ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

ภาษาคอมพิวเตอร์ มีอะไรบ้าง ? รวมภาษาคอมพิวเตอร์ที่เหล่า Developer ควรจะต้องรู้จัก

ภาษาคอมพิวเตอร์ มีอะไรบ้าง ? รวมภาษาคอมพิวเตอร์ที่เหล่า Developer ควรจะต้องรู้จัก
ภาพจาก : https://live.staticflickr.com/1653/25940444194_7322555f81_b.jpg
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 59,519
เขียนโดย :
0 %E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2+Developer%C2%A0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

รวมภาษาคอมพิวเตอร์ที่ (คาดว่า) เหล่า Developer ควรจะต้องรู้จัก

เชื่อว่าโปรแกรมเมอร์(Programmer) หรือ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) ทุกคนก็คงจะคุ้นเคย และคลุกคลีกับบรรดา ภาษาคอมพิวเตอร์ ต่าง ๆ มาอยู่แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งภาษาคอมพิวเตอร์แต่ละแบบก็มีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามจุดประสงค์ของผู้ใช้งาน และโปรแกรมเมอร์หลาย ๆ ท่านก็คงมีภาษาที่ถนัดในการใช้งานที่ต่างกัน แต่สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ แล้ว เราก็ได้รวบรวมภาษาคอมพิวเตอร์ยอดนิยมมาให้ลองพิจารณากัน ดังนี้

บทความเกี่ยวกับ Computer อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

ภาษา C

เริ่มต้นกันด้วยภาษาสุดคลาสสิกอย่าง ภาษา C ที่ยังคงได้รับความนิยในการใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยภาษา C นั้นถูกยกว่าเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ใน “ระดับกลาง” ที่ง่ายต่อการเรียนรู้ เพราะคีย์หลักของมันมีเพียงแค่ 32 รูปแบบเท่านั้น ทำให้โปรแกรมเมอร์มือใหม่ยังคงไม่ละทิ้งภาษาเก่าแก่นี้ไป อีกทั้งมันยังใช้งานได้อย่างหลากหลายทั้งงานด้านการจัดการระบบโปรแกรมต่าง ๆ, การพัฒนา AI รวมทั้งในเรื่องของกราฟิกและเกมก็ทำได้อย่างลื่นไหล

ภาษา C
 ภาพจาก : https://www.geeksforgeeks.org/c-language-set-1-introduction/

อีกทั้งมันยังสามารถจัดการระบบโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่างเพื่อใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทั้ง แอปเปิล (Apple), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ ออราเคิล (Oracle) ก็เป็นบริษัทที่ใช้งานภาษา C ในการพัฒนาระบบขึ้นมาด้วย และนอกเหนือไปจาก 3 บริษัทใหญ่นี้แล้ว ภาษา C ก็ยังนิยมในกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยี, วิศวกรรม, การจัดการ และด้านการดูแลสุขภาพหรือการบริการพิเศษบางประเภทด้วย

ภาษา C++

ต่อจากภาษา C แล้วนั้นเราก็จะเลี่ยงการพูดถึง ภาษา C++ ไปไม่ได้เลย เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาที่พัฒนาต่อยอดมาจากภาษา C แต่ก็มีความซับซ้อนในการใช้งานที่ต่างกันออกไป โดยมันถือได้ว่าเป็นภาษา Hybrid ในระดับกลาง - เริ่มต้น เนื่องจากมีการพลิกแพลงในการใช้งานได้หลากหลายและเข้าใจได้ง่ายกว่าภาษา C นั่นเอง จึงเป็นอีกภาษาที่นิยมใช้สำหรับการเริ่มเรียน Coding ใหม่ ๆ เพราะมันสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว

ภาษา C++
ภาพจาก  : https://www.freecodecamp.org/news/the-c-plus-plus-programming-language/

โดยเรามักพบเห็นการใช้ภาษา C++ กันมากในพวกซอฟต์แวร์ที่ขายเป็นแพ็กเกจต่าง ๆ อย่าง เกม, โปรแกรมตัดต่อภาพและวิดีโอ, โปรแกรม Office Suite ของ Microsoft หรือ OS ของสมาร์ทโฟน Blackberry เองก็ใช้งานภาษานี้ด้วยเช่นกัน ส่วนบริษัทและองค์กรที่นิยมใช้งานภาษานี้ในการพัฒนาระบบก็ได้แก่ Google, Mozilla Firefox, Winamp, Adobe Software, Amazon และอื่น ๆ อีกมากมาย จะเห็นได้ว่า C++ นี้เป็นภาษาที่นิยมในบริษัทที่เน้นในเรื่องของข้อมูลเทคโนโลยี, การออกแบบดีไซน์, การควบคุมคุณภาพและการจัดการระบบหรือแอปพลิเคชันของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ

ภาษา C#

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงภาษา C และ C++ ไปแล้วก็ต้องถึงคิวของ ภาษา C# (อ่านว่า ซี-ชาร์ป ไม่ใช่ซี-แฮชแท็ก) กันบ้าง ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ขึ้นต้นด้วยตัว C แล้วก็เดาได้ไม่ยากเลยว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งภาษาที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากภาษา C เช่นกัน ทำให้ Syntax ของภาษา C# นั้นคล้ายคลึงกันกับภาษา C และ C++ ค่อนข้างมาก ซึ่ง C# นี้ก็ช่วยให้เหล่า Developer สามารถสร้าง XML, .NET ในการใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ร่วมกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างลื่นไหล (หรือเขียนโค้ดบน Visual Studio Code ที่เป็นโปรแกรมเขียนโค้ดเฉพาะของ Windows ก็สะดวกค่อนข้างมากทีเดียว)

สไลด์รูปภาพ

 ภาษา C#ภาษา C#

ภาพจาก : shorturl.at/acgCE และ https://dotnet.microsoft.com/learntocode

ซึ่งเมื่อพูดถึงการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการ Windows แล้วก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าหนึ่งในบริษัทที่ใช้งานภาษานี้ (และเป็นผู้พัฒนาต่อยอดขึ้นมา) ก็ได้แก่ Microsoft นั่นเอง นอกจากนี้ทาง Intel, Unity และบริษัทอื่น ๆ ที่พัฒนาแอปพลิเคชันและเกมสำหรับใช้งานบนระบบปฏิบัติการ Windows อีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้งานภาษา C# ในการพัฒนาด้วยเช่นกัน

ภาษา Objective-C

เมื่อพูดถึงตระกูลภาษาที่มีตัว C เป็นส่วนประกอบและ C# ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการ Windows โดยเฉพาะแล้ว แน่นอนว่าทาง Apple เองก็ได้มีการพัฒนาต่อยอด ภาษา Objective-C นี้ออกมาจากภาษา C เพื่อให้มันสามารถใช้งานบนระบบ iOS และ OSX ของ Apple ได้นั่นเอง

ปัจจุบัน Apple เน้นการใช้งาน Swift มากกว่า แต่ Objective-C ก็ยังคงเป็นอีกภาษาที่น่าจับตามองอยู่เช่นกัน

ภาษา Objective-C
ภาพจาก : https://favpng.com/png_view/objective-objective-c-programmer-swift-llvm-png/bKi0jNpd

จุดเด่นของภาษา Objective-C นอกจากจะเป็นภาษาที่ใช้สำหรับการเขียนแอปพลิเคชันและ Coding ต่าง ๆ ในระบบ iOS แล้ว มันยังเป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีระบบการทำงานเรียบง่ายและเรียนรู้ได้ไม่ยากนักจึงทำให้โปรแกรมเมอร์หลาย ๆ คนเลือกที่จะศึกษาภาษานี้เป็นพื้นฐาน

ภาษา Swift

ต่อเนื่องจากภาษา Objective-C ที่ Apple ได้พัฒนาขึ้นมาสำหรับการ Coding ในระบบ iOS และ OSX นั้น ถัดมาก็ได้พัฒนาต่อยอดออกมาจนเป็นภาษาแยกย่อยของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ซึ่ง ภาษา Swift นี้มีจุดเด่นอยู่ที่มันเป็นภาษาที่มี Framework อย่างกว้างขวางและรวมคอมไพเลอร์ (Compiler) และ ดีบักเกอร์ (Debugger) เอาไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ Developer สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นนได้อย่างรวดเร็ว

สไลด์รูปภาพ

 ภาษา Swiftภาษา Swift

ภาพจาก : https://developer.apple.com/swift/#playgrounds-repl และ https://www.wired.co.uk/article/apple-swift 

นอกเหนือไปจาก Apple จะใช้งานภาษา Swift อย่างแน่นอนแล้ว Getty Image, Slack และบริษัทอื่น ๆ เองก็หันมาใช้งานภาษานี้ในการพัฒนาระบบด้วยเช่นกัน เพราะตัว Syntax ของ Swift นั้นเข้าใจค่อนข้างง่าย อีกทั้งทาง Apple ยังมีการเปิดคอร์ส Apple Developer ที่ช่วยให้การเรียนภาษา Swift เป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับเด็กอีกต่างหาก จึงไม่แปลกเลยที่ในช่วงหลายปีมานี้ความนิยมของ Swift จะพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ภาษา Java

ภาษาคอมพิวเตอร์อีกภาษาที่สำคัญและไม่พูดถึงไปไม่ได้อีกภาษาก็ได้แก่ ภาษา Java นั่นเอง เพราะมันเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในภาษาได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกและพบเห็นได้บ่อยที่สุดเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังมี Syntax ที่ใกล้เคียงกันกับภาษา C และ C++ กันเลยทีเดียว ทำให้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในสองภาษานั้นแล้ว ก็ยังสามารถต่อยอดมาศึกษา Java ได้ไม่ยาก

หรือถ้าหากว่าจะต้องการเริ่มต้นเรียนจาก Java เองก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะภาษา Java นั้นเป็นภาษาที่ “เขียนครั้งเดียวใช้ได้ทุกที่” รันได้ทุกในระบบ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ ก็สามารถใช้งานภาษา Java ได้ทั้งสิ้น โดยส่วนมากมักจะนิยมใช้ในการสร้าง Back-End ของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ

ภาษา Java
ภาพจาก : https://www.wykop.pl/cdn/c3201142/comment_XVJYbnrWeJhTufNk0x4t3XeCfXb0t3OQ.jpg

ภาษา Java นี้มักนิยมในกลุ่ม Developer สายการเงิน รวมไปถึงการพัฒนาเกมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟน (ในระบบ Android) และยังสามารถใช้งาน JSP (Java Server Program) เพื่อสร้าง Applets ในการเข้าถึงเว็บไซต์ได้อีกด้วย สำหรับบริษัทที่ใช้ภาษา Java ในการพัฒนาระบบต่าง ๆ ก็ได้แก่ eBay, V2COM EIT (Eclipse Information Technologies) และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงโปรแกรมชื่อดังอย่าง Adobe Creative Suite หรือเกม Minecraft เองก็พัฒนาขึ้นมาจากภาษานี้ด้วยเช่นกัน

ภาษา JS (JavaScript)

เมื่อพูดถึงภาษา Java แล้ว อีกชื่อที่หลาย ๆ คนคงนึกตามมาติด ๆ ก็คงหนีไม่พ้น ภาษา JS หรือ JavaScript อย่างแน่นอน แต่ JavaScript นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Java อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดกัน เพราะถึงแม้จะมีชื่อที่คล้ายกันแต่ก็มีการทำงานคนละส่วนกันอย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ Java นิยมใช้งานเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันหรือ Web-App ต่าง ๆ แล้ว JS นั้นจะใช้งานสำหรับการแสดงผลหน้า Front-End ควบคู่ไปกับการใช้ภาษา HTML หรือ CSS อีกทั้ง JS นั้นยังถือว่าเป็นภาษาใน “ระดับง่าย” ที่มี Framework ค่อนข้างหลากหลายอีกต่างหาก

ภาษา JS (JavaScript)
ภาพจาก : https://medium.com/@llewadamson/is-javascript-a-real-programming-language-c769af676b04

ในส่วนของบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้งานภาษา JS นี้ก็มีนับไม่ถ้วน แต่ที่เด่น ๆ ก็น่าจะเป็น WordPress, SoundCloud, Linkedin, Yahoo และบริษัทเกมอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะ JS นั้นทำให้การเคลื่อนไหวของ Object ต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์มีมิติมากขึ้นและทำให้หน้าเว็บไซต์เหล่านั้นมี หน้าจอผู้ใช้งาน (User Interface - UI) ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลเพิ่มเติม : User Interface (UI) กับ User Experience (UX) คืออะไร ? และ แตกต่างกันอย่างไร ?

ภาษา HTML

เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อนี้กันพอสมวร เพราะมันเป็นหนึ่งในภาษาพื้นฐานที่ใช้เขียนขึ้นมาเพื่อสร้างเว็บเพจต่าง ๆ ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ โดยคำว่า HTML นั้นก็ย่อมาจากคำว่า HyperText Markup Language โดยอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าเป็นภาษาที่ใช้ในการเขียนเว็บเพจ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่แสดงผลในเรื่องของตัวอักษร, รูปภาพ, และการจัดหมวดหมู่เป็นหลักโดยใช้แท็ก (Tag) < > และ < / > กำกับในการเขียน ได้อย่างถูกต้อง

ภาษา HTML
ภาพจาก : https://asher.edu/html-coding-computer-programming-dallas-tx/

และเนื่องจากว่าเว็บไซต์ทุกเว็บไซต์มีภาษา HTML เป็นส่วนประกอบ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าแทบทุกบริษัทก็ต้องใช้งานภาษานี้ในการพัฒนาเว็บเพจของตัวเองอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Apple, Apex Systems, CyberCoders และบริษัทชั้นนำอีกมากมาย อีกทั้งภาษา HTML นี้ระดับพื้นฐานก็ถือว่าเป็นภาษาใน “ระดับง่าย” ที่เรียนรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วและมีหลายเวอร์ชันให้เลือกศึกษาตามความต้องการ (ระดับความยากก็จะเพิ่มขึ้นตามความซับซ้อนของ Coding)

ภาษา CSS

ยังคงวนเวียนกันอยู่กับเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์ เพราะ ภาษา CSS ก็เป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีความสำคัญกับการสร้างเว็บไซต์ไปไม่แพ้กับ HTML และ JS เลยทีเดียว แต่ถึงแม้ว่าจะมีตัว C เป็นส่วนประกอบ CSS ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาษาคอมพิวเตอร์อย่างภาษา C อยู่ดี เพราะ CSS นั่นย่อมาจาก Cascading Style Sheets ที่มักจะใช้งานร่วมกับภาษา HTML ในการสร้างเว็บเพจต่าง ๆ ให้ เพราะในขณะที่ HTML ดูแลเรื่องข้อมูลการแสดงผลตัวอักษรและรูปภาพ ส่วน JS ดูในเรื่องของการแสดงผลหน้า UI ที่น่าดึงดูด ภาษา CSS เองก็มาช่วยจัดการในเรื่องของการจัดการขนาด, ความหนา - บาง, สี และการกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ของตัวอักษรและพื้นหลังหน้าเว็บนั้น ๆ

ภาษา CSS
ภาพจาก  : https://www.tentononline.com/is-css-easy-to-learn/

โดยภาษา CSS นี้เองก็จักว่าเป็นภาษาใน “ระดับง่าย” และเป็นมิตรกับผู้เริ่มต้นเขียน Coding เช่นกัน และแน่นอนว่าเนื่องจากมันเป็นภาษาที่ใช้ในการสร้างเว็บเพจต่าง ๆ ควบคู่กันไปกับ HTML และ JS ก็ทำให้หน้าเว็บไซต์ทุกเว็บไซต์ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ถูกประกอบขึ้นมาจากภาษาคอมพิวเตอร์ทั้ง 3 ภาษานี้ทั้งสิ้น

ภาษา Python

สำหรับ ภาษา Python นอกจากจะเป็นชื่อของงูชนิดหนึ่งแล้ว ยังเป็นหนึ่งในภาษาคอมพิวเตอร์ที่หลาย ๆ คนยกให้เป็นภาษา “พื้นฐาน” สำหรับการตั้งต้นเรียน Coding เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเข้าใจค่อนข้างง่ายกว่าภาษาโปรแกรมประเภทอื่น ๆ แล้ว มันยังมีความสามารถแบบครอบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเว็บ, แอปพลิเคชัน, คำนวณข้อมูลและเก็บสถิติต่าง ๆ, สร้างหน้าจอผู้ใช้งาน (User Interface - UI) , Back-End และอื่น ๆ อีกมากมาย

ภาษา Python
ภาพจาก : https://ourcodeworld.com/articles/read/635/why-should-i-learn-python-programming-language

ไม่เพียงเท่านั้นด้วยความมากความสามารถของมันก็ทำให้ Python มี Framework ที่กว้างขวางและผสานเข้ากับโค้ดตัวอื่น ๆ ได้อย่างต่อง่ายดาย จึงนิยมใช้งานกันในบรรดาโปรแกรมเมอร์สายวิทยาศาสตร์และองค์กรขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลประมวลผลจำนวนมาก เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Google Search, YouTube, Instagram, Dropbox หรือแม้แต่องค์กรอย่าง NASA เองก็ใช้ภาษานี้ในการพัฒนาระบบในหลาย ๆ ส่วนขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ภาษา Ruby

สำหรับภาษาคอมพิวเตอร์ที่ชื่อหรูหราอย่าง ภาษา Ruby แล้วนั้นก็เป็นอีกหนึ่งภาษาที่ได้รับความนิยมสูง เพราะมันเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ใน “ระดับง่าย” ที่โปรแกรมเมอร์ส่วนหนึ่งเลือกเริ่มต้นในการเรียนเพราะเรียนรู้ได้ง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้วมันก็มีความสามารถรอบด้านคล้ายคลึงกับ Python อยู่เช่นกัน แต่นอกจากความเรียบง่ายของมันแล้ว Ruby ยังช่วยยกระดับการแสดงผลหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้ดูดีมีระดับขึ้นมาได้อีกด้วย เพราะเราสามารถที่จะใช้ Ruby ในการจำลอง Simulation หรือใส่โมเดลแบบ 3 มิติเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ได้ (ต่างจาก JS ที่ทำให้หน้าเว็บไซต์มีหน้าต่างป๊อปอัพหรือเพิ่มลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ บนเว็บไซต์ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น)

ภาษา Ruby
ภาพจาก : https://pragmaticstudio.com/ruby

ส่วนบริษัทชั้นนำที่เลือกใช้ Ruby ในการพัฒนาระบบนั้นก็มีตั้งแต่ Github, Twitter, Amazon, Basecamp หรือแม้แต่ NASA เองก็เลือกใช้ Ruby ในการควบคุม Simulation ต่าง ๆ และ Google SketchUp เองก็เลือกใช้ภาษานี้ในการพัฒนาระบบด้วยเช่นกัน เพราะแม้ว่ามันจะเป็นภาษาที่มีความเรียบง่ายแต่ความสามารถในการทำงานก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาษาคอมพิวเตอร์ประเภทอื่น ๆ เลย

ภาษา PHP

ภาษา PHP นั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่า Hypertext Processor (ไม่แน่ใจว่าตัว P แรกหายไปไหนเหมือนกัน) โดยมันเป็นหนึ่งในภาษาคอมพิวเตอร์ในระบบ Back-End ที่จัดอยู่ใน “ระดับง่าย” และสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงยังรองรับการใช้งานบน Web Server และระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ได้อย่างลื่นไหลอีกด้วย

ภาษา PHP
ภาพจาก : https://i2.wp.com/hipertextual.com/wp-content/uploads/2019/04/hipertextual-aprende-php-con-estos-cursos-online-2019980695.jpg

แม้ว่ามันจะได้รับความนิยมและมีจุดเด่นในเรื่องของการดูแลจัดเก็บข้อมูลบน Server หรือฐานข้อมูลต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ใช้งานร่วมกับ ฐานข้อมูล (Database) เป็นส่วนมากแล้ว แต่ก็ทำงานในส่วนอื่น ๆ ได้ดีไม่แพ้กันและทำงานร่วมกับ SQL ได้เป็นอย่างดี ทำให้หลาย ๆ บริษัทเลือกที่จะใช้ PHP ในการพัฒนาระบบบางส่วน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Yahoo, CyberCoder, Wordpress และเว็บไซต์ของบริษัทชั้นนำอื่น ๆ อีกมากมาย

ภาษา SQL

สำหรับ ภาษา SQL หรือ Structured Query Language นั้นถือได้ว่าเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้โปรแกรมเมอร์สามารถจัดการและสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ที่จัดเก็บอยู่บน Database ได้ ไม่ว่าจะเป็นการ CRUD (Create, Read, Update, Delete) หรือการสร้าง, อ่าน, อัปเดต และลบข้อมูลออกจาก Database ได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม SQL ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นภาษาที่ใช้สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เหมือนกับภาษาคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่มันก็เป็นภาษาคอมพิวเตอร์อีกภาษาที่มีความสำคัญในกับโปรแกรมเมอร์เป็นอย่างมากเพราะมันช่วยในการเชื่อมต่อ Database เข้ากับ Back-End และสามารถใช้ร่วมกับภาษาอื่น ๆ ในการประกอบสร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ขึ้นมาได้นั่นเอง

ภาษา SQL
ภาพจาก : https://woz-u.com/blog/what-is-sql-programming-language/

และเนื่องจากมันเป็นภาษาที่ช่วยในการสืบค้น Database ต่าง ๆ ก็ทำให้หลายบริษัทมักจะพัฒนา SQL เป็นของตัวเองและคาดว่าหลาย ๆ คนก็น่าจะเคยได้ยินชื่อของมันผ่านหูกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น MySQL (ของบริษัท Oracle) หรือ Microsoft SQL Server เป็นต้น

ภาษา Perl

ปิดท้ายกันที่ ภาษา Perl ที่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่อยู่คู่วงการมาอย่างยาวนั้นนั้น ในระบบ Linux บางส่วนก็ยังใช้งานภาษานี้อยู่ โดยส่วนมากมักใช้ในการเขียน CGI Script โดยผู้ที่ใช้งานภาษา Perl มักมีคติประจำใจว่า “TMTOWTDI” (There’s more than one way to do it) หรือที่หมายความว่าการเขียนโค้ดนั้นไม่จำเป็นจะต้องตามหลักเป๊ะ ๆ ทุกระเบียบขั้นตอน แต่สามารถพลิกแพลงได้ตลอดตามความถนัดของโปรแกรมเมอร์นั่นเอง

ภาษา Perl
ภาพจาก : https://blog.eduonix.com/perl-programming/learn-about-scalar-variable-in-perl-programming-language/

แม้ว่าภาษา Perl นั้นแม้ว่าจะเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ใน “ระดับง่าย” แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมในโปรแกรมเมอร์บางกลุ่มมากนักเพราะมองว่ามันเป็นภาษาที่ค่อนข้างเยิ่นเย้อมากจนเกินไป แม้ว่ามันจะรันได้ไวกว่า Python และ Ruby ก็ตาม โดยเราจะพบเห็นภาษานี้ได้บ่อยในวงการ Network, การเงิน, การจัดการระบบ และด้านความปลอดภัยต่าง ๆ แต่ความนิยมของภาษานี้ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ จนทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตุว่ามันอาจเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ถูกทอดทิ้งในเร็ว ๆ นี้

เลือกเรียนภาษาไหนเป็นอันดับแรกดี ?

สำหรับ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) หรือ ผู้พัฒนา (Developer) หน้าใหม่หรือผู้ที่คิดจะก้าวเข้าสู่เส้นทางนี้ก็อาจมีคำถามนี้ขึ้นมาในใจ ซึ่งจริง ๆ แล้วภาษาที่เรายกมาส่วนใหญ่ก็ถือได้ว่าเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ใน “ระดับง่าย - กลาง” ด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบตายตัวว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ภาษาใดเป็นภาษาที่ “ง่ายที่สุด” หรือ “เรียนรู้ได้ไวที่สุด” เพราะแต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ก็อาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าตัวเองนั้นสนใจในเรื่องของ การพัฒนาระบบหน้าบ้าน (Front-End) หรือหลังบ้าน (Back-End) มากกว่า และเลือกระบบปฏิบัติการที่ต้องการจะพัฒนาก่อน แล้วค่อยพิจารณาถึงภาษาที่ต้องการเริ่มต้นเรียนอีกทีหนึ่ง (แต่ในสายตาคนนอกวงการอย่างเรามองดูแล้วก็ไม่รู้สึกว่ามันจะ “ง่าย” ซักภาษาเดียว..)

นอกจากนี้ ภาษาที่ยกมาข้างต้นนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและค่อนข้างมีความต้องการในตลาดแรงงานโลก เรียกได้ว่าหากเป็น Developer ที่เชี่ยวชาญภาษาเหล่านี้ก็น่าจะหางานกันได้ไม่ยากหากมีความสามารถตรงตามที่บริษัทนั้น ๆ ต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม Developer ที่เชี่ยวชาญภาษาเฉพาะทางพิเศษอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ก็ไม่แน่ว่าอาจมีค่าตัวสูงกว่าภาษาพื้นฐานที่เรายกตัวอย่างมาข้างต้นเพราะความ “พิเศษ” ของมันก็เป็นได้


ที่มา : bootcamp.berkeley.edu , www.britannica.com , www.computerscience.org , www.rasmussen.edu , mapsfromscratch.com , www.spinxdigital.com

0 %E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2+Developer%C2%A0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น