ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Technostress คืออะไร ? เราจะมีวิธีรับมือกับ Technostress ได้อย่างไรบ้าง ?

Technostress คืออะไร ? เราจะมีวิธีรับมือกับ Technostress ได้อย่างไรบ้าง ?
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/big-isolated-young-woman-work-table-laptop-depressed-trying-problem-solving-cartoon-character-vector-illustration_13399702.htm?query=technostress
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 5,988
เขียนโดย :
0 Technostress+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%C2%A0Technostress+%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Technostress คืออะไร ?
เราจะมีวิธีรับมือกับ Technostress ได้อย่างไรบ้าง ?

เมื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกนำเข้ามาปรับใช้กับสถานที่ทำงานในแต่ละแห่งมากขึ้น เพื่อให้การทำงานในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติจากโรคระบาดสามารถดำเนินต่อไปได้ไม่ได้ดีนั้น กลับกลายเป็นว่า มันไม่ได้มีแต่เรื่องดี ๆ ที่ทำให้เราสามารถยังคงทำงานได้ หรือทำงานได้สะดวกขึ้นเสมอไป แต่กลับทำให้มีความเครียดสะสมจากอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแทนโดยที่เราไม่รู้ตัว คุณอาจกำลังเผชิญกับสภาวะที่ถูกเรียกว่า Technostress อยู่ก็เป็นได้

บทความเกี่ยวกับ Techno อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

 

Technostress คืออะไร ?
(What is Technostress ?)

Technostress สามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ความเครียดจากเทคโนโลยี เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่คนเรามักจะประสบพบเจอในเวลาที่ไม่สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ หรือได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามากเกินไป โดยอาการที่เกิดขึ้นตามมานั้นสามารถมีได้มากมายหลายรูปแบบ เช่น ปวดหัว, รู้สึกหมดพลัง, เกิดอาการแพนิค, ดวงตาอ่อนล้า, ปวดคอ, นอนไม่หลับ, เกิดความกังวล, รู้สึกเครียด, ฯลฯ

Technostress คืออะไร ?
เครดิตรูปภาพ :  https://www.freepik.com/free-photo/top-view-portrait-woman-lying-desk-near-laptop_1281136.htm#page=1&query=burnout&position=2

คำดังกล่าวได้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) จากหนังสือของ Craig Brod ที่มีชื่อว่า  Technostress : The Human Cost of the Computer Revolution (ความเครียดจากเทคโนโลยี : ต้นทุนมนุษย์ในการปฏิวัติคอมพิวเตอร์) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจผลกระทบในแง่ลบของการพึ่งพาเทคโนโลยี

หนังสือ Technostress
เครดิตรูปภาพ :  https://www.amazon.com/Techno-Stress-Revolution-1984-02-01-Hardcover/dp/B012YXHRX8

การพึ่งพาเทคโนโลยีเริ่มมีมากขึ้นนับตั้งแต่ปีที่หนังสือเล่มนั้นวางขาย ดังที่เราจะเห็นได้ว่า พวกมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว น่าเศร้าตรงที่ ความเครียดจากเทคโนโลยีนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนทำงานอย่างเรา ๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับเครื่องมือใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เชื้อไวรัสกำลังระบาดไปทั่วโลก เหมือนเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้เราต้องหันเข้าหาเทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารและประสานงานในการทำงานกับเพื่อนร่วมทีมนั่นเอง

ประเภทของผู้ที่เกิด ความเครียดจากเทคโนโลยี
(Types of Techno-Stressors)

สาเหตุหลักของการเกิด ความเครียดจากเทคโนโลยี (Technostress) นั้น ถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลักด้วยกันได้แก่

1. Techno-Overload

อาการนี้จะเกิดขึ้นในผู้ที่ต้องคอยรับมือกับการถูกแทรกแซงเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากบรรดาอีเมลทั้งหลาย, จำนวนงานที่มากจนเกินไป, และการแจ้งเตือนจากที่มาหลาย ๆ อย่าง เช่น โปรแกรมแชท, ข้อความใหม่, สายเข้า, แจ้งเตือนกำหนดการ เป็นต้น

2. Techno-Invasion

อาการนี้จะพบได้ในผู้ที่ติดปัญหาในการแบ่งขอบเขตให้ชัดเจนระหว่างที่ทำงานและชีวิตส่วนตัว เพราะคนกลุ่มนี้จะต้องคอยรับการแจ้งเตือนจากที่ทำงานหลังเวลาเลิกงานไปแล้ว และรู้สึกว่าจะต้องตอบรับการแจ้งเตือนเหล่านั้นด้วยแม้ในช่วงที่นอกเหนือจากเวลาทำงาน

3. Techno-Complexity

เมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหากับการปรับตัวเข้ากับเครื่องมือใหม่ ๆ เพราะรู้สึกว่ามันซับซ้อน หรือมีความยุ่งยากเกินไปในการเรียนรู้ คืออาการของ Techno-Complexity ปัญหานี้มักพบเห็นได้ในผู้ที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) (คนที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ถึง พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964)) หรือเหล่าผู้คนที่ไม่ได้เกิดมาในช่วงที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากนัก ทำให้รู้สึกว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ รอบตัวนั้นช่างซับซ้อนเหลือเกิน

4. Techno-Insecurity

เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มเกิดความกังวลว่า ตำแหน่งที่คุณทำอยู่นั้นอาจจะถูกแทนที่ด้วยคนอื่นหรือด้วยหุ่นยนต์ AI ถ้าหากไม่สามารถทำงานได้ทันตามกำหนด อาจแสดงว่าคุณคือหนึ่งในผู้ที่มีอาการของ Techno-Insecurity ซึ่งก็สามารถแปลได้ตรงตัวจากชื่ออาการเลยว่า รู้สึกไม่ปลอดภัยจากเทคโนโลยี (ที่ทันสมัยขึ้นทุกวัน)

5. Techno-Uncertainty

ความรู้สึกไม่แน่นอนที่มีมากเกินไปในคนที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของการอัปเกรดของบรรดาเทคโนโลยีนั้น คืออาการของผู้ที่อยู่ในข่าย Techno-Uncertainty 

ประเภทของผู้ที่เกิดความเครียดจากเทคโนโลยี
เครดิตรูปภาพ : https://www.freepik.com/free-photo/asia-businesswoman-wearing-medical-face-mask-using-laptop-talk-colleagues-about-plan-video-call-while-working-from-home-living-room_15114666.htm#page=1&query=work%20from%20home%20office&position=13

วิธีการรับมือกับปัญหา Technostress
(How to Deal With Technostress ?)

หลังจากที่เราได้เรียนรู้กับอาการที่เข้าข่ายว่าจะมีปัญหาทางด้านความเครียดจากเทคโนโลยี หรือ Technostress ไปแล้ว จะมีวิธีรับมือและแก้ไขอาการเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับเราหรือคนรอบข้างได้อย่างบ้างในเวลาที่เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่จะสามารถแก้ไขได้โดยหลัก คือการเสริมสร้างอุปนิสัยหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ช่วยให้คุณสามารถจำกัดการใช้งานเทคโนโลยีที่มากเกินไปได้ โดยวิธีดังต่อไปนี้ 

1. สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการทำงาน (Set Work Boundaries)

เทคโนโลยีนั้น ทำให้เราสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้บนโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ของไวรัสระบาดในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานบริษัทที่ต้องเข้าออฟฟิศแล้วถูกเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน (Work From Home) แทน วันเวลาที่ผู้จัดการกับเพื่อนร่วมงานได้อยู่ในออฟฟิศเดียวกันก็หายไป

ทุกวันนี้ เราสามารถส่งอีเมลหรือข้อความทำงานได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นในครัว, ห้องนั่งเล่น, หรือแม้กระทั่งห้องนอน (เรารู้คุณก็เคย) ทำให้เรายิ่งสามารถแยกเรื่องงานออกจากชีวิตส่วนตัวได้ยากขึ้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปรับปรุงเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้ได้ เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหา Techno - Overload และ Techno - Invasion ได้

วิธีการรับมือกับปัญหา Technostress
เครดิตรูปภาพ :  https://www.freepik.com/free-photo/asia-businessman-dressed-shirt-shorts-use-laptop-talk-colleagues-video-call-while-work-from-home-living-room-self-isolation-social-distancing-quarantine-corona-virus-prevention_10074875.htm#page=1&query=work%20from%20home%20office&position=21

การจัดพื้นที่สำหรับทำงานโดยตรง คือสิ่งที่จำเป็นเหนือสิ่งอื่นใด และหัวข้อต่อไปนี้คือเคล็ดลับที่คุณสามารถเอาไปทำตามเพื่อจัดพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับทำงานได้นะ

  • พยายามกำหนดตัวเองให้ทำงานเฉพาะในช่วงเวลางานเท่านั้น
  • ปิดการแจ้งเตือนจากบรรดาแอปโซเชียลมีเดียทั้งหลายเอาไว้ก่อน รวมไปถึงการแจ้งเตือนจากแอปที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ในเวลางานด้วย
  • ตั้งกรอบเวลาในการเช็คและตอบอีเมลให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเช็คตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า หรือเช็คครั้งสุดท้ายก่อนเข้านอน
  • หลีกเลี่ยงการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น คุยโทรศัพท์เรื่องงานและทำกับข้าวในเวลาเดียวกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในระหว่างเวลาพัก นอกเวลางาน หรือในช่วงที่อยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว
  • จำกัดสิ่งที่ต้องทำที่เป็นเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวออกไปเป็นคนละอุปกรณ์ไปเลยถ้าทำได้ (เช่น iPad เอาไว้ทำงาน, iPhone เอาไว้ติดต่อเรื่องส่วนตัว เป็นต้น)

2. การฝึกฝน (Training)

สถานที่ทำงานของแต่ละที่นั้น ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งสิ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีการปรับใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อรองรับกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่จากเหตุการณ์โรคระบาด แต่ก็เป็นเพราะความสามารถของเทคโนโลยีเหล่านั้นเหมือนกันที่กลายเป็นดาบสองคม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมขึ้นในหลาย ๆ คนที่ไม่รู้วิธีใช้งานพวกมัน

วิธีการรับมือกับปัญหา Technostress
เครดิตรูปภาพ :  https://www.freepik.com/free-photo/young-asia-businesswoman-using-laptop-talk-colleague-about-plan-video-call-meeting-while-work-from-home-living-room_15114594.htm?query=learning

การฝึกฝนตัวเองและเพื่อนร่วมงานให้สามารถรับมือกับ Techno - Complexity ได้ โดยการสอนให้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและลดความเครียดลงได้ ผลที่ตามมาก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้ดีขึ้นได้ด้วย

ส่วนเรื่องความกังวลของพนักงานในการที่ระบบกลไกอัตโนมัติและบรรดาเครื่องจักรกลอัจฉริยะจะเข้ามาแทนที่คนนั้น ผู้บังคับบัญชาสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้โดยการฝึกเพื่อเพิ่มระดับทักษะ และมอบหมายงานที่ยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์เพื่อทำงานอยู่ ก็สามารถทำให้คลายกังวลในเรื่อง Techno - Insecurity ไปได้

3. เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง (Learn New Technology Gradually)

เมื่อเราเริ่มมีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมไปถึงโปรแกรมที่หลากหลายเพื่อการทำงานในรูปแบบใหม่มากขึ้น การที่คุณรวบรัดเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็อาจจะทำให้เริ่มเกิดปัญหา Techno - Complexity ตามมาได้ง่าย ๆ

วิธีการรับมือกับปัญหา Technostress
เครดิตรูปภาพ :  https://www.freepik.com/free-photo/millennial-young-chinese-businesswoman-working-late-night-stress-out-with-project-research-problem-laptop-living-room-modern-home-asia-people-occupational-burnout-syndrome-concept_7685886.htm#page=1&query=burnout&position=28

ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือ การค่อย ๆ ต่อยอดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาทีละอย่าง ศึกษาประโยชน์และจุดประสงค์ของโปรแกรมนั้น ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริง รวมไปถึงอาจพิจารณาลงทุนในโปรแกรมที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานที่สามารถใช้งานได้แบบมัลติฟังก์ชันและผสานเข้ากับโปรแกรมอื่นได้ ก็จะช่วยลดความเครียดจากเทคโนโลยีลงในอีกทางหนึ่งเช่นกัน

4. บล็อกสิ่งรบกวนออกไปให้หมด (Block Out Distractions)

การใช้งานเทคโนโลยีอย่างหนักหน่วงในการทำงาน นำไปสู่การหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากของบรรดาเว็บไซต์, พาดหัวข่าวทั้งหลาย, แอปพลิเคชัน, ฯลฯ ที่มารอรับความสนใจจากคุณ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลที่ทำให้ประสิทธิผลในการทำงานน้อยลง และสามารถนำไปสู่ความเหนื่อยล้าทางจิตใจได้

วิธีการรับมือกับปัญหา Technostress
เครดิตรูปภาพ :  https://www.freepik.com/free-photo/sad-female-workaholic-keeps-hands-chin-busy-making-project-work-studies-papers-wears-elegant-white-shirt-sits-desktop-unknown-people-stretch-hands-with-notes-alarm-clock-smartphone_11576101.htm#page=1&query=burnout&position=9

การบล็อกหรือหยุดสิ่งรบกวนต่าง ๆ ออกไป คือหนทางที่ดีที่สุดในการเลี่ยงอาการ Techno - Overload และช่วยให้คุณสามารถกลับมาตั้งสมาธิได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งรบกวนต่าง ๆ ไม่เพียงแต่จะหมายถึงปัจจัยข้างต้นเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งที่ผลาญเวลาทำงานของคุณออกไปโดยไม่จำเป็น เช่น การสื่อสารที่ไม่ได้สาระสำคัญอะไร, การประชุมที่ไม่สร้างสรรค์, หรือการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งคุณจะต้องลดทุกอย่างที่ว่ามาให้น้อยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้

5. หัดพักผ่อนและดึงปลั๊กออกเสียบ้าง
(Practice Relaxation and Unplug When Necessary)

ผู้คนจำนวนมากได้ทำงานแข่งกับเวลาโดยพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราสามารถย้อนเวลากลับไปเพื่อแก้ไขสิ่งที่ก่อให้เกิดเป็นความเครียดจากเทคโนโลยีได้ก็คงจะดีไม่น้อย

วิธีการรับมือกับปัญหา Technostress
เครดิตรูปภาพ :  https://www.freepik.com/free-photo/serious-young-businessman-looking-financial-report-seem-like_1025869.htm#page=1&query=burnout&position=5

เพราะเมื่อเราอยู่ในที่ทำงาน เราสามารถกำหนดเวลาการพักจากการทำบางสิ่งบางอย่าง ที่ช่วยทำให้เราผ่อนคลายได้มากขึ้นและสงบยิ่งขึ้น เช่น การออกไปเดินเล่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ ทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการเฝ้าหน้าจอก่อนที่จะเข้านอนได้ เพราะแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) ต่าง ๆ รวมไปถึงคอมพิวเตอร์ สามารถรบกวนวงจรการนอนหลับของเราได้

สุดท้ายนี้ ไม่ต้องไปกลัวการดึงปลั๊ก (คอมพิวเตอร์) ของคุณออก ในตอนไหนก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกอยากกลับมาเชื่อมต่อกับตัวตนของตนเองอีกครั้ง อย่าลืมไปอยู่กับปัจจุบันของคุณด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณชอบในชีวิต และกอบกู้ตัวเองขึ้นมาจากอาการหมดไฟบ้างนะ :)

 

ที่มา : www.makeuseof.com

0 Technostress+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%C2%A0Technostress+%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น