ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

BaaS คืออะไร ? มาดูประโยชน์ และคุณสมบัติของ Backend-as-a-Service กัน

BaaS คืออะไร ? มาดูประโยชน์ และคุณสมบัติของ Backend-as-a-Service กัน

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 2,435
เขียนโดย :
0 BaaS+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+Backend-as-a-Service+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Backend as a Service (BaaS) คืออะไร ?

ทุกสิ่งที่เราเห็นบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าเว็บเพจ (ที่อยู่บนเว็บไซต์) หรือแอปพลิเคชันก็ตาม ส่วนที่เป็นหน้าจอผู้ใช้งาน หรือ ส่วนเชื่อมต่อผู้ใช้งาน (User Interface - UI) ที่เราใช้งานอยู่จะเรียกว่า "Front-End" (หรือคนไทยจะนิยมเรียกว่า "หน้าบ้าน") ในขณะที่การประมวลผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ "Back-End" (หรือ "ระบบหลังบ้าน") ซึ่งทางผู้ให้บริการจะเป็นคนดูแลอยู่เบื้องหลังนั่นเอง

โดยระบบหลังบ้าน (Backend) นั้น ผู้ให้บริการอาจจะพัฒนาขึ้นมาเอง หรือใช้งานแบบสำเร็จรูปก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การปรับแต่ง และบำรุงรักษาโครงสร้างของระบบหลังบ้านเป็นงานที่มีความซับซ้อน และสิ้นเปลืองเวลาเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

โดย Backend as a Service (BaaS) เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ช่วยให้ทีมพัฒนาทำงานได้ง่ายขึ้น ในบทความนี้ เราก็จะมาอธิบายเกี่ยวกับ BaaS ว่ามันคืออะไร ? มีประโยชน์อะไร ? มาดูกันเลย

เนื้อหาภายในบทความ

BaaS คืออะไร ? (What is BaaS ?)

ลองจินตนาการว่าคุณเป็นนักพัฒนาของบริษัทแห่งหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งผู้จัดการสั่งงานลงมาให้คุณสร้างแอปพลิเคชันสำหรับให้ลูกค้าใช้ ซึ่งคุณไม่มีอะไรอยู่ในมือเลยแม้แต่นิดเดียว คุณจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือหนึ่งต้องเริ่มต้นทำทุกอย่างใหม่จากศูนย์ หรือใช้บริการ Backend as a Service (BaaS) ที่สามารถเข้ามาช่วยลดภาระงานบางส่วนของคุณได้

ในกรณีที่คุณเลือกอย่างหลัง คุณจะต้องทำในส่วนของ UI และ Client-Side Logic โดยมี BaaS เข้ามาช่วยสนับสนุนคุณสมบัติพื้นฐานที่แอปพลิเคชันส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ อย่างเช่น

  • จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์
  • บริหารจัดการฐานข้อมูล
  • การตรวจสอบยืนยันอีเมล
  • ระบบระบุสถานที่
  • ทำโฮสติ้ง
  • ระบบแจ้งเตือน

คุณสมบัติที่ว่าไปนั้น เป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานที่แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ต้องใช้ในการทำงาน ถ้าหากไม่ใช้บริการ BaaS คุณก็จะต้องเขียนโค้ดพัฒนาระบบเหล่านั้นขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นงานที่สิ้นเปลืองเวลา และทรัพยากรเป็นอย่างมาก การเลือกใช้ BaaS จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ที่ขาดทั้งทรัพยากร และเวลาในการพัฒนา

BaaS คืออะไร ? มาดูประโยชน์ และคุณสมบัติของ Backend-as-a-Service กัน
ภาพจาก : https://www.altogic.com/blog/top-backend-as-a-service-providers

คุณสมบัติสำคัญของ BaaS (The Key Features of BaaS)

ถึงแม้ว่า Backend as a Service (BaaS) จะมาพร้อมกับคุณสมบัติหลายอย่าง เพื่อให้มันสามารถทำหน้าที่เป็น Backend ให้กับแอปพลิเคชันได้หลากหลายรูปแบบ แต่คุณสมบัติสำคัญที่ผู้ให้บริการ BaaS ส่วนใหญ่มีให้เหมือนกัน จะประกอบไปด้วย

ระบบจัดการผู้ใช้

แพลตฟอร์ม BaaS จะมาพร้อมกับระบบตรวจสอบผู้ใช้ (User Authentication) และระบบอนุญาตสิทธิ์ในการเข้าใช้งาน (User Authorization) เพื่อให้ผู้พัฒนาสามารถมีระบบจัดการบัญชีผู้ใช้งานได้ คุณสมบัติพื้นฐานก็อย่างเช่น ระบบสมัครบัญชี, เข้าระบบ, รหัสผ่าน และรีเซ็ตรหัสผ่าน

ฐานข้อมูล

โดย BaaS จะมาพร้อมกับบริการฐานข้อมูล (Database) โดยจะมีทั้งฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational Database) และ NoSQL Database สองสิ่งนี้ช่วยให้นักพัฒนาจัดเก็บ และสืบค้นข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องมาออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลด้วยตนเองให้เสียเวลา

คลาวด์

โดยแพลตฟอร์ม BaaS มักจะรองรับ "Serverless Computing" ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรันโค้ดที่สร้างขึ้นมาเองที่จะทำงานเมื่อมีเหตุการณ์ หรือการกระทำที่กำหนดไว้เกิดขึ้น มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องไปวุ่นวายกับการตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์

การจัดเก็บไฟล์

สำหรับ BaaS จะนำเสนอจุดขายด้านความปลอดภัย และการขยายขนาดพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตได้โดยง่าย

ประโยชน์ของการใช้ BaaS (Benefits of BaaS)

ช่วยให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว

Backend as a Service (BaaS) ช่วยให้คุณลดเวลาในขั้นตอนพัฒนาไปได้เยอะ เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องออกแบบโครงสร้าง Backend ทั้งหมดจากศูนย์ด้วยตนเอง แต่สามารถนำ APIs และ Software development kit (SDKs) ของ BaaS มาใช้งานได้ทันที

ปรับขนาดง่าย มีความยืดหยุ่นสูง

BaaS สามารถรองรับปริมาณงาน (Workload) ได้ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยตัวมันจะรองรับการขยายขนาดเพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้ที่มากขึ้นเมื่อแอปพลิเคชันประสบความสำเร็จ เป็นการรับประกันว่าประสิทธิภาพในการทำงานของแอปพลิเคชันจะไม่มีปัญหาแม้จะมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม

สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย

ด้วยการใช้บริการ BaaS ธุรกิจของคุณสามารถลดต้นทุนในการพัฒนาไปได้มหาศาล และผู้ให้บริการ BaaS เอง ส่วนใหญ่ก็จะมีตัวเลือกราคาที่ยืดหยุ่นหลายระดับราคา ทำให้สามารถเลือกจ่ายเงินได้ตามปริมาณทรัพยากรที่คุณต้องการ ช่วยให้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็น

ความปลอดภัย และความไว้วางใจ

เนื่องจากผู้ให้บริการ BaaS นั้นทำธุรกิจด้วยการขายบริการ BaaS เป็นหลัก พวกเขาจึงสามารถทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดของบริษัทไปที่มันได้ ทำให้มันมีการอัปเดตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหนึ่งในความสำคัญของการอัปเดตก็คือ การแพทช์ความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมักจะมีบริการสำรองข้อมูลให้มาด้วย ทำให้การใช้บริการ BaaS ช่วยให้ผู้พัฒนามั่นใจในด้านความปลอดภัย และสามารถไว้วางใจได้

BaaS ทำงานอย่างไร ? (How does BaaS work ?)

การทำงานของ Backend as a Service (BaaS) นั้นมีความคล้ายคลึงกับบริการเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) โดยผู้ให้บริการ BaaS จะจัดเตรียมแอปพลิเคชันที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันเอาไว้ให้ ผู้ใช้บริการสามารถนำไปผสานร่วมกับระบบที่พัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อสร้างระบบ Backend ในแบบที่ผู้ใช้งานต้องการ

โดยในการปรับแต่ง ผู้ใช้จะสามารถทำงานผ่านหน้าอินเทอร์เฟส ที่ทางผู้ให้บริการ BaaS เตรียมไว้ให้ผ่านการเชื่อมต่อด้วย APIs

การเริ่มใช้งาน Backend as a Service (BaaS) ง่ายมาก แค่เปิดเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ทำการสมัครบัญชี จากนั้นก็เลือกแพลตฟอร์มที่ต้องการใช้ เช่น HTML5, iOS หรือ Android จากนั้น ทางผู้ให้บริการ BaaS จะสร้าง API keys มาไว้ให้เราใช้เชื่อมต่อกับระบบหลังบ้านของเราได้

BaaS คืออะไร ? มาดูประโยชน์ และคุณสมบัติของ Backend-as-a-Service กัน
ภาพจาก : https://productcoalition.com/what-is-baas-backend-as-a-service-9c9a8ed12550

ข้อดี และ ข้อเสียของการใช้ BaaS (Pro and Cons of using BaaS)

ข้อดี

  • ทำงานง่าย แค่การตั้งค่าไม่กี่คลิก ก็มีระบบหลังบ้านพร้อมใช้งาน
  • การดูแลรักษา ตกเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ
  • รองรับการทำงานผ่าน ระบบคลาวด์
  • ประหยัดเวลา และทรัพยากรในการพัฒนาแอปพลิเคชัน
  • จ่ายเท่าที่ใช้ ช่วยลดต้นทุนในการพัฒนา
  • สามารถปรับขยายขนาดของระบบได้ง่าย ไม่ต้องอัปเดตฮาร์ดแวร์ของเซิร์ฟเวอร์ด้วยตนเอง

ข้อสังเกต

  • BaaS สามารถปรับขนาดได้ง่ายก็จริง แต่นั่นก็ตามมาด้วย ราคาที่เราต้องจ่ายแพงขึ้นเช่นกัน ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ค่าใช้จ่าย
  • ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับความไว้วางใจที่เรามีให้ต่อผู้ให้บริการ ซึ่งแต่ละรายก็มีชื่อเสียงแตกต่างกัน
  • การเปลี่ยนระบบ BaaS ทำได้ยาก เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายก็มีระบบของตนเอง
  • ตำแหน่งที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ ส่งผลต่อความเร็วในการทำงานของระบบหลังบ้านโดยตรง และผู้ให้บริการที่คุณต้องการ อาจไม่มีเซิร์ฟเวอร์ในพื้นที่ของคุณ ทำให้ตัวเลือกถูกจำกัด

 


ที่มา : www.makeuseof.com , www.ionos.com , en.wikipedia.org

0 BaaS+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+Backend-as-a-Service+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น