ผู้อ่านหลายคนคงเคยคุ้นชินเป็นอย่างดีกับคำว่า "อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Interne of Things - IoT)" แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งคำที่คล้อยตามกันมากับ IoT ซึ่งนั่นก็คือ "อินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรม (Internet of Behaviors - IoB)" ต่อไปนี้ขอเรียกตัวย่อว่า "IoB" เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังมาแรง
แต่แล้ว IoB คือมันอะไร ? ในบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับความหมาย และการใช้งานของเจ้าอินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรมกัน
ภาพจาก : https://themspsummit.com/news/everything-you-need-know-about-internet-behaviors-iob
สำหรับ IoB (Internet of Behaviors) คือเทรนด์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ "พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral science)" โดยอาศัยผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ (UX Design), ปรับปรุงประสบการณ์การค้นหา หรือการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การตลาด
IoB มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอีกอย่าง นั่นคือ Internet of Things (IoT) เพราะข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมจากอุปกรณ์ IoT และแหล่งอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ล้วนสามารถนำมาวิเคราะห์ได้
IoB เป็นเหมือนส่วนต่อขยายจาก IoT อย่างที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีว่า IoT คือกลุ่มเครือข่ายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, เซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์ IoT อื่น ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ หรือแสวงหาผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การตลาด , การแพทย์ , การพัฒนาสินค้า และบริการ
ภาพจาก : https://themspsummit.com/news/everything-you-need-know-about-internet-behaviors-iob
ในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) บริษัท Gartner ได้ระบุว่า Internet of Behaviors (IoB) เป็นหนึ่งในแนวโน้มที่สำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยคาดการณ์ว่า 40% ของผู้คนทั่วโลกจะได้รับประสบการณ์จากแอปพลิเคชัน IoB อย่างน้อยหนึ่งแอปพลิเคชันภายในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) ข้อมูลจาก IoT จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ และช่วยให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้นไปอีกระดับ
IoB มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการธุรกิจอย่างมาก จากการที่มันให้ความสำคัญกับการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้เพื่อ นำไปปรับปรุงคุณภาพของบริการ และห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำงานร่วมกับวิทยาศาสตร์พฤติกรรมอย่างใกล้ชิด และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการสร้างความเข้าใจต่อลูกค้า หรือผู้ใช้บริการอย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้ IoB ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า โดยทำให้การสื่อสารเป็นแบบสองทาง ธุรกิจสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และปรับปรุงบริการให้ตอบโจทย์มีประสิทธิภาพ แทนที่จะต้องทำการปล่อยแบบสำรวจแบบเก่า ๆ เพื่อไปเรียนรู้จากลูกค้านั่นเอง
IoB นำเอาข้อมูลที่รวบรวมได้จากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่าง ๆ มาใช้เปลี่ยนพฤติกรรมของเราซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ในด้านของธุรกิจขนส่งซึ่งมีระบบที่พวกเรารู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง "ระบบติดตามยานพาหนะ (Telematics) " เป็นตัวอย่างของการนำ IoB ไปใช้งาน
ระบบติดตามยานพาหนะ จะวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ของรถบรรทุก เช่น ตำแหน่งของรถ , ความเร็ว , ปริมาณน้ำมันที่ใช้ , เส้นทาง และพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยให้บริษัทขนส่งวางแผนการขนส่งได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลอาจที่ได้รวบรวมมาถูกนำไปแชร์กับบริษัทประกันภัยเพื่อความปลอดภัย และช่วยประเมินความเสียหายกรณีเกิดอุบัติเหตุได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังช่วยในการจัดการงานขนส่ง และกำหนดเวลาส่งสินค้าได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ
ภาพจาก : https://telnyx.com/resources/iot-devices
จริง ๆ แล้ว การที่เรามีอุปกรณ์หลายอย่างเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ก็เหมือนเป็นการใช้ IoB อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น เวลาเราเปิดโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มจะรู้ว่าเราดูอะไรอยู่บนเว็บไซต์ของเขา IoB จะเก็บข้อมูลที่เจาะจงกว่านั้น เช่น คุณเปิดหน้าไหน, เลื่อนหน้าไปนานแค่ไหน, แล้วคุณเปิดหน้าอะไรต่อ ? ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยคาดการณ์พฤติกรรมของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น ระบบอาจจะเดาว่าเรากำลังจะไปเที่ยวช่วงต้นปี และยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปที่หัวหิน หรือเขาใหญ่ดี ซึ่งในส่วนนี้ IoB ก็จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ แสดงโฆษณาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นให้เราได้เห็นในช่วงเวลานั้น ๆ
ภาพจาก : https://lvivity.com/travel-app-development-tips
IoB อาจดูไม่ซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วประโยชน์ของมันนั้นมีเยอะมาก เราลองมาดูประโยชน์ของ IoB กัน
วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าแบบข้ามแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะซื้อผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ ก็เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้หมด ทำให้เรารู้ว่าลูกค้าชอบอะไร ต้องการอะไร ?
IoB ช่วยเก็บข้อมูลการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูกค้า เช่น เวลาที่ลูกค้ามักจะเปิดแอปพลิเคชัน หรือ เว็บไซต์ที่ลูกค้าเข้าชมบ่อย ๆ ข้อมูลเหล่านี้ในอดีตเคยเป็นสิ่งที่เก็บยากแต่ในปัจจุบัน IoB สามารถทำได้อย่างง่ายดาย
IoB ช่วยติดตามผลของแคมเปญการตลาดแบบเรียลไทม์ ทำให้ธุรกิจรู้ว่าแคมเปญไหนที่ประสบความสำเร็จ ปรับปรุงแคมเปญที่ยังอาจจะยังไม่โดนใจลูกค้าได้รวดเร็ว
IoB ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ธุรกิจสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นประหยัดเวลา และทรัพยากร
ข้อมูลที่รวบรวมจากอุปกรณ์ IoT จะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับ IoB ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้า และตลาดได้มากขึ้น
อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าแล้วว่า IoB เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการเพิ่มยอดขาย และการจัดการแคมเปญทางการตลาด ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมายก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ? มาดูกันเลย
ติดตามตำแหน่งของผู้ใช้เพื่อส่งการแจ้งเตือนตามข้อมูลนั้น ๆ กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับธุรกิจหลายประเภท นอกจากนี้ เรายังสามารถได้รับคำขอจากร้านอาหารได้ทันทีหลังจากรีวิวสถานที่นั้น ซึ่งบริการดังกล่าวใช้เทคนิค GPS หรือ เทคโนโลยี NFC ที่ช่วยให้แน่ใจว่าการติดตามตำแหน่งนั้นแม่นยำสำหรับการแจ้งเตือนหรืออีเมลที่ปรับแต่งในแต่ละบุคคล
IoB เปิดโอกาสให้ผู้ที่ให้บริการดูแลสุขภาพ สามารถดูแลผู้ป่วยโดยใช้แอปพลิเคชันได้ เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ช่วยให้สามารถติดตามผู้ป่วยจากระยะไกล เนื่องจากอุปกรณ์ IoT สามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, อุณหภูมิ และอื่น ๆ ส่งข้อมูลนี้ไปยังแอปพลิเคชัน IoB เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นหรือเตือนให้ทานยาตามข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT
อีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญของ IoT และ IoB คือในเชิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว "แอปพลิเคชันจอง" สามารถเรียนรู้จากประวัติการค้นหา และดัชนีอื่น ๆ เช่น สถานะทางประชากรหรือสังคม ทำให้สามารถให้คำแนะนำการเดินทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้าได้
อีคอมเมิร์ซใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า IoB ช่วยให้ทราบว่าการเดินทางไปซื้อสินค้าแต่ละรายการเริ่มต้นอย่างไร, ทำไมผู้คนถึงสนใจสินค้า ? และอะไรส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อของพวกเขา หรือที่เรียกว่า เส้นทางของลูกค้า หรือ เส้นทางของผู้บริโภค (Customer Journey) ซึ่ง IoB นำเสนอข้อมูลเชิงลึกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งช่วยปรับปรุงข้อเสนอสำหรับความต้องการของลูกค้านั่นเอง
ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/green-and-gray-evergreen-cargo-ship-1117210/
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว IoB ด้านโลจิสติกส์สามารถนำไปใช้สำหรับการวางแผนเส้นทางและการจัดส่ง รวมถึงคำแนะนำเส้นทางที่แม่นยำตามข้อมูลเรียลไทม์จากอุปกรณ์ต่าง ๆ ตัวอย่างของอินเทอร์เน็ตพฤติกรรมคือโซลูชันระบบติดตามยานพาหนะ (Telematics Solution) ผู้จัดการสามารถวางแผนเส้นทางเชิงกลยุทธ์มาใช้โดยอิงจากข้อมูลเส้นทางที่เก็บจากยานพาหนะ ข้อมูลนี้อาจรวมถึงนิสัยเฉพาะในการขับขี่ ข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับเหตุการณ์บนเส้นทาง และประเภทของการจัดส่ง เพื่อคาดการณ์เส้นทาง และโลจิสติกส์ที่แม่นยำที่สุด
IoB ยังสามารถนำมาใช้โดยรัฐบาลได้เพื่อติดตามพฤติกรรมของประชาชน รัฐสามารถนำข้อมูลนี้มาเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น คาดการณ์อาชญากรรม, การก่อการร้าย หรือการยั่วยุ ในขณะเดียวกัน บางประเทศใช้เครื่องมือนี้เพื่อติดตามความภักดีของประชาชนต่อระบอบการปกครอง เป็นต้น
ยกตัวอย่างในประเทศจีน สามารถเปลี่ยนแปลงเครดิตสกอร์ของประชาชนตามพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น เราอาจได้รับคะแนนต่ำเพราะไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้า หรือจอดรถในที่ห้ามจอด อย่างไรก็ตามการใช้ IoB ในรูปแบบนี้สร้างความกังวลในด้านความเป็นส่วนตัว และจริยธรรม ดังนั้น การนำ IoB ไปใช้สำหรับภาครัฐ น่าจะมีการหารือกันอีกนาน หากจะนำมาใช้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย
IoB ช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถคำนวณเบี้ยประกันภัยได้อย่างแม่นยำ และเป็นรายบุคคลมากขึ้น ด้วยอุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งในรถยนต์ สามารถเก็บข้อมูลการขับขี่ได้ เช่น ระยะทาง และความเร็ว ซึ่งจะช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ขับขี่ได้เบื้องต้น คนขับขี่ที่ปลอดภัยขับรถดีก็จะได้เบี้ยประกันภัยที่ถูกลง
เว็บไซต์อย่าง Google, Facebook, Youtube ที่ใช้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้ในการแนะนำสินค้าหรือโฆษณาที่ตรงกับความสนใจ IoB ก็เช่นกัน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้บริษัทประกันภัยเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ขับขี่) ได้ดียิ่งขึ้น เหมือนกับที่เว็บไซต์เหล่านั้นแนะนำข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้
ซึ่งเห็นได้ว่า IoB กำลังเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การลงทุน การใช้แอปธนาคาร หรือแม้แต่การเลือกใช้ประกันรถยนต์
เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในช่วงปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ช่วงต้นปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ.2 564) บริษัท Apple ไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ติดตามพฤติกรรมผู้ใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงการโฆษณาในวงกว้าง สิ่งสำคัญคือข้อมูลของผู้ใช้ควรได้รับการปกป้องอย่างเข้มงวด และนำไปใช้เฉพาะกรณีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
สำหรับเทรนด์ IoB เองนั้น การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันนั้นเป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้ทำกันเองอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือ การรวบรวมและใช้ข้อมูลจำนวนมากต่างหาก ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนด้านจริยธรรมของเทรนด์ IoB
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การนำเทรนด์ IoB มาใช้ในชีวิตประจำวัน ยังขาดกรอบกฎหมาย และแนวทางที่ชัดเจน เราจำเป็นต้องหารือกันว่าจะบริหารจัดการกระบวนการเหล่านี้อย่างไร ? เพื่อให้การใช้ IoB เป็นไปอย่างถูกต้อง และมีจริยธรรม
ถึงแม้ว่า IoB จะเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยี แต่การแก้ไขปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ควรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ปัจจุบันมีตัวอย่างความสำเร็จในการนำ IoB ไปใช้มากมาย ซึ่งจำนวนจะเพิ่มขึ้นอีก หากมีการประกันความปลอดภัยของข้อมูลที่รวบรวมมาได้
จากที่ได้หยิบยกข้อมูลของ IoB มาให้ได้อ่านกัน ซึ่งสังเกตเห็นได้ว่า IoB เป็นเครื่องมือทรงพลังที่ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดตามโรคประจำตัว การแนะนำสินค้าที่ตรงกับความต้องการ การติดตามรถยนต์เพื่อประกันภัย หรือการบริหารจัดการรถบรรทุกด้วยระบบเทเลเมติกส์ (Telematics) เทคโนโลยี IoB เหล่านี้ ช่วยให้ผู้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและพึงพอใจกับสินค้า และบริการมากขึ้น
แต่ถึงแม้ว่า IoB จะเป็นเทรนด์ที่มาแรง และมีประโยชน์มากเพียงใด แต่ด้วยความที่การวิเคราะห์พฤติกรรมนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มหาศาลอาจรวมถึงข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย ดังนั้นแล้วเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง
|