เชื่อว่าเมื่อคอมพิวเตอร์คู่ใจของเราเกิดปัญหาอะไรสักอย่างขึ้นมา ความคิดแรกที่วนเข้ามาในหัวหลาย ๆ คนก็คงจะเป็น "ลองปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ก่อนดีกว่า" แถมพอไปบ่นกับฝ่ายไอที (IT Support) เรื่องปัญหาการใช้งานคอมพิวเตอร์ก็จะต้องได้ยินคำถามว่า "ลอง Restart เครื่องแล้วรึยัง ?" ซึ่งแน่นอนว่าพอลองกด "ปุ่ม Restart" หรือปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ก็พบว่ามันกลับมาทำงานตามปกติจริง ๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมแค่วิธีง่าย ๆ เพียงอย่างเดียวถึงสามารถแก้ได้ (เกือบ) ทุกปัญหากันนะ ?
ภาพจาก : https://i.redd.it/i0era9fzm8z31.jpg
สำหรับปัญหายอดฮิตที่สามารถแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการรีสตาร์ทเครื่องก็ได้แก่ เครื่องหน่วง, โปรแกรมค้าง, ขยับเมาส์ไม่ได้ / เมาส์เลื่อนตลอดเวลา, ต่อ Wi-Fi ไม่ติด, ลำโพงเสียงไม่ออก, ภาพโหลดไม่ขึ้น หรือแม้แต่ปัญหายอดฮิตอย่างการเกิด จอฟ้าแห่งความตาย (Blue Screen of Death - BSOD) ก็ยังสามารถแก้ไขด้วยการรีสตาร์ทเครื่องได้เช่นกัน (แม้ว่าจะต้องรอชาติเศษกว่าระบบจะรีสตาร์ทให้ก็เถอะ แต่พอเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่แล้วก็ใช้ได้ดีเหมือนเดิมนะ)
ภาพจาก : https://bristeeritech.com/wp-content/uploads/2020/02/Untitled-1.jpg
อ่านเพิ่มเติม : เทคนิคแก้ปัญหา Windows พัง จอฟ้า Blue Screen
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากการรีสตาร์ทจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ได้แล้ว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อย่างสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, โทรทัศน์, กล้อง หรือแม้แต่ เราเตอร์ (Router) ที่ปล่อยสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi) เองก็สามารถใช้วิธีการกด "ปุ่ม Restart" หรือกด "ปุ่มปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่" เพื่อ (ลอง) แก้ปัญหาเบื้องต้นดูได้เช่นกัน
ปกติแล้วคอมพิวเตอร์ของเราจะทำการเก็บและบันทึกข้อมูลของล็อก (Log) และแคช (Cache) เอาไว้บน หน่วยความจำหลัก หรือ RAM (Random Access Memory) หรือหน่วยความจำชั่วคราวของคอมพิวเตอร์เพื่อใช้สำหรับการทำงานเบื้องหลังอยู่ตลอดเวลา โดย RAM ของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องนั้นก็จะมีความสามารถในการทำงานที่ต่างกันออกไปตามสเปค แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้งาน RAM ที่ 8 GB. หรือ 16 GB. เป็นหลัก
และเมื่อ RAM ทำการกักเก็บข้อมูลจนเต็มก็ส่งผลให้มันไม่มีพื้นที่ว่างมากพอในการบันทึกข้อมูลการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ จนทำให้เกิดการประมวลผลที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ (คล้ายการสูบลมใส่ลูกโป่งจนพองและแตกออก) เพราะข้อมูล Log และ Cache การใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ยังคงค้างอยู่บน RAM ของตัวเครื่องไม่ได้หายไปพร้อมกับการปิดโปรแกรม
แต่เมื่อเราทำการกดปิดเครื่อง, รีสตาร์ท หรือตัดไฟจากแผงวงจร ข้อมูลบน RAM ก็จะถูกลบทิ้งออกไปทั้งหมด (ทำให้คอมดับแล้วข้อมูลต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้กดเซฟปลิวหายไปนั่นเอง) ก่อนที่ระบบจะทำการรีเซ็ต RAM ให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดเก็บ Log และ Cache ของการใช้งานโปรแกรม การกดรีสตาร์ทเครื่องจึงช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจาก RAM ได้อีกด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://business.illinoisstate.edu/images/technology/WindowsRestart.png
บางครั้งปัญหาการทำงานของคอมพิวเตอร์ก็มาจากการประมวลผลผิดพลาดของระบบ หรือการที่ตัวเครื่องมีการใช้งานหนักเกินไป (Overload) ดังนั้นการกด "ปุ่ม Restart" ตัวเครื่องใหม่จึงช่วยรีเซ็ตคระบบให้กลับไปอยู่ในสภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับคอมพิวเตอร์ที่มีอาการค้างจากการเล่นเกมหรือการใช้งานโปรแกรมที่ต้องมีการประมวลผลด้านกราฟิกหนัก ๆ แล้วสเปคคอมยังแรงไม่พอก็ส่งผลให้ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ถูกใช้งานหนักและ เกิดความร้อนสูง (Overheat) จนเกิดปัญหาในการใช้งานขึ้นมาได้นั่นเอง
และเมื่อกด "ปุ่มปิดเครื่อง" หรือ "ปุ่ม Restart" ตัว GPU เองก็จะถูกล้างข้อมูลการใช้งานที่หนักเกินความจำเป็นก่อนหน้านี้ออกไปเพื่อให้พร้อมสำหรับการประมวลผลข้อมูลกราฟิกใหม่ ๆ แต่ก็ควรที่จะพิจารณาสเปคของคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมหรือเกมที่ต้องการเล่นควบคู่กันไปด้วย เพราะหาก GPU แรงไม่พอก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังในอนาคตได้
ภาพจาก : https://www.howtogeek.com/173760/htg-explains-why-does-rebooting-a-computer-fix-so-many-problems/
อย่างไรก็ตาม หากลองรีสตาร์ทเครื่องแล้วปัญหาเดิมยังไม่หายไป หรือเครื่องค้างจนไม่สามารถกดปิดและรีสตาร์ทได้ หรือเครื่องเกิดปัญหาจนต้องกดรีสตาร์ทอยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะต้องพาไปหาหมอ (ช่าง) ให้ดูอาการสักหน่อยแล้วล่ะ
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |