ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงการทำ การตลาดออนไลน์ อย่าง SEO (Search Engine Optimization) และ SEM (Search Engine Marketing) กันไปแล้ว ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการทำ SEM และอยากให้เว็บไซต์ของเราขึ้นไปอันดับสูง ๆ นั้นนอกจากที่จะต้องเตรียม "เงิน" ในการประมูลคำค้นหาหลัก (Keyword) เพื่อซื้อพื้นที่โฆษณาบนหน้าการค้นหาของ Search Engine แล้ว ยังควรทำความเข้าใจกับหลักการทำงานของ "การจ่ายเงินค่าโฆษณาต่อการคลิก" ทั้งในรูปแบบ "PPC (Pay-Per-Click)" และ "CPC (Cost-Per-Click)" เพื่อที่จะได้คำนวณและจัดสรรเงินที่ใช้ในการโฆษณาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม : SEM คืออะไร ? ต่างจาก SEO อย่างไรบ้าง ? แล้วควรเลือกทำ SEM หรือ SEO ?
ภาพจาก : https://www.inc.com/peter-roesler/pay-per-click-trends-you-cant-afford-to-ignore.html
Pay-Per-Click (PPC) เป็นวิธีการทำ SEM อย่างหนึ่งโดยที่ทางแบรนด์จะต้องจ่ายเงินให้กับทาง Search Engine เพื่อโฆษณาเว็บไซต์ของเราบน หน้าแสดงผลการค้นหา (Search Engine Result Page หรือ SERP) โดยกำหนดเกณฑ์การจ่ายเงินเอาไว้เมื่อมีผู้ใช้งานคนอื่น ๆ พบเห็นและทำการ "คลิก" เข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์จากลิงก์โฆษณาบน เครื่องมือค้นหา (Search Engine) เท่านั้น (หากไม่มีการคลิกเข้าไปก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับทาง Search Engine แต่อย่างใด)
โดยทางแบรนด์จะต้องกำหนด "จำนวนเงิน" ที่ต้องการใช้ในการโฆษณาบนหน้า Search Engine ในแต่ละครั้ง (ส่วนมากมักกำหนดหน่วยเป็นรายวันหรือรายเดือน) เช่น แบรนด์ A ต้องการทำ SEM ด้วย PPC ก็จะต้องประมูล Keyword ที่ต้องการโดยกำหนดราคาประมูลสูงสุดต่อวัน (หรือต่อเดือน)
และจากนั้นทาง Search Engine ก็จะแสดงผลโฆษณาเว็บไซต์ของแบรนด์ A บนหน้า SERP ของผู้ใช้คนอื่น ๆ เมื่อมีการค้นหา Keyword ประมูลเอาไว้ ซึ่งหากมีคนคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของแบรนด์ A ผ่านลิงก์โฆษณา (Ads) บน Search Engine นั้น ๆ ทางแบรนด์ A ก็จะต้องจ่ายเงินให้กับ Search Engine ตามที่ได้ประมูลเอาไว้
ภาพจาก : https://pediaa.com/what-is-the-difference-between-ppc-and-cpc-in-digital-marketing/
ในส่วนของ Cost-Per-Click (CPC) นั้นเป็น "จำนวนเงินจริง" ที่ทางแบรนด์ต้องจ่ายให้กับ Search Engine ต่อการคลิกเข้าไปที่โฆษณา 1 ครั้ง โดยจะสามารถคำนวณได้จากการนำเอาเงินทุนประมูลหารกับจำนวนครั้งการคลิกเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราจากการโฆษณา เช่น กำหนด PPC เอาไว้ที่ 1,000 บาทต่อวัน หากมีคนคลิกเข้าไปที่โฆษณาของเรา 100 ครั้ง ก็แปลว่า CPC อยู่ที่ 10 บาทต่อ 1 คลิก แต่หากมีคนกดเข้าไปที่โฆษณาของเรา 200 ครั้ง CPC ก็จะลดลงเหลือ 5 บาทต่อ 1 คลิกนั่นเอง
ภาพจาก : https://instapage.com/blog/key-advertising-metrics
นอกจากนี้แล้ว CPC ก็ยังเป็นตัวกำหนด "อันดับ" การโฆษณาเว็บไซต์ของเราอีกด้วย เพราะทาง Search Engine จะดันอันดับของเว็บไซต์ที่มีราคา CPC สูงที่สุด (Maximum Cost-Per-Click) ขึ้นไปโฆษณาเป็นอันดับแรก ๆ เสมอ แต่นอกเหนือไปจาก CPC แล้ว คะแนนคุณภาพ (Quality Score) ของเว็บไซต์เองก็มีผลต่อการจัดอันดับการโฆษณาด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ A ได้ทำการประมูลโฆษณา Keyword คำว่า "เคสมือถือ" โดยมีคะแนน Quality Score ของเว็บไซต์อยู่ที่ 9 คะแนน และกำหนด PPC เอาไว้ที่ 1,000 บาท มียอดคลิกเข้าชมเว็บไซต์จากการโฆษณาทั้งหมด 100 ครั้ง (CPC = 10 บาท) ก็จะแสดงผลโฆษณาเป็นอันดับที่ 2 ต่อจากแบรนด์ B ที่ประมูล Keyword เดียวกันไปด้วย PPC ที่ 1,500 บาท และมีคะแนน Quality Score ที่ 9 คะแนนเท่ากัน แต่มียอดคลิกเข้าชมเว็บไซต์จากโฆษณา 120 ครั้ง (CPC = 12.5 บาท)
ภาพจาก : https://www.wordstream.com/cost-per-click
แต่หากแบรนด์ A กำหนด PPC ไว้ที่ 1,000 บาท และมี Quality Score ที่ 10 คะแนน มียอดคลิกเข้าชมเว็บไซต์ 100 ครั้ง (CPC = 10 บาท) ในขณะที่แบรนด์ B ที่ประมูล Keyword เดียวกันไปที่่ 1,500 บาท แต่มีคะแนน Quality Score เพียง 9 คะแนน แม้ว่าจะมีผู้เข้าชมเว็บไซต์เท่ากันที่ 100 คนและทำให้ CPC สูงกว่าแบรนด์ A (CPC = 15 บาท) แต่คะแนน Quality Score ที่น้อยกว่าก็ทำให้ลำดับการโฆษณาเว็บไซต์ของแบรนด์ B อยู่ต่ำกว่า A นั่นเอง
วิธีนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการโฆษณาเว็บไซต์ไปได้ค่อนข้างมาก เพราะเว็บไซต์ที่มีการทำ SEO ก็มักจะมีคะแนน Quality Score ที่สูงกว่าเว็บไซต์ที่ทำ SEM เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อตัดสินใจลงเงินประมูล Keyword ไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กำหนด PPC ไว้สูงมากนักแต่ก็สามารถแซงหน้าเว็บไซต์ที่ทุ่มเงินลงไปกับการทำ SEM เพียงอย่างเดียว (แม้ว่าจะต้องเสียเวลาในการทำ SEO ให้ติดหน้าแรก แต่ก็ประหยัดเงินในการทำ SEM ไปไม่น้อย)
ภาพจาก : https://www.semrush.com/blog/seo-vs-sem/
นอกจากจะเลือกประมูล Keyword ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของเราเพื่อให้คะแนน Quality Score สูงแล้ว การเลือกประเภท Keyword เองก็สำคัญไม่แพ้กัน หาก Keyword ที่เราต้องการประมูลนั้นมีผู้สนใจเป็นจำนวนมากและมีราคาสูง อาจเลือกประมูล Keyword คำอื่น ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน หรือใช้ Exact Match เพื่อตีกรอบการค้นหาให้แคบลง
ภาพจาก: https://www.reliablesoft.net/keyword-research/
เช่น แบรนด์ A ต้องการประมูล Keyword คำว่า "เคสมือถือ" แต่เล็งเห็นว่าเป็นคำที่มียอดประมูลสูง ก็อาจเลี่ยงการประมูล Keyword ว่า "เคสมือถือ" โดยตรง แต่เลือกประมูลคำว่า "เคสโทรศัพท์", "เคสโทรศัพท์มือถือ" หรืออาจตีกรอบ Keyword ให้แคบลงโดยเลือกประมูลคำว่า "เคส iPhone 13" ที่มีราคาประมูลต่ำกว่า Keyword คพว่า "เคสโทรศัพท์" แทน เป็นต้น
ไม่ใช่แค่ประเภทของ Keyword เท่านั้นที่ส่งผลต่อต้นทุนการทำ SEM แต่ "แพลตฟอร์ม" ที่เลือกใช้เองก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยหากเลือกใช้งานแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Google นั้นก็น่าจะต้องเตรียมทุนเอาไว้พอสมควร เพราะการแข่งขันและจำนวนเงินประมูล Keyword บน Google นั้นสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้นหากต้องการประมูล Keyword เดียวกัน แต่เลือกประมูลบน Bing ก็จะช่วยลดต้นทุนการโฆษณาไปได้จำนวนหนึ่ง แต่ทางแบรนด์ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงว่าอาจมีผู้พบเห็นโฆษณาของเราน้อยกว่าการโปรโมตบน Google ด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://www.bigflare.com/blog/google-ads-vs-bing-ads
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |