ในปัจจุบัน "อุปกรณ์สมาร์ทโฮม (Smart Home Devices)" เป็นเทคโนโลยีน่าสนใจที่ใกล้ตัวเรา พวกมันนำความสะดวกสบายมาสู่ชีวิตประจำวันของเรา แต่ก่อนมันอาจเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพง การใช้งานยุ่งยาก เพราะความยุ่งเหยิงของมาตรฐานที่ยังไม่ลงตัว แต่ปัจจุบันนี้ ทั้งราคา และความง่ายในการใช้งาน มันทำได้ดีกว่าเดิมมาก ทำให้ความนิยมในการทำบ้านอัจฉริยะด้วยอุปกรณ์สมาร์ทโฮมมีความแพร่หลายเป็นอย่างมาก
แต่ก็เช่นเดียวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ความสะดวกสบายก็มักมาพร้อมกับข้อเสียบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ มาดูข้อควรระวังในการรักษาความเป็นส่วนตัวของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่เราควรทราบกัน ...
มาเริ่มต้นกันด้วยเรื่องที่สำคัญที่สุด นั่นคือการเก็บข้อมูล อุปกรณ์อัจฉริยะส่วนใหญ่แล้วจะมีเก็บข้อมูล เนื่องจากฟังก์ชันต่าง ๆ ที่มันดูอัจฉริยะนั้น เกิดขึ้นได้เพราะมี "ข้อมูล" ให้อุปกรณ์เหล่านั้นได้ใช้ทำงาน คำถามคือ คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า "อุปกรณ์เหล่านั้นเก็บข้อมูลมากขนาดไหน ?"
เรื่องนี้ เคยมีเหตุการณ์อื้อฉาวเกิดขึ้นมาแล้ว ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) สำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (US Federal Trade Commission) ได้ราบงานการตรวจพบว่า สมาร์ททีวี (Smart TV) ยี่ห้อ Vizio ได้มีการแอบเก็บข้อมูลเนื้อหาที่ผู้ใช้งานทีวีรับชมโดยไม่ขออนุญาต เพื่อนำไปขายให้กับบริษัทโฆษณา
ถึงแม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะได้รับการลงโทษไปแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ มีคุณสมบัติในการเก็บรวบรวม และนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปแสดงหาผลประโยชน์อื่นต่อได้ในวิธีการที่ผู้ใช้อาจคาดไม่ถึง ดังนั้น การพิจารณาว่าคุณรู้สึกสบายใจแค่ไหน กับการที่อุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน รู้เรื่องเกี่ยวกับคุณมากขนาดนี้ และจะมีใครอีกบ้าง ? ที่อาจเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้
มันมีมุกตลกเกี่ยวกับการที่สมาร์ทโฟนแอบฟังเวลาเราคุยกัน เพราะเรามักเห็นโฆษณาเกี่ยวกับสิ่งที่เราพูดถึงเด้งขึ้นมาทันทีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเพียงมุกเท่านั้น ความจริงใช้เทคนิคอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
สำหรับในอุปกรณ์สมาร์ทโฮม มันก็มีข้อเท็จจริงที่ไม่ต่างจากมุกตลกดังกล่าวเท่าไหร่นัก เพราะอุปกรณ์ประเภท ลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speakers) และ กล้องรักษาความปลอดภัย (Security Cameras) ส่วนใหญ่จะมีไมโครโฟน และกล้องที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา
เนื่องจากพวกมันถูกออกแบบมาให้ พร้อมตอบสนองต่อคำสั่งของผู้ใช้งานตลอดเวลา เช่น เมื่อผู้ใช้พูดว่า "สวัสดีสิริ" หรือ "เฮ้ กูเกิล" การจะทำแบบนี้ได้ตัวอุปกรณ์จะต้องคอยฟังเสียงตลอดเวลา ถึงแม้ว่าทางผู้ผลิตจะมีการตั้งค่าให้พวกมันเริ่มบันทึกข้อมูลหลังจากได้ยินคำที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลึก ๆ แล้วมันก็สร้างความไม่สบายใจอยู่บ้าง เมื่อรู้ว่าอุปกรณ์ที่อยู่ในบ้านกำลังคอยฟังเสียงของคุณอยู่ตลอดเวลา
ภาพจาก : https://www.ftc.gov/system/files/documents/cases/170206_vizio_2017.02.06_complaint.pdf
หนึ่งในความเจ๋งของสมาร์ทโฮมคือ การที่ทุกสิ่งสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ตัวอย่างเช่น ไฟอัจฉริยะจะเริ่มหรี่แสงให้ลดลงในทันทีที่คุณเริ่มรับชมภาพยนตร์, เครื่องปรับอากาศหยุดทำงานในทันทีที่คุณออกจากบ้าน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบไร้รอยต่อนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้เพราะข้อมูลมีการแบ่งปันให้กับบริการที่เป็น บุคคลที่สาม (3rd-Party) ด้วย
แต่ละบริการที่ผู้ใช้เชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทโฮม อาจมีนโยบายความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกัน และไม่ใช่ทุกบริการที่จะเข้มงวดตามที่คุณต้องการ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) Strava ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันออกกำลังกาย ได้เปิดเผยตำแหน่งของฐานทัพลับโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากทหารใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว ร่วมกับอุปกรณ์อัจฉริยะของพวกเขา
ภาพจาก : https://www.theguardian.com/world/2018/jan/28/fitness-tracking-app-gives-away-location-of-secret-us-army-bases
อุปกรณ์สมาร์ทโฮมไม่ได้เพียงแต่สังเกตเท่านั้น แต่มันยังรู้จักการเรียนรู้ด้วย พวกมันถูกออกแบบมาให้สามารถเรียนรู้พฤติกรรม, กิจวัตร และแม้กระทั่งความชอบของผู้ใช้งาน เพื่อนำมันมาสร้างโปรไฟล์ที่เก็บข้อมูลชีวิตประจำวันของผู้ใช้ แม้ว่าสิ่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก เช่น เครื่องชงกาแฟของคุณ จะเริ่มชงกาแฟในเวลาที่คุณตื่นทุกเช้า, เครื่องปรับอากาศเริ่มทำงานอัตโนมัติก่อนเวลาที่คุณจะถึงบ้านเล็กน้อย เพื่อให้คุณไม่ต้องกลับมาเจอกับห้องที่อบอวลไปด้วยอากาศร้อน ฯลฯ แต่มันก็ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวได้
ภาพจาก : https://medium.com/ubicomp-iswc-2023/i-know-your-intent-graph-enhanced-intent-aware-user-device-interaction-prediction-via-contrastive-3ddc50fed22c
บริษัทต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายโฆษณา หรือขายข้อมูลเหล่านี้ให้กับบริษัทที่ทำการตลาดต่าง ๆ ลองนึกภาพว่าบริษัทรู้จักพฤติกรรมประจำวันของคุณ ตื่นกี่โมง ? กลับบ้านเวลาไหน ? รู้ดียิ่งกว่าเพื่อนสนิทของคุณเสียอีก มันก็น่ากลัวอยู่นะ
สงสัยไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลของคุณเมื่อมันถูกเก็บไปแล้ว อุปกรณ์สมาร์ทโฮมส่วนใหญ่ เก็บบันทึกข้อมูลเอาไว้บน คลาวด์ (Cloud) แล้วมันจะถูกเก็บไว้นานแค่ไหน ?
นโยบายการเก็บรักษาข้อมูลนั้น จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท และไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับระยะเวลาที่พวกเขาเก็บ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับข้อมูลของผู้ใช้ หลังจากที่ไม่จำเป็นต้องใช้มันอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ อาจยังคงอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเพื่อรอวันถูกนำไปใช้ หรือเสี่ยงต่อการถูกละเมิด
การตรวจสอบนโยบายการเก็บรักษาข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์ ก่อนนำพวกมันเข้ามาในบ้านจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง และหากนโยบายการเก็บรักษาข้อมูลไม่มีความชัดเจน นี่เป็นสัญญาณเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้งานอุปกรณ์จากยี่ห้อดังกล่าว
ภาพจาก : https://g.home.mi.com/views/user-terms.html?locale=en&type=userPrivacy
เมื่อคุณมีอุปกรณ์สมาร์ทโฮมหลายตัวติดตั้งอยู่ภายในบ้าน จะทำให้เราสามารถใช้งานคุณสมบัติ "การติดตามข้ามอุปกรณ์ (Cross-Device Tracking) ได้ โดยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้โดยอุปกรณ์หนึ่ง จะสามารถรวมกับข้อมูลจากอีกอุปกรณ์หนึ่งได้ ช่วยให้ระบบสามารถโปรไฟล์ของผู้ใช้ที่ละเอียดแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สมาร์ททีวีติดตามสิ่งที่เราดู ในขณะที่ลำโพงอัจฉริยะคอยฟังการสนทนาอยู่ เมื่อนำข้อมูลมารวมกันแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้ที่ละเอียดมากขึ้น
หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาการติดตามข้ามอุปกรณ์คือ การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอุปกรณ์สมาร์ทโฮม เลือกใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตได้ข้อมูลส่วนตัวของเรามากเกินไป
อุปกรณ์สมาร์ทโฮมมักมีช่องโหว่อยู่ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในการพัฒนา พอมีการค้นพบช่องโหว่ ทางผู้ผลิตก็จะอัปเดตเฟิร์มแวร์มาเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าว ปัญหาคือมีอุปกรณ์เป็นจำนวนมากที่ถูกลอยแพ ไม่ได้รับการอัปเดตเพื่อแก้ไขปัญหา หรือถูกโจมตีเสียก่อนที่จะมีใครรู้ทันผ่าน ช่องโหว่แบบ Zero-Day
ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) เคยมีเหตุการณ์ที่แฮกเกอร์โจมตีระบบกล้องรักษาความปลอดภัย จนสามารถเข้าไปพูดผ่านไมโครโฟนได้ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าแฮ็กเกอร์สามารถใช้ประโยชน์จากระบบรักษาความปลอดภัยที่อ่อนแอของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมได้
หนึ่งในความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวที่มักถูกมองข้ามคือ นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policies) สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เมื่อเราตั้งค่าอุปกรณ์สมาร์ทโฮมครั้งแรก เราอาจยอมรับเงื่อนไข และข้อกำหนดที่ได้รับแจ้งมาในตอนแรกได้ แต่บริษัทสามารถอัปเดตนโยบายเหล่านี้ในภายหลังได้โดยมีการแจ้งเตือนเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็มักจะกดยอมรับกันโดยไม่ทันได้อ่านด้วยซ้ำ
สิ่งที่เคยเป็นบริการที่มีความเป็นส่วนตัว อาจถูกเปลี่ยนให้สามารถละเมิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และหากคุณไม่ใส่ใจ คุณอาจไม่รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
การนำอุปกรณ์สมาร์ทเข้ามาในใช้งานภายในบ้าน สามารถทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นในหลาย ๆ ด้าน แต่อย่าลืมพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวด้วย หากเราวางระบบอย่างรอบคอบ มันก็เป็นเทคโนโลยีที่ดีช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมหาศาล
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |