ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

10 เทคโนโลยีในอดีต ที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา (10 Technologies of the past that began to fade with time)

10 เทคโนโลยีในอดีต ที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา (10 Technologies of the past that began to fade with time)
ภาพจาก : https://alfapeople.com/me/outdated-processes-damage-business-part-1-obsolete-technologies/
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 20,957
เขียนโดย :
0 10+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2+%2810+Technologies+of+the+past+that+began+to+fade+with+time%29
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

10 เทคโนโลยีในอดีต ที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา
(10 Technologies of the past that began to fade with time)

เมื่อเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เข้ามา อุปกรณ์ทั้งหลายที่เคย "ใหม่" ในอดีต ก็เริ่มหายไปเรื่อย ๆ เพราะของใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา ย่อมต้องดีกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนก็เริ่มเกิดไม่ทันของบางอย่างกันบ้างแล้ว (ฮ่า ๆ) แต่บางอย่างก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ประปราย คุณเกิดทันข้อไหน เคยใช้อะไรมาบ้าง ? ลองไปดูกัน

บทความเกี่ยวกับ Technology อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

  1. เครื่องพิมพ์ดีด (Typewriter)
  2. โทรศัพท์สาธารณะ / ตู้โทรศัพท์ (Payphone)
  3. ม้วนฟิล์ม (Photographic Film)
  4. ระบบตอบรับอัตโนมัติ (Answering Machine)
  5. เพจเจอร์  (Pager / Beeper)
  6. เทปคาสเซ็ท (Cassette Tape)
  7. แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disk)
  8. เครื่องเล่นเพลงพกพา (Portable Music Players)
  9. แผ่นซีดี (Compact Disc - CD)
  10. เครื่องเล่นดีวีดี (DVD Player)

1. เครื่องพิมพ์ดีด (Typewriter)

เครื่องพิมพ์ดีด จัดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มีการประดิษฐ์คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์มาใช้กันในภายหลัง จัดเป็นคีย์บอร์ดแบบโบราณที่เวลากดแป้นพิมพ์ลงไป ตัวหนังสือจะถูกพิมพ์ลงไปบนกระดาษที่ใส่เตรียมไว้ทันที ซึ่งในยุคก่อนที่จะมีเครื่องพิมพ์ดีด เอกสารและจดหมายอย่างเป็นทางการทั้งหลายจะใช้การเขียนทั้งหมด หรือไม่ก็ใช้การพิมพ์จากเครื่องพิมพ์เฉพาะ ที่มีราคาค่อนข้างแพง โดยเครื่องพิมพ์ดีดนี้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวเลือกการพิมพ์เอกสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดย Christopher Latham Sholes ในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411)

เครื่องพิมพ์ดีด (Typewriters)
เครดิตภาพ : https://pxhere.com/th/photo/611265

เครื่องพิมพ์ดีดเมื่อแรกคิดค้น จะมี ปุ่มแบบกลไก หรือ แมคคานิคอลคีย์ (Mechanical Key) ติดกับขาโลหะที่ยกตัวหนังสือและอักขระขึ้นมา เมื่อกดปุ่มลงไป แถบผ้าหมึกที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระดาษและพื้นผิวโลหะจะถูกขาของแป้นตัวอักษรตัวนั้นกดทาบลงไปเพื่อพิมพ์ตัวอักษรดังกล่าวลงบนกระดาษ

ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ปฏิวัติวิธีดำเนินธุรกิจและการแบ่งปันข้อมูลของผู้คนในยุคนั้น และกลายเป็นสิ่งที่ทุกสำนักงานต้องมีติดเอาไว้เสมอ ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดก็ได้อยู่คู่กับพนักงานออฟฟิศตลอดมานับแต่นั้นจนกระทั่งการมาถึงของคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้เครื่อมพิมพ์ดีดค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ทว่า ในปัจจุบัน ก็ยังมีคนชื่นชอบและหลงใหลในลักษณะการดีดของแป้นพิมพ์ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย (Tactile Feeling) โดยเฉพาะเสน่ห์ของตัวอักษรในรูปแบบของเครื่องพิมพ์ดีดในเวลาที่พิมพ์กลอนหรือนิยาย ทำให้มันยังคงยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

2. โทรศัพท์สาธารณะ / ตู้โทรศัพท์ (Payphone)

ก่อนที่จะถูกโทรศัพท์มือถือยึดครองโลกของการสื่อสารอย่างทุกวันนี้ การติดต่อไปหาผู้คนอื่น ๆ ผ่านโทรศัพท์สาธารณะถือเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน โดยการโทรก็จะเป็นการโทรผ่านสายโทรศัพท์สาธารณะ และเวลาที่จะโทรแต่ละครั้ง จะต้องใช้เหรียญเงินของประเทศนั้น ๆ, บัตรเติมเงิน, บัตรเดบิต, หรือบัตรเครดิตเพื่อจ่ายเงินค่าโทร (แล้วแต่ประเทศไหนจะมีช่องทางชำระแบบไหนบ้าง)

บ่อยครั้งที่โทรศัพท์สาธารณะ มักจะตั้งอยู่ในตู้ที่ออกแบบเฉพาะเพื่อให้ความเป็นส่วนตัวกับผู้ใช้งาน ทำให้เรานิยมเรียกกันว่า ตู้โทรศัพท์ ซึ่งความเป็นส่วนตัวนี้ ถือเป็นสิ่งที่โทรศัพท์มือถือในยุคปัจจุบันให้คุณไม่ได้ (ยกเว้นคุณจะไปหาที่ส่วนตัวโทรเอง)

โทรศัพท์สาธารณะ / ตู้โทรศัพท์ (Payphones)
เครดิตภาพ : https://storylog.co/story/593a7554200c9a5f5f9775b6

โทรศัพท์สาธารณะเครื่องแรกของโลก ถูกติดตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) เป็นต้นมา โทรศัพท์สาธารณะก็กลายเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามถนนที่มีผู้คนพลุกพล่าน, สถานีรถไฟ, และในที่สาธารณะอื่น ๆ ซึ่งในช่วงกลางยุค 2000 โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวก็เริ่มหายไปเมื่อยักษ์ใหญ่บรรดาค่ายโทรศัพท์อย่าง AT&T และ Verizon เริ่มขายโทรศัพท์สาธารณะในมือของตัวเองเพราะความนิยมของโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น

3. ม้วนฟิล์ม (Photographic Film)

ในยุคที่รูปถ่ายและคลิปวิดีโอทั้งหลาย สามารถกดถ่ายแล้วมีรูปหรือคลิปออกมาแถมยังแชร์ต่อได้เลยทันที ก็ทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายรูปเริ่มเลือนหายไป หนึ่งในนั้นคือ ม้วนฟิล์ม

ม้วนฟิล์ม (Photographic Films)
เครดิตภาพ : https://www.photographyhistoryfacts.com/photography-development-history/photographic-film-history/

ม้วนฟิล์มถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) ซึ่งในสมัยนั้น วงการภาพถ่ายและสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้เพียงแค่บรรดาคนรวยเท่านั้น โดยบรรดาม้วนฟิล์มที่ไวต่อแสงพวกนี้จะใช้หลักการที่จะปล่อยแสงออกมาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อจับภาพของสิ่งของหรือสถานที่ที่อยู่ด้านหน้าเลนส์กล้อง บันทึกไว้บนแถบฟิล์ม แล้วหลังจากนั้นก็จะต้องใช้สารเคมีเฉพาะ เพื่อล้างรูปให้เราสามารถมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

10 เทคโนโลยีในอดีต ที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา (10 Technologies of the past that began to fade with time)
เครดิตภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=WfO3x98Cga8

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวค่อนข้างกินเวลาและมีค่าใช้จ่ายพอสมควร ทำให้มีคนพยายามคิดค้นหาวิธีการลดทอนเวลาและลดต้นทุนในการทำงานดังกล่าว จนในที่สุด ก็มีการบุกเบิกกล้องดิจิตอลขึ้นมาในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) จนมาถึงศตวรรษที่ 20 ม้วนฟิล์มและกล้องฟิล์มทั้งหลายก็ไม่มีใครใช้กันอีกต่อไป เว้นเสียแต่บรรดานักสะสม และผู้ที่ยังนิยมการถ่ายรูปแบบเก่าอยู่เท่านั้น

4. ระบบตอบรับอัตโนมัติ (Answering Machine)

เครื่องตอบรับอัตโนมัติทำหน้าที่เดียวกันกับระบบ Voice Mail บนมือถือของคุณ ความแตกต่างเดียวที่มีคือการที่เครื่องตอบรับอัตโนมัตินั้นมีการบันทึกข้อความที่ผู้โทรเข้าฝากไว้ให้ลงบนหน่วยความจำของเครื่องนั้น ๆ โดยตรงด้วยพื้นที่เก็บข้อมูลที่มี เช่น เทปคาสเส็ท ในขณะที่ระบบ Voice Mail หรือระบบฝากข้อความเสียง จะฝากไว้บนเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ส่วนกลาง

ระบบตอบรับอัตโนมัติ (Answering Machines)
เครดิตภาพ : https://www.fonvirtual.com/en/blog/answering-machine/

เครื่องตอบรับอัตโนมัติถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) แต่ได้รับความนิยมอย่างจริงจังเมื่อปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) สุดท้าย ก็ถูกข้อความเสียง (Voice Mail) เข้ามาแทนที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และมีการใช้งานกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

5. เพจเจอร์  (Pager / Beeper)

ในเรื่องวิวัฒนาการของการสื่อสาร นอกจากเราจะได้ใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะกันมาก่อนแล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในสมัยนั้นคือ เพจเจอร์ เพราะการมาของเพจเจอร์ ทำให้เราสามารถส่งข้อความฉุกเฉินไปหาใครสักคนได้ ผู้คิดค้นเพจเจอร์มีนามว่า Alfred J. Gross ที่คิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) เพื่อใช้ภายในโรงพยาบาล โดยใช้การสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุด้วยหมายเลขเฉพาะ คล้าย ๆ กันกับโทรศัพท์

หลักการทำงานของมันก็คือ เมื่อคุณรู้เลขหมายของเพจเจอร์ปลายทาง ก็สามารถส่งข้อความหรือส่งหมายเลขที่ต้องการให้ติดต่อไปผ่านทางโทรศัพท์ (โทรเข้าศูนย์ฝากข้อความของเพจเจอร์) และเมื่อปลายทางได้รับแล้ว ข้อความก็จะแสดงขึ้นบน จอ LCD ของเพจเจอร์เครื่องนั้น ๆ

เพจเจอร์  (Pagers / Beepers)
เครดิตภาพ : https://debugger.medium.com/two-way-pager-is-it-possible-a1928ce32eb5

อนึ่ง เครื่องเพจเจอร์จะมีสองแบบ ทั้งแบบที่เอาไว้รับข้อความอย่างเดียว และแบบที่สามารถส่งออกจากเครื่องเพจเจอร์ได้เองในตัว แน่นอนว่าเมื่อโทรศัพท์มือถือมาถึง ก็ทำให้การใช้งานเพจเจอร์ลดน้อยลงไปและทำให้ค่อย ๆ หายไปจากชีวิตประจำวันในที่สุด แต่ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่บ้างเป็นจำนวนน้อยมาก ๆ ในหน่วยงานฉุกเฉินและหน่วยดับเพลิง

6. เทปคาสเซ็ท (Cassette Tape)

แม้ว่าในบรรดาผู้คนทั้งหลายโดยเฉพาะในหมู่ Audiophiles จะรักในแผ่นเสียงแบบไวนิล (Vinyl) กันมากกว่า แต่ขนาดของแผ่นเสียงและความบอบบางของมันก็ไม่เหมาะกับการหอบหิ้วไปไหนมาไหนบ่อย ๆ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ บริษัท Philips ก็เลยคิดค้น เทปคาสเซ็ท (Cassette Tape) ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) โดยผลิตขึ้นมาเพื่อการบันทึกและเล่นเสียง หลังจากนั้นก็มี มาตรฐาน VHS เข้ามาเพิ่ม ทำให้มีคาสเซ็ทที่รองรับการบันทึกวิดีโอเพิ่มเข้ามาด้วย (บ้านเราจะเรียกแยกไปเลยว่า เทปวิดีโอ)

เทปคาสเซ็ท (Cassette Tape)
เครดิตภาพ : https://clickamericana.com/topics/science-technology/now-hear-this-top-10-audio-cassette-tape-tips-from-the-70s

เทปคาสเซ็ทเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเพลง และทำให้วิถีของผู้คนในการฟังเพลงเปลี่ยนไป ด้วยเทปคาสเซ็ทที่มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถฟังเพลงจากที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเครื่องเล่นเพลงพกพา และผ่านช่วงยุค 70 และ 80 มาอย่างมั่นคง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ที่มีแผ่น CD เข้ามาแทนที่

7. แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disk)

ทุกวันนี้ เราใช้งานพื้นที่จัดเก็บแบบคลาวด์ หรืออุปกรณ์จัดเก็บทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็น แฟลชไดร์ฟ USB (USB Flash Drive), ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard Disk Drive - HDD), อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD, ฯลฯ มาเก็บข้อมูลกันเพื่อถ่ายโอนไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่ง แต่เมื่อย้อนกลับไปในอดีต แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disk) เคยทำหน้าที่นั้นมาก่อน ด้วยการคิดค้นแผ่นฟลอปปี้ดิสก์จาก IBM ในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ที่ทำให้การแชร์โปรแกรมและการโหลดระบบปฏิบัติการนั้นง่ายขึ้นมาก

แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disks)
เครดิตภาพ : https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6963942

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) เป็นต้นมา แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ก็ได้กลายเป็นหน่วยความจำที่ใช้เก็บข้อมูลที่สามารถพกพาได้ง่ายด้วยขนาดที่บางใกล้เคียงกับกระดาษ แต่เมื่อแผ่น CD เข้ามาแทนที่แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ก็เริ่มจางหายไป เพราะ CD 1 แผ่น สามารถจุได้เยอะกว่ามาก เนื่องจากแผ่นฟลอปปี้ดิสก์ 1 แผ่นสามารถจุได้เพียง 1.44 MB แต่แผ่น CD มาตรฐานสามารถจุได้ถึง 700 MB เลยทีเดียว

8. เครื่องเล่นเพลงพกพา (Portable Music Player)

ก่อนที่เราจะมีเครื่องเล่นเพลงที่สามารถเล่นเพลงที่เราต้องการได้นับล้านเพลงด้วยขนาดเพียงแค่ใส่กระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงพกพาไปด้วยเท่านั้น ทว่า ในยุคก่อนปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ผู้คนไม่มีทางเลือกในการฟังเพลงมากนัก ดังนั้น ส่วนใหญ่เราจะได้ยินเสียงเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง จากที่บ้าน จากวิทยุ หรือจากการฟังในรถเท่านั้น แต่ด้วยการมาถึงของเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา ก็ทำให้วิถีการฟังเพลงเปลี่ยนไป

เครื่องเล่นเพลงพกพา (Portable Music Players)
เครดิตภาพ : https://ar.pinterest.com/pin/256845984990038452/

เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาเครื่องแรกของโลกมีชื่อว่า Walkman (วอล์คแมน) วางขายเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) เรียกได้ว่ามาแทนที่ Boombox ในสมัยนั้นได้เลย นอกเหนือจากการที่มันพกพาได้แล้ว ยังทำให้การฟังเพลง สามารถคงความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคลได้มากขึ้น เพราะมาพร้อมช่องเสียบหูฟัง ที่สามารถฟังเพลงที่คุณชอบได้ทุกเมื่อโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปรบกวนใคร (ถ้าไม่ได้เปิดดังหูแตกเผื่อแผ่คนรอบข้างน่ะนะ)

วอล์คแมนจะใช้เทปคาสเซ็ตในการเล่นเพลงเป็นหลักในช่วงแรก จนกระทั่งในภายหลัง มีบริษัทที่พัฒนาเครื่องเล่นออกมาเพื่อรองรับการเล่นเพลงแบบแผ่นซีดีด้วย และตามมาด้วยเครื่องเล่นเพลง MP3 (MP3 Player) ที่เป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่สามารถบรรจุไฟล์เพลงแบบ MP3 ได้เป็นจำนวนมากตามความจุของเครื่องเล่นหรือเมมโมรี่การ์ดที่เครื่องเล่นนั้น ๆ รองรับ 

10 เทคโนโลยีในอดีต ที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา (10 Technologies of the past that began to fade with time)
เครดิตภาพ : https://canaltech.com.br/produtos/relembre-toda-a-trajetoria-do-ipod-o-mp3-player-da-apple-que-mudou-o-mundo-98018/

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึง MP3 Player ที่ได้รับความนิยมและโดดเด่นออกมากว่าใครเพื่อน ก็ต้องนึกถึง iPod ของ Apple ที่เพียงแค่แต่หมุนแป้นวงกลมตรงกลาง ก็สามารถใช้งานได้ทั้งการเพิ่ม - ลดเสียง และกรอเพลงไปข้างหน้า หรือถอยเพลงกลับมา และเมื่อการฟังเพลงในมือถือเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะมีการใส่ฟีเจอร์การฟังเพลงเข้ามา การใช้งานเครื่องเล่นเพลงก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

9. แผ่นซีดี (Compact Disc - CD)

แผ่น CD หรือที่ย่อมาจากคำว่า Compact Disc เป็นหนึ่งในอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับความจุการเก็บข้อมูลระดับกลาง ๆ ถือเป็นสิ่งต่อยอดที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาจากเทปคาสเซ็ต โดยแผ่น CD ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Philips และ Sony ในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) เพื่อการผลิตไฟล์เพลงคุณภาพสูง (Hi-Fi) โดยแผ่นซีดีรุ่นเก่า ๆ จะจุข้อมูลได้เพียง 10 MB. เท่านั้น และถูกพัฒนาเพิ่มความจุในภายหลังเป็นแผ่นละ 700MB

แผ่นซีดี (CDs)
เครดิตภาพ : https://www.indiamart.com/proddetail/sony-cd-10803777491.html

แผ่น CD ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมเพลงอย่างรวดเร็วเพราะมีความจุที่มากกว่าอุปกรณ์แบบอื่น ๆ เพราะเหมาะกับการเป็นหน่วยความจำสำหรับเก็บเพลงคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงเข้ามา แผ่น CD ก็ได้รับความนิยมลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ พ่วงด้วยสาเหตุจากการที่มีหน่วยความจำในรูปแบบอื่น ๆ ที่ให้ความจุมากขึ้นแต่ขนาดเล็กกว่าแผ่น CD ด้วย

10. เครื่องเล่นดีวีดี (DVD Player)

ทุกวันนี้ เวลาที่เราต้องการจะรับชมภาพยนตร์สักเรื่อง คุณก็แค่จัดการดาวน์โหลดหรือสตรีมบนอินเตอร์เน็ตมาดูก็เรียบร้อยแล้ว แต่นั่นไม่ใช่กับยุค 90 เพราะเวลาจะหาอะไรดูสักเรื่อง ก็ต้องไปเช่า DVD หรือเช่าหนังที่เป็นเทปม้วนมาดูกันแล้วมานั่งต่อจอ TV ดูกันอีกที ซึ่งอุปกรณ์ที่จะทำให้เราดูหนังได้ก็คือ DVD Player ที่พัฒนามาจากเครื่องเล่นวิดีโอแบบเทป (VHS PlayerX) อีกต่อหนึ่ง

เครื่องเล่นดีวีดี (DVD Players)
เครดิตภาพ : By JulianVilla26 - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=62514574

เครื่องเล่น DVD เครื่องแรกของโลกถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) โดยบริษัท Toshiba และหลังจากนั้น เครื่องเล่น DVD ก็ได้กลายเป็นแหล่งความบันเทิงหลักประจำบ้านไปโดยปริยาย เพราะการเช่าแผ่น CD มาดูนั้นมีราคาถูก และเครื่องเล่นก็มีราคาที่จับต้องได้ แต่เมื่อมีบริการสตรีมมิ่งวิดีโอเข้ามา การมีเครื่องเล่นไว้ในครอบครอง ก็ค่อย ๆ หมดความจำเป็น และเลือนหายไปจากความต้องการของคนทั่วไปไปโดยปริยาย


ที่มา : www.makeuseof.com

0 10+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2+%2810+Technologies+of+the+past+that+began+to+fade+with+time%29
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น