บ่อยครั้งที่ ระบบปฏิบัติการ Windows มักจะมีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นเมื่อเราใช้มันไปสักพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรามีนิสัยซุกซนชอบลงนั่นปรับโน่นนั่นนี่บ่อยๆ มันก็อาจจะทำให้ Windows ของเรามีปัญหาขึ้นมาได้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากหาทางแก้ไม่ได้ เราก็อาจจะต้องใช้ท่าไม้ตายอย่าง "การตั้งค่าโรงงาน" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Factory Reset" นั่นเอง
ภาษาไทย มักแปลว่า "วิธีการตั้งค่าโรงงาน" แต่เราว่ามันตลกอ่ะ เอาว่ามันคือการรีเซตเครื่องให้ย้อนไปเหมือนกับตอนที่เพิ่งซื้อมาใหม่ละกัน
โดยในทิปส์นี้เราจะมีวิธี Factory Reset ให้ 3 วิธีนะ มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้าง เลือกจากเมนูลัด (Shortcut) ที่มีอยู่ด้านล่างนี้ได้เลย
อย่าลืม Backup ไฟล์สำคัญเอาไว้ก่อนทำ Factory Reset เพื่อป้องกันความสูญหายที่อาจจะเกิดขึ้น |
ให้เราไปที่เมนู Settings → Update & Security → Recovery จะมีหัวข้อ Reset this PC อยู่ ให้เราคลิกที่ ปุ่ม Get Started
จากนั้นจะมี 2 ทางเลือก คือ "Keep my Files" หรือ "Remove Everything" โดยมันจะทำงานแตกต่างกัน
ถ้าเราเลือกวิธีนี้ ก็ไม่มีตัวเลือกอะไรมากครับ Windows จะแสดงรายการความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้เราดูก่อน สามารถคลิกที่ List of apps to be removed เพื่อดูว่าจะมีแอปพลิเคชันอะไรที่ถูกลบบ้างได้ด้วยนะ
หากเราเลือก Remove Everything เราจะพบกับหน้าต่างตัวเลือกให้เราปรับได้อีกนิดหน่อย โดยสามารถเข้าไปปรับได้ด้วยการคลิกที่ Change settings ก็จะมี Data Erasure และ Data Drives
Fresh Start เป็นฟังก์ชันใหม่ที่ Microsoft ได้อัปเดตเพิ่มให้กับ ระบบปฏิบัติการ Windows 10 การทำงานของมันจะมีความคล้ายคลึงกับการทำ Factory Reset นี่แหละ แต่ว่ารายละเอียดบางอย่างก็มีความแตกต่างที่น่าสนใจอยู่นะ
การใช้คำสั่ง Fresh Start สามารถทำได้โดยไปที่ Settings → Update & Security → Recovery แล้วตรงหัวข้อ More Recovery Options จะมีลิงก์จืดจางเหมือนไม่อยากให้เรากดเขียนว่า "Learn how to start fresh with a clean installation of Windows" ให้กดคลิกเข้าไปได้เลย
หลังจากคลิกจะมีหน้าต่างแจ้งเตือนจาก Windows Security ว่าแน่ใจนะ จะไปต่อจริงหรือเปล่า ก็คลิกยืนยันไปครับ ก็จะเข้าสู่หน้าเมนู Fresh Start สามารถคลิก Get Started เพื่อเริ่มดำเนินการได้เลย (แน่นอนว่าอย่าลืมสำรองข้อมูลก่อนด้วยนะครับ ขอย้ำอีกที)
สรุปง่ายๆ คือ Fresh Start จะดาวน์โหลด Windows 10 เวอร์ชันล่าสุดมาติดตั้งให้ เก็บไฟล์ และการตั้งค่าบางอย่างเอาไว้ให้เรา รวมไปถึงลบพวกซอฟต์แวร์แถมจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาจาก Microsoft Store ออกไปหมด
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ควรระวังไว้ด้วย คุณอาจจะต้องใส่ License keys ใหม่อีกครั้ง ให้กับบางโปรแกรม และอัปเดตไดร์เวอร์ต่างๆ ใหม่ด้วยนะครับ
มาถึงวิธีการสุดท้าย ซึ่งเป็นวิธีที่ซับซ้อนนิดนึง โดยมันจะเป็นการทำ Factory Reset ในช่วงที่ Windows กำลังบูตเข้าสู่ระบบ ผ่านเมนู Advanced Startup
ในกรณีที่เรายังเข้าใช้งาน Windows ได้ตามปกติ เราสามารถเข้าเมนู Advanced Startup ได้โดยไปที่เมนู Settings → Update & Security → Recovery ตรงหัวข้อ Advanced startup ให้คลิก ปุ่ม Restart Now
อีกวิธีง่ายๆ คือ กดปุ่ม Shift บนคีย์บอร์ดค้างเอาไว้ แล้วสั่ง Restart คอมพิวเตอร์
แต่ถ้าเราเข้า Windows ไม่ได้เลย (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) ให้เราพยายามกดปุ่ม F11 (บนคีย์บอร์ด) รัวๆ ระหว่างที่เครื่องกำลังบูต มันเป็นปุ่มลัดสำหรับเข้าเมนู Advanced Startup ในคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ หรือบางรุ่นอาจจะเข้า เมนู Advanced Startup หลังจากที่บูตเข้าระบบไม่สำเร็จ 3 ครั้งติดต่อกัน
หลังจากที่เข้าเมนู Advanced Startup ให้คลิกไปที่ Troubleshoot แล้วเลือก Reset This PC เพื่อเข้าสู่การทำ Factory Reset ซึ่งขั้นตอนที่เหลือจะเหมือนกับในวิธีที่ 1 (ด้านบน)
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |