หากคุณเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ที่จะเขียนโปรแกรม หรือเขียนโค้ด คุณน่าจะต้องเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า "IDE" มันเป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่งที่นักพัฒนาใช้ในการเขียนโค้ด คำถามคือ แล้ว "IDE มันคืออะไร ?" มันแตกต่างจาก โปรแกรมแก้ไขข้อความ (Text Editor Software) อย่างไร ? เพราะหากมองอย่างผิวเผินมันก็เหมือนกัน ในบทความนี้เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับ IDE จะได้เข้าใจเกี่ยวกับมันมากขึ้น และรู้ว่าควรใช้งานมันเมื่อไหร่ ?
IDE (ย่อมาจากคำว่า "Integrated Development Environment") มันเป็นซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาให้เขียนโค้ดได้สะดวกมากขึ้น โดยตัวมันจะมีการนำฟังก์ชันหลายชนิดมารวมไว้ในซอฟต์แวร์เดียว มันช่วยให้ผู้ใช้สามารถเขียน, ทดสอบ และรัน (Run / Execute) โปรแกรมได้ในตัว ซอฟต์แวร์ IDE บางตัวก็ใส่ระบบ ส่วนประสานงานกับผู้ใช้แบบกราฟิก (GUI) เข้ามาด้วย เพื่อช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น
หากคุณเพิ่งจะเริ่มเข้าวงการเขียนโค้ด วิธีที่ง่ายที่สุดในการอธิบายว่า IDE ทำงานอย่างไร ? ก็ต้องนำมันไปเปรียบเทียบกับ Text Editor หากคุณเขียนโค้ดด้วย Text Editor มันจะเป็นการทำงานในพื้นที่หลัก (Main Field) หลังจากเขียนโค้ดเสร็จก็บันทึกไฟล์ จากนั้นก็สั่งรัน ซึ่งมักจะเป็นการสั่งรันผ่านการส่งคำสั่งด้วยการพิมพ์ (Command Line)
โดย Text Editor เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ และมีความสำคัญต่อการเขียนโค้ดเช่นกัน แต่ข้อจำกัดของมันคือ มันทำงานได้เพียงอย่างเดียว หรืออาจจะสองอย่าง ในขณะที่ IDE นั้นเปรียบได้กับมีดสวิส (Swiss Army Knife) ที่มีความสามารถรอบด้านแสนอเนกประสงค์ มันมีคุณสมบัติของ Text Editor แต่มีเครื่องมือช่วยเหลือ ๆ ให้ใช้งานด้วยอีกเพียบ
ภาพจาก : https://www.jetbrains.com/pycharm/download/?section=windows
IDE เป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่เตรียมเครื่องมือที่จำเป็นต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์เอาไว้ให้ มันมอบพื้นที่สำหรับใช้เขียนโค้ด, การแปลงภาษาโค้ด (Code Compiling), การหาข้อผิดพลาดของโค้ด (Code Debugging) และอาจมีเครื่องมือช่วยเหลืออื่น ๆ ที่ทำให้นักพัฒนาเขียนโค้ดได้ง่ายขึ้น
ย้อนกลับไปในสมัยก่อนที่จะมี IDE นักพัฒนาจะสร้างซอฟต์แวร์ด้วยการเขียนโค้ดด้วย Text Editor อย่างเช่น Notepad และนำมันไป Compile ด้วยซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ จากนั้นก็นำโค้ดที่ได้มาตรวจสอบหาข้อผิดพลาด ถ้าเจอก็นำโค้ดกลับมาแก้ไขด้วย Text Editor อีกครั้ง วนลูปซ้ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ "เขียนโค้ด → Compile → Debug" จนกว่าจะแก้ไขโค้ดเสร็จสิ้น ปัญหาของกระบวนการนี้คือ ทำให้การทำงานขาดความลื่นไหล ไม่มีความต่อเนื่อง
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้น เมื่อ Softlab บริษัทจากเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้เปิดตัว "Maestro I" มันได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบ Integrated Development Environment (IDE) ตัวแรกของโลก ซึ่งได้รับความนิยมจากนักพัฒนาทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
Maestro I ถูกพัฒนาในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1970-1980 (พ.ศ. 2513-2523) เดิมทีใช้ชื่อว่า "Programm-Entwicklungs-Terminal-System" (หรือในภาษาอังกฤษ Program development terminal systemX) เรียกโดยย่อว่า "PET" ต่อมาบริษัท Commorore ได้นำมาใช้ในคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้ตามบ้าน และตั้งชื่อมันว่า "Commodore PET" เปิดตัวในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520)
ในช่วงเวลานั้นมี การบันทึกสถิติข้อมูลเอาไว้ว่า มันถูกติดตั้งอยู่ทั่วโลกมากถึง 22,000 เครื่อง, ในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มติดตั้งครั้งแรกที่บริษัท Boeing และธนาคารอเมริกา ต่อมาในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) Microsoft ก็ทำ IDE ของตนเองออกมาบ้างในชื่อ Visual Basic (VB) แน่นอนว่ามันประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จนทำให้ IDE กลายเป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบรรจุเข้าพจนานุกรมของชาวไอที และกลายเป็นส่วนสำคัญที่การพัฒนาซอฟต์แวร์จะขาดมันไปไม่ได้เลย
ภาพจาก : https://winworldpc.com/screenshot/40c3942c-c281-2230-11c3-a4e284a2c3a5/3d4d42c6-9257-c3b1-11c3-a4c2a90f7054
การที่จะตอบคำถามว่า "IDE คืออะไรได้นั้น ?" เราคงต้องมาดูที่องค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานของ IDE กัน ซึ่งมันก็ประกอบไปด้วย
จุดนี้ถือเป็นส่วนประกอบหลักของ IDE เพราะนักพัฒนาต้องใช้มันในการเขียนโค้ด หากมองอย่างผิวเผิน มันก็ไม่แตกต่างไปจาก Text Editor แต่เบื้องหลังการทำงานของมันจะเครื่องมือหลายอย่างที่ถูกซ่อนเอาไว้ เพื่อช่วยให้การเขียนโค้ดทำได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ใน IDE จะมีระบบคาดเดาชุดคำสั่งที่คุณกำลังจะเขียน เพื่อใส่ชุดคำสั่งให้คุณได้แบบอัตโนมัติ
ภายในระบบ IDE จะมีการ Built-in Compiler สำหรับรันโค้ดเอาไว้ให้ด้วย เพื่อใช้ตรวจสอบการทำงานของโค้ดว่าสามารถทำงานได้หรือไม่ ตามปกติแล้ว ผลลัพธ์หลังการ Compile จะถูกแสดงผลบนหน้าต่างแยกออกไป แต่ก็ยังอยู่ภายในแพลตฟอร์ม IDE เดียวกัน ผู้ใช้สามารถสลับหน้าต่างระหว่างหน้า Code Editor และ Compiler ได้อย่างอิสระ
IDE จะมาพร้อมกับระบบทดสอบที่สามารถค้นหาข้อผิดพลาดในการทำงานของตัวแอปพลิเคชัน ในระดับซอร์สโค้ด (Source Sode) ที่มันอาจจะไม่เก่งกาจถึงขนาดที่สามารถมองหาข้อผิดพลาดเชิงตรรกะได้ แต่มันสามารถเช็คได้ว่ามีโค้ด หรือชุดคำสั่งไหนที่ผิด, ตัวแปรที่ตกหล่น, ปัญหาของการใช้ Syntax ฯลฯ ทั้งหมดนี้ช่วยให้นักพัฒนาสามารถค้นหา และแก้ไขข้อผิดพลาดที่อยู่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
หากใช้งานการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object-Oriented Programming) ตัว IDE อาจจะมีการใส่เครื่องมือสำหรับใช้ตรวจสอบวัตถุ (Inspecting Object) และคลาสเชิงวัตถุ (Object-Oriented Class) ให้มาในตัวซอฟต์แวร์ด้วย อาจมีกระทั่งกราฟิกแสดงแผนผังของวัตถุเพื่อช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำวัตถุกลับมาใช้งานซ้ำได้อีกครั้งโดยสะดวก
การทำ Build Automation เป็นกระบวนการเตรียมโค้ดของซอฟต์แวร์เพื่อดำเนินการในขั้นตอนถัดไป แม้มันจะมี Build Environment ให้เลือกใช้งานแยกได้ แต่ IDE บางตัวจะมี Build Automation ใส่มาให้ในตัวเลย มันช่วยให้การบรรจุโค้ดเป็นแพ็คเกจเพื่อจบงานทำได้ง่ายขึ้น
การเริ่มต้นใช้งาน IDE เป็นเรื่องง่าย เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติมก่อนใช้งาน หากคุณเขียนโค้ดเป็น รู้จักระบบการพัฒนาซอฟต์แวร์ และทำความรู้จักกับเครื่องมือที่ IDE มีให้อีกสักเล็กน้อย เพราะ IDE แต่ละตัวก็อาจจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างกัน คุณก็สามารถเริ่มต้นใช้งาน IDE ได้แล้ว
ในทางเทคนิค และธุรกิจแล้ว มันมีหลายเคสที่มีการนำ IDE เข้ามาใช้ นั่นหมายความว่าตัว IDE เองก็มีอยู่หลายตัวให้เลือกใช้งานได้ ซึ่งตัว IDE จะมีทั้งแบบที่เป็นซอฟต์แวร์ กรรมสิทธิ์ (Proprietary) และแบบ เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-Source) ให้เลือกใช้งานได้ การเลือกใช้ IDE นักพัฒนาจะต้องพิจารณาจากลักษณะของแอปพลิเคชันที่จะทำ ตัวอย่างเช่น หากนักพัฒนาต้องการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับ iOS ก็ต้องเลือกใช้ IDE ที่รองรับ Swift ที่เป็น Programming Language ของ Apple ประเภทของ IDE ก็มีทั้งที่เป็น Web-Based, Cloud-Based, Mobile, Language-Specific หรือแม้แต่ Multilanguage
ภาพจาก : https://developer.apple.com/tutorials/swiftui
คุณลักษณะสำคัญที่ทำให้ IDE มีความแตกต่างกัน ประกอบไปด้วย
IDE บางตัวออกแบบมารองรับเพียงภาษาเดียว ข้อดีคือสภาพแวดล้อมของตัว IDE มักจะออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับภาษาที่กำหนดได้ดีมาก อย่าง IntelliJ IDEA เป็นเหมือนมาตรฐานหลักของ Java IDE ในขณะที่ IDE หลายตัวรองรับได้หลายภาษา เช่น Eclipse IDE ที่แม้ว่าตัวมันเองจะรองรับ Java เป็นภาษาหลัก แต่ตัวซอฟต์แวร์มีระบบปลั๊กอินที่ทำให้ใช้งานร่วมกับภาษาอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น Ada, ABAP, C, C++, C#, Clojure, COBOL, D, Erlang, Fortran, Groovy, Haskell, JavaScript, Julia, Lasso, Lua, NATURAL, Perl, PHP, Prolog, Python, R, Ruby, Rust, Scala, Scheme, XML ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.eclipse.org/community/eclipse_newsletter/2016/august/article1.php
ระบบปฏิบัติการที่คอมพิวเตอร์ของนักพัฒนาใช้ส่งผลต่อ IDE ที่เลือกใช้งานได้ (นอกจากมันจะเป็น IDE แบบ Cloud-Based) และถ้าหากแอปพลิเคชันที่กำลังพัฒนามีความเจาะจงที่จะนำไปใช้กับผู้ใช้งานบนระบบปฏิบัติการที่กำหนด ก็อาจจำกัดตัวเลือก IDE ที่สามารถใช้งานได้ให้วงแคบลงไปอีก
คุณสมบัติหลักของ IDE จะมีอยู่ 3 อย่าง คือ Text Editor, Build Automation และ Debugger แต่มันก็ยังมีอีกหลายคุณสมบัติที่ IDE ในปัจจุบันนี้ นิยมใส่มาให้ด้วย เช่น เครื่องมือปรับโครงสร้าง (Refactoring), ค้นหาโค้ด (Code Search), เครื่องมือทำ Continuous Integration (CI) และ Continuous Deployment (CD)
IDE แต่ละตัวจะมีอัตราการใช้ทรัพยากรของระบบในการทำงานที่แตกต่างกัน ยิ่งลูกเล่นเยอะ ก็มักจะยิ่งสิ้นเปลืองแรมมากขึ้น หากต้องเปิดซอฟต์แวร์ตัวอื่นที่ใช้แรมเยอะไปพร้อมกับ IDE ก็อาจจะต้องพิจารณาในจุดนี้ด้วย
IDE บางตัว ออกแบบมาให้อิสระแก่นักพัฒนาสามารถปรับแต่ง Workflow ให้เป็นไปตามความต้องการส่วนบุคคลได้
Local IDE เป็น IDE แบบดั้งเดิมที่นักพัฒนาใช้งานกันมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมกันอยู่ โดยมี Microsoft Visual Studio เป็นแกนนำ คาดว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 28% - 40% หรือ Eclipse IDE ที่นิยมใช้ในการพัฒนา Java ก็เป็น Local IDE ด้วยเช่นกัน
การเริ่มต้นใช้งาน Local IDE ทางนักพัฒนาจะต้องดาวน์โหลด และติดตั้ง IDE ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็อาจจะง่ายแค่ไม่กี่คลิก หรืออาจจะซับซ้อนหลายขั้นตอน ขึ้นอยู่กับ IDE ที่เลือกใช้
ตามปกติแล้ว หลังจากที่ติดตั้งตัว IDE เสร็จสิ้น นักพัฒนาอาจจะต้องเลือกดาวน์โหลด Libraries และ Project เพิ่มเติมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความระมัดระวัง และความรู้อยู่พอสมควร หากเลือก Libraries ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อการทำงานกับตัวแอปพลิเคชันได้ ซึ่งจะเรียกอาการนี้ว่า "Configuration drift"
หรือที่รู้จักกันในชื่อ Web-based IDE และ Cloud-based IDE มันหมายถึง IDE ที่สามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์โดยตรง นักพัฒนาสามารถเข้าใช้งานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลด หรือติดตั้ง เพราะทั้งระบบสามารถทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ยุคใหม่อย่าง Chrome, Firefox หรือ Edge ฯลฯ นั่นหมายความว่านักพัฒนาจะสามารถเข้าทำงานจากที่ไหน และอุปกรณ์ใดก็ได้ Online IDE ช่วยให้การพัฒนาซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์ที่มีสเปคต่ำราบรื่นขึ้น เพราะการประมวลผลจะอยู่ที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม Online IDE มักจะมีคุณสมบัติน้อยกว่า IDE แบบดั้งเดิมที่ต้องติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ โดยมักจะมีคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น เช่น Source-code editor, Syntax highlighting, Version control และ Read-Eval-Print Loop (REPL)
ความนิยมของ Online IDE ได้ทำให้ปัจจุบันนี้มีการให้บริการในรูปแบบ "Platform as a service (PaaS)"
ตัวอย่างเช่น Cloud9 ระบบ IDE จาก Amazon Web Services (AWS) สามารถรองรับได้ 40 ภาษา ไม่ว่าจะเป็น C, C++, Python, Ruby, JavaScript ฯลฯ มาพร้อมกับระบบ Code completion, ปรับแต่งรูปภาพ, Debugger ฯลฯ แถมยังรองรับการนำไป Deployment ต่อบน Microsoft Azure และ Heroku ที่เป็น Cloud-based IDE เหมือนกันได้ด้วย
ภาพจาก : https://aws.amazon.com/th/cloud9/
อุตสาหกรรมหลายด้านได้รับผลกระทบจากการเติบโตของแอปพลิเคชันที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานบนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ส่งผลให้มีบริษัทหลายแห่งต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองลงสมาร์ทโฟนบ้าง ซึ่งรวมไปถึง แอปพลิเคชันบนเว็บไซต์ (Web App) ด้วย
การพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะทำลงแพลตฟอร์มใดบ้าง อย่างในปัจจุบันนี้ก็มักจะต้องทำเวอร์ชัน iOS, Android และ Web App ก็เลยมี IDE ที่ออกแบบมาให้เขียนโค้ดแบบข้ามแพลตฟอร์มได้ออกมา ก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนพัฒนาแอปพลิเคชันในปัจจุบันนี้
ตัวอย่างเช่น .NET MAUI ที่นักพัฒนาสามารถเขียนแอปพลิเคชันด้วยภาษา C แล้วสามารถให้ IDE ช่วยแปลงเป็นภาษา Swift สำหรับ iOS, Java สำหรับ Android, Catalyst สำหรับ macOS และ WinUI 3 เพื่อให้ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows ได้
ภาพจาก : https://community.devexpress.com/blogs/mobile/archive/2021/07/07/maui-early-access-preview-of-net-multi-platform-app-ui-controls-v21-2.aspx
การพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันขึ้นมาสักตัว นักพัฒนาจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างในการทำ ตั้งแต่เขียนโค้ด, เลือกไลบรารี่ (Libraries), ทดสอบการทำงาน, หาข้อผิดพลาด ฯลฯ หากไม่มี IDE ตัวนักพัฒนาก็จะต้องเลือกเครืองมือสำหรับงานแต่ละชนิด ต้องติดตั้ง, ตั้งค่า และจัดการหลายอย่าง ซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย และยุ่งเหยิง
การนำ IDE มาใช้ จะช่วยลดความซับซ้อนให้การทำงานง่ายกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานเป็นทีม เพราะถ้าต่างคนต่างเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ตัวเองถนัด โอกาสที่เกิดความไม่เข้ากันได้ก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ประโยชน์ของ IDE ที่เห็นได้อย่างชัดเจน มีดังต่อไปนี้
หากไม่มี IDE นักพัฒนาจะต้องเสียเวลากับการสลับใช้เครื่องมือหลายอย่าง แต่ IDE รวมเครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นเอาไว้ให้ในจุดเดียว ทำให้การทำงานมีความเป็นระเบียบ เรียบง่ายกว่ามาก ไม่จำเป็นต้องบันทึกโปรเจคไปเปิดทำงานต่อทีละโปรแกรม นอกจากนี้ IDE ยังมีเครื่องมือสำหรับจัดการทรัพยากรให้ในตัว ทำให้การจัดการกับไฟล์ต่าง ๆ ง่าย และเกิดข้อผิดพลาดได้ยากกว่าด้วย
ส่วนใหญ่แล้วในการพัฒนาซอฟต์แวร์ จะไม่ได้มีนักพัฒนาเพียงแค่คนเดียว มีนักพัฒนาหลายคนที่ต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น มาตรฐานจึงมีความสำคัญมาก ถ้าต่างคนต่างเขียน และใช้มาตรฐานที่ตัวเองชอบ เมื่อต้องนำโค้ดกลับมาผสานกันจะมีปัญหาเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน
ใน IDE จะสามารถกำหนดเทมเพลตของ Code libraries และข้อกำหนดอื่น ๆ เพื่อให้การทำงานของนักพัฒนาทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน ลดปัญหาโค้ดเกิดความขัดแย้งกันได้เป็นอย่างดี
แทนที่จะทำงานใน Code editor แพลตฟอร์ม IDE จะมาพร้อมกับระบบตรวจสอบโค้ดที่เขียนผิดในตัว เช่น การใส่คำสั่งผิด, ลิงก์ไป Object ที่ไม่สามารถเรียกได้ ฯลฯ มันช่วยลดเวลาในการทำงานได้มาก ไม่ต้องรอ Compile แล้วทดสอบถึงเห็นข้อผิดพลาด มันอาจไม่สามารถตรวจจับความผิดพลาดได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่ามีประโยชน์มากอยู่
Cloud-Based IDE ในปัจจุบันนี้ สามารถทำงานร่วมกับ Open-Source Code Management Systems อย่าง Github หรือ Bitbucket ได้เป็นอย่างดี มันช่วยให้นักพัฒนาทำงานได้ง่ายขึ้น ค้นหาโค้ดจาก Repository มาใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างง่ายดาย
นักพัฒนาจำเป็นต้องทำการ Compiler เพื่อเปลี่ยนซอร์สโค้ดให้เป็นไฟล์ Executable (.EXE) ที่สามารถเปิดใช้งานได้ ซึ่งในขั้นตอนการ Compiler จะเป็นการเปลี่ยนซอร์สโค้ดให้เป็นโค้ดที่ระบบปฏิบัติการสามารถรันทำงานได้ ซึ่งใน IDE จะมีการรวบรวมเครื่องมือที่จำเป็นต่อการ Compiler เอาไว้ให้หมดแล้วในตัว
จากทั้งหมดที่ว่ามา จะเห็นว่าการใช้งาน Integrated development environments (IDE) สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับนักพัฒนาได้เป็นอย่างดี ลดขั้นตอนการติดตั้งซอฟต์แวร์หลายตัวที่มีความยุ่งยาก มีระบบบริหารซอร์สโค้ด และกำหนดมาตรฐานที่ชัดจน ช่วยให้นักพัฒนาทำงานคนเดียวก็ง่าย ทำงานร่วมกับนักพัฒนาคนอื่นก็ดี
ถึงตลอดเนื้อหาที่ผ่านมา เราจะอธิบายถึงข้อดีในการใช้งาน Integrated Development Environment (IDE) แต่มันก็มีบางเรื่องที่ต้องพิจารณาก่อนจะนำมันมาใช้งานอยู่เช่นกัน
ความปลอดภัยของแอปพลิเคชันถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่นักพัฒนาทุกคนใส่ใจ การทดสอบความปลอดภัยด้วย IDE เป็นงานยากที่มีความท้าทาย นอกจากนี้ การจะเชี่ยวชาญ IDE เป็นเรื่องยากสำหรับนักพัฒนามือใหม่ รวมไปถึงวิธีการเขียนโค้ดให้มีความปลอดภัย และเครื่องมือช่วยเหลือที่ IDE มีให้ อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ทำได้ยากขึ้น เพราะเคยชินกับ Comfort zone ที่ IDE มีให้
แต่ข้อดีของ IDE ก็มีอยู่เยอะ นักพัฒนาสามารถมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเขียนโค้ดที่มีความซับซ้อน, ควบคุม Version control และวางมาตรฐานในการทำงานเป็นทีมให้เป็นรูปแบบเดียวกัน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |