เมื่อพูดถึง บริการชำระเงิน หรือ รับ-โอน เงิน จากต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงก็คงหนีไม่พ้น Paypal แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) Paypal ได้ประกาศนโยบายใหม่ที่มีผลกระทบกับผู้ใช้ในประเทศไทยที่เปิดบัญชีส่วนบุคคล หรือ กลุ่มผู้ใช้รายย่อย จำพวก ฟรีแลนซ์ (Freelance) หรือ แม่ค้าออนไลน์ ซึ่งจะไม่สามารถรับเงินจากต่างประเทศผ่าน Paypal Balance ได้แล้ว และใช้งานได้แค่ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือ เดบิตได้เท่านั้น เหมือนเป็นการบังคับผู้ใช้งานทางอ้อมเพื่อให้เปลี่ยนไปใช้บัญชีประเภทธุรกิจ ที่เสียค่าธรรมเนียมสูงกว่า ทำให้ผู้ใช้ Paypal เก่าเริ่มมองหาบริการจากเจ้าใหม่ ๆ มาทดแทน
ดังนั้นบทความนี้ Thaiware ของเราก็เลยอยากจะมาพูดถึงแพลตฟอร์มชำระเงิน หรือ รับเงินจากต่างประเทศยอดนิยมทางเลือก ที่ดีไม่แพ้ Paypal ไม่ว่าจะเป็น Payoneer, Skrill, Transferwise ทั้ง 3 แพลตฟอร์มรวมถึง Paypal จะมีบริการ และ ค่าธรรมเนียมที่ต่างกันอย่างไร และหากเราอยากจะเปลี่ยน ควรใช้เจ้าไหนดี
ก่อนไปพูดถึงบริการอื่น ๆ เรามาทำความรู้จักกับ Paypal กันก่อน สำหรับคนที่ไม่เคยศึกษามาก่อน
PayPal คือ บริการชำระเงินออนไลน์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา เปิดตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) มีผู้ใช้รวมกันมากกว่า 360 ล้านคน ครอบคลุมบริการชำระเงินกว่า 200 ประเทศ (รวมของไทย) ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ของบริการชำระเงินออนไลน์ เพราะเนื่องจากเปิดตัวมานาน และ มีผู้ใช้บริการเยอะ มีความน่าเชื่อถือในด้านความปลอดภัย ซึ่งหลายแพลตฟอร์ม E-commerce ก็มีการเปิดให้ชำระเงินผ่าน Paypal ได้
ภาพจาก : https://www.paypal.com/th/home
จุดเด่นของ Paypal อย่างที่บอกถ้าคุณเป็นสายช้อป หรือ เป็นแม่ค้าออนไลน์ที่เอาของไปลงในแพลตฟอร์มต่างประเทศ คุณจะมั่นใจได้ว่า Paypal จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะความนิยมในตัวมันเองทำให้มีผู้ซื้อและผู้ขายที่พร้อมจะทำธุรกรรมผ่าน Paypal มากมาย นอกจากนี้ปัจจุบันเขาก็เปิดให้บริการภาษาไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมมีแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่าย ๆ ทั้งแพลตฟอร์ม iOS และ Android
สำหรับค่าธรรมเนียมของ Paypal แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับธนาคารก็จะถูกกว่า แต่อาจสูงกว่าเจ้าอื่น ส่วนบริการทั่วไปอย่าง อย่างการโอนเงินหรือชำระผ่านบัญชี Paypal ด้วยกันหรือซื้อสินค้าจะมีค่าธรรมเนียมฟรี เว้นแต่จะมีการแปลงสกุลเงินด้วย หรือถ้าเป็นการชำระเงินแบบตัดผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกเอาไว้ และ บัตรเครดิต ก็จะมีค่าธรรมเนียมที่ต่างกันออกไป
Payoneer คือ บริการชำระเงินออนไลน์ที่มีสเกลระดับ Paypal มีผู้ใช้งานอยู่ทั่วโลก และ คนไทยก็เริ่มหันมาใช้ Payoneer แทน Paypal กันเยอะ เนื่องจากเปิดรองรับภาษาไทยเช่นกัน ส่วนบริการของ Payoneer ก็ไม่ค่อยแตกต่างจาก Paypal คือสามารถใช้ ชำระเงินสินค้า ค่าบริการ โอน จ่าย รับเงินระหว่างประเทศ หรือ ถอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของไทยได้อย่างไร้พรมแดน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว Payoneer จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า
ภาพจาก : https://apps.apple.com/us/app/payoneer/id663338402
จุดเด่นของระบบ Payoneer คือกระเป๋าเงินในระบบจะแยกประเภทสกุลเงินให้ เสมือนกับว่าเรามีบัญชีธนาคารเสมือนของแต่ละสกุลเงินไว้ใช้งานในแต่ละประเทศเลย เช่น USD, EUR, GBP, JPY, CAD, AUD เป็นต้น ซึ่งกระเป๋าเงินพวกนี้ สามารถใช้ชำระเงิน โอน รับเงิน กับผู้ใช้ Payoneer ได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เฉพาะสกุลเงิน USD, EUR, GBP, CAD, AUD, JPY และ CNH การถอนเงินเข้าธนาคารของไทยจะมีค่าธรรมเนียม 1 - 2 % ตามอัตราของสกุลเงิน
ปัจจุบันเริ่มขยายฐานลูกค้าไปสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช และ บริษัทต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Airbnb, Amazon, Google หรือ Walmart เป็นต้น หรือจะนำไปใช้จ่ายค่าบริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ได้เช่น Adobe, Fiverr, Shutterstock ในกรณีผู้ใช้ไม่มีบัตรเครดิต ที่สำคัญอีกเรื่องคือ Payoneer มีการรองรับภาษาไทยเช่นกัน
https://www.payoneer.com/th/#referrered_from=https://www.google.com/
แต่เดิม Skrill มีชื่อเดิมว่า 'Moneybookers' เป็นผู้ให้บริการ e-wallet ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ก่อนจะกลายมาเป็นการให้บริการชำระเงินออนไลน์ และ โอนเงินต่างประเทศ Skrill ก็จะมีชื่อเสียงในกลุ่มนักเทรด 'Forex' หรือนักเทรดค่าเงิน เพราะคนไทยมักนิยมใช้ Skrill ในการโอนเงินไปโบรกเกอร์ต่างประเทศ เพื่อใช้เทรด Forex นั่นเอง เพราะเนื่องจากค่าธรรมเนียมที่ถูก และ โบรกเกอร์เจ้าดัง ๆ ก็เป็นพาร์ทเนอร์กับ Skrill เยอะ ทำให้ได้ค่าธรรมเนียมที่ถูก และ ดี
ซึ่งตอนนี้ นอกจาก Skrill จะเป็นผู้ให้บริการชำระเงิน โอนเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุม 120 ประเทศ กับสกุลเงิน 40 ประเภทแล้ว Skrill ยังเปิดตัวบริการใหม่ คือการรับโอนเงินแลกเปลี่ยน หรือ ซื้อขายสกุลดิจิทัลด้วย
TransferWise หรือ Wise เป็นบริการโอนเงินข้ามประเทศที่มีชื่อเสียงอีกตัวสำหรับผู้ใช้ทั่วไป และ องค์กร ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) เป็นของสัญชาติอังกฤษ โดยบริการของ TransferWise ก็จะรองรับสกุลเงินถึง 54 ประเภท และก็สามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้ 71 ประเทศทั่วโลก
จุดเด่นของ TransferWise จะมีความคล้ายกับ Payoneer คือผู้ใช้สามารถสร้างบัญชีเสมือนสกุลเงินต่าง ๆ ไว้รับเงินจากต่างประเทศ หรือ ใช้โอนเงินในประเทศที่รองรับสกุลเงินนั้น ๆ ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม และยังมีฟีเจอร์บัตรเดรดิตเสมือนแบบ Mastercard เอาไว้ชำระเงินซื้อของออนไลน์ได้ แต่ยังไม่เปิดบริการในไทย
สื่งที่ชอบในตัว TransferWise คือฟังก์ชันคำนวนค่าธรรมเนียมอัตโนมัติ พร้อมระยะเวลาการันตีเมื่อผู้ใช้ต้องการทำธุรกรรมเช่น โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทย ซึ่งดูจากอัตราแล้วค่อนข้างถูกและระยะเวลาสั้นมาก ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราโอนเงินจากสกุลไหนเข้ามา โดยอัตราแลกเปลี่ยนรวมค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์
สำหรับตารางเปรียบเทียบบริการนี้ ในส่วนของค่าธรรมเนียมจะยึดของประเภทบัญชีส่วนตัวเป็นหลัก ส่วนบัญชีธุรกิจจะมีการปรับขึ้นแล้วแต่ตามแพลตฟอร์ม ยกเว้น Paypal ซึ่งตอนนี้มีค่าธรรมเนียมของบัญชีธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น
ชื่อ | Paypal | Payoneer | Skrill | Transfer Wise |
บัญชีส่วนตัว | X | ✓ | ✓ | ✓ |
บัญชี ธุรกิจ | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
เปิดใช้งานในประทศ | 200+ | 200+ | 120+ | 71+ |
บริการบัตร Master Card สำหรับซื้อของออนไลน์ | ✓ | เฉพาะในสหรัฐ | เฉพาะในโซนยุโรป | เฉพาะในโซนยุโรป |
มีบัญชีธนาคารเสมือนของแต่ละประเทศ | X | ✓ | ✓ | ✓ |
อัตราแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้งานด้วยสกุลเงินเดียวกัน | ฟรี | ฟรี เฉพาะ USD, EUR, GBP, CAD, AUD, JPY และ CNH | 2.99% | ไม่เกิน 1 % |
อัตราโอนเงินแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้งานด้วยสกุลเงินต่างกัน | 3.9-4.4% ขึ้นอยู่กับสกุลเงิน (อัตราของบัญชีธุรกิจ) | สามารถแปลงสกุลเงินในบัญชีเสมือนได้ด้วยค่าธรรมเนียม 0.5 % | 2.99% | ไม่เกิน 1 % |
ค่าธรรมเนียมถอนเงินบาทเข้าบัญชีธนาคาร (Withdraw) | ถอนเงินมากกว่า 5,000 บาทฟรี | ไม่เกิน 2 % | 200 บาทต่อ 1 รายการ | ไม่เกิน 1 % |
ผูกบัญชีธนาคาร หรือ บัตร Debit ของไทยเพื่อใช้จ่าย | ฟรี (+ค่าธรรมเนียมตาม MasterCard หากซื้อสินค้าต่างประเทศ) | X | X | X |
ค่าธรรมซื้อสินค้าออนไลน์ | แตกต่างไปตามร้านค้า | แตกต่างไปตามร้านค้า | แตกต่างไปตามร้านค้า | แตกต่างไปตามร้านค้า |
รองรับการแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัล | X | X | ✓ | X |
ระบบสนับสนุน | อีเมล, เบอร์โทรศัทพ์, Message, Live Chat | อีเมล, เบอร์โทร | อีเมล, เบอร์โทร | อีเมล, เบอร์โทร |
การรักษาข้อมูลลูกค้า | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
รองรับภาษาไทย | ✓ | ✓ | X | X |
หมายเหตุ
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |