้ถูกนำเอามาใช้เรียกสิ่งที่มีลักษณะแบนและมีรูปร่างกลม แต่ชาวอังกฤษที่ใช้คำนี้ก็มักเรียกย่อ ๆ ว่า Disc หรือ Disk โดยหากสะกดด้วย 'c' (Disc) ส่วนมากแล้วก็มักแปลงมาจากคำในภาษาละติน ส่วนที่สะกดด้วยตัว 'k' (Disk) จะแปลงมาจากในภาษากรีก และไม่มีการกำหนดแน่ชัดว่าจะใช้การสะกดแบบใดกันแน่ เราจึงเห็นทั้งสองคำนี้ปะปนกันไป
โดยจากเหตุการณ์จานบินปริศนา (ในตอนนั้นใช้คำปะปนกันทั้ง Flying Disc และ Flying Disk) ที่ชนกับบอลลูนอากาศของกองทัพสหรัฐในเมือง Roswell ช่วงปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ก็ทำให้ทฤษฎีความเชื่อเกี่ยวกับ UFO และมนุษย์ต่างดาวก็เริ่มได้รับนิยมเป็นอย่างสูงหลังเหตุการณ์ดังกล่าวจนกระทั่งมีการสร้างภาพยนตร์ (มินิซีรีส์) จากนิยายไซไฟเรื่อง Flying Disc Man from Mars (ชายผู้มาจากดาวอังคารด้วยจานบิน) ขึ้นมา และต่อมาในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ทางบริษัท Wham-O ก็ได้ผลิตของเล่นอย่าง “จานร่อน (Frisbee)” โดยเลียนแบบรูปร่างมาจากจานบินปริศนานั้น
จานบินปริศนาที่ตกลงในเมือง Roswell (ซ้าย), โปสเตอร์หนังเรื่อง Flying Disc Man from Mars (กลาง) และจานร่อน (Frisbee) ของบริษัท Wham-O ที่ทำขึ้นมาเลียนแบบ (ขวา)
ภาพจาก : shorturl.at/bciCY, https://www.imdb.com/title/tt0043546/ และ https://i.redd.it/08ertmhx95y51.jpg
และคำว่า Flying Disc (และ Frisbee) ก็เริ่มถูกใช้เพื่อเรียกแทนชื่อของเล่นอย่างจานร่อนและใช้ในชื่อกีฬาจานร่อนตามชื่อของ World Flying Disc Federation (สหพันธ์จานร่อนโลก) นับแต่นั้นมา ซึ่งกีฬาจานร่อนนี้ก็แบ่งออกได้เป็น Ultimated Frisbee หรือการแข่งโยนจานร่อนแบบทีม และ Disc Golf ที่เป็นการโยนจานร่อนลงห่วง
Ultimated Frisbee (ซ้าย) และ Disc Golf (ขวา)
ภาพจาก : https://thumbs.gfycat.com/AllAgedFlies-max-1mb.gif และ https://giphy.com/explore/disc-golf-putting
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น อุตสาหกรรมเพลง เริ่มนำเอาคำว่า Disc (ที่สะกดด้วยตัว 'c' อย่างชัดเจน) มาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยในช่วงปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ก็เริ่มใช้คำว่า DJ (Disc Jockey) เป็นคำเรียกแทนนักจัดรายการวิทยุ และในภาษาฝรั่งเศสเองก็นำเอาคำว่า Disc มาใช้งานร่วมกับคำว่า Bibliotheque (ห้องสมุดในภาษาฝรั่งเศส) รวมเป็นคำใหม่ว่า Discotheque ที่หมายถึงห้องบันทึกเสียง
และต่อมาก็ได้นำเอาไปใช้เรียกไนท์คลับที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาเต้นกันอย่างสนุกสนาน (หรือที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยในชื่อภาษาไทยว่า “ดิสโก้เธค” นั่นเอง) และเมื่อเวลาผ่านไปก็ถูกย่อคำเหลือเพียงแค่ Disco (ดิสโก้) ที่มีความหมายถึง Genre หนึ่งของดนตรีในยุค 70 ที่มีจังหวะสนุกสนาน
ภาพจาก : https://buffalonews.com/news/local/history/buffalo-in-the-70s-dancing-at-club-747/article_e788341e-00bf-5a38-a4fa-ecb3d68dc0e2.html
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ทางฝั่งอุตสาหกรรมดนตรีก็ได้มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า CD หรือ Compact Disc ที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมและแบน โดยภายบรรจุเพลงต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งเมื่อนำเอา CD ไปใส่ในเครื่องเล่น CD (CD Player) ก็ทำให้เหล่าแฟนคลับสามารถเข้าถึงเพลงของศิลปินที่ชื่นชอบได้อย่างง่ายดาย และด้วยเหตุผลนี้เองก็ทำให้คำว่า Disc นั้นผูกพันกับดนตรีอย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบันแม้ว่ากระแสสตรีมมิงมิวสิคจะมาแรงในช่วงนี้ แต่ศิลปินหลาย ๆ คนก็ยังคงจำหน่ายเพลงในรูปแบบ CD ควบคู่ไปกับไฟล์ดิจิทัล (หรือบางวงก็มีแผ่น Vinyl หรือ LP Record สุดคลาสสิกให้ได้สะสมกันเพิ่มด้วย)
ภาพจาก : https://www.britannica.com/technology/compact-disc-player
ส่วนคำว่า Disk (ที่สะกดด้วยตัว 'k' ชัดเจน) นั้นเริ่มได้รับความนิยมใน ยุคที่คอมพิวเตอร์เฟื่องฟู โดยความหมายหลัก ๆ แล้วจะหมายถึงอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่มีแผ่นแม่เหล็ก (Magnetic) หรือจานหมุน (Spinning Platter) อยู่ภายใน เช่น Floppy Disk หรือเรียกอีกอย่างว่า Diskettes ที่มีความหมายว่าสิ่งที่ห่อหุ้มด้วยเคสพลาสติกแข็ง นอกจากนี้ยังมีคำว่า ดิสก์ไดร์ฟ (Disk Drive), ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard Disk Drive หรือ HDD), ฮาร์ดดิสก์ภายนอก (External Hard Disk) ที่เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีจานหมุน (Spinning Platter) อยู่ภายในอีกด้วย
ภาพจาก : https://qph.fs.quoracdn.net/main-qimg-fc6bac00e5fc985ca41d643b0af29908
มาถึงเรื่องเจ้าปัญหาที่ทำให้หลายคนสับสนเกี่ยวกับ Disk และ Disc ที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล หรือ เก็บข้อมูล กันบ้าง เพราะก่อนหน้านี้เราได้เกริ่นไปแล้วว่า Disc มักจะใช้ในอุตสาหกรรมเพลง ส่วน Disk มักจะใช้กับวงการคอมพิวเตอร์ ...
แต่ว่ามันก็มี Disc ที่มีความคาบเกี่ยวกับฝั่งคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ CD หรือ Compact Disc ที่ใช้คำว่า Disc ที่สะกดด้วยตัว "c" ปะปนมาด้วย โดย CD นี้ก็ไม่ได้ใช้งานเพื่อบันทึกเพลงของศิลปินต่าง ๆ เท่านั้น เพราะมันเปรียบได้กับ "แผ่น CD เปล่า" ที่ผู้ใช้สามารถนำเอาไปใส่คอมพิวเตอร์แล้วบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการได้อย่างอิสระ (ไม่ใช่แค่ไฟล์เพลงเท่านั้น แต่รองรับการบันทึกไฟล์หลากหลายรูปแบบตามที่ผู้ใช้ต้องการ)
ภาพจาก : https://www.britannica.com/technology/compact-disc-player
ดังนั้นจึงมีคนสงสัยขึ้นมาอีกว่า แล้ว Disc ของ CD มีความพิเศษต่างออกไปจาก Disk (ที่สะกดด้วยตัว 'k') ที่ใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ เหมือนกันอย่างไร แล้วทำไมถึงไม่เลือกใช้คำว่า Compact Disk แทน ? นั่นก็เพราะ CD เพลงต่าง ๆ และ CD นั้นใช้เทคโนโลยีการอ่านและบันทึกข้อมูลด้วยแสง (Optical) ในขณะที่ Disk ต่าง ๆ ใช้การบันทึกข้อมูลด้วยแม่เหล็ก (Magnetic) จึงใช้คำว่า Compact Disc แทน Compact Disk นั่นเอง
อีกเหตุผลหนึ่งก็ระบุว่าสิ่งที่ แยกคำว่า Disc และ Disk ออกจากกันนั้นก็เพียงดูที่ “ลักษณะ” ของมัน เพราะเมื่อค้นดูคำแปลของทั้ง 2 คำนี้แล้วก็แปลได้ว่า “สิ่งที่มีรูปร่างแบน” เหมือนกันทั้งคู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะพบคำว่า Disc (ที่สะกดด้วยตัว 'c') นั้นจะใช้เรียกสิ่งที่เป็นแผ่นกลม ๆ อย่างพวก CD (Compact Disc) หรือ Flying Disc / Frisbee (จานบิน / จานร่อน) ส่วนคำว่า Disk (ที่สะกดด้วยตัว 'k') มักจะใช้เรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจำพวก Floppy Disk หรือ Hard Disk นั่นเอง
ภาพจาก : https://ebilog2009.seesaa.net/article/234281406.html
เหตุผลถัดมาเป็นเรื่องของการใช้ภาษา อย่างที่เราทราบกันดีว่าการสะกดของภาษาอังกฤษในหลาย ๆ คำนั้นมีทั้ง การสะกดแบบอเมริกันและบริติช (สหราชอาณาจักร) เช่น บางคำที่ทางฝั่งอเมริกันสะกดด้วยตัว 'z' ฝั่งอังกฤษกลับสะกดด้วยตัว 's' แทน หรือบางคำที่มีคำว่า 'ter' ที่ฝั่งอเมริกันนิยมใช้ ทางอังกฤษนั้นก็มักจะใช้ 'tre' แทน
เช่นเดียวกันกับคำว่า Disk และ Disc ที่ฝั่งอเมริกัน (American English) มักจะนิยมใช้คำว่า Disk (ที่สะกดด้วยตัว 'k') ส่วนทางฝั่งบริติช (British English) จะใช้คำว่า Disc (ที่สะกดด้วยตัว 'c') มากกว่า โดยคำที่คิดว่าน่าจะสอดคล้องกับเหตุผลนี้ได้ดีก็ได้แก่ศัพท์ทางการแพทย์อย่าง Intervertebral Disc / Disk ที่หมายถึงหมอนรองกระดูกสันหลัง (เนื้อเยื่อรูปร่างคล้ายจานที่รองระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ) โดยหากเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทก็จะแบ่งย่อยตามชื่อลักษณะอาการออกไปอีกหลายประเภท แต่โดยรวมแล้วก็มักจะเห็นการใช้คำว่า Disk และ Disc ปะปนกันในวงการแพทย์อยู่เป็นประจำ
จะเห็นได้ว่าในวงการแพทย์มักจะใช้คำว่า Disk และ Disc ปะปนกัน
ภาพจาก : shorturl.at/ryHY5 shorturl.at/wCDT7
อย่างไรก็ตาม เราก็มักพบเห็นและเคยชินกับคำว่า Disc ที่ใช้เรียก CD (Compact Disc) หรือ DJ (Disc Jockey) และคำว่า Disk ที่ใช้เรียก Floppy Disk หรือ Hard Disk ทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกาอยู่ดี ดังนั้นเราจึงคิดว่าการแบ่งสองคำนี้จากความหมายนั้นดูน่าเชื่อถือมากกว่าแบ่งตามลักษณะภาษา (แต่ใช้ปน ๆ กันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ดูจากบริบทโดยรวมแล้วก็เข้าใจได้ทั้งคู่อยู่ดี)
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |
ความคิดเห็นที่ 1
12 ตุลาคม 2564 09:57:22
|
||
GUEST |
QQQQQQQ
ดิชเบรค
|
|