ในการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือแม้แต่ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่ผู้ซื้อต้องพิจารณา คือการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้การ์ดจอออนบอร์ด (Integrated Graphic) หรือว่าจะเอาการ์ดจอแยก (Dedicated Graphic Card)
ทั้งสองตัวเลือกนี้ แต่ละทางเลือกก็จะมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบที่แตกต่างกัน การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้งานแบบไหน ? ควรจะต้องพิจารณาจากลักษณะการใช้งานของคุณ ซึ่งแต่ละคนย่อมมีความต้องการไม่เหมือนกัน
ในบทความนี้ เราก็พาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการ์ดจอออนบอร์ด และการ์ดจอแยกกันให้มากขึ้น จะได้สามารถเลือกซื้อมาใช้งานได้ตอบโจทย์ตามความต้องการโดยไม่ผิดหวังกัน
การ์ดจอออนบอร์ด (On-board Graphic Card หรือ Integrated Graphic) จะหมายถึงตัว หน่วยประมวลผลกราฟิก (Graphics Processing Unit - GPU) นั้นจะผลิตมาให้อยู่ในแผงวงจร (Integrated Circuit) เดียวกันกับ หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit - CPU) พูดง่ายๆ คือ อยู่บน แผงวงจรหลัก หรือ เมนบอร์ด (Mainboard) นั่นเอง
ซึ่งการทำแบบนี้ มีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ชิปมีขนาดเล็ก, อัตราการใช้พลังงานมีความคุ้มค่า และมีราคาที่ถูกกว่าการ์ดจอแยก (Dedicated Graphic Card) อีกด้วย
Intel Core i7 ที่มีการ์ดจอแบบออนบอร์ดอยู่บน Die เดียวกับซีพียู (CPU)
ภาพจาก https://www.intel.com/content/www/us/en/artificial-intelligence/harness-the-power-of-intel-igpu-on-your-machine.html
ในอดีตการ์ดจอออนบอร์ด นั้นมีชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียงนะ เพราะประสิทธิภาพในการทำงานของมันค่อนข้างต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มันมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าในอดีตมาก
การ์ดจอออนบอร์ด ในปัจจุบันนี้แรงพอที่จะใช้งานทั่วไป รวมไปถึงการเล่นเกมที่กราฟิกธรรมดา และการรับชมวิดีโอที่ ความละเอียดหน้าจอ 4K ได้อย่างสบาย ๆ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพของมันก็ยังต่ำกว่าการ์ดจอแยก จึงไม่เหมาะกับการทำงานที่ต้องการพลังประมวลผลด้านกราฟิกสูง หรือเล่นเกม 3 มิติ ที่กราฟิกโหด ๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ความละเอียด 720p, 1080p, 1440p, 2K, 4K, 5K, 6L, 8K, HD, FHD, UHD, QHD, ของหน้าจอ คืออะไร ?
สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้งานการ์ดจอออนบอร์ด ควรจดจำเอาไว้ด้วย คือมันจะดึง หน่วยความจำหลัก หรือ แรม (RAM) จากระบบมาใช้งานด้วย สมมติว่าคอมพิวเตอร์ของคุณมีแรมติดตั้งอยู่ 8 GB. และถูกกำกับไว้ว่า 1 GB. (Shared Graphic Memory) ก็จะหมายความว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของคุณจะมีแรมให้ใช้งานได้จริงเพียง 7 GB. เพราะโดนการ์ดจอออนบอร์ด แบ่งเอาไปใช้ทำงานแล้ว 1 GB.
โดยปัจจุบันนี้ CPU ส่วนใหญ่ ก็จะมีการ์ดจอออนบอร์ด (Integrated Graphics) อยู่ในตัวมาให้ แต่ก็อาจจะมีรุ่นประหยัดที่ตัดออกเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เลือกซื้อด้วยเช่นกัน เช่น อย่างอินเทลก็จะเป็นซีพียู (CPU) ที่มีชื่อรหัสลงท้ายด้วย "F" หรือ "KF"
ด้วยเหตุนี้เอง จึงจะทำให้คอมพิวเตอร์ (และเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก) ส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งการ์ดจอออนบอร์ด และการ์ดจอแยก อยู่ภายในเครื่อง โดยซอฟต์แวร์ภายในเครื่องจะเลือกใช้งานการ์ดจอให้เหมาะสมกับงานโดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ และอัตราการบริโภคพลังงาน นั่นเอง
การ์ดจอแยก (Dedicated Graphics Card) จะหมายถึงฮาร์ดแวร์ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการประมวลผลด้านกราฟิกให้กับคอมพิวเตอร์ บางครั้งเราอาจเรียกมันว่าวิดีโอการ์ด (Video Card) โดยการ์ดจอชนิดนี้มีหลายรุ่น หลายขนาด แตกต่างกันไปตามประสิทธิภาพที่ตัวการ์ดสามารถทำได้ แต่ที่เหมือนกันคือ ตัวการ์ดจะประกอบไปด้วย GPU, RAM และพัดลมระบายความร้อน (Cooling Fan)
การ์ดจอ RTX 3090 Ti
ภาพจาก https://www.nvidia.com/th-th/geforce/graphics-cards/30-series/rtx-3090-3090ti/
ประโยชน์ของการใช้การ์ดจอแยก นั้นคือเราสามารถเลือกซื้อรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงได้เท่าที่เราต้องการ (และมีเงินจ่าย) งาน หรือเกมที่ต้องการพลังประมวลผลด้านกราฟิกสูง ๆ ที่การ์ดจอแบบออนบอร์ดไม่สามารถรับมือไหวได้ สามารถแก้ไขด้วยการหาการ์ดจอแยก มาใช้งาน
นอกจากนี้แล้ว มันยังมี RAM อยู่ในตัว จึงทำให้ไม่ต้องไปแย่ง RAM จากระบบมาใช้ ทำให้ระบบมีทรัพยากรเหลือมากขึ้น นอกจากนี้ การ์ดจอแยก ยังสามารถถอดเพื่ออัปเกรดได้ง่ายอีกด้วย
มีข้อดี ย่อมต้องมีข้อเสียการ์ดจอแยก ทำให้เราต้องจ่ายเงินเพิ่ม ยิ่งรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งมีราคาแพง อย่างเช่น การ์ดจอ RTX 3090 Ti เพียงใบเดียวก็ราคาเฉียดแสนแล้ว เรียกได้ว่าเฉพาะแค่ตัวการ์ดอย่างเดียว ราคาก็อาจจะแพงว่าฮาร์ดแวร์อื่น ๆ รวมกันเสียอีก นอกจากนี้ การ์ดจอแยก ยังมีขนาดใหญ่, ใช้พลังงานสูง และเพิ่มความร้อนให้กับระบบอีกด้วย
การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้การ์ดจอออนบอร์ด (Integrated Graphic) หรือว่าจะเอาการ์ดจอแยก (Dedicated Graphic Card) ดีนั้น ไม่สามารถเลือกได้ตามความชอบ เพราะประสิทธิภาพในการทำงานของมันแตกต่างกันเป็นอย่างมาก คำตอบจึงขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน
หากคุณต้องการทำงานเอกสารทั่วไป, ท่องเว็บไซต์, ใช้บริการสตรีมมิง (Streaming) และเล่นเกมเล็กน้อย ๆ หากเป็นโน้ตบุ๊ก ก็ต้องการโน้ตบุ๊กที่น้ำหนักเบา เน้นพกพาสะดวก
ถ้าหากต้องทำงานด้านกราฟิกอย่างการตกแต่งภาพ, ตัดต่อวิดีโอ หรือเล่นเกม 3 มิติ คุณภาพสูง
และสำหรับผู้ใช้งานโน้ตบุ๊ก ปัจจุบันนี้มีอีกทางเลือกหนึ่ง คือการใช้การ์ดจอภายนอก (eGPU) โดยตัวเครื่องโน้ตบุ๊กจะมีการ์ดจอแบบออนบอร์ด ภายในตัว เพื่อให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา ดีไซน์บาง สะดวกต่อการพกพา แต่จะมี พอร์ต Thunderbolt 3 มาให้ เพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อกับ การ์ดจอภายนอก (eGPU) เมื่อต้องการทำงานด้านกราฟิกที่ต้องการกราฟิกการ์ดที่มีประสิทธิภาพสูง
ข้อมูลเพิ่มเติม : พอร์ต Thunderbolt กับ USB-C คืออะไร ? และพอร์ตทั้ง 2 แตกต่างกันอย่างไร ? อันไหนดีกว่ากัน ?
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |