หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำเคลมของสมาร์ทโฟน หลายๆ รุ่นว่า "ใช้วัสดุระดับเดียวกับ/แบบเดียวกับวัสดุที่ใช้ในอากาศยาน" ซึ่งนี่เป็นคำโฆษณาที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจมากๆ เพราะกว่าจะได้อากาศยาน (เช่น เครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์, จรวด, ยานอวกาศ ฯลฯ) ก็ต้องผ่านขั้นตอนการผลิตที่เข้มงวดรัดกุม รวมถึงวัสดุที่ใช้จะต้องมีความทนทานต่อแรงดันอากาศ ความร้อนและอื่นๆ ที่มองไม่เห็นหรือสัมผัสไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น สมาร์ทโฟนที่ใช้วัสดุแบบเดียวกับเครื่องบินหรือยานอวกาศทั้งหลายจะต้องหล่นแล้วไม่แตกไม่บุบ ตกน้ำไม่ไหล เผาไฟไม่ไหม้แน่ๆ เลยใช่ไหม มาหาคำตอบกัน
https://www.statista.com/statistics/270454/top-10-materials-in-a-smartphone/
จากการสำรวจของ Statista Research Department ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) จะพบว่าชนิดวัสดุ 3 อันดับแรกที่นำมาผลิตสมาร์ทโฟน ได้แก่ ซิลิคอน พลาสติก และเหล็ก ซึ่งถูกใช้ผลิตเป็นโครงสร้าง ส่วนประกอบภายนอก น็อตและสกรูสำหรับประกอบเป็นตัวเครื่อง รองลงมาคืออะลูมินัม ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก นิกเกิล และแบเรี่ยม ซึ่งโลหะบางชนิดใช้สำหรับผลิตสายไฟ แผงวงจรภายใน ส่วนประกอบยิบย่อยอื่นๆ เช่น จุดสัมผัสซิมการ์ด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีในการผลิตส่วนประกอบต่างๆ และใช้โลหะผสมที่เกิดจากการนำโลหะ 2 ชนิดมาผสมกัน เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ดีกว่าโลหะชนิดเดียว
โลหะผสม (Alloy) คือ โลหะ 2 ชนิดที่นำมาผสมกันตามอัตราส่วน เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามต้องการ เช่น ความแข็งแรง ความทนทานต่อความร้อน ทนทานต่อการสึกหรอ แรงกระแทกต่างๆ และให้ได้คุณสมบัติที่ดีกว่าโลหะเดิม ซึ่งโลหะผสมที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ บรอนซ์ เกิดจากการผสมระหว่างทองแดง สังกะสี และดีบุก, ทองเหลือง เกิดจากทองแดงผสมกับสังกะสี เป็นต้น
https://www.mecanizadossinc.com/en/bronce-para-mecanizados-precision/
https://pxhere.com/th/photo/1625204
แม้จะเป็นคำตอบที่น่าผิดหวัง แต่นี่ก็คือความจริงที่ว่า "สมาร์ทโฟนบางรุ่นและอากาศยานใช้วัสดุที่มีชื่อเรียกเหมือนๆ กัน แต่คุณสมบัตินั้นมีความแตกต่างกัน" อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ในอากาศยานจะต้องใช้วัสดุที่รองรับคุณสมบัติมากมาย ทั้งต้องทนความร้อน ยืดหยุ่นได้ดี หรือแข็งแรงตามสเปกส่วนประกอบนั้นๆ ซึ่งแต่ละส่วนก็จะผสมโลหะให้ได้คุณสมบัติตามมาตรฐานที่ต้องการ แต่ในสมาร์ทโฟนนั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้งานบนชั้นบรรยากาศที่มีความกดอากาศสูง มีความร้อนที่มากกว่าพื้นผิวโลกทั่วไป จึงทำให้วัสดุของสมาร์ทโฟนนั้นมีชื่อเรียกของโลหะหลายชนิด เช่น แมกนีเซียมอัลลอย อลูมิเนียมอัลลอย ฯลฯ แต่ไม่ได้มีความทนทานสูงตามกันไป
วัสดุที่ใช้สร้างอากาศยาน ส่วนใหญ่จะเป็นโลหะผสมอะลูมินัม ซึ่งแต่ละชนิดก็มีสูตรผสมที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกเป็นซีรีส์ตัวเลข ได้แก่ ซีรีส์ 2XXX, 3XXX, 5XXX, 6XXX, 7XXX และ 8XXX เช่น โครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ จะต้องใช้วัสดุซีรีส์ 7XXX เนื่องจากมีจุดเด่นในการรองรับน้ำหนักสูง ยืดหยุ่นได้ ส่วนปีกเครื่องบินนั้น จะใช้วัสดุซีรีส์ 6XXX แทน ซึ่งข้อดีของอะลูมินัมก็คือ เป็นวัสดุที่หาง่าย ในต้นทุนที่ไม่แพง มีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และแน่นอนว่ามีความแข็งแรงในเกณฑ์ที่ดี จึงนิยมใช้เป็นวัสดุหลักในการผสมกับโลหะประเภทอื่นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติอื่นๆ นั่นเอง
ตัวอย่างการใช้วัสดุต่างๆ ต่อเครื่องบิน 1 ลำ
https://t3india.com/2016/04/05/aircraft-grade-material-in-your-smartphone-what-does-it-even-mean/
หากสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็จะได้ความว่า "วัสดุเกรดเดียวกับอากาศยาน" นั้นไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว แต่เป็นการนำชื่อของวัสดุโลหะผสมบางชนิดมาใช้แนะนำหรือโฆษณา แต่คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ผลิตสมาร์ทโฟนนั้นแตกต่างจากวัสดุที่ผลิตอากาศยานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฟนบางรุ่นก็มีข้อดีเรื่องความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทกหรือการทำตก ด้วยวัสดุที่แต่ละแบรนด์เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นโลหะผสม แซฟไฟร์ กระจกนานาชนิด ซึ่งมั่นใจได้ว่าทุกๆ แบรนด์ล้วนผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดี รองรับทุกการใช้งานและทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |