ในการเลือกซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ หรือทีวี (TV) เนี่ย นอกจากเรื่องยี่ห้อ, การรับประกัน, ขนาดหน้าจอ และระบบปฏิบัติการของตัว TV แล้ว ชนิดของพาเนลหน้าจอก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันส่งผลต่อการแสดงผลภาพบนหน้าจอโดยตรงเลย
ถ้าถามว่าพาเนลชนิดไหนที่ดีที่สุด ในตอนนี้ก็คงต้องยกให้ หน้าจอแบบ OLED ไป แต่ว่าทีวี OLED ในปัจจุบันก็ยังมีราคาค่อนข้างสูงกว่าพาเนลชิดอื่น ๆ มาก โดยพาเนลหน้าจอที่ได้รับความนิยมรองลงมาก็จะเป็น หน้าจอแบบ QLED และ Mini LED
คำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยก็คือ พาเนล 2 ชนิดนี้ เทคโนโลยีแตกต่างกันอย่างไร ? แล้วตัวไหนที่น่าใช้งานมากกว่ากัน ในบทความนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจกันมากขึ้น
ทั้งเทคโนโลยีหน้าจอแบบ Mini LED และ QLED ล้วนต่างเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของ เทคโนโลยี LED ดังนั้น เราควรที่จะมาทำความเข้าใจกับพื้นฐานการทำงานของ LED TV กันก่อนสักเล็กน้อย
เราคงไม่เจาะลึกรายละเอียดมากนัก โดย LED TV นั้นจะทำงานโดยใช้คริสตัลเหลว (Liquid Crystal) ที่ประกอบขึ้นมาจาก Polarisers และมี LED เป็นไฟที่ส่องจากด้านหลัง (Backlight) ในการทำให้ภาพปรากฏขึ้นบนจอ TV ได้ ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว LED TV จะใช้ทั้งเทคโนโลยี LCD และ LED ร่วมกันนั่นเอง
ภายใน LED TV ทุกรุ่น จะมีแผง LED สีน้ำเงินเป็นไฟ Backlight โดยไดโอด (Diode) เหล่านี้จะเปล่งแสงสีน้ำเงินออกมาเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านพวกมัน แต่แสง LED สีฟ้านี้ไม่สามารถใช้ในการสร้างภาพบนหน้าจอได้ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์จึงนำฟอสฟอรัส (Phosphorus) มาเคลือบเอาไว้ เพื่อเปลี่ยนให้แสงสีน้ำเงินกลายเป็นแสงสีขาวได้
แสงจากแผง LED จะส่องผ่านฟิล์ม Polarises ที่จะทำให้คลื่นแสงมีการสั่นคงที่ และเมื่อคลื่นแสงดังกล่าวเส่องผ่าน Liquid Crystal จะทำให้ทิศทางของคลื่นเกิดการเปลี่ยน ซึ่งแสงที่ถูกเปลี่ยนทิศทางแล้วก็จะส่องผ่านฟิล์ม Polarises อีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายก็จะผ่านฟิลเตอร์สีเพื่อย้อมแสงให้มีสีต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เพื่อสร้างเป็นภาพให้ปรากฏบนหน้าจอ
ภาพจาก : https://www.digitalview.com/blog/led-terminology/lcd-panel-structure/
ถ้าเปรียบเทียบหน้าจอ LED กับเทคโนโลยีก่อนหน้านั้นอย่าง หน้าจอ CRT ก็ต้องยอมรับว่า LED TV นั้นเหนือชั้นกว่ามาก มันทั้งประหยัดไฟกว่า และสามารถออกแบบให้ตัวเครื่องบางลงกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ LED ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่มีข้อบกพร่องอยู่
อย่างที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อที่แล้วว่า หน้าจอ LED จะอาศัยแสงสว่างจากหลอด LED ในการสร้างภาพให้ปรากฏบนหน้าจอ ทำให้บริเวณโดยรอบส่วนที่มีสีปรากฏบนจอ แทนที่จะมันจะเป็นสีดำสนิทก็จะปรากฏเป็นรัศมีโดยรอบของขอบจอภาพ ซึ่งมันถูกเรียกว่าอาการ "Backlight Bleeding" เราจะเห็นมันได้อย่างชัดเจนเวลาที่แสดงผล ภาพอะไรสักอย่างบนพื้นที่สีดำ เช่น ฉากเครดิตตอนจบของภาพยนตร์ (End Movie Credits) เป็นต้น
Backlight bleeding
ภาพจาก : https://www.displayninja.com/what-is-backlight-bleed/
ค่า Contrast Ratio ของหน้าจอนั้น มันก็คือความแตกต่างระหว่างค่าความสว่างสุด กับค่าความมืดสุด แต่ด้วยความที่ LED TV มีไฟ Backlight ทำให้ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็ไม่สามารถทำให้มืดได้ ส่งผลให้ค่า Contrast ratios ค่อนข้างแย่
หน้าจอแบบ LED ไม่สามารถแสดงผลสีดำที่มืดสนิทได้ เหตุผลเหมือนข้อที่แล้วคือ เพราะมันมีไฟ Backlight ทำให้เราเห็นสีดำบนหน้าจอเป็นเหมือนสีเทาเสียมากกว่า
ถึงจะเป็นจอ LED เหมือนกัน แต่การที่มี "Q" เพิ่มเข้ามา ทำให้มันมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันมาก โดย "Q" นี้ก็มาจากเทคโนโลยี "Quantum Dots" แล้วเจ้า Quantum Dots มันเข้ามาช่วยทำให้เทคโนโลยี LED ดีขึ้นได้อย่างไร ?
Quantum Dots เป็นอนุภาคสารกึ่งตัวนำที่สามารถเปล่งแสงที่สามารถมองเห็นได้ในช่วงความยาวคลื่นเฉพาะ เมื่อมันถูกกระตุ้นด้วยพลังงาน โดยขนาดของอนุภาคจะเป็นตัวกำหนดการปล่อยแสง ดังนั้น ด้วยการปรับขนาดของ Quantum Dots มันจึงสามารถใช้สร้างแสงสีใดก็ได้
Quantum dots
ภาพจาก : https://nanohub.org/resources/10751
ทีนี้ พอเป็น QLED TV ที่ด้านหน้าของแผง Blue LED แทนที่เราจะเคลือบด้วยฟอสฟอรัส ก็จะมีชั้นของ Quantum Dots เข้ามาแทนที่ เมื่อแสงจาก Blue LED ตกกระทบลงบน Quantum dots ได้ออกมาเป็นแสงสีเขียว และแสงสีแดง เมื่อแสงที่เปล่งออกมาจาก Blue LED ถูกผสมเข้าด้วยกันกับแสงจาก Quantum Dots ก็จะสามารถสร้างแสงสีขาวออกมาได้ จากนั้นขั้นตอนการทำงานที่เหลือก็จะเหมือนกับ LED แบบดั้งเดิม
ภาพจาก : https://www.ecoustics.com/ask-an-expert/wtf-quantum-dots/
กระบวนการดังกล่าวอาจอ่านแล้วเกิดความสงสัยว่า แล้วมันต่างจากการใช้ฟอสฟอรัสอย่างไร ? ผลลัพธ์ก็ออกมาครือ ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แสงสีขาวที่ได้จาก Quantum dots นั้นจะมีความสว่างกว่ามาก และให้องค์ประกอบสีที่ดีกว่าด้วย
จากการเพิ่มคุณภาพของไฟ Backlight ทำให้สีของหน้าจอ QLED มีความสดใส แม่นยำกว่า และการที่ค่าความสว่างสูงสุดเพิ่มขึ้น ทำให้ค่า Contrast ratio ของหน้าจอ QLED ทำได้ดีกว่า LED ด้วย
Mini LED นั้นก็ตามชื่อของมันเลย ด้วยการลดขนาดของหลอด LED ที่ใช้ในการสร้างไฟ Backlight ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนหลอดที่ใช้ในการสร้างภาพเข้าไปได้มากขึ้น มันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมไฟ Backlight, ลดอาการ Backlight bleeding และยังทำให้สีดำดูมืดสนิทกว่าเดิมอีกด้วย
ถ้าถามว่าเล็กลงขนาดไหน อย่างใน TV ของค่าย Samsung รุ่นที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2021 หลอด Mini LED ก็มีขนาดเล็กกว่าหลอด LED ปกติ ถึง 40 เท่า เลยทีเดียว อันที่จริงตอนนี้ก็มีที่เล็กกว่าด้วย เรียกว่า Micro LED เล็กกว่า LED ถึง 100 เท่า แต่ด้วยความที่ผลิตยากกว่ามาก ตอนนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงยังให้ความสำคัญกับ Mini LED มากกว่า
ภาพจาก : https://nanolumi.com/2021/news/perovskite-miniled-displays/
ไม่ว่าจะเป็น QLED หรือ Mini LED ทั้งคู่ล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเทคโนโลยี LED เพื่อให้การแสดงผลมีความสวยงาม มอบประสบการณ์ในการรับชมที่ดียิ่งขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญของพวกมันมีดังนี้
QLED | Mini LED | |
หลักการทำงาน | Quantum Dots ถูกนำมาใช้ในการสร้างแสงสีขาวแทนเทคโนโลยีเดิมที่ใช้ฟอสฟอรัส | ลดขนาดของหลอด LED ให้เล็กลงกว่าเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมแสง |
สิ่งที่ดีขึ้น | ค่าสีมีความแม่นยำมากกว่าเดิม และเพิ่มความสว่างให้สูงขึ้น ทำให้ไม่มีปัญหาในการรับชม TV ในห้องที่มีค่าความสว่างสูง | ควบคุมความสว่างได้อย่างละเอียดมากขึ้น, ลดอาการ Backlight bleeding |
ค่า Contrast Ratio | 100,000:1 | 1,000,000:1 |
ก็จะเห็นได้ว่า Mini LED ให้ค่า Contrast Ratio ที่ดีกว่าสีดำมืดสนิทกว่า ในขณะที่ QLED จะให้ภาพที่มีสีสันสดใสสวยงามมากกว่านั่นเอง
สุดท้ายแล้วจะเลือกใช้งานแบบไหน ถ้าเป็นส่วนตัวผู้เขียน ที่ปกติใช้ชีวิตในห้องมืด ก็คงเลือก Mini LED ที่ให้ความมืดดีกว่า แต่ถ้าตั้งใจจะวางทีวีไว้ในห้องที่แสงเยอะ มีแดดส่อง ก็คงจะต้องใช้ QLED ที่สู้แสงได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ก็มีเทคโนโลยีใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยี Quantum dot มาทำงานร่วมกับ Mini LED จะได้ไม่ต้องเลือกว่าเอาแบบไหนดี อย่างยี่ห้อ Samsung จะใช้ชื่อเทคโนโลยีว่า Neo QLED ส่วน LG จะใช้ชื่อว่า QNED ราคาก็อาจจะสูงกว่าเดิมบ้าง แต่ของดีไม่มีคำว่าแพงหรอกเนอะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
2 กรกฎาคม 2566 23:36:26
|
||
GUEST |
Pee
ขอบคุณครับ
|
|