ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

เกมใหม่ออกมาจะสมหวัง หรือผิดหวัง ? มาดู 7 สัญญาณบ่งชี้ ว่าเกมที่คุณเล็งไว้อาจทำให้ผิดหวังกัน

เกมใหม่ออกมาจะสมหวัง หรือผิดหวัง ? มาดู 7 สัญญาณบ่งชี้ ว่าเกมที่คุณเล็งไว้อาจทำให้ผิดหวังกัน

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 5,693
เขียนโดย :
0 %E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9+7+%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

7 สัญญาณบ่งชี้ ว่าเกมที่คุณเล็งไว้อาจทำให้ผิดหวังได้
(7 Signs a Game Will Probably Disappoint You)

บาางครั้ง คุณอาจจะเห็นเกมที่ถูกชะตา และรีบพรีออเดอร์อย่างรวดเร็ว และเมื่อวันวางจำหน่ายมาถึง คุณเล่นเกมนั้นไปไม่นานแล้วค้นพบว่า เกมที่คุณเพิ่งได้มา ช่างน่าผิดหวังซะจริง

บทความเกี่ยวกับ Game อื่นๆ

จริงอยู่ว่า คุณสามารถกดขอรีฟันด์ (Refund) หรือขอคืนเงินได้ แต่สำหรับบางเกมหรือบางแพลตฟอร์ม การขอรีฟันด์ก็ยุ่งยากพอควร และอาจกินเวลานานมากกว่าการพรีออเดอร์ซะอีก หน้าร้านที่ขายแบบดิจิตอลส่วนใหญ่ ก็จะไม่เปิดให้คืนเงินถ้าหากคุณดาวน์โหลด หรือเพิ่งเล่นไปไม่นาน แถมร้านค้าปลีกบางร้าน ก็ไม่เปิดให้ลูกค้ารีฟันด์เว้นเสียแต่แผ่นจะเกิดความเสียหายทางกายภาพในขณะขนส่ง สำหรับใครที่พรีออเดอร์เกมแบบแผ่นด้วย

ดังนั้น คุณสามารถเซฟเวลาและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาที่คุณจะเกิดการผิดหวังจนนำไปสู่การขอรีฟันด์ได้ ด้วยการสังเกต สัญญาณต่าง ๆ ที่อาจบ่งชี้ว่าเกมนั้น ๆ ไม่ได้ดีพอแบบที่คุณคาดหวังไว้

เนื้อหาภายในบทความ

  1. คลิปเทรลเลอร์เกมเพลย์ ที่ไม่มีเกมเพลย์
    (Gameplay trailer without the gameplay)
  2. รูปแบบเกมเป็นแบบ Pay-to-Win
    (The gameplay is Pay-to-win)
  3. เปิดช่วงทดสอบ ใกล้วันที่เปิดให้เล่นจริง แต่ยังเจอบัคเพียบ
    (The beta is too buggy when it close to the launch date)
  4. ใกล้วันวางขายแล้ว แต่ยังได้เห็นแค่เกมเพลย์ที่เล่นไปตามสคริปต์เท่านั้น
    (Still seeing scripted gameplay reveals close to launch day)
  5. ติดโรคเลื่อน
    (The game is facing a multiple delay)
  6. รีวิวของเกม ถูกปล่อยแบบกระชั้นชิด วันวางจำหน่าย
    (Reviews of the game are released near the launch date)
  7. ดูเน้นหนักไปที่กราฟิก มากกว่าเกมเพลย์
    (Fouch more on graphics rather than gameplay)

1. คลิปเทรลเลอร์เกมเพลย์ ที่ไม่มีเกมเพลย์
(Gameplay trailer without the gameplay)

สำหรับชาวเกมเมอร์แล้ว ล้วนแต่ต้องเคยดูสิ่งที่เรียกว่า Gameplay Trailer หรือเทรลเลอร์ที่โชว์รูปแบบการเล่นของเกมนั้นมาก่อนที่เกมจะเปิดตัววางขายจริงแน่นอน แต่ถ้าคุณดูเทรลเลอร์นั้นจนจบแล้ว กลับมีคำถามตามมาว่า แล้วไหนล่ะเกมเพลย์ ? ขึ้นมาล่ะก็ อาจเป็นไปได้ว่า ผู้พัฒนากำลังเล่นตุกติกอะไรบางอย่างด้วยการหันเหความสนใจของคุณไปที่ฉากคัทซีน หรือรูปแบบกราฟิกเกมอื่น ๆ เพราะแท้จริงแล้ว ตัวเกมอาจจะยังไม่พร้อมที่จะโชว์เกมเพลย์ให้เห็น หรือแม้แต่ผู้พัฒนาเองก็อาจคิดว่า เกมเพลย์ของตัวเองดีไม่พอที่จะโชว์ให้คนอื่นเห็นอีกต่างหาก

คลิปเทรลเลอร์เกมเพลย์ ที่ไม่มีเกมเพลย์
เครดิตภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=TPJQVvcbiv0

และถ้าหากว่าเกมนั้นใกล้วันวางขายเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ยังคงมีแค่ Cinematic Teaser ออกมาให้เห็น ไม่มีวี่แววของ Gameplay Trailer ว่าจะตามมาแล้วล่ะก็ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนกลาย ๆ ถึงคุณภาพของเกมนั้นแล้วนะ

2. รูปแบบเกมเป็นแบบ Pay-to-Win
(The gameplay is Pay-to-win)

เมื่อผู้พัฒนาประกาศว่า จะมีการเปิดให้ซื้อของภายในเกมมในรูปแบบของ Microtransactions ที่จะช่วยให้คุณได้เปรียบมากขึ้นภายในเกม หรือแม้กระทั่งมีอภิสิทธิ์เหนือผู้เล่นอื่นในเกมแล้วล่ะก็ นั่นแปลว่าเกมนั้นเป็นเกม Pay-to-Win ที่บางครั้ง ก็อาจทำให้ดูซอฟต์ลงด้วยการบอกว่า การใช้จ่ายภายในเกม ก็เพียงเพื่อแค่เซฟเวลาให้กับผู้เล่นโดยทำให้ไม่ต้องเสียเวลาฟาร์มนาน เพราะสามารถหาซื้อของที่จำเป็นต้องใช้ได้เลยโดยตรง

รูปแบบเกมเป็นแบบ Pay-to-Win
เครดิตภาพ : https://roundup.brophyprep.org/index.php/2015/03/pay-to-win-games-trick-players-need-fixing/

อย่างไรก็ตาม การ Pay-to-Win อาจเป็นสัญญาณว่าเกมนั้น ๆ ไม่ได้ดีตามความคาดหวังของผู้เล่นได้ด้วย เหตุผลเพราะว่า ผู้พัฒนาอาจจงใจออกแบบเกมมาเพื่อตอดเล็กตอดน้อย ซื้อไอ้นั่นนิด ไอ้นี่หน่อยในราคาถูก แต่พอซื้อรวมหลายอย่างมากเข้า กลายเป็นการใช้เงินจำนวนมากไปซะอย่างนั้น

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น สมมติว่าคุณกำลังเล่นเกม FPS Multiplayer ที่ภายในเกมมีให้ซื้อของปรับแต่งปืน และเครื่องแต่งกายของตัวละครเป็นทั้งเงินในเกมและเงินจริง โดยมีความแตกต่างกันอยู่ที่ค่าสถานะ ถ้าใช้เงินในเกมซื้อ จะบวกค่าสถานะน้อยกว่าใช้เงินจริงซื้อ แล้วถ้าผู้เล่นคนหนึ่งซื้อแค่ของที่ใช้เงินในเกมมาใส่ เจอกับผู้เล่นที่ใส่ของแบบใช้เงินจริงซื้อทั้งตัว คุณคิดว่าใครจะชนะ ?

3. เปิดช่วงทดสอบ ใกล้วันที่เปิดให้เล่นจริง แต่ยังเจอบัคเพียบ
(The beta is too buggy when it close to the launch date)

ในตอนที่ผู้พัฒนาเกมปล่อยตัวเกมเวอร์ชันเบตาให้คนทั่วไปได้ทดสอบกัน เพื่อให้ผู้เล่นมาช่วยค้นหาบัค หรือปัญหาภายในเกมที่อาจหลงเหลืออยู่ ซึ่งการที่มันเป็นเวอร์ชันเบตา นั่นก็หมายความว่า มันเป็นเวอร์ชันที่ยังคงมีบัคอยู่ แต่คุณไม่สามารถโทษผู้พัฒนาในเรื่องบัคได้ในเฟสนี้ เพราะมันคือตัวเกมในเวอร์ชันที่ผู้พัฒนาต้องเอาไปปรับปรุง และกำจัดบัคให้เรียบร้อยก่อนวางขายจริง

เปิดช่วงทดสอบใกล้วันที่เปิดให้เล่นจริง แต่ยังเจอบัคเพียบ
เครดิตภาพ : https://store.steampowered.com/news/group/7433348/view/3034843434627994419?l=japanese

แต่ถ้าคุณได้เล่นเวอร์ชันเบตา แล้วยังรู้สึกว่ามันมีบัคเยอะเกินไป ชนิดที่เรียกว่าเกินความคาดหมาย และคิดว่าผู้พัฒนาไม่สามารถจัดการแก้บัคได้ทันตามกำหนดวางขายแล้วล่ะก็ นั่นหมายความว่า ตัวเกมที่คุณได้ทดสอบไป อาจเป็นตัวเกมเวอร์ชันเดียวกันกับที่คุณจะได้มาเล่นในวันวางขายจริงนั่นแหละ !

4. ใกล้วันวางขาย แต่ยังได้เห็นแค่เกมเพลย์ที่เล่นไปตามสคริปต์
(Still seeing scripted gameplay reveals close to launch day)

มันจะเป็นอะไรที่ดูสมเหตุสมผล ถ้าเกิดว่าบริษัทเกมจะจำลองการเล่นเกมตัวอย่างให้ดูกัน (แบบที่ซักซ้อมหรือวางแผนกันมาแล้ว) ผ่านไลฟ์สตรีมในช่วงต้น ๆ ของการพัฒนา เพื่อทำให้ผู้เล่นได้อุ่นใจกันว่า จะไม่มีบัคหรือข้อผิดพลาดร้ายแรงเกิดขึ้นกับตัวเกมในระหว่างการนำเสนอ แต่ถ้าเกิดว่าใกล้วันวางขายเข้ามาแล้ว ยังคงมีแต่เกมเพลย์ที่ผ่านการทำสคริปต์ หรือเตี๊ยมกันล่วงหน้ามาก่อนอยู่อีก นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า ผู้พัฒนากำลังปกปิดอะไรบางอย่างจากผู้เล่นแล้ว

ใกล้วันวางขายแล้ว แต่ยังได้เห็นแค่เกมเพลย์ที่เล่นไปตามสคริปต์เท่านั้น
เครดิตภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=UbHSno03MoE

คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า เกมเพลย์ที่ถูกจัดฉากการเล่นขึ้นมานั้น ซ่อนอะไรไว้บ้าง ซึ่งอะไรที่ร้ายแรงที่เป็นไปได้ก็เช่น บั๊กที่ทำให้เกมแครช, เฟรมเรตที่กระตุกในฉากที่ต้องโหลดหนัก, ภาพเพี้ยนที่อยู่ ๆ ก็ปรากฎขึ้นมา, กราฟิกโดนดาวน์เกรดลง, อยู่ดี ๆ ตัวละครก็กางแขนเป็นตัว T เหมือนเป็นตัวที่อยู่โมเดลในขั้นตอนออกแบบ, และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งถ้าผู้พัฒนาไม่กล้าโชว์เทรลเลอร์เกมเพลย์ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวแล้วล่ะก็ คุณก็ยังไม่ควรพรีออเดอร์เกมนั้น

5. ติดโรคเลื่อน
(The game is facing a multiple delay)

จริงอยู่ที่อาการดีเลย์ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะมันเป็นสัญญาณว่าผู้พัฒนากำลังเจออะไรบางอย่างที่มันผิดพลาดไปจากที่ควรจะเป็น และต้องการเวลาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขมัน เช่น The Legend of Zelda: Breath of the Wild, Gran Turismo 5, และ Halo Infinite อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเกมเริ่มมีอาการของโรคเลื่อน หรือการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกแบบไม่รู้ว่าจะเลิกเลื่อนได้ตอนไหน อย่างเกม Duke Nukem Forever, Anthem, และ Cyberpunk 2077 แล้วล่ะก็ อาจะเป็นสัญญาณว่าเกมนั้นกำลังมีปัญหาอะไรบางอย่างอยู่

ติดโรคเลื่อน
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/signs-a-game-will-disappoint-you/

6. รีวิวของเกม ถูกปล่อยแบบกระชั้นชิด วันวางจำหน่าย
(Reviews of the game are released near the launch date)

โดยทั่วไปแล้ว รีวิวเกมมักถูกปล่อยมาในไม่กี่วันก่อนเกมวางขายจริง เพื่อให้ผู้เล่นได้ตัดสินใจกันว่าจะทำการพรีออเดอร์หรือสั่งซื้อในวันวางขายกันหรือไม่ สำหรับเกมที่อยู่ในกระแสหลัก หรือมาจากค่ายที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดี ผู้ที่จัดทำรีวิวก็มักจะได้เกมมาก่อนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนวางจำหน่าย ดังนั้น พวกเขาเหล่านี้จะมีเวลามากพอที่จะเล่นเกมและจัดทำรีวิวได้เสร็จก่อนวันวางจำหน่าย แต่ถ้าผู้จัดจำหน่ายเกมให้ก๊อปปี้เกมในนาทีสุดท้ายเพื่อให้สื่อเอาไปรีวิว หรือไม่แจกให้ใครเอาไปรีวิวเลย อาจมีบางอย่างผิดปกติ

สิ่งผิดปกติที่ว่าก็คือ ผู้จัดจำหน่ายอาจจงใจเก็บก๊อปปี้สำหรับรีวิวไว้จนกว่าจะห้าทุ่มของวันก่อนจำหน่าย เพราะรู้อยู่แล้วว่า จะต้องมีรีวิวแง่ลบตามมาหลังได้เล่นเกมแน่นอน ดังนั้น จึงทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ได้ยอดจำหน่ายมากที่สุดก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และทำให้ผู้เล่นอื่น ๆ ที่ได้เห็นรีวิวหลังวางขายไม่กล้าซื้อตาม

7. ดูเน้นหนักไปที่กราฟิก มากกว่าเกมเพลย์
(Fouch more on graphics rather than gameplay)

ในขณะที่การถกเถียงว่า กราฟิกกับเกมเพลย์ อย่างไหนสำคัญกว่ากันไม่ได้ข้อสรุปเสียที ผู้เล่นส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกเล่นเกมที่ภาพไม่ได้สวยเลิศเลอ และเล่นได้สนุกมาก ๆ มากกว่า จริงอยู่ว่ากราฟิกที่ตระการตานั้น สร้างประสบการณ์การเล่นที่ตรึงตาตรึงใจ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ดี และเมื่อไหร่ที่นักพัฒนามุ่งเป้าไปที่การทำให้ภาพเกมออกมาดูดีมากกว่าที่จะทำให้ผู้เล่นได้รับการตอบสนองที่ดีจากเกมแล้ว ก็มักจะลงเอยด้วยการเป็นเกมที่ได้รับคำชมเชย แต่ไม่เป็นที่จดจำเท่าไหร่นัก (เพราะลืมไปแล้วว่าเกมเพลย์เป็นยังไง)

ดูเน้นหนักไปที่กราฟิกมากกว่าเกมเพลย์
เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/watch/?v=246041353303292

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เลือกให้ความสำคัญกับเกมเพลย์มากกว่ากราฟิก และสังเกตเห็นว่าเมื่อผู้พัฒนาปล่อยเทรลเลอร์หรือโฆษณาออกมาแล้วมีคำชมจากสื่อใหญ่ประมาณว่า ดูยอดเยี่ยมมาก, หรือกราฟิกเจ๋งมาก แต่ไม่มีคำชมไปในแนวที่เกี่ยวกับการเล่นเลย ก็ควรพึงระวังไว้จะดีกว่า


ที่มา : www.makeuseof.com


0 %E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9+7+%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น