ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน เราจึงต้องมี เครื่องปรับอากาศ (Air Conditioners) ยิ่งช่วงหน้าร้อน หลายคนยิ่งไม่อยากออกไปไหน อยู่บ้าน "เปิดแอร์" เย็นสบายกว่า แต่ความสบายก็ต้องแลกมาด้วยค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวธรรมดาอยู่แล้ว เรียกได้ว่าพอหน้าร้อน เปิดแอร์ที เครื่องแอร์ ก็ทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ใช้ไฟสูงกว่าเดิมนั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : แอร์อินเวอร์เตอร์ กับแอร์ธรรมดา ต่างกันอย่างไร ? (Inverter vs Non-Inverter Air Conditioners)
สำหรับบทความนี้ ผมเชื่อว่าเกือบทุกบ้านที่มีแอร์อยู่ ต้องเคยสงสัยบ้างว่าโหมดแอร์แต่ละโหมดมันทำงานอย่างไร แล้วมันช่วยประหยัดค่าไฟแตกต่างกันหรือไม่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
ทีนี้มาดูการทำงานของแต่ละโหมดกัน ว่ามันทำงานต่างกันอย่างไร โหมดไหนกินไฟ โหมดไหนประหยัดไฟได้บ้าง วันนี้เรารวบรวมโหมดตามหลักสากลของแอร์ทุกยี่ห้อมาให้ถึง 9 โหมด แน่นอนว่าแอร์บ้านคุณอาจจะมีไม่ครบ และบางรุ่นชื่ออาจไม่ตรงกันด้วย แต่ก็ศึกษาเป็นแนวทางได้
Cool Mode หรือ โหมดทำความเย็น เป็นโหมดที่มีทุกบ้าน เพราะเป็นโหมดมาตรฐานของเครื่องปรับอากาศ การทำงานของโหมดนี้ก็จะปรับอุณหภูมิตามการตั้งค่าของเรา และเมื่อถึงจุดที่กำหนด ก็จะปิดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ลง เหลือไว้แค่ใบพัดลมดูดอากาศในเครื่องที่เปิดไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อากาศมีการหมุนเวียน
และแน่นอนว่าถ้าเป็น เครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ก็จะต่างออกไป คือแทนที่จะปิดคอมเพรสเซอร์ไปเลย ก็จะเป็นการปรับระดับชะลอการทำงานของคอมเพรสเซอร์แทน ส่วนการกินไฟก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่คุณตั้งค่าเอาไว้ โดยทั่วไปตามหลักสากลจะแนะนำ 24 - 26 องศาเซลเซียส ถึงจะได้ประสิทธิภาพทั้งความประหยัดและความเย็นที่พอเหมาะ
Fan Mode ชื่อก็บอกอยู่ว่า โหมดพัดลม เปิดโหมดนี้เท่ากับปิดการทำงานของ คอมเพรสเซอร์เอาไว้ และเปิดเพียงพัดลมให้อากาศหมุนเวียนเท่านั้น ซึ่งเป็นโหมดที่ประหยัดพลังงานสุด ๆ แต่ก็คือไม่มีลมเย็น ถ้าเลือกใช้โหมดพัดลม ควรปิดแอร์ แล้วใช้พัดลมแทนท่าจะดีกว่า
เว้นแต่ว่าถ้าคุณเปิดในฤดูหนาวจะมีประสิทธิภาพอย่างมาก เพราะพัดลมจะดูดอากาศหนาวเข้ามาถ่ายเท ทำให้คุณรู้สึกเย็นสบาย เหมือนนั่งตากลมอยู่ริมตลิ่ง แถมประหยัดไฟด้วยเพราะไม่ต้องให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน
บางรุ่นอาจไม่มี Fan Mode แต่จะเป็นการปรับระดับพัดลมในเครื่องได้แทนเหมือนแอร์ที่บ้านผม ใครอยากได้ลมเย็น ๆ ถึงใจก็ปรับได้ตามอัธยาศัย
Dry Mode หรือ โหมดควบคุมความชื้น (หรือจะเรียกว่า โหมดแห้ง ก็ได้) ซึ่งมันก็คือ โหมดที่ใช้เปิดเวลาต้องการควบคุมระดับความชื้นในห้อง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ หรือ คนที่มีสุขภาพไม่ดีก็ควรใช้โหมดนี้
การทำงานของ Dry Mode จะใช้หลักการควบแน่นที่เมื่อความร้อนกับความชื้นสัมผัสความเย็นจะเกิดเป็นไอน้ำ ซึ่งในแอร์จะมี 'แผงคอยล์เย็น' ที่คอยดักจับความร้อนและความชื้นในอากาศนั่นเอง
และในช่วงเวลาที่ฝนตก ที่อากาศภายนอกชื้นและเย็นลง ส่งผลให้แอร์ทำงานเปิดปิดบ่อย ๆ ความเย็นที่แผงคอยล์จะไม่เพียงพอ อากาศที่หมุนเวียนเข้ามาก็จะมีความชื้นมากขึ้น (สังเกตได้เวลาฝนตก แอร์จะไม่เย็น และ เราอาจรู้สึกอึดอัดด้วยซ้ำ)
ดังนั้น Dry Mode จึงเป็นการเพิ่มความเย็นให้เฉพาะตัวแผงคอยล์ ทำให้เกิดการควบแน่นดักจับไอน้ำ รวมถึงจะเปิดพัดลมอ่อน ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น
โหมดนี้จะประหยัดกว่า Cool Mode และเราไม่สามารถปรับองศาในโหมดนี้ได้ โดยส่วนมากแต่ละรุ่นจะตั้งองศาให้โหมดนี้ไม่เหมือนกัน บางรุ่นอาจเป็น 24 หรือ 25 องศาเซลเซียส เป็นต้น
Heat Mode หรือ โหมดทำความร้อน พบเห็นได้ตามประเทศแถบที่มีภูมิอากาศหนาว ซึ่งก็จะทำงานตรงข้ามกับ Cool Mode เปิดคอมเพรสเซอร์ทำความร้อน และเปิดพัดลมในการหมุนเวียนอากาศอุ่นภายในห้อง ทำให้อบอุ่นในฤดูหนาว
Auto Mode หรือ โหมดอัตโนมัติ จะทำงานคล้ายกับ Cool Mode แต่ว่าแตกต่างตรงที่ Auto Mode จะปรับระดับทั้งตัวคอมเพรสเซอร์ และ ตัวพัดลมด้วย เมื่ออุณหภูมิไปถึงจุดที่กำหนด เพื่อเป็นการประหยัดไฟมากขึ้น
แต่ในส่วนของแอร์ธรรมดา หรือ Non-Inverter แน่นอนว่าตัวคอมเพรสเซอร์ไม่มีการปรับระดับการทำงานได้ ออโต้โหมดก็จะเป็นการปรับระดับตัวพัดลม และ ปิดคอมเพรสเซอร์ แทน
Eco Mode หรือ โหมดประหยัดพลังงาน จริงๆ มีอีกหลายชื่อเลย อาทิ Energy Saver Mode หรือแม้แต่ Economic Cool (แล้วแต่ว่า แต่ละยี่ห้อจะเรียกอะไร) โดยเมื่อเราเปิดโหมดนี้มันจะเร่งการทำงานของพัดลมมากขึ้น ขณะที่ตัวคอมเพรสเซอร์ จะหลอกเราด้วยการปรับอุณหภูมิ ให้สูงกว่าที่คุณตั้งค่าไว้ประมาณ 2 องศาเซลเซียส เช่น เปิด 24 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิจริง ๆ อาจจะไปอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส เป็นต้น ซึ่งคุณก็จะไม่รับรู้ถึงความแตกต่างนัก แต่แน่นอน ผลลัพธ์ คือคอมเพรสเซอร์ไม่ต้องทำงานหนัก ประหยัดไฟได้มากขึ้น 20 % โดยประมาณ
Sleep Mode หรือ โหมดนอนหลับ เป็นโหมดที่เหมาะเอาไว้ใช้ตามชื่อเลย คือ เวลานอน เพราะโหมดนี้จะทำงานตามปกติทุกอย่าง ก่อนจะแอบเพิ่มอุณหภูมิขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียสใน 2 ช่วงภายในเวลา 2 ชั่วโมง
เช่น เราเปิดเครื่องและกำลังจะนอนตอนเที่ยงคืน (24.00 น.) โดยปรับโหมด Sleep ไว้ที่ 24 องศาเซลเซียล จากนั้นเวลาตีหนึ่ง (01.00 น.) เครื่องจะเพิ่มอุณหภูมิเป็น 25 องศาเซลเซียล และ เวลา ตีสอง (02.00น.) เครื่องจะเพิ่มเป็น 26 องศาเซลเซียส เป็นต้น
การเปิดโหมดนี้ไว้ก็จะเป็นตัวช่วยให้คุณนอนหลับได้อย่างสบายตัว โดยจะค่อย ๆ ปรับอุณภูมิที่เหมาะสม หลังจากคุณหลับแล้วนั่นเอง ซึ่งแน่นอนก็จะประหยัดขึ้นด้วย
Quiet Mode หรือ โหมดเงียบ ซึ่งตามจุดประสงค์ก็คือ ช่วยลดเสียงรบกวนที่ปล่อยออกมาจากเครื่อง ทำให้แอร์ทำงานเบาลง เปิดคอมเพรสเซอร์ และ พัดลมให้เบาที่สุด อาจเย็นไม่ทันใจ แต่จุดประสงค์ของการทำงานโหมดนี้ ก็ใช้สำหรับคนที่อ่อนไหวเรื่องการนอน ชอบความเงียบ ทำให้เครื่องปรับอากาศไม่รบกวนพวกเขา
Turbo Mode หรือ โหมดเทอร์โบ (แปลตรงตัว) ที่จริง ๆ แล้วมันมีหลายชื่อมาก ๆ สุดแท้แต่ผู้ผลิต หรือเจ้าของแบรนด์เครื่องปรับอากาศเขาจะเรียก อย่างเช่น Quick Cool, Jet Mode หรือ Powerful Cool เป็นต้น แต่ส่วนมากจะใช้ชื่อ Turbo Mode ซึ่งความสามารถของโหมดนี้คือการปรับอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ทันใจ ด้วยการให้คอมเพรสเซอร์เร่งทำความเย็นสูงสุด
หลังจากนี้ เราก็จะทราบกันแล้วว่าโหมดต่าง ๆ ของ เครื่องปรับอากาศ ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร โหมดไหนใช้เพื่อความเย็น โหมดไหน ใช้เพื่อประหยัด ก็ลองไปหยิบรีโมทแอร์ของท่านมาตั้งค่ากันดูได้ ขอให้แอร์บ้านท่านเย็น ๆ ค่าไฟถูก ๆ Thaiware เราลาไปก่อน ขอบคุณครับ
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |