ไม่แน่ใจว่าผู้ปกครองในสมัยนี้ ยังชอบข่มขู่บุตรหลานว่าการเล่นเกมคอนโซลทำให้เครื่องรับโทรทัศน์ หรือทีวีพังกันอยู่หรือเปล่า ? แต่ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อยมักจะโดนประโยคนี้เป็นประจำ พอเติบโตมาก็เลยมานึกย้อนสงสัยว่ามันเป็นเรื่องจริง หรือตำนานเมืองที่ผู้ใหญ่หลอกเด็กไม่ให้เล่นเกมกันแน่
หากสงสัยเหมือนกัน ในบทความนี้ เราจะพามาไขปริศนากันดีกว่าว่า เครื่องเกมสามารถทำให้ทีวีเสียได้จริงหรือเปล่า ?
ในการจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องให้คำจำกัดความรูปแบบของเหตุผลที่ทำให้ทีวีเสียกันก่อน โดยตามปกติแล้ว การทำงานของเครื่องเกมคอนโซลจะไม่สามารถส่งผลกระทบต่อทีวีได้ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างทีวีกับเครื่องเกม ก็ไม่แตกต่างจากเครื่องเล่นวิดีโอกับทีวี คือ เครื่องเกมมีหน้าที่ส่งสัญญาณภาพผ่านทางสายสัญญาณ ส่วนทีวีมีหน้าที่เป็นแค่จอแสดงผลเท่านั้น แน่นอนว่าแค่สัญญาณภาพคงไม่สามารถทำให้ทีวีเสียได้ ส่วนการพังเพราะปาจอยไปกระแทกทีวีพัง เราคงไม่อาจนับเป็นเหตุผลได้
จอย Wii เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทีวีของหลายคนพัง
ภาพจาก : https://zhuanlan.zhihu.com/p/510523702
ย้อนกลับไปที่ตัวคำถาม "เครื่องเกมทำให้ทีวีเสียได้จริงหรือไม่ ?"
ถ้าย้อนกลับไปในยุคที่เทคโนโลยีแสดงผลของทีวียังใช้ หลอด Cathode-Ray Tube (CRT) ในการฉายภาพให้ปรากฏบนหน้าจออยู่ คำตอบคือ "จริง" ครับ
เหตุผลก็มาจากสารฟอสฟอรัสที่ในหน้าจอทีวี CRT มีข้อด้อยอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ อาการ Burn-in โดยหากภาพบนจอไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ภาพก็จะค้างอยู่แบบนั้นอย่างถาวร ซึ่งเกมในสมัยก่อนส่วนใหญ่ก็จะมีฉากในเกมที่แสดงเป็นภาพนิ่งค้างไว้ตลอดเวลา มีการขยับแค่ตัวละครเท่านั้น พอเล่นเกมบ่อย ๆ หน้าจอก็จะเสีย ดังนั้น เครื่องเกมก็ทำให้ทีวีรุ่นเก่าสามารถเสียได้จริง ๆ
ซึ่งอาการ Burn-in นี้ก็มีผลต่อมายังทีวีแบบพลาสมา หรือแม้กระทั่งทีวีที่ใช้ หน้าจอ OLED ที่ได้รับความนิยมในสมัยนี้ด้วย เพียงแต่ว่าในสมัยนั้น พลาสมาทีวียังไม่มีเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหามากนัก ในขณะที่ทีวีแบบ OLED ในปัจจุบัน หากมีการแสดงภาพนิ่งเป็นเวลานาน จะมีการใช้เทคนิคการขยับภาพให้อัตโนมัติเมื่อมีการแสดงผลภาพนิ่งเป็นเวลานาน (Pixel Shift) เพื่อป้องกันการ Burn-in นั่นเอง
ทีวีที่ผ่านการเล่นเกม PAC MAN มาเป็นเวลานาน
ภาพจาก : https://twitter.com/pasalavida/status/566660283771658241?s=20&t=NJWBGPiC4CPodOxEreob0w
อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของสายสัญญาณ ทีวี และเครื่องเกมในสมัยก่อนจะไม่ได้เชื่อมต่อกันผ่านสาย AV หรือสาย HDMI เหมือนในปัจจุบันนี้นะ แต่จะเป็นสาย RF Coaxial ที่เวลาเล่นเราต้องจูนหาช่องที่ตรงกับวิดีโอเกมให้เจอด้วย มีรายงานจากผู้ใช้หลายคนที่ระบุว่า พอเล่นบ่อย ๆ แล้วช่องทีวีที่จูนไว้หาย ต้องมาจูนใหม่ คาดว่านี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้ใหญ่มองว่าเครื่องเกมสามารถทำร้ายทีวีให้เสียหายได้
ปัญหาที่เรากล่าวถึงในหัวข้อที่แล้ว ไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อีกต่อไป เครื่องเกม และทีวีมีการพัฒนามาไกลจากอดีตเป็นอย่างมาก เราไม่ต้องมาจูนหาช่องเพราะมีพอร์ต HDMI ให้ใช้ในการส่งสัญญาณภาพ และสัญญาณเสียงโดยเฉพาะ ตัวเกมก็ไม่ใช่ภาพนิ่งเหมือนแต่ก่อน เกมในยุคปัจจุบันนี้มีกราฟิกเคลื่อนไหวตลอดเวลา
แม้จะมีกราฟิกบางส่วนที่แสดงผลค้างเอาไว้ เช่น หลอดเลือด, แถบเมนู ฯลฯ แต่หน้าจอทีวีในปัจจุบันก็ไม่ได้มีผลกระทบเหมือนจอ CRT เพราะจอทีวีในยุคนี้ก็ใช้พาเนล IPS, TN, VA, QLED ฯลฯ ที่ไม่มีปัญหา Burn-in แต่อย่างใด ต่อให้แสดงผลภาพนิ่งเป็นเวลานานก็ตาม
ข้อมูลเพิ่มเติม : เลือกจอคอมพิวเตอร์ยังไงดีนะ พาเนลแบบ TN, IPS หรือ VA มีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร ?
หรือต่อให้เป็นจอ OLED ที่มีปัญหา Burn-in แต่ทางผู้ผลิตก็ใส่เทคโนโลยีหลายอย่างที่ช่วยแก้ไขปัญหา ยืดอายุการใช้งาน ทำให้โอกาสที่จะเกิดหน้าจอ Burn-in เป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องนี้แต่อย่างใด
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |