ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

ทำไม ป๊อปคอร์น ถึงกลายเป็นขนมคู่โรงหนัง ?

ทำไม ป๊อปคอร์น ถึงกลายเป็นขนมคู่โรงหนัง ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 7,161
เขียนโดย :
0 %E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1+%E0%B8%9B%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ทำไม ? ป๊อปคอร์นถึงกลายเป็นขนมคู่โรงหนัง

การไปดูหนังใน โรงหนัง หรือ โรงภาพยนตร์ คงเป็นกิจกรรมวันหยุดของใครหลายคน และขนมที่มักวางจำหน่ายอยู่ก่อนเข้าโรงและหลายคนก็มักจะซื้อติดไม้ติดมือเข้าไปนั่งกินระหว่างดูนั่นก็คือ ป๊อปคอร์น (Popcorn) หรือ ข้าวโพดคั่ว

ป๊อปคอร์น สัญลักษณ์คู่กับหนัง

การเดินเข้าไปโซนโรงหนัง การได้กลิ่นข้าวโพดคั่วกับเนย ชีส คาราเมล โชยมา นับว่าเป็นเสน่ห์และเครื่องการันตีอย่างนึงว่าเราได้มาถึงโรงหนังแล้ว แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมโรงหนังแทบจะทุกที่ต้องมีขายป๊อปคอร์นเป็นขนมหลัก ? ทำไมเราต้องกินป๊อปคอร์นพร้อมดูหนัง ? ต้นกำเนิดมันมาจากไหน ? ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

เนื้อหาภายในบทความ

การเดินทางของป๊อปคอร์น กว่าจะมาเป็นขนมคู่โรงหนัง
(Popcorn Journey to be Cinema Partner)

Corn ที่ Pop

เมื่อประมาณ 8,000 ปีที่แล้ว ข้าวโพด Teosinte ที่หน้าตาดูไม่เหมือนข้าวโพดที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ซึ่งคำว่า "ป๊อปคอร์น (Popcorn)" ชื่อนี้ได้มาจากเมล็ดข้าวโพด (Corn) ที่มันพองตัว (Pop) ขึ้นมา อันที่จริงมันเป็นสายพันธุ์ของข้าวโพด นิยมใช้ข้าวโพดที่มีผนังเมล็ดแข็ง มันจะช่วยสร้างแรงดันภายในได้ดีเมื่อโดนความร้อน เป็นหนึ่งในรูปแบบแรก ๆ ของข้าวโพดที่ปลูกในอเมริกากลาง

ข้าวโพด Teosinte
ข้าวโพด Teosinte
ที่มาภาพ : https://twitter.com/Seminisia/status/579087229915549696/photo/1

ป๊อปคอร์นขึ้นเหนือแล้วก็ลงใต้ แต่เท่าที่เห็นมันอยู่รอดได้เฉพาะในอเมริกาใต้เท่านั้น

- Andrew Smith นักเขียนที่เขียนเรื่อง Popped Culture : A Social History of Popcorn 

Popped Culture : A Social History of Popcorn หนังสือประวัติศาสตร์ป๊อปคอร์น เขียนโดย Andrew Smith
Popped Culture : A Social History of Popcorn หนังสือประวัติศาสตร์ป๊อปคอร์น เขียนโดย Andrew Smith
ที่มาภาพ : Amazon.com

แต่การค้าขายก็ได้ทำให้เมล็ดพันธุ์เฉพาะทางนี้ไปสู่ทางตอนเหนือของอเมริกา เป็นไปได้ว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ได้เดินทางไปชิลีแล้วพบกับเมล็ดพันธุ์ป๊อปคอร์นมากมายและเห็นว่ามันน่ารักดี จึงได้กว้านซื้อและนำมันมาที่ New England ในช่วงต้นศัตวรรษที่ 19

ผู้ที่ได้กินป๊อปคอร์นก็ค้นพบว่าการทำข้าวโพดคั่วเป็นเรื่องสนุก จนในปี ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) ป๊อปคอร์นที่เป็นขนมขบเคี้ยวก็แพร่หลายมากพอที่จะถูกบัญญัติศัพท์ไว้ใน Dictionary of Americanisms มันกลายเป็นขนมที่มีอยู่ทุกที่โดยเฉพาะในงานละครแสดงหรืองานแสดงสินค้า แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีสถานให้ความบันเทิงแห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่มีป๊อปคอร์น นั่นคือโรงหนัง 

ป๊อปคอร์นเริ่ม ป๊อป

ป๊อปคอร์นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428)  เครื่องทำป๊อปคอร์นพลังไอน้ำเครื่องแรกก็ได้ถือปรากฏขึ้นเป็นรถเข็นข้างถนน คิดค้นโดย Charles Cretors ซึ่งเครื่องทำป๊อปคอร์นนี้ทำให้การทำป๊อปคอร์นง่ายขึ้นมาก เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องแบบเคลื่อนที่ได้เท่านั้น มันสามารถผลิตป๊อปคอร์นจำนวนมากได้โดยไม่ต้องมีห้องครัว จุดเด่นของมันที่ทำให้มันเอาชนะขนมอื่น ๆ ได้คือ “กลิ่น” ทุกครั้งที่ทำป๊อปคอร์นมันจะมีกลิ่นหอมที่น่าดึงดูดใจทำให้คนเดินถนนผ่านไปผ่านมาต้องแวะมาซื้อ ซึ่งนั่นก็คืออีกเหตุผลที่ทำให้โรงหนังไม่ยอมให้มีป๊อปคอร์นไปขายในโรง เพราะกลิ่นมันจะกลายเป็นการรบกวนการดูหนัง 

เครื่องทำป๊อปคอร์นพลังไอน้ำของ Charles Cretors
เครื่องทำป๊อปคอร์นพลังไอน้ำของ Charles Cretors
ที่มาภาพ : https://warehouse-13-artifact-database.fandom.com/wiki/Charles_Cretors%E2%80%99_Popcorn_Cart

โรงหนังไม่อยากให้มีป๊อปคอร์นเพราะว่าพวกเขาอยากให้โรงหนังเป็นอย่างที่เป็นจริง ๆ พวกเขามีพรมสวย ๆ และก็ไม่อยากให้ป๊อปคอร์นร่วงใส่พรมพวกนั้น 

รวมถึงสิ่งรบกวน อย่างเสียงจากการเคี้ยวด้วย

- Andrew Smith กล่าว

จนกระทั่งในปีค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) หนังก็ได้เริ่มใช้เสียงพูดเข้าไปในกระบวนการผลิต ทำให้ธุรกิจโรงหนังเปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม คนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็สามารถเข้ามาดูได้ (เพราะแต่ก่อนเป็นหนังใบ้ต้องอ่านคำบรรยายเอา) ทำให้ในช่วงปีค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) มีผู้ใช้งานโรงหนังแตะสูงถึง 90 ล้านคนต่อสัปดาห์ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้โรงหนังได้รับผลกำไรมากมาย ถึงแม้ในทางทฤษฏีตัวหนังมีเสียงและช่วยกลบเสียงของการกินขนมขบเคี้ยวในโรงภาพยนตร์ แต่เจ้าของโรงหนังก็ยังคงลังเลที่จะให้ขายขนมในโรงหนังอยู่ดี

ก้าวแรกสู่โรงหนัง

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เป็นโอกาสอันดีของทั้งหนังและป๊อปคอร์น เพราะผู้ชมต้องการความบันเทิงราคาถูก และการไปดูหนังในโรงหนังก็คือคำตอบ รวมถึงการจ่ายเงินซื้อป๊อปคอร์นราคา 5-10 เซ็นต่อถุง ก็เป็นสินค้าส่วนใหญ่ที่คนสามารถซื้อไปกินเล่นได้ ต้นทุนการผลิตก็ไม่แพง เป็นการลงทุนราคาถูกสำหรับผู้ขาย ขายต่อได้เป็นปี ๆ ยังสงสัยใช่ไหมว่าทั้งสองสิ่งนี้มันมารวมกันได้ยังไง จุดเปลี่ยนมันอยู่ตรงนี้แหละครับ

พ่อค้าแม่ค้าหัวใสเล็งเห็นโอกาสฟันกำไร ทั้งจากป๊อปคอร์นและโรงหนังที่ได้รับความนิยมทั้งสองทางในยุคแบบนี้ เลยมีพ่อค้าแม่ค้าตัดสินใจซื้อเครื่องทำป๊อปคอร์นของตัวเองและเข็นไปขายหน้าโรงหนังให้คนซื้อก่อนเข้าโรงซะเลย และแน่นอนทางเจ้าของไม่ยอมให้เอาเข้า คนก็พยายามแอบเอาเข้าไป จากคำกล่าวของ Smith ในหนังสือได้บอกว่า

ตอนนั้นโรงหนังจะแขวนป้ายอยู่ด้านนอกห้องแขวนเสื้อโค้ทเพื่อตรวจสอบทั้งเสื้อโค้ดและป๊อปคอร์นที่คนแอบเอาเข้ามา ป๊อปคอร์นเลยเหมือนกลายเป็นขนมทานเล่นแบบลับ ๆ จากโรงหนังไปเลย

คนขายป๊อปคอร์นข้างถนน ในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455)
คนขายป๊อปคอร์นข้างถนน ในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455)
ที่มาภาพ : Kirn Vintage Stock/Corbis

นอกเหนือจากเรื่องภาพลักษณ์และสิ่งรบกวนที่โรงหนังห้ามเอาป๊อปคอร์นเข้าไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งนั่นก็เพราะโรงหนังยุคแรก ๆ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับเครื่องทำป๊อปคอร์นแต่แรก มันไม่มีการระบายอากาศที่เหมาะสมสักเท่าไหร่ แต่เมื่อลูกค้าที่เข้ามาดูหนังกลับถือป๊อปคอร์นเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าของโรงหนังก็ไม่อาจต้านทานเสน่ห์ทางการเงินของการขายป๊อปคอร์นได้

ดังนั้นเขาจึงเปิดพื้นที่พิเศษในส่วนของล็อบบี้ให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่ารายวัน และขายป๊อปคอร์นในโซนนี้ (หรือบางทีก็จะให้เช่าพื้นที่หน้าโรงหนังเลย) ถึงแม้จะมีการเก็บค่าเช่า แต่ผู้ขายก็ไม่ได้โวยวายอะไรกับข้อตกลงนี้ เพราะการได้ขายป๊อปคอร์นในโรงหนังหรือบริเวณหน้าโรงหนังทำให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาสามารถขายให้กับทั้งคนเดินถนนและคนที่ตั้งใจเข้ามาดูหนัง

ผู้ขายรายแรก ๆ ที่เอาป๊อปคอร์นเข้าไปขายในโรงหนังได้คือ Julia Braden จาก Kansas City, Missouri ตามคำกล่าวของ Smith บอกเอาไว้ว่า

เธอเกลี้ยกล่อมให้โรงหนัง Linwood Theater ปล่อยให้เธอเข้าไปตั้งร้านของเธอในล็อบบี้ และเธอก็ได้สร้างอาณาจักรป๊อปคอร์นขึ้นมา จนปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) เธอกลายเป็นเจ้าที่ขายป๊อปคอร์นสี่แห่งในโรงหนัง ทำรายได้ไป 14,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ธุรกิจของเธอเติบโตขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่โรงหนังหรูหราหลายพันแห่งก็ต้องพังทลาย

เรื่องสนุกๆ ของป๊อปคอร์น (Popcorn Fun Fact)

และรู้หรือไม่ว่าป๊อปคอร์นมันช่วยให้การค้าขายข้าวโพดเปลี่ยนไปด้วย เพราะก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ป๊อปคอร์นส่วนมากที่ขายกันจะใช้ข้าวโพดขาว ส่วนข้าวโพดเหลืองไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าเพราะราคาแพงกว่าสีขาวถึงสองเท่า (2x)

แต่อย่างไรก็ตาม คนขายป๊อปคอร์นชอบข้าวโพดสีเหลืองมากกว่า เพราะว่ามันสามารถขยายตัวได้มากกว่า เวลามันป๊อปออกมา (ทำให้ได้ป๊อปคอร์นเยอะขึ้นโดยใช้เมล็ดที่น้อยลง) และสีเหลืองก็หลอกความรู้สึกคนว่ามันเหมือนเคลือบเนย จนผู้คนรู้สึกชินกับป๊อปคอร์นสีเหลืองและปฏิเสธที่จะซื้อป๊อปคอร์นสีขาวในตลาด โดยบอกว่าอยากขอ “ป๊อปคอร์นแบบโรงหนัง” และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้าวโพดสีเหลืองกินพื้นที่เกือบทั้งหมดทางการตลาด ส่วนข้าวโพดสีขาวและสีอื่น ๆ ก็มีจำนวนน้อยเช่นกัน

จากข้อมูลของ PBS ได้ระบุว่า เนยถูกนำมาใช้กับป๊อปคอร์นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) ที่งาน World’s Columbian Expo ในเมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Chicago, Illinois, USA) ที่นักประดิษฐ์อย่าง Charles Cretors ได้พาเครื่องทำป๊อปคอร์นพลังไอน้ำแบบเคลื่อนที่เครื่องแรกของโลกไปจัดแสดง ซึ่งรถเข็นป๊อปคอร์นนี้ก็ใช้ข้าวโพดผสมกับเนย และน้ำมันหมู

เครื่องทำป๊อปคอร์นของ Charles Cretors ที่งาน World's Columbian Exposition ที่ Chicago ในปีค.ศ. 1893
เครื่องทำป๊อปคอร์นของ Charles Cretors ที่งาน World's Columbian Exposition ที่ Chicago
ในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436)

ที่มาภาพ : https://the1893worldsfair.weebly.com/new-products.html

ที่ต่างประเทศมีสูตรลับที่โรยหน้าป๊อปคอร์นด้วยเนย จะเป็นส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลืองเติมไฮโดรเจน สารปรุงรส เบต้าแคโรทีนสำหรับสี และสารกันบูด ซึ่งไม่ควรบริโภคมากจนเกินไป เพราะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

กำไรหลักของโรงหนัง

ในที่สุดเจ้าของโรงหนังก็ตระหนักได้ว่า ถ้าพวกเขาเอามาขายเอง กำไรจะพุ่งขนาดไหน ! ดังนั้นโรงหนังหลายแห่งจึงเปลี่ยนมาขายขนมคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ธุรกิจโรงหนังรอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ เพราะในช่วงกลางปี ค.ศ. 1930s (พ.ศ. 2473-2482) ธุรกิจโรงหนังเริ่มตกต่ำลงมาก ๆ แต่ “การเริ่มต้นขายป๊อปคอร์นและขนมอื่น ๆ” ทำให้พวกเขา “อยู่รอด” Smith กล่าวแบบนั้น

ป๊อปคอร์น (Popcorn) หรือ ข้าวโพดคั่ว

ยกตัวอย่างโรงหนังที่ Dallas ตัดสินใจที่จะตัดตั้งเครื่องทำป๊อปคอร์นกว่า 80 แห่งในเมือง แต่ปฏิเสธที่จะติดตั้งเครื่องขายป๊อปคอร์นใน 5 โรงหนังที่ดีที่สุด เพราะคิดว่า 5 โรงหนังเหล่านั้นมันหรูเกินไปเกินกว่าจะขายป๊อปคอร์น ผลปรากฏว่าใน 2 ปี โรงหนังที่ขายป๊อปคอร์นทำกำไรมากมาย ส่วน 5 โรงหนังที่ไม่ขายป๊อปคอร์นกำไรแตะตัวแดงเลยทีเดียว จนเจ้าของโรงหนังเริ่มเข้าใจและยอมรับว่าป๊อปคอร์นช่วยเพิ่มกำไรให้กับทางโรงหนังจริง ๆ

ป๊อปคอร์นท่ามกลางสงคราม 

ยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความสัมพันธ์ของป๊อปคอร์นกับโรงหนังแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะช่วงนั้นหลายที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำตาในการทำขนม ทั้งลูกกวาดหรือน้ำอัดลมต่าง ๆ ก็ไม่สามารถผลิตได้เพราะน้ำตาลไม่เพียงพอ ป๊อปคอร์นที่ไม่ต้องใช้น้ำตาลในการผลิตก็กลายเป็นขนมยอดนิยม

ยัดเยียดโฆษณาในโรงหนังให้ซื้อป๊อปคอร์น

ในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ป๊อปคอร์นกับโรงหนังยิ่งรักใคร่กลมเกลียวกันมาก เพราะเกินกว่าครึ่งของผู้บริโภคป๊อปคอร์นในอเมริกามากินที่โรงหนัง ทางโรงหนังก็ยัดเยียดโฆษณาขนมแบบสุด ๆ ทั้งโฆษณาก่อนหนังฉาย (และบางครั้งระหว่างกลางเรื่องก็ยังมี) เพื่อให้ผู้คนไปซื้อขนมที่ล็อบบี้สิ ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือโฆษณา Let’s All Go to the Lobby เป็นโฆษณาความยาว 40 วิ ที่ฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)

โฆษณา Let’s All Go to the Lobby

และในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) โฆษณานี้ก็ได้รับเลือกจากหอสมุดรัฐสภาให้อนุรักษณ์ไว้ใน หอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติอเมริกา (United States National Film Registry) เนื่องจากคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

รวมถึงในช่วงปี ค.ศ. 1960s (พ.ศ. 2503-2512) การดูหนังแบบ Drive-in ได้รับความนิยม โฆษณาป๊อปคอร์นก็ได้ถูกนำไปฉายด้วยเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ที่โรงหนัง

แต่สำหรับแผนการตลาดทั้งหมดที่กล่าวมา โรงหนังก็เห็นว่ายอดขายป๊อปคอร์นลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง ค.ศ. 1950s (พ.ศ. 2493-2502) และคนร้ายก็คือ โทรทัศน์ เพราะคนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องออกไปรับชมความบันเทิงในโรงหนังละ

อุตสาหกรรมป๊อปคอร์นในทศวรรษ 50s เริ่มตกต่ำลง เนื่องจากชาวอเมริกันดูโทรทัศน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และไปดูหนังในโรงหนังน้อยลง // Smith กล่าว

ป๊อปคอร์นไม่ใช่ขนมที่กินกันตามบ้าน ส่วนใหญ่เพราะมันทำยาก ต้องมีตัวเมล็ดข้าวโพด, น้ำมัน, เนย, เกลือ, และอื่น ๆ ไม่เหมือนเครื่องทำป๊อปคอร์นที่ง่ายกว่ากันเยอะ นั่นคือจุดกำเนิดของสินค้าชิ้นนึงที่เรียกว่า E-Z Pop สินค้านี้วางตลาดในฐานะเครื่องทำป๊อปคอร์นแบบรวมทุกอย่างไว้แล้ว มีเมล็ดป๊อปคอร์นข้างในพร้อมปรุงมาเรียบร้อย เพียงเอาไปวางไว้แหล่งความร้อนและป๊อปคอร์นก็จะป๊อปออกมาพร้อมกินทันที

โฆษณา E-Z Pop

หลังจากนั้นก็มีสินค้าที่เหมือนกันเรียกว่า Jiffy Pop เป็นสินค้าทำป๊อปคอร์นที่รูปแบบเดียวกันคือออลอินวัน (All-in-One) แค่ไปวางบนแหล่งความร้อนรอแล้วกิน

Jiffy Pop
Jiffy Pop
ที่มาภาพ : https://texasdecor.blogspot.com/2013/05/jiffy-pop-and-new-tea-canister.html

ในช่วงปี ค.ศ. 1970s (พ.ศ. 2513-2522) ไมโครเวฟเริ่มได้รับความนิยมใช้ตามบ้าน ทำให้ป๊อปคอร์นเริ่มบูมกลับมาอีก หลายครอบครัวแค่เอาเข้าไมโครเวฟแล้วกดปุ่ม รอ ก็พร้อมกินแล้ว

เมื่อป๊อปคอร์นก็ได้รับความนิยมตามบ้านเรือนเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างป๊อปคอร์นกับหนังก็กลับมาดีดังเดิม บริษัท Nordmende สัญชาติเยอรมัน ถึงกับใช้ป๊อปคอร์นในการโฆษณาไมโครเวฟเลยทีเดียว

ป๊อปคอร์นในไทย

รู้หรือไม่ว่าปกติค่าตั๋วหนังเรื่องนึง ทางโรงหนังต้องแบ่งให้กับเจ้าของหนังคนละครึ่ง แต่ที่โรงหนังรับเต็ม ๆ ไม่ต้องแบ่งใครคือการขายขนม และหนึ่งในขนมหลักอันดับหนึ่งก็คือป๊อปคอร์นเนี่ยแหละ

สำหรับคนอื่นไม่รู้เหมือนกัน แต่สำหรับเรามองว่าป๊อปคอร์นของเมเจอร์อร่อยกว่าของเอสเอฟ และตอนที่บริษัทเมเจอร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ๆ รายได้จากการขายป๊อปคอร์นมีเพียง 8-9% แต่ทุกวันนี้รายได้จากส่วนนี้สูงถึง 30% เลยทีเดียว แถมไม่นานมานี้ยังมีข่าวว่าเมเจอร์มีแผนจะเอาป๊อปคอร์นเข้าไปขายใน 7-11 อีกด้วย

สรุปเกี่ยวกับป๊อปคอร์น
(Popcorn Conclusion)

ทุกวันนี้ ป๊อปคอร์นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดูหนังไปโดยปริยาย เมื่อนึกถึงการดูหนัง ขนมที่เคียงคู่กันไปก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากป๊อปคอร์น ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังที่บ้านหรือเดินเข้าไปดูในโรงหนังก็ต้องมีป๊อปคอร์นติดมือกันบ้าง

ป๊อปคอร์นก็มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของโรงหนัง ในบ้านเราราคานี่เทียบเท่าการซื้อตั๋วหนังเรื่องนึงเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าเป็นผลกำไรหลักของโรงหนังเลย ถึงแม้จะบ่นว่าราคาแพงแสนแพงแค่ไหนก็ตาม แต่ความเคยชินฝังหัวว่าการดูหนังต้องกินป๊อปคอร์นไปด้วย เห็นภาพป๊อปคอร์นคู่กับโรงหนัง มันเลยกลายเป็นวัฒนธรรมที่คนปฏิบัติกันและหลายคนก็ออกอาการเซ็งหากขาดป๊อปคอร์นไปเหมือนกัน

สรุปเกี่ยวกับป๊อปคอร์น

อย่างการรู้ว่าไปดูหนังในโรงหนังก็ห้ามเอาอาหารจากที่อื่นเข้ามากิน ตัวเลือกที่มีหน้าโรงก็ไม่มากนัก ป๊อปคอร์นจึงเป็นทางออกที่เราสามารถเพลิดเพลินกับการดูหนังได้ (และเป็นทางออกของโรงหนังที่ถ้าปล่อยให้เอาของกินมาก็กระทบกับรายได้ของโรงหนัง) จริง ๆ ถ้าไม่มีป๊อปคอร์นมากินตอนดูหนังด้วย ก็จะรู้สึก เหงามือแปลก ๆ เหมือนกันนะ


ที่มา : www.smithsonianmag.com , www.britannica.com , www.orville.com , laist.com , www.mentalfloss.com , marketeeronline.co


0 %E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1+%E0%B8%9B%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
สบายสบายให้มันสมายเวลาสบายแล้วจะได้สบายสมาย... :)
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น