วิดีโอเกมเป็นตัวตนที่ค่อนข้างพิเศษในโลกของอุตสาหกรรมบันเทิง มันขยายพื้นที่อยู่ของตัวเองจากคอมพิวเตอร์ ไปสู่แพลตฟอร์มเครื่องคอนโซล และในปัจจุบันนี้ก็แพร่ถิ่นฐานมายังสมาร์ทโฟน แต่ถ้าหากเราสังเกตแนวเกมบนสมาร์ทโฟน จะพบว่าที่แห่งนี้เป็นเหมือนนครศักดิ์สิทธิ์ของเกมกาชา (Gacha Game)
เกมกาชา ได้รับความนิยมจากผู้เล่นเป็นจำนวนมาก มากเสียจนบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีนได้ตระหนักถึงปัญหาอาการเสพติดกาชาจนต้องมีการเฝ้าระวัง หลายๆ ประเทศในโซนยุโรปถึงกับออกกฏแบนห้ามให้ภายในเกมมีระบบกาชาเลยด้วยซ้ำ เพราะมองว่ามันไม่ต่างอะไรกับการพนัน
สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนเกมมือถือ ไม่รู้จักว่าเกมกาชาคืออะไร ? ทำไมมันถึงได้รับความนิยม ? มาหาคำตอบได้ในบทความนี้
เกมกาชา (Gacha) เป็นเกมที่จะพยายามหลอกล่อให้คุณใช้ "จ่าย" ด้วยเงินจริง เพื่อแลกเปลี่ยนกับรางวัลแบบสุ่ม โดยจะมีทั้งรางวัลที่ดี และรางวัลที่แย่ปะปนกัน บางครั้งคุณก็อาจจะได้รางวัลที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่แน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วคุณจะได้ของที่ไม่คุ้มค่าเงินเท่าไหร่ การที่ผู้เล่นจะชนะรางวัลหายากได้นั้นค่อนข้างต่ำมาก
กลไกของระบบกาชาที่ถูกแทรกอยู่ภายในเกมก็สามารถมีหลายระดับ บางเกมที่ใช้ระบบกาชาเป็นคอร์หลักเลย จะบังคับให้ผู้เล่นต้องเก็บรางวัลหายากที่สุ่มได้จากระบบให้ครบก่อน ถึงจะสามารถเล่นผ่านไปด่านต่อไปได้ นี่เป็นการบังคับทางอ้อมให้ผู้เล่นต้องเสียเงินจริงเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีศัพท์เรียกเกมที่ทำแบบนี้ว่า "Pay To Win (P2W)" เกมกาชาที่ใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบนี้ ปัจจุบันนี้แทบไม่ค่อยเจอกันแล้ว เพราะถูกแบนในหลายประเทศ แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นถิ่นกำเนิดกาชาก็ยังแบนเช่นกัน
เกมกาชาที่มีศีลธรรม (หรืออาจทำแค่เพื่อให้ถูกกฏหมาย) ผู้เล่นจะสามารถเล่นได้เรื่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินจริงเลย เพียงแต่อาจจะผ่านบางด่านได้ยาก หรือต้องใช้เวลาในการฟาร์มของนานขึ้นกว่าผู้เล่นที่เสียเงิน ขออนุญาตยกตัวอย่างเกม Genshin Impact ที่ระบบกาชามีไว้เพื่อให้ผู้เล่นได้รับอาวุธ และตัวละครเพิ่มเติม แต่ถ้าผู้เล่นไม่เติมเงินเลย ก็ยังคงสามารถเล่นเนื้อเรื่องหลักได้อย่างไม่มีปัญหา ทำให้มันเป็นหนึ่งในเกมกาชาที่ยังเป็น Free-to-Play (F2P) อยู่ แต่แน่นอนว่าทีมการตลาดของผู้พัฒนาเกมก็จะพยายามคิดกลยุทธ์มาหลอกล่อให้ผู้เล่นเติมเงินหมุนกาชาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว เกมกาชาเป็นโมเดลทำเงินที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มากเสียยิ่งกว่าเกมระดับ AAA ราคา $60 - $70 ที่จำหน่ายบนคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเกมคอนโซลเสียอีก อย่างเกม Granblue Fantasy เกมกาชาจากประเทศญี่ปุ่นทำกำไรมาได้แล้วประมาณ $754,200,000 (ประมาณ 25,899,228,000) หรือ Genshin Impact ที่ในปีแรกปีเดียวก็ทำรายได้มากกว่า $2,000,000,000 (ประมาณ 68,680,000,000 บาท)
ซึ่งเหตุผลที่เกมกาชาเหล่านี้สามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาลก็มาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะต้นทุนในการผลิตที่น้อยกว่าเกมระดับ AAA ค่าใช้จ่ายจะไปอยู่ที่พวกค่านักพากย์ ค่าลิขสิทธิ์ที่หากไปดึงตัวละครจากซีรีส์ต่าง ๆ มาใช้ในการโปรโมต ในส่วนของการหารายได้ เกมกาชาส่วนใหญ่จะเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแทบทุกเกมอยู่แล้ว แต่อาศัยการอัปเดตเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นติดอยู่ในวังวนเกมได้อย่างยาวนาน มีโอกาสเสียเงินในระยะยาว ทำให้มีรายได้เข้าบริษัทอย่างต่อเนื่องมากกว่าเกมที่เล่นจบแล้วก็จบไป
คำว่า "กาชา (Gacha)" นั้น มีที่มาจากตู้หยอดเหรียญชนิดหนึ่งที่ถือกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วทั้งโลก หากคุณไปเดินในห้างสรรพสินค้า น่าจะเคยเห็นตู้ที่มีตุ๊กตาอยู่ในลูกบอลพลาสติก โดยในแต่ละตู้ก็จะมีเซ็ตตัวละครอยู่ โดยมักจะมีตัวลับ หรือตัวหายากปนอยู่ในจำนวนไม่มาก ซึ่งตู้ประเภทนี้เรียกว่าตู้กาชาปอง (Gachapon ภาษาญี่ปุ่น ガシャポン)
Gachapon เป็นคำที่ถูกจดลิขสิทธิ์โดย Bandai โดยคำว่า Gacha มาจากเสียงหมุนลูกบิด ส่วน Pon เป็นเสียงที่ลูกบอลตกลงในช่องรับของ อนึ่ง แม้ตู้กาชาปองจะฮิตมากในประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมทีมันเป็นตู้ขายหมากฝรั่งที่ผลิตขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกานะ เมื่อผู้เล่นหยอดเหรียญลงไป แล้วหมุน ก็จะได้รับตุ๊กตาอยู่ในลูกบอลนั้นลงมาแบบสุ่ม
ซึ่งหลักการทำงานของตู้กาชานั้น จะเห็นได้ว่าเหมือนกับการสุ่มหาตัวละครภายในเกมที่จ่ายเงินจริงไป แล้วไม่รู้ว่าจะได้ตัวละคร หรือไอเทมอะไรกลับคืนมา แต่ที่แน่ ๆ คือ โอกาสได้ของหายากนั้นน้อยมาก
คำว่า "กาชา" และคำว่า "ลูทบ็อกซ์" สองคำนี้นั้นมีความหมายถึงสิ่งเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ในการมีอยู่ และรูปแบบการทำงานที่เหมือนกัน ผู้เล่นจ่ายเงินซื้อของเพื่อรับไอเทมแบบสุ่ม โดยที่มีไอเทมบางชิ้นมีโอกาสออกน้อยกว่าของทั้งหมดในลิสต์ ผู้เล่นจะได้ของตอบแทนแน่นอน เพียงแต่มันไม่การันตีว่าเป็นของที่ผู้เล่นอยากได้
ความแตกต่างของสองคำนี้อยู่ที่ภูมิภาค กาชาตั้งชื่อตามตู้จำหน่ายของสะสมในประเทศญี่ปุ่น และมักจะได้ของ 1 ชิ้นต่อตั๋ว 1 ใบ ซึ่งเป็นรูปแบบทั่วไปในเกมที่พัฒนาในโซนเอเชียในขณะที่ลูทบ็อกซ์เป็นคำที่นิยมใช้ในเกมฟากตะวันตก และใน 1 กล่องมักจะมีไอเทมอยู่หลายชิ้น แต่สุดท้ายแล้ว ผู้เล่นสามารถเจอทั้งคู่ได้ไม่ว่าจะเป็นเกมจากภูมิภาคไหนก็ตาม
หนึ่งในเหตุผลว่าทำไมเกมกาชาถึงเป็นที่นิยมก็น่าจะเพราะรางวัลของมันสามารถเข้าถึงโดยผู้เล่นได้ง่าย คุณสามารถเป็นเจ้าของตัวละครที่แข็งแกร่งที่สุดในเกมได้โดยไม่ต้องสกิลอะไรมากนัก ไม่ต้องจบเกมในโหมด Hardcore หรือผ่านเงื่อนไขสุดหิน ในเกมกาชาคุณได้มันมาง่าย ๆ ด้วยการ "เติมเงิน" ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างทีมสุดแกร่งได้หากคุณจ่ายเงินมากพอ
นอกจากนี้ เกมกาชาก็มีเอกลักษณ์ความสนุกในแบบของมันที่ทำให้ผู้เล่นติดงอมแงม และยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสกิน หรือตัวละครที่ต้องการ หนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้พัฒนานิยมใช้คือ ใน 30 ชั่วโมงแรก คุณจะสนุกกับการทำทีมได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่แล้วอยู่ดี ๆ ความยากของเกมก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้เล่นต้องฟาร์มอย่างหนักเพื่อให้ไปต่อได้ หรือไม่ก็จ่ายเงินเพื่อเพิ่มโอกาสชนะด้วยไอเทม หรือตัวละครที่เก่งกาจที่ได้จากการเปิดกาชา
การได้รับชัยชนะเป็นความสนุก และความสุขอย่างหนึ่ง การจ่ายเงินนิด ๆ หน่อย ๆ โดยการเติมเงินครั้งแรกมักได้ส่วนลดพิเศษเพื่อแลกกับความสุข เป็นการละลายพฤติกรรมที่ชักพาคุณให้จ่ายในเงินครั้งถัดไปในโลกแห่งการพนันของการกาชาได้ง่ายขึ้น เมื่อนำโครงสร้าง P2W มารวมกับกาชามันจึงทำให้เกมแนวนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเปิดกาชาปองในเกมก็ไม่แตกต่างไปจากการหมุนตู้สลอตแมชชีนในเว็บพนันออนไลน์ ที่คุณจ่ายเงินเพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ ความแตกต่างคือการพนันเป็นเรื่องผิดกฏหมาย (อย่างน้อยก็ตามกฏหมายประเทศไทย) แต่ในต่างประเทศที่การพนันถูกกฏหมายจะมีการตรวจสอบอายุผู้เล่น แต่ในเกมมือถือนั้นไม่มีกฏหมายนี้ ทุกคนสามารถหมุนกาชาได้
แต่ด้วยความที่มันคล้ายการพนัน ระบบเกมกาชาในปัจจุบันนี้ก็เริ่มมาตรการควบคุมมากขึ้น อย่างเช่นการเปิดเผยโอกาสที่จะได้ของแรร์ และมีการรับประกันว่าหากหมุนครบกำหนดแล้วยังไม่ได้ จะการันตีได้ของแรร์แน่นอน สมมติเช่น มีของ SSR ที่มีโอกาสออก 2% หากหมุนครบ 100 ครั้งแล้วยังไม่ได้ บางเกมก็จะให้เลือกตัวละครที่ต้องการได้เลย อะไรพวกนี้ก็เป็นนโยบายที่ช่วยไม่ให้ผู้เล่นล้มละลาย หากเป็นสมัยก่อน บางทีจ่ายเป็นแสนแล้ว ของที่อยากได้ก็ยังไม่ออกเลย
ในเอเชียไม่ค่อยมีกระแสต่อต้านระบบกาชา และลูทบ็อกซ์กันเท่าไหร่นัก แต่กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรปกว่า 18 ประเทศ ได้มีการเคลื่อนไหวออกมาต่อต้านระบบดังกล่าว โดยมองว่ามันเป็นโมเดลที่พยายามสูบเงินจากผู้เล่นมากเกินไป บางประเทศถึงกับออกกฏหมายบังคับให้เกมที่เปิดให้บริการภายในประเทศต้องไม่มีระบบกาชา หรือลูทบ็อกซ์เลย เพราะจัดว่าเป็นการพนัน ถ้าจะมีการซื้อขายภายในเกม จะต้องเป็นการจ่ายเงินซื้อแล้วได้ของที่ต้องการทันทีโดยไม่ต้องใช้ดวง
บางประเทศก็ยินยอมให้มีระบบกาชา หรือลูทบ็อกซ์ได้ แต่ต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยโครงสร้างการทำงาน และอัตราดรอปอย่างชัดเจน เพื่อคุ้มครองผู้เล่นไม่ให้เสียเงินมากไปโดยใช่เหตุ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |