ในช่วงหลายปีมานี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Business) ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากฝั่งผู้ขายจะสามารถ "ประหยัดค่าเช่าที่" ในการทำหน้าร้านไปได้แล้ว ทางด้านของผู้ซื้อเองก็มี "ตัวเลือก" ในการพิจารณาซื้อสินค้าที่มากขึ้นและสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้อย่างอิสระ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถเข้าถึงกันได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
แต่จากการสำรวจก็พบว่าราว 78% ของผู้ซื้อก็ยังยืนยันว่าพวกเขาชื่นชอบการแวะเวียนไปเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้านมากกว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะนอกจากจะไม่ต้องรอสินค้ามาส่งถึงบ้านและกังวลว่าของที่สั่งไปอาจจะแตกหักหรือเสียหายจากการขนส่งแล้ว ยังหมดห่วงเรื่องการได้ของ "ไม่ตรงปก" และสามารถไปสัมผัสสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อได้อีกด้วย
ภาพจาก : https://www.japankuru.com/en/shopping/e2558.html
และทางบริษัทต่าง ๆ เองก็เข้าใจในความกังวลนี้ของผู้บริโภคในส่วนนี้และได้พยายามหาทางออกทั้งการโพสต์รูป / วิดีโอสินค้าจริง, การจ้าง ผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) มาโฆษณา, การพัฒนาเว็บไซต์หรือลงขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันช็อปปิ้งออนไลน์เพื่อสร้างความมั่นใจและไว้วางใจในการซื้อสินค้า รวมไปถึง การนำเอาเทคโนโลยีอย่าง "AR (Augmented Reality)" เข้ามาช่วยโปรโมทสินค้า นั่นเอง
หลาย ๆ คนอาจรู้จักและคุ้นเคยกับ เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือเทคโนโลยีการ "จำลอง" วัตถุเสมือน (Virtual Object) ขึ้นมาบนโลกแห่งความเป็นจริง (Physical World) ผ่านอุปกรณ์ตัวกลางอย่าง "กล้อง" ของอุปกรณ์ต่าง ๆ (สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, PC) กันมาบ้างแล้วจากการใช้งาน Google AR, Apple AR หรือฟิลเตอร์บน Instagram, Snapchat และแอปพลิเคชันอื่น ๆ
ภาพจาก : shorturl.at/hzFPW, https://www.movr.com/wp-content/uploads/2019/12/SantaPets.gif และ shorturl.at/ghkFT
ซึ่งถ้าใครเคยได้ทดลองเล่นฟีเจอร์ AR กันแล้วก็น่าจะรู้สึกตรงกันว่ามันค่อนข้าง "น่าสนใจ" เป็นอย่างมาก จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมหลาย ๆ คนถึงชื่นชอบเทคโนโลยีนี้จนต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AR มาติดเครื่องเอาไว้ และจากการประมาณการณ์คร่าว ๆ ก็คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) จะมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AR สะสมอยู่ที่ราว 5.5 พันล้านครั้งเลยทีเดียว
ดังนั้นแล้วแทนที่จะนำเอามันมาใช้งานเพื่อความบันเทิงหรือความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว บริษัทหลาย ๆ แห่งก็ได้นำเอาเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ในการโปรโมทแบรนด์และสินค้าของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ แทน
การแทรกโฆษณา AR ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นรูปแบบ "Marker-Based AR" ที่เมื่อผู้ใช้ส่องกล้องไปยังรูปภาพหรือ รหัสคิวอาร์ (QR Code) ที่มีการบันทึกข้อมูล AR เอาไว้ มันก็จะดึงเอาภาพ, วัตถุ หรือวิดีโอ AR ขึ้นมาแสดงผลบนหน้าจอของผู้ใช้ในทันที
ข้อมูลเพิ่มเติม : Barcode และ QR Code คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ทางบริษัท Mini Cooper ได้สั่งพิมพ์แม็กกาซีนที่แทรกโฆษณา AR ของรถยนต์ Mini ออกมาที่เมื่อนำเอาหน้าของแม็กกาซีนไปกางบริเวณกล้อง Webcam ก็จะแสดงผล "โมเดล" ของรถ Mini ที่สามารถเลื่อน, หมุน, ปรับทิศทางการดูโมเดลรถในมุมต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ
Starbucks เองก็เคยนำเอาเทคโนโลยี AR มาสร้างสีสันให้เทศกาลคริสมาสต์ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อลูกค้าซื้อเครื่องดื่มของทางร้านในช่วงเทศกาลและส่องกล้องไปที่แก้วผ่าน Instagram หรือ Snapchat (ฟิลเตอร์ Starbucks Holiday) ก็จะมีข้อความและรูปภาพ AR ปรากฏขึ้นมา
ภาพจาก : https://mobile-ar.reality.news/news/starbucks-uses-instagram-ar-promote-sustainability-via-holiday-campaign-0212817/
การนำเอาเทคโนโลยี Markerless AR ที่มีการแสดงผลภาพ AR ซ้อนทับบนพื้นที่จริง (กล้องหน้า / กล้องหลัง) มาใช้งานนั้นก็ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้ไม่น้อย เพราะมันช่วยทดแทนการ "ทดลอง" สินค้าที่หน้าร้านได้ในระดับหนึ่ง
ทาง Amazon ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "Virtual Fitting Room" หรือแอปพลิเคชันห้องเสื้อที่ผู้ใช้สามารถ "เลือกรูป" ที่ต้องการภายในเครื่องเพื่อให้ระบบทำการประมวลผลรูปก่อน "สวมทับ" ชุดที่เราเลือกลงไปบนรูปภาพนั้น ๆ แทนการไปลองชุดจริงที่หน้าร้านก่อนกดลงตะกร้า อีกทั้งยังมีฟีเจอร์การ "ค้นหา" ชุดที่คล้ายคลึงกับชุดในภาพ (Search my look, Find more like this) และฟีเจอร์การสุ่ม (Randomize) เลือกเสื้อผ้าให้ลองเล่นกันอีกด้วย
ปัญหายอดฮิตของสาว ๆ ที่เลือกซื้อเครื่องสำอางออนไลน์มักมาจากการไม่ได้ "ลอง" ก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นทาง Loreal จึงเปิดโอกาสให้สาว ๆ สามารถ "ลองเครื่องสำอาง" ผ่านเทคโนโลยี AR กันได้ แม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับการได้ไปทดลองจริงที่หน้าร้าน แต่การนำเอา AR เข้ามาใช้งานก็ช่วยลดปัญหาซื้อรองพื้นมาผิดเบอร์ หรือเลือกลิปสติกมาแล้วสีไม่เข้ากับหน้าไปได้ส่วนหนึ่งเลยทีเดียว
ภาพจาก : https://www.cms-connected.com/News-Archive/August-2019/L%E2%80%99Oreal-Completes-Digital-Metamorphosis
บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังสัญชาติสวีเดนอย่าง IKEA ก็ได้นำเอาเทคโนโลยี AR เข้ามาประยุกต์ใช้โดยการสร้างแบบจำลองเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาให้ลูกค้าสามารถ "ลองวาง" สินค้าต่าง ๆ ของ IKEA ภายในห้องเพื่อให้เห็นภาพรวมของห้องทั้งหมดเมื่อวางเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เข้าไปก่อนตัดสินใจซื้อ
ในส่วนของการโปรโมทแบรนด์และสินค้าผ่าน AR มักพบเห็นได้บ่อยผ่านโซเชียลมีเดีย โดยส่วนใหญ่มักใช้การพัฒนา "ฟิลเตอร์" บน Instagram, Facebook หรือ Snapchat ขึ้นมาให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดมาเล่นกันได้ แต่บางครั้งก็อาจพบเห็นเกมหรือแคมเปญ AR เพื่อชิงรางวัลจากบริษัทต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
ทาง Burger King ในบราซิลได้โปรโมทแบรนด์ด้วยการออกแคมเปญ "Burn that Ad" มาให้ลูกค้า "เผาป้ายโฆษณา" ของบริษัทคู่แข่งผ่านแอปพลิเคชัน Burger King เพื่อรับรางวัลเป็น Whopper ของบริษัทฟรี ! (เมื่อส่องกล้องไปที่โฆษณาของ McDonald จะมีเอฟเฟกต์ AR เผาป้ายโฆษณาของ McDonald ทิ้งและปรากฏรูป Whopper ของ Burger King ที่สามารถเอาไปแลก Whopper ฟรีที่สาขาใกล้บ้านได้เลย)
ในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ทาง Disney Park ได้โปรโมทสวนสนุกแห่งใหม่ด้วยการ "เช่าบิลบอร์ด" ใจกลาง Times Square ให้ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาสามารถ "เล่น" กับตัวละคร Disney ได้ โดยเมื่อไปยืนอยู่ในกรอบวงกลมตรงข้ามป้ายบิลบอร์ด กล้องในบริเวณนั้นก็จะ "จับภาพ" ของคน ๆ นั้นขึ้นฉายบนบิลบอร์ดคู่กับตัวละคร AR ของ Disney ซึ่งการโปรโมท Disney Parks นี้ก็ได้รับความสนใจทั้งจากเด็กและผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
Taco Bell ได้พัฒนาฟิลเตอร์ AR ที่มีชื่อว่า "Which Item" ออกมาให้ผู้ใช้ Instagram ได้ทดลองเล่นกันว่าจะสุ่มได้เมนูใดในร้าน โดยเมื่อกดดาวน์โหลดฟิลเตอร์นี้ลงใน Instagram และแตะใช้งานก็จะมีใบปลิวสีแดงแปะที่หน้าผากก่อนจะขึ้นภาพเมนูทั้งหมด 8 เมนู ได้แก่
โดยจะสลับกันไปมาเพื่อสุ่มหา "เมนู" ประจำวัน (เอาไว้เล่นตอนไม่รู้จะสั่งอะไรก็ดูมีประโยชน์ดี แต่น่าเสียดายที่ขึ้นเพียงแค่รูปสินค้าเท่านั้น ไม่มีชื่อเมนูปรากฏบอกด้านล่างแต่อย่างใด) นอกจากนี้ยังมีฟิลเตอร์ตลก ๆ ที่เปลี่ยนหน้าของผู้ใช้ให้เป็น "ทาโก้" ให้เอาไว้เล่นกันอีกด้วย
ภาพจาก : shorturl.at/ckDTX และ https://www.lenzgig.com/blogs/5-reasons-to-use-augmented-reality-for-your-next-marketing-campaign
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |