ก่อนหน้านี้เราได้เคยพูดถึงภาพรวมในส่วนของ ประเภทของ สัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ (Software License) กันไปแล้ว ซึ่งซอฟต์แวร์แต่ละแบบก็มีลักษณะแตกต่างกันออกไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ซอฟต์แวร์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ และทุกคนน่าจะเคยใช้งานผ่านมือกันมาบ้างก็คงหนีไม่พ้น แชร์แวร์ (Shareware) ซึ่งถ้าดูผิวเผินแล้ว Shareware เป็นซอฟต์แวร์ที่จะต้องมีการเสียเงินใช้ ด้วยเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ที่ทางผู้พัฒนาเขากำหนดขึ้นมา แต่จริงๆ แล้ว มันมีความหมายที่ลึกซึ้งไปมากกว่านั้นอีก ลองมาดูแต่ละประเภทกันเลย
Shareware เป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่งที่ทางผู้ผลิตเปิดให้ผู้ใช้ได้ทำการ “ทดลองใช้งาน” ซอฟต์แวร์นั้น ๆ ก่อนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่อาจมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดการใช้งานเพิ่มเติมที่แตกต่างกันไปตามประเภทของ Shareware นั้น ๆ
อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า Shareware ต่าง ๆ ก็จะมีเงื่อนไขการใช้งานแตกต่างกันไปตามประเภท ซึ่งประเภทของ Shareware นั้นก็สามารถแบ่งได้ 7 ประเภท ดังนี้
สำหรับ Adware นั้นย่อมาจาก “Advertising-Supported Software” หรือที่สามารถแปลความหมายตรงตัวได้ว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถทดลองใช้งานได้โดยมีเงื่อนไขว่าจะมีติดโฆษณาบนซอฟต์แวร์นั้น (อาจเป็นโฆษณา Pop-up ให้คอยกดปิดหรือแถบโฆษณาแบบ แบนเนอร์บริเวณใดบริเวณหนึ่งก็ได้)
และประเภทของโฆษณาที่ผู้ใช้มักพบเห็นได้บ่อย ๆ ก็มักจะเป็นโฆษณาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้เข้าเยี่ยมชม ซึ่งทางผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทนี้ จะรับเงินสนับสนุนจากการ ให้พื้นที่ลงโฆษณาเหล่านั้นนั่นเอง (Thaiware.com เราก็มีนะ เพื่อความอยู่รอดคร้าบ แหะๆ)
ภาพจาก : https://antivirus.comodo.com/blog/comodo-news/what-is-adware-and-their-removal-methods/
ส่วนในเรื่องของระยะเวลาการใช้งานและฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ของโปรแกรมนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางผู้พัฒนา เพราะบางเจ้าอาจเปิดให้ใช้แบบไม่จำกัดระยะเวลา อาศัยรับเงินจากโฆษณาเท่านั้น หรือบางเจ้าอาจสงวนฟีเจอร์บางอย่างไว้ให้กับผู้ที่จ่ายเงินซื้อเวอร์ชันเต็มก็ได้เช่นกัน แต่หลัก ๆ แล้วหากผู้ใช้เสียเงินซื้อเวอร์ชันเต็มแล้วก็จะไม่พบโฆษณากวนใจอีกต่อไป
ในส่วนของ Crippleware นั้นส่วนมากมักจะพบได้บ่อยในซอฟต์แวร์ประเภท โปรแกรมปรับแต่งรูป (Photo Editing Software), โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ (Video Editing Software) หรือแม้แต่ประเภท โปรแกรมจับภาพหน้าจอ (Screen Capturing Software) ต่าง ๆ
โดย Shareware ประเภทนี้ ก็มักมีจุดสังเกตง่าย ๆ เป็นการเพิ่ม “ลายน้ำ (Watermark)” เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งหากผู้ใช้ต้องการใช้งานแบบไม่ติดลายน้ำก็จะต้องเสียเงินซื้อเวอร์ชันเต็มนั่นเอง
ภาพจาก : https://i.ytimg.com/vi/NWiMQIJbeL8/hqdefault.jpg
Demo หรือ Trialware นี้ก็เป็นซอฟต์แวร์ที่ทางบริษัทผู้พัฒนาได้เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถดาวน์โหลดมา “ทดลองใช้งาน” ก่อนได้ในระยะเวลาที่จำกัด เช่น 7 วัน (1 สัปดาห์), 14 วัน (2 สัปดาห์), 30 วัน (1 เดือน) หรือระยะเวลาตามที่ทางผู้พัฒนาระบุไว้ในเงื่อนไขการทดลองใช้งาน
โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ทางผู้พัฒนากำหนดเอาไว้แล้ว ผู้ใช้จะไม่สามารถใช้งานซอฟต์แวร์นั้น ๆ ต่อได้อีกและมีข้อความปรากฎขึ้นให้ผู้ใช้ทำการ “ซื้อ License ของซอฟต์แวร์” หรือกรอกรหัส License Key เพื่อใช้งานต่อไป
ภาพจาก : https://i1.taimienphi.vn/tmp/cf/aut/so-sanh-freeware-trialware-va-shareware-2.jpg
ส่วน Donationware ก็หมายถึงซอฟต์แวร์ที่ทางผู้พัฒนาเปิดให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้แบบเต็มประสิทธิภาพ โดยภายในซอฟต์แวร์จะมีลิงก์ให้ผู้ใช้ทำการบริจาคเงิน (Donate) เพื่อสนับสนุนผู้พัฒนาตามความต้องการของผู้ใช้ (ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ เห็นได้น้อยในหมู่ผู้พัฒนาโปรแกรมชาวไทย)
ถ้าหากเราว่าไม่มีความประสงค์ที่จะบริจาค เราก็ยังสามารถใช้งานได้ฟรีเช่นกัน แต่แนะนำให้บริจาค สักเล็กน้อย เพื่อเป็นค่ากาแฟ หรือค่าอาหารของผู้พัฒนาบ้างน่าจะดีกว่านะ :)
ภาพจาก : https://tntsoftworks.wixsite.com/software/message-encrypter
Freemium Software นั้นมาจากคำว่า "Free + Premium + Software" โดยมันจะหมายถึงซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีการจำกัดความสามารถบางอย่างของตัวซอฟต์แวร์นั้น ๆ ไว้ สงวนให้เฉพาะผู้ที่ซื้อ License ของซอฟต์แวร์สามารถใช้งานได้เท่านั้น ส่วนผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปที่ดาวน์โหลดมาใช้ฟรีก็สามารถใช้งานโปรแกรมได้ภายใต้เงื่อนไขและฟีเจอร์ที่กำหนดนั่นเอง
ภาพจาก : https://bmtoolbox.net/patterns/freemium/
ในส่วนของ Nagware นั้นก็เป็น Shareware อีกประเภทที่น่าจะสร้างความปวดหัวให้กับผู้ใช้งานอยู่ไม่น้อย เพราะซอฟต์แวร์ประเภทนี้ ถึงแม้ว่าจะเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดมาใช้งานกันได้แบบ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ก็จริง แต่ว่ามันก็มาพร้อมข้อจำกัดอย่างการเด้ง “แจ้งเตือน” ให้ผู้ใช้ทำการซื้อ License อยู่บ่อยครั้ง
และถึงแม้ว่าเราจะสามารถกดปิดการแจ้งเตือนเหล่านั้นลงไป และใช้งานซอฟต์แวร์ได้ตามปกติ (ข้อความจะหายไปอย่างถาวรหากผู้ใช้ซื้อ License) ดังนั้นผู้ใช้หลาย ๆ คนยอมเสียเงินซื้อ License เพื่อไม่ให้มีการแสดงผลข้อความแจ้งเตือนเหล่านั้นอีก
ภาพจาก : https://pdfill.de.uptodown.com/windows
Postcardware หรือที่บางครั้งเรียกกันว่า Cardware ก็ได้ มันเป็น Shareware ประเภทที่ผู้ใช้จะต้องทำการ "ส่งข้อความ" หาผู้พัฒนาเพื่อขอให้งานซอฟต์แวร์นั้น ๆ โดยส่วนมากมักให้ส่งอีเมลหาเพื่อติดต่อผู้พัฒนา จากนั้นทางผู้พัฒนาก็จะส่งซอฟต์แวร์มาให้ใช้งาน โดยซอฟต์แวร์ที่ส่งมาให้นั้นอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานเพิ่มเติมหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับทางผู้พัฒนา
ภาพจาก : https://technewspedia.com/postcardware-what-is-it-and-what-is-it-for-examples-%E2%96%B7-2020/
สำหรับซอฟต์แวร์อย่าง Shareware ที่ทางผู้พัฒนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้งานซอฟต์แวร์กันก่อนนั้นก็เป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจซื้อ ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ (Licensed Software) หรือ โปรแกรมแท้ ของผู้ใช้อยู่ไม่น้อย เพราะตัวผู้ใช้เองสามารถที่จะทดลองใช้งานและเปรียบเทียบซอฟต์แวร์ชนิดเดียวกันกับของบริษัทอื่น ๆ เพื่อตามหาซอฟต์แวร์ที่ถูกใจที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อได้ ไม่ต้องเสียเงินและความรู้สึกไปเปล่า ๆ กับการซื้อ License ของ ซอฟต์แวร์ ที่คิดว่าน่าจะถูกใจมาใช้งาน แต่เมื่อใช้งานจริงกับพบว่าไม่เข้ามือและไม่ชอบฟีเจอร์หลาย ๆ อย่างของซอฟต์แวร์ที่เสียเงินซื้อไปแล้ว
ถึงแม้ว่า Shareware จะมี “เงื่อนไขหรือข้อกำจัดในการใช้งาน” บางประการที่ขึ้นอยู่กับทางผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นั้น ๆ ที่บางครั้งอาจดูน่าหงุดหงิดใจเล็กน้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นซอฟต์แวร์อีกประเภทที่มีประโยชน์กับผู้ใช้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |