บทความนี้จะมาพูดถึงเรื่องของความสำคัญของ อุณหภูมิ CPU ที่ความร้อนของมัน สามารถที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมันมีอุณหภูมิสูงเกินไป มันจะทำการลดความเร็วในการประมวลผล เพื่อให้อุณหภูมิความร้อนลดต่ำลงซึ่ง หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit หรือ CPU) ก็คือ หัวใจหลักในการทำงานของคอมพิวเตอร์ เมื่อมันทำงานได้ช้าลง จึงส่งผลกระทบต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก
ในกรณีที่ ระบบระบายความร้อนของ CPU มีปัญหา จน CPU มีอุณหภูมิความร้อนสูงเกินไป ก็จะทำให้คอมพิวเตอร์ของเราทำงานผิดปกติได้ อย่างดีก็แค่เครื่องช้าจนผิดสังเกต แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย เราสามารถเจอ BSOD, เครื่องค้าง, เครื่องรีสตาร์ทเอง หรือแม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ PC ของเราอาจจะดับไปดื้อๆ เองได้เลยทีเดียว ก็เป็นไปได้ ซึ่งทั้งหมดอาจสร้างความเสียหายให้กับ ฮาร์ดแวร์ของคอมเครื่องพิวเตอร์ (Computer Hardware) ของเครื่องคุณได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
ดังนั้น การตรวจสอบอุณหภูมิของ CPU จึงเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันนะ หากระบบระบายความร้อนเรามีปัญหา จะได้รู้ในทันที และรีบหาทางแก้ปัญหาได้ แล้วเราจะรู้อุณหภูมิของมันได้อย่างไร มาอ่านวิธีกันเลย
ก่อนจะไปรู้วิธีดูอุณหภูมิ CPU เพื่อดูความร้อนของมัน ก็อยากให้รู้กันก่อนว่า "ต้องร้อนขนาดไหน ถึงจะเรียกว่าสูงเกินไป" เพราะความจริง CPU ออกแบบมาให้ทนความร้อนได้สูงมากอยู่แล้ว ดังนั้นการจะบอกว่าอุณหภูมิเท่าไหร่ที่เรียกว่าสูงเกินไปจึงไม่สามารถฟันธงเป็นตัวเลขเป๊ะๆ ได้
โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิความร้อนของ CPU ในขณะที่เครื่องเปิดอยู่เฉยๆ ไม่ได้ประมวลผลอะไร จะอยู่ที่ประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส (°C) ซึ่งอุณหภูมิสูงสุดของ CPU ที่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะแนะนำให้รักษาเอาไว้ต่ำกว่าอุณหภูมิสูงสุดที่ CPU รองรับได้ประมาณ 30°C
เช่น สมมติว่า CPU ตัวนั้นรองรับการทำงานที่อุณหภูมิความร้อนสูงสุด 100°C เวลาใช้งานหนัก อุณหภูมิของ CPU ก็ไม่ควรสูงเกินกว่า 70°C ทั้งนี้ สามารถเกินได้บ้างตามการใช้งาน เช่น เล่นเกมแล้วมันพุ่งไป 76-80°C ระดับนี้ยังไม่ต้องกังวล แต่ถ้าแค่เปิดใช้งาน เล่นเน็ตนิดหน่อยแล้วอุณหภูมิพุ่งไป 100°C ตลอดเวลา อันนี้ท่าไม่ดีละ
CPU ที่เรานิยมใช้งานบนคอมพิวเตอร์ ก็จะมีอยู่แค่ 2 ค่าย คือ Intel กับ AMD ทั้งคู่มีเว็บไซต์บอกสเปค CPU อย่างละเอียด ตามปกติแล้ว CPU เกือบทุกรุ่นก็จะรองรับอุณหภูมิสูงสุดใกล้เคียงกันหมดแหละ คือ อยู่ระหว่าง 95-100°C
CPU ของ Intel ในหน้าสเปคจะบอกเอาไว้ในหัวข้อ TJUNCTION ครับ อย่าง i7-10700K ที่ผมใช้งานอยู่จะรองรับอุณหภูมิสูงสุด 100°C
ภาพจาก https://www.intel.com/content/www/us/en/products/processors/core/i7-processors/i7-10700k.html
CPU ของ AMD ในหน้าสเปคจะบอกเอาไว้ในหัวข้อ Max Temps ครับ อย่าง Ryzen 7 3700X จะรองรับอุณหภูมิสูงสุด 95°C
ตอนนี้ คุณผู้อ่านน่าจะเข้าใจแล้วว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมของ CPU ควรจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ต่อไปเราจะมาแนะนำซอฟต์แวร์วัดค่าอุณหภูมิ CPU หรือ โปรแกรมดูอุณหภูมิ CPU ที่นิยมใช้ในการตรวจสอบอุณหภูมิของ CPU กัน
ดาวน์โหลดได้ : https://software.thaiware.com/10662-HWMonitor-Download.html
โปรแกรมดูอุณหภูมิซีพียู HWMonitor เป็นโปรแกรมจากค่าย CPUID ที่พัฒนาโปรแกรมยอดนิยมอย่าง CPU-Z นั่นเอง แต่ โปรแกรมดูอุณหภูมิซีพียู HWMonitor ตัวนี้ จะเอาไว้ช่วยในการวัดอุณหภูมิ วัดไฟ รวมไปถึงวัดความเร็ว การทำงานต่างๆ ของอุปกรณ์ที่ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่ามันช่วยตรวจสอบการทำงานของซีพียู (CPU) ได้ด้วยว่ามีอุณหภูมิอยู่เท่าไหร่แล้ว
ดาวน์โหลดได้ที่ : https://software.thaiware.com/8302-Core-Temp-Download.html
ส่วนตัวแล้ว เราค่อนข้างชอบ โปรแกรมดูอุณหภูมิซีพียู Core Temp นะ เพราะมันทำมาเพื่อเน้นด้านการตรวจสอบอุณหภูมิ CPU โดยเฉพาะเลย
นอกจากจะสามารถบอกอุณหภูมิของ CPU แต่ละ Core ได้แล้ว ยังมีระบบแจ้งเตือนผู้ใช้หาก CPU มีความร้อนสูงเกินไปอีกด้วย รวมถึงการตั้งค่าให้เครื่องปิด (Shutdown) ทันทีที่ CPU เกิดความร้อนสูงผิดปกติ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.msi.com/Landing/afterburner
นัก Overclock และเกมเมอร์อาจจะรู้จักกันดีอยู่ สำหรับโปรแกรม Afterburner นอกจากความสามารถในการปรับแต่งความเร็ว และการทำงานของระบบระบายความร้อนแล้ว มันก็มีเครื่องมือแสดงผลกราฟสถานะการทำงานของฮาร์ดแวร์ด้วย แน่นอนว่าอุณหภูมิของ CPU เป็นหนึ่งในนั้น
สามารถแสดงผลข้อมูลการทำงานของ CPU (หน่วยประมวลผลกลาง), GPU (หน่วยประมวลผลกราฟิก) และ RAM (หน่วยความจำสำรอง) ในขณะที่กำลังเล่นเกมแบบเต็มหน้าจอ (Full Screen Mode) ได้อีกด้วย จึงทำให้เราสามารถมอนิเตอร์ และเห็นค่าต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ หรือแบบสดๆ เลย
ดาวน์โหลดได้ที่ : https://software.thaiware.com/12915-Open-Hardware-Monitor-Download.html
โปรแกรมดูอุณหภูมิซีพียู Open Hardware Monitor หน้าตาจะคล้ายคลึงกับ HWMonitor มาก แต่มีลูกเล่นหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ คือ เราสามารถตั้งให้มันแสดงผลค่าอุณหภูมิบน Taskbar ได้ด้วย โดยไม่ต้องเปิดหน้าต่างโปรแกรมทิ้งไว้ให้เกะกะหน้าจอ
อ้อ ข้อดีอีกอย่าง คือ โปรแกรมนี้แตกไฟล์แล้วใช้งานได้เลย ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง
การระบายความร้อนด้วย CPU ที่นิยมใช้งานทุกวันนี้ แบบธรรมดาๆ ก็จะเป็นพัดลม Heatsink กันเสียส่วนใหญ่ บางทีมันอาจจะเกิดจากการที่มีขี้ฝุ่นไปจับเยอะจนพัดลมระบายความร้อนทำงานได้ไม่เต็มที่ ควรถอดออกมาเป่าฝุ่น หรือ จัด Airflow ภายในเคส ให้อากาศถ่ายเทได้ง่ายขึ้น
แต่ถ้าหากห้องที่เราใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่มีความร้อนสูง เช่น เป็นห้องพัดลมที่โดนแดดส่องทั้งวัน เราก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ ชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่า โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกอย่างอากาศภายในห้องมากนัก หรือหากเงินไม่ใช่ปัญหาก็ติดแอร์ในห้องเลย ก็จะช่วยลดอุณหภูมิของ CPU ได้ในระดับหนึ่ง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |