สกู๊ปพิเศษนี้จัดทำขึ้นเพื่อ สดุดีแก่ วันที่ 15 ก.ย. หรือวันปลอดยุงแห่งชาติ (ว่าไปนั่น !) ความจริงเป็นแค่มุขเฉย ๆ วันนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับยุง แต่เพราะหัวข้อของเรานั้นเกี่ยวกับประวัติโปรแกรมไล่ยุงที่มีชื่อว่า โปรแกรมไล่ยุง Anti Mosquitoes ดังนั้นวันที่ลงบทความ หรือ 15 ก.ย. พอสลับคำเป็น ก.ย. 15 ก็กลายเป็นชื่อ "ยากันยุง" ยี่ห้อหนึ่ง ทั้งหมดจึงเชื่อมโยงกันด้วยประการฉะนี้
สรุปก็คือ บทความนี้เป็นตอนพิเศษ ที่เราอยากนอกเรื่องมาพูดถึงประวัติ โปรแกรมไล่ยุง SEA Anti Mosquitoes หรือ โปรแกรมไล่ยุงในตำนาน ที่เคยโด่งดังช่วงเกือบ 20 ปีที่แล้ว เพราะโปรแกรมนี้มีบทบาทที่สำคัญกับเว็บไซต์ Thaiware.com เนื่องจากเคยสร้างชื่อเสียง และทำให้คนรู้จักเว็บไซต์ของเรามากขึ้น มันเป็นมากกว่าโปรแกรมไล่ยุงหรือไม่ ทำไมมันถึงดัง ใครเป็นคนสร้าง แล้วไล่ยุงได้จริงหรือ ? มาหาคำตอบกัน
ต้นกำเนิดของ โปรแกรมไล่ยุง Anti Mosquitoes เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2545 - 2546 (ค.ศ. 2002 - 2003) หากเวลานั้นใครที่มีส่วนร่วมในการทดลอง และ ดาวน์โหลดมาใช้เอง ปัจจุบันทุกคนน่าจะมีอายุเกิน 30 ปีไปแล้ว ถ้าเรายังจำกันได้ โปรแกรมกันยุงนี้มีชื่อว่า "โปรแกรม Anti Mosquitoes" ตอนหลักเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โปรแกรม SEA Anti Mosquitoes" นั่นเอง มันเป็นโปรแกรมที่เคยสร้างชื่อเสียง เป็นกระแสภายในประเทศได้อยู่พักหนึ่ง แต่แล้วกาลเวลาก็ทำให้มันเงียบหายจนคนหลงลืมไปแล้ว โดยบทความนี้ เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปรู้จักกับมันอีกครั้งหนึ่ง
ความสามารถของ โปรแกรม Anti Mosquitoes ที่รู้กันดี คือการไล่ยุงด้วยคลื่นเสียงความถี่ต่ำที่มีให้เลือกตั้งแต่ระดับ 15 - 20 กิโลเฮิร์ตซ์ (kHz) ออกมาผ่านทาง "ลำโพงคอมพิวเตอร์" หรือที่เรียกว่า "PC Speaker" ฟังดูแล้วเป็นความสามารถที่มีทั่วไปมาก ๆ แต่ในอดีตนั้นคือของใหม่
โดยความถี่เหล่านี้ จะไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ และตามที่ผู้พัฒนาบอกเอาไว้คือมันช่วยทำให้ยุงไม่อยากบินเข้าใกล้บริเวณรัศมีทำการ หรือ ก็คือ 10 เมตร ทำให้เราสามารถนั่งเล่นคอมได้อย่างสบายใจ
คนคิดค้น โปรแกรมไล่ยุงโปรแกรมแรก ของประเทศไทยคือ โปรแกรม SEA Anti Mosquitoes ที่ถูกพัฒนาโดย ดร.ศรัณยู บุณยรัตพันธุ์ (Ph.D. Saranyo Punyaratabunbhu) จบการศึกษาปริญญาเอกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และ โปรแกรม ERP ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang - KMITL)
โดยก่อนที่จะเป็นทุกวันนี้ เขาคือคนพัฒนาโปรแกรมไล่ยุง SEA Anti Mosquitoes มาก่อน และเท่าที่ทราบปัจจุบันเขายังคงคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งของอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องบอกอุณหภูมิความชื้น และ เครื่องวัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น
ถ้าเป็นปัจจุบันโปรแกรมไล่ยุง หรือ อุปกรณ์ไล่ยุงที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกันแบบนี้คงมีอยู่เกลื่อนตลาด แต่ที่โปรแกรมไล่ยุง SEA Anti Mosquitoes มีชื่อเสียง อาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้นคงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นและแปลกใหม่ ทำให้คนเกิดความสงสัย มีคนที่ทั้งเชื่อ กับ ไม่เชื่อ แล้วอยากลองทดสอบด้วยตัวเองจนสร้างกระแสขึ้นมาในสังคม อีกทั้งสื่อต่าง ๆ ก็ยังพยายามตีข่าว หาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบการยืนยัน ทำให้กระแสของโปรแกรมยิ่งกระจายวงกว้างมากกว่าเดิม
แต่ที่น่าสนใจคือหลังจากโปรแกรมนี้ถูกอัปโหลดเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) มีข้อมูลว่า เว็บไซต์ที่ถูกอัปโหลดโปรแกรม SEA Anti Mosquitoes แรก ๆ ไม่ใช่ที่ไหน แต่เป็นบน Thaiware.com ของเรานี่เองและหลังจากอัปโหลดได้เพียง 3 วันยอดดาวน์โหลดก็ปาเข้าไป 50,000 ครั้ง นับเป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่าโปรแกรมเขาดังจริง ๆ ถึงขั้นมีเว็บไซต์ต่างประเทศชื่อดังอย่าง CNN ของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ได้ตีแผ่นข่าวนี้ด้วย โดยพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า
"นายศรัณยู บุณยรัตพันธุ์ โปรแกรมเมอร์รายหนึ่งจากไทย ได้ทำการคิดค้นโปรแกรมไล่ยุงที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยที่โปรแกรมได้ถูกดาวน์โหลดไปถึง 50,000 ครั้งหลังจากมีการอัปโหลดบนเว็บไซต์ Thaiware.com ได้ 3 วัน"
- ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002)
เรื่องนี้ไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้โปรแกรมเมอร์ชาวไทยอย่างเดียว แต่ยังสร้างชื่อให้กับเว็บไซต์ของ Thaiware อีกด้วยอาจเรียกได้ว่า Thaiware เราได้รับอานิสงส์เล็ก ๆ น้อย ๆ จากโปรแกรมนี้เลยแหล่ะ ปัจจุบันโปรแกรมไล่ยุง SEA Anti Mosquitoes มียอดดาวน์โหลดอยู่ในเว็บไซต์ Thaiware.com ของเรากว่า 280,000 ครั้งเลยทีเดียว
หลายคนคงมีคำถามว่า โปรแกรมไล่ยุง SEA Anti Mosquitoes หรือแม้แต่ โปรแกรมไล่ยุงอื่นๆ หรือ แอปพลิเคชันไล่ยุงบนสมาร์ทโฟน ที่มีอยู่มากมาย สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ ? ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ ก็มีเหตุผลอธิบายอยู่เหมือนกัน แต่ค่อนข้างเป็นด้านลบต่อโปรแกรม และก่อนที่จะเข้าเรื่อง เรามาดูความคิดเห็นของผู้คนที่เคยใช้งานจริงกันดีกว่าว่าเขารู้สึกอย่างไรกันบ้าง ?
นี่เป็นภาพความเห็นของคนที่เขียนคอมเมนท์ บนหน้าดาวน์โหลดของโปรแกรม ซึ่งเราคัดมาส่วนหนึ่ง พบว่าเสียงค่อนข้างแตกออกเป็น 2 ฝ่าย บางรายระบุว่าได้ผล "ยุงหายเกลี้ยง" บางรายบอก "ไม่ได้ผล" แต่ความเห็นที่น่าสนใจคือ มีคนพูดว่าหลังจากเปิดโปรแกรมขึ้นมา แทนที่จะไล่ยุงกลับทำให้ยุงแตกตื่นและออกมาเยอะมากกว่าเดิม สรุปแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ ?
เราได้รวบรวมงานวิจัยมาจากหลาย ๆ ที่ ทำให้ได้ข้อสรุปจากทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า คลื่นเสียงความถี่ระดับ 15 - 20 กิโลเฮิร์ตซ์ (kHz) ไม่ได้มีส่วนช่วยในการไล่ยุง แต่ว่าอาจทำให้มันมึนงงได้สักประมาณ 2 - 3 นาทีจากการตื่นตกใจ และรับรู้ถึงคลื่นเสียงที่แปลกไป และแน่นอนว่าอาจไล่มันได้พักหนึ่ง แต่หลังจากปรับตัวได้คลื่นเสียงระดับนี้ก็จะไม่มีผลต่อยุงอีกต่อไป
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1948-7134.2010.00061.x
ตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจนี้มาจาก งานวิจัยบนเว็บไซต์ Wiley Online Library โดย Carlos F.S. Andrade, Isaías Cabrini ที่ได้ทดลองศักยภาพของ โปรแกรมไล่ยุง และ เครื่องไล่ยุงอิเล็กทรอนิกส์ ที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นเครื่องไล่ยุง 3 รุ่น โปรแกรม 5 ตัว หนึ่งในนั้นมี โปรแกรม SEA Anti Mosquitoes ของคนไทยเรารวมอยู่ด้วย แถมงานวิจัยนี้ยังกล่าวถึงเว็บไซต์ Thaiware.com ของเราเช่นกัน
อ่านข้อมูลการวิจัยเพิ่มเติม : Electronic mosquito repellers induce increased biting rates in Aedes aegypti mosquitoes (Diptera: Culicidae)
พวกเขาได้นำอุปกรณ์ทั้ง 8 ชนิดนี้ มาปล่อยคลื่นเสียงความถี่ที่ต่างระดับกัน ตั้งแต่ 6.2 - 20.4 kHz ในห้องปิด ผลคือ เมื่อเปิดเครื่องที่มีความถี่เสียงระดับ 9.6 - 18.2 kHz นอกจากยุงจะไม่หนีเพราะหนีไม่ได้แล้ว ซ้ำยังทำให้ยุงมีอัตราตอบสนองต่อคลื่นเสียงด้วยการกัดคนสูงขึ้น 20 - 50 %
ภาพนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยแต่อย่างใด แต่เป็นภาพของนักข่าวอเมริกันคนหนึ่งที่ทดสอบแอปฯ ไล่ยุงบนมือถือ
และหลังจากเปิดเครื่องในรอบที่ 2 - 3 พบว่าอัตราการตอบสนองของยุงลดลง นั่นชี้ให้เห็นว่ายุงมีการปรับตัวกับคลื่นเสียงดังกล่าวได้ ทำให้งานวิจัยนี้ค่อนข้างตอบคำถามของหลายคนได้ตรงประเด็นเลยทีเดียว ว่าทำไมยุงในบ้านถึงแตกตื่นและดูเหมือนจะได้ผล แต่แท้จริงแล้วมันแค่ตกใจเฉย ๆ และสุดท้ายคุณก็จะโดนยุงกัดอยู่ดี
ภาพนี้ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยเหมือนกัน
มีข้อมูลระบุโดยเว็บไซต์ ElectroSchematics.com กล่าวว่า คลื่นเสียงที่ส่งผลต่อการไล่ยุงได้อยู่ในช่วง 38 - 44 kHz ซึ่งเป็นระดับอัลตราโซนิก (Ultrasonic) หรือ เกิน 20 kHz (หรือ 20,000 Hz) ไปแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับแอร์บางชนิดที่สามารถไล่ยุงได้ เช่น แอร์ LG รุ่น IM10H1 คุณสมบัติดังกล่าวใช้คลื่นความถี่กว้างถึง 30 kHz - 100 kHz หรือ 30,000 - 100, 000 Hz ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับข้อมูลดังกล่าว แต่คุณสมบัตินี้ก็ยังไล่ยุงได้เพียง 75.5 % และพอจะเป็นข้อพิจารณาความสงสัยของเราได้ไม่ยากว่าคลื่นเสียงระดับไหนถึงมีผลต่อยุงจริง ๆ
ภาพที่ใช้ในการโฆษณาของเครื่องปรับอากาศ LG รุ่น IM10H1
ในบรรดาคนที่ออกความเห็น มีผู้ใช้งาน โปรแกรมไล่ยุง บางส่วนที่อ้างถึงผลข้างเคียง เช่น มีอาการปวดหัว หรือ สุนัขมีอาการผิดปกติ จ้องมองไปที่ลำโพงหลังจากเปิดใช้งาน นำไปสู่คำถามว่า คลื่นเสียงเหล่านี้ ส่งผลกับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงไหม ?
คำตอบคือทั้ง ใช่ และ ไม่ใช่ เพราะความถี่ของคลื่นเสียงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ได้ยินเสียง และการรับรู้คลื่นเสียงของมนุษย์กำหนดไว้คือช่วง 20 ถึง 20,000 Hz (20 kHz) เรียกว่าคลื่นเสียง "โซนิค" (Sonic) เกินจากนี้ไปเรียกว่าคลื่นเสียง Ultrasonic ที่มนุษยไม่สามารถรับรู้หรือได้ยิน
แต่เอาเข้าจริง ๆ มนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่แล้วส่วนมากประสาทหูจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงและจะได้ยินเสียงที่เกิน 16,000 Hz ไปแล้วได้ยากมาก แต่มันก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพหูของแต่ละคนด้วย ดังนั้นโปรแกรมก็สามารถที่จะส่งผลข้างเคียงเล็กน้อยกับคนที่ประสาทหูรับรู้ไวต่อคลื่นเสียงความถี่สูง เช่น อาจทำให้มีอาการปวดหัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามคุณสามารถทดสอบการได้ยินความถี่เสียงของคุณได้เองในคลิปด้านล่าง และคำเตือน โปรดอย่าใส่หูฟัง หรือเปิดลำโพงดัง เพื่อสุขภาพหูของท่านเอง
บทความนี้ถามว่าเราได้อะไร ? ก็หวังว่าทุกคนน่าจะได้ความรู้บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ โปรแกรม Anti Mosquitoes จะกลายเป็นตำนาน และถูกพูดถึงในมุมที่ต่างกันออกไป แต่ในปัจจุบัน ก็ได้มีข้อพิสูจน์ออกมาแล้วว่าสรุปมันจริงหรือมั่วนิ่ม
และถ้าถามว่าโปรแกรมนี้ยังมีอยู่ไหม คำตอบคือ มี ปัจจุบันโปรแกรม SEA Anti Mosquitoes ยังคงเปิดให้ดาวน์โหลดในเว็บไซต์ Thaiware.com โดยมีการ อัปเดตครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) หรือพูดง่าย ๆ ว่าอาจจะหยุดพัฒนาไปแล้วแหล่ะ แต่เว็บไซต์เรายังคงเก็บมันไว้เป็นตำนานต่อไป เผื่อใครไม่เชื่อต้องการทดลองกับตัว ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้เองเลยครับ
ดาวน์โหลดโปรแกรมไล่ยุง (Anti Mosquitoes Software) ที่พัฒนาโดยชาวไทย
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |