ทุกคนลองจินตนาการกันดูว่าถ้า คอมพิวเตอร์ นั้น สามารถคิด และเรียนรู้ได้เหมือนสมองของเราได้ จะเกิดอะไรขึ้น ? คำตอบนั้นอาจไม่ไกลเกินความเป็นจริงนัก "การคำนวณแบบนิวโรมอร์ฟิก (Neuromorphic Computing)" หรือ การคำนวณในลักษณะที่ "เลียนแบบสมองมนุษย์" คือเทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้เหมือนสมองเรา ซึ่งไม่ใช่แค่การประมวลผลข้อมูลแบบเดิม ๆ แต่เป็นการทำความเข้าใจ และเรียนรู้จากประสบการณ์ เหมือนที่เราทำทุกวัน
และในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า อย่าง การคำนวณแบบนิวโรมอร์ฟิก (Neuromorphic Computing) ทั้งความหมาย, หลักการ, ความแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไป, ความท้าทาย และตัวอย่างการใช้งานของ Neuromorphic Computing ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงวิธีที่คอมพิวเตอร์ทำงานในอนาคต และช่วยให้ระบบสามารถคิด, วิเคราะห์ และปรับตัวได้ดีขึ้นกว่าที่เคย !
AI Generated Image
Neuromorphic Computing คำนี้นั้นยังไม่มีนิยามภาษาไทยอย่างเป็นทางการ หรือชัดเจน แต่สามารถแปล และอธิบายความหมายได้ว่าเป็น "การคำนวณที่เลียนแบบสมอง" หรือ "การคำนวณแบบระบบประสาท" คือแนวทางการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของระบบประสาทในสมองมนุษย์ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การออกแบบฮาร์ดแวร์เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงซอฟต์แวร์ที่ทำงานร่วมกันในลักษณะที่คล้ายกับการส่งข้อมูลในสมองของเรา เป็นการเรียนรู้ และประมวลผลแบบมีชีวิตชีวามากขึ้น
ภาพจาก : https://www.frontiersin.org/files/Articles/1153985/fnins-17-1153985-HTML/image_m/fnins-17-1153985-g001.jpg
ในกระบวนการออกแบบ Neuromorphic วิศวกรจะผสมผสานหลายศาสตร์ความรู้ ทั้งวิทยาการคอมพิวเตอร์, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และฟิสิกส์ เพื่อสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ เลียนแบบโครงสร้างทางชีววิทยาของสมอง อย่างเช่น เซลล์ประสาท (Neuron) และซินแนปส์ (Synapses) ซึ่งถือเป็นหน่วยพื้นฐานของสมองมนุษย์
ภาพจาก : https://qbi.uq.edu.au/brain-basics/brain/brain-physiology/action-potentials-and-synapses
เซลล์ประสาททำงานโดยการส่งสัญญาณทางไฟฟ้าเคมีเพื่อสื่อสารกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสมอง และระบบประสาท ซึ่งเซลล์ประสาท และซินแนปส์ หรือสมองของมนุษย์นั้น สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยืดหยุ่นกว่าคอมพิวเตอร์มาก อีกทั้งทั้งยังประหยัดพลังงานมากกว่าด้วย
แม้ว่า Neuromorphic Computing จะยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย และพัฒนา แต่หลายหน่วยงานทั้งในมหาวิทยาลัย, หน่วยงานทหารของสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น Intel Labs และ IBM ก็มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อยู่ ซึ่งในอนาคตเราก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของวิธีการที่คอมพิวเตอร์ทำงานก็เป็นได้
เทคโนโลยี Neuromorphic คาดว่าจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายด้าน เช่น การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning), เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ในยุคถัดไป รวมไปถึงระบบอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์, โดรน, รถยนต์ไร้คนขับ และ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้นอีกด้วย
โดยนักวิจัยบางกลุ่มเชื่อว่า Neuromorphic Processors อาจช่วยข้ามข้อจำกัดของ Moore's Law ที่พูดถึงจำนวนทรานซิสเตอร์ ในชิปคอมพิวเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 2 ปี ซึ่งในปัจจุบัน หลักการนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากขนาดทรานซิสเตอร์ที่เล็กลงเกินไป ทำให้การผลิตมีความซับซ้อน และต้นทุนสูงขึ้น Neuromorphic Computing อาจเป็นทางเลือกใหม่ เพราะไม่ต้องพึ่งพาการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์นั่นเอง
ภาพจาก : https://ipcarrier.blogspot.com/2020/03/so-moores-law-is-not-dead.html
Neuromorphic Computing ทำงานโดยใช้ฮาร์ดแวร์ที่เลียนแบบโครงสร้าง และกระบวนการของเซลล์ประสาท (Neuron) และซินแนปส์ (Synapse) ในสมองมนุษย์ ซึ่งจะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลข้อมูล และเรียนรู้ได้เหมือนสมองจริง ๆ รูปแบบที่ใช้บ่อยที่สุดคือ "Spiking Neural Network - SNN" หรือเครือข่ายประสาทที่ยิงสัญญาณ
โดยใน SNN นี้ สไปกิ้งนิวรอน (Spiking Neuron) จะทำหน้าที่ประมวลผล และเก็บข้อมูลคล้ายกับการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์นั่นเอง
ภาพจาก : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2773064623000658
ซินแนปส์เทียม (Artificial Synapse) คือส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสไปกิ้งนิวรอน ซึ่งจะใช้วงจรแอนะล็อก (สัญญาณที่ไม่ต่อเนื่อง และไร้รูปแบบเช่น แรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Power) ในการส่งสัญญาณไฟฟ้าที่เลียนแบบสัญญาณในสมองมนุษย์ เหมือนกับการที่เซลล์ประสาทในสมองจะส่งสัญญาณผ่านซินแนปส์ไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น ๆ แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปที่ใช้ระบบเลขฐานสอง (Binary System) ในการประมวลผลข้อมูล สไปกิ้งนิวรอนจะใช้การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณแอนะล็อกเพื่อเข้ารหัสข้อมูลแทน ทำให้การประมวลผลมีความยืดหยุ่น และสามารถเรียนรู้ได้เหมือนสมองมนุษย์
อีกสิ่งที่ทำให้ Neuromorphic Computing แตกต่างจาก Von Neumann Computers ระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป ที่เราใช้กันที่ประกอบด้วย หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยความจำหลัก (RAM) และอื่น ๆ
โดยสถาปัตยกรรมการประมวลผลของ Neuromorphic Computing ไม่ใช้หลักการประมวลผลแบบเชิงเส้นที่คำนวณทีละขั้นตอน (Sequential Processing) เหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ใช้การประมวลผลที่ทำงานพร้อมกัน (Parallel Processing) แบบที่สมองมนุษย์ทำ พูดง่าย ๆ คือสัญญาณจะถูกประมวลผลพร้อม ๆ กันจากหลาย ๆ จุด ทำให้การประมวลผลมีความเร็ว และประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก
ภาพจาก : https://www.computerscience.gcse.guru/theory/von-neumann-architecture
ภาพจาก : https://www.nature.com/articles/s43588-021-00184-y/figures/1
ถึงแม้ว่า Neuromorphic Computing จะมีศักยภาพที่จะปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ และ AI แต่เทคโนโลยียังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังมีอุปสรรคอีกหลายประการที่ต้องเผชิญ
ถึงแม้ว่า Neuromorphic Computing จะมีประสิทธิภาพในเรื่องของพลังงานดีกว่าเครื่องมือ Deep Learning หรือ การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ที่ใช้ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) แต่ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าแม่นยำกว่ามากนัก ทำให้หลายคนก็ยังคงเลือกใช้ซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมที่ให้ความแม่นยำสูงกว่า
ภาพจาก : https://www.energy.gov/science/bes/articles/emergent-device-boosts-neuromorphic-computing
คอมพิวเตอร์ neuromorphic ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้พัฒนาทั่วไป เนื่องจากยังขาดเครื่องมือเช่น ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (API) หรือภาษาโปรแกรมที่ทำให้สามารถใช้งานได้สะดวก การพัฒนาจึงยังคงถูกจำกัดอยู่
ภาพจาก : https://www.cmc.ca/hardware-designs-inspired-by-the-human-brain/
งานวิจัยเกี่ยวกับ Neuromorphic Computing ยังไม่มีเกณฑ์การทดสอบ หรือปัญหาทั่วไปที่มันจะตอบโจทย์อย่างชัดเจน ทำให้ยากที่จะประเมินประสิทธิภาพ หรือพิสูจน์ความสามารถของเทคโนโลยีนี้
Neuromorphic Computing ยังถูกจำกัดโดยความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์นักเกี่ยวกับการรับรู้ของมนุษย์ เช่น ทฤษฎี Orch OR โดย Penrose และ Hameroff ที่บอกว่าการรับรู้ของมนุษย์อาจเกี่ยวข้องกับการคำนวณควอนตัม ถ้าหากการรับรู้ของมนุษย์ต้องใช้การคำนวณควอนตัมจริง ๆ คอมพิวเตอร์ Neuromorphic ที่ใช้การคำนวณแบบดั้งเดิมก็อาจต้องพัฒนาไปอีกขั้น เพื่อให้สามารถเลียนแบบสมองมนุษย์ได้อย่างแท้จริง
ภาพจาก : https://www.rafflesmedicalgroup.com/health-resources/health-articles/brain-works/
ซอฟต์แวร์สำหรับ Neuromorphic Computing ยังไม่สามารถตามทันฮาร์ดแวร์ได้ ส่วนใหญ่การวิจัยยังใช้ซอฟต์แวร์ Deep Learning แบบเดิมที่พัฒนามาสำหรับระบบ Von Neumann ซึ่งจำกัดการทดลองให้ต้องอยู่ในกรอบแนวทางแบบเดิมที่ Neuromorphic Computing ต้องการที่จะพัฒนาไปให้เหนือกว่า
แม้ว่า Neuromorphic Computing จะเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนักวิจัย และบริษัทต่าง ๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้ในแอปพลิเคชัน AI ที่อยู่ขอบข่ายอย่าง การประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge computing) แทนการใช้ การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) เนื่องจากมันมีขนาดที่เล็ก และการใช้พลังงานที่ต่ำ เรามาดูลักษณะการใช้งานที่น่าสนใจสักสองประการด้านล่างนี้เลย
Neuromorphic Computing ช่วยให้รถยนต์ไร้คนขับ และโดรนสามารถประมวลผล และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้แบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีนี้เหมาะกับระบบอัตโนมัติที่ต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้พลังงานต่ำ และสามารถประมวลผลข้อมูลจากเซนเซอร์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพจาก : https://www.cnet.com/pictures/audi-airbus-flying-drone-car-hybrid-geneva-auto-show/
ระบบ Neuromorphic ยังสามารถนำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูล, วิเคราะห์ และเพิ่มประสิทธิภาพในงานต่าง ๆ โดยการจำลองการประมวลผลข้อมูลแบบขนาน และสามารถปรับตัวได้ตามข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิต, การดูแลสุขภาพ และการเงิน
ซึ่งกรณีการใช้งานที่ยกมาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Neuromorphic Computing ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูง สำคัญคือปรับตัวได้ดี และมีความสามารถในการคิด และตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
ภาพจาก : https://www.navvis.com/blog/everything-you-ever-wanted-to-know-about-factory-planning
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี Neuromorphic Computing จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเป็นแนวคิดใหม่ แต่คำถามด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบที่เหมือนสมองมนุษย์ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการพัฒนา AI และหุ่นยนต์ในภาพรวม โดยเฉพาะในแง่ของการเลียนแบบสมองมนุษย์ที่อาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการใช้งานในหลาย ๆ ด้าน
AI Generated Image
แม้ว่า Neuromorphic Computing จะพยายามเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ แต่จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็ยังเป็นเพียงแค่แบบจำลองที่ถูกทำให้เรียบง่ายมาก ๆ เมื่อเทียบกับความซับซ้อนของสมองจริง ๆ ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการประมวลผล และใช้พลังงานของสมองมนุษย์นั้นเหนือกว่า AI และเทคโนโลยี Neuromorphic ในปัจจุบันมากมายหลายเท่า
การพัฒนา Neuromorphic Computing ที่เลียนแบบสมองมนุษย์อาจทำให้เกิดความกังวลในสังคมมากขึ้นในอนาคต โดยผลสำรวจจากคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้หุ่นยนต์ในงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก, ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เนื่องจากเกรงว่ามันจะทดแทนมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านการพัฒนาเทคโนโลยีนี้
อีกประเด็นที่สำคัญคือ การให้ สิทธิส่วนบุคคล แก่ระบบ Neuromorphic หากเทคโนโลยีพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถสร้าง "จิตสำนึก" หรือ "บุคลิกภาพ" ได้ การปฏิบัติต่อมันในลักษณะเดียวกับมนุษย์อาจกลายเป็นประเด็นด้านจริยธรรม เช่น หากการยุติการทำงานของมันก็จะขัดกับสิทธิ และอิสรภาพ ที่มนุษย์พึงมี
เมื่อ Neuromorphic เริ่มสร้างผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ เช่น งานเขียนหรือประดิษฐ์ คำถามเกี่ยวกับ สิทธิในผลงาน จะต้องถูกพิจารณา ว่าใครจะเป็นเจ้าของผลงานนั้น หากไม่ใช่มนุษย์ที่เป็นผู้สร้าง ผลงานเหล่านั้นจะถือเป็นทรัพย์สินของผู้พัฒนาเทคโนโลยี หรือไม่ ? ซึ่งล้านเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกยาว
การวิจัยในด้าน Neuromorphic Computing ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากการใช้งาน AI, Machine Learning และ Neural Networks ในเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกทั้งยังมีความเชื่อกันว่า Moore's Law กำลังจะถึงจุดสิ้นสุด เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพของชิปตามที่กฎนี้ระบุไว้อาจจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ดังนั้น Neuromorphic Computing ที่สามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านี้ และพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้น จึงได้รับความสนใจจากผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง IBM, Intel รวมถึงกองทัพสหรัฐฯ ด้วย
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการวิจัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต แม้ว่า Neuromorphic Computing จะยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของการคำนวณ และ AI ไปในทางที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน การพัฒนาในด้านนี้ยังคงดำเนินต่อไป และอาจเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถของเทคโนโลยีในอนาคตได้เลยทีเดียว
|