เวลาที่ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา เรามักได้ยินคำว่า อัปเดต (Update) และ อัปเกรด (Upgrade) กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สองคำนี้มักจะเกี่ยวข้องกับ ซอฟต์แวร์ (Computer Software) และ ฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) มันกลายเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้ผู้ใช้งานตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ เพราะนั่นหมายถึงผลิตภัณฑ์มีอะไรใหม่ ๆ เข้ามา
ทั้งนี้บางครั้ง การใช้ อัปเดต และ อัปเกรด อาจค่อนข้างมีความสับสนอยู่บ้าง เพราะความหมายของมันออกจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วมันค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งบทความนี้เราจะมาขยายความเกี่ยวกับคำศัพท์เหล่านี้กันว่าแท้จริงแล้วนิยามของมันคืออะไร และเราควรใช้แบบไหนถึงจะถูกต้อง
คำว่า "อัปเดต" (Update)" หรือ up-to-date มีความหมายตามบริบทว่า "การทำให้บางสิ่งมีความทันสมัย หรือทำให้มันมีความเป็นปัจจุบัน" ถ้าพูดถึงความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่าง คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การอัปเดตมักจะใช้ในการปรับปรุงข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ หรือการปรับปรุงความสามารถและคุณสมบัติบางประการ ทำให้ซอฟต์แวร์เหล่านั้นใช้งานได้ดีกว่าเดิม มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ในกรณีนี้ขอ ยกตัวอย่างเช่น การอัปเดต ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ Windows 10 เวอร์ชัน 1909 - 20h2 (2020) , iOS 15 - 15.3.1 , หรือการอัปเดตซอฟต์แวร์โปรแกรมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นต้น ที่มักจะมีการแก้ไขบัค อุดช่องโหว่เพื่อป้องกันการรุกรานจากแฮกเกอร์ หรือ เพิ่มคุณสมบัติและบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยแพทช์ใหม่ ๆ
นอกจากนี้ประเด็นอีกอย่างที่สำคัญ นิยามของการอัปเดตนั้นหมายถึง ต้องมีความต่อเนื่องและมีการปล่อยแพทช์ใหม่ ๆ มาให้ผู้ใช้ได้อัปเดตอยู่เสมอ อีกทั้งถ้าพูดถึงการอัปเดตแล้ว ถือเป็นอะไรที่ไม่ควรมีค่าใช้จ่ายอีกด้วย
โดยประเภทของการอัปเดตที่เห็นบ่อย ๆ เช่น
ข้อมูลเพิ่มเติม : Patch, Hotfix, Critical Update, Feature Update, Service Pack ฯลฯ คำศัพท์เกี่ยวกับ Windows Update เหล่านี้คืออะไร ?
คำว่า "อัปเกรด (Upgrade)" มีความหมายว่า การยกระดับมาตรฐานบางอย่างให้สูงขึ้น โดยการเพิ่มคุณสมบัติ หรือส่วนชิ้นส่วนเพิ่มเติมลงไป และยังหมายถึงการแทนที่ของเก่าด้วยรุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม นั่นเอง
ถ้ายกเรื่องเทคโนโลยีมือถือ หรือคอมพิวเตอร์มาใช้ การอัปเกรดคงหมายถึง เวลาที่สินค้าเหล่านั้นพัฒนาและออกรุ่นใหม่มาทดแทนของเดิม เช่น iPhone รุ่นแรกถึง iPhone 13 รวมถึงโมเดลที่ต่างกัน iPhone รุ่น 'Pro' หรือ 'Pro Max' รวมถึงซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่พัฒนามาเป็นรุ่น ๆ ยกตัวอย่าง Microsoft Office 2010, 2013, 2016 หรือ Windows 7, 8, 10, 11 เป็นต้น
นิยามของการอัปเกรดยังจำเป็นต้องใช้เวลาและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเหมือนการอัปเดต เพราะมันไม่ได้ต้องการทำให้ของที่มีอยู่แล้วกลายเป็นของทันสมัย แต่มันคือการทดแทนของเก่าด้วยรุ่นใหม่ที่ดีกว่า มีคุณสมบัติที่มากกว่า นอกจากนี้ข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ การอัปเกรดนั้นมักจะมาพร้อมกับ "ค่าใช้จ่าย" ด้วย ทำให้บางคนอาจหลีกเลี่ยงที่จะทำโดยไม่จำเป็น เมื่อคิดถึงความคุ้มค่ากับบริการที่เพิ่มขึ้น
ประเภทของการอัปเกรดที่พบได้คือ การอัปเกรดแบบ Rolling upgrade หมายถึงการดำเนินการอัปเกรดโดยไม่ให้การทำงานหยุดชะงักเหมือนกันอัปเกรด Windows Server 2012 เป็น Windows Server 2016 เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการอัปเกรดแบบ Non-rolling upgrade และการอัปเกรดแบบ Cold Install (หรือการติดตั้งใหม่เพื่ออัปเกรด)
สรุปแล้วการอัปเดต (Update) หมายถึงการทำให้บางสิ่งมีการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน มักหมายถึงการแก้ไขข้อบกพร่องหรือเพิ่มคุณสมบัติเล็กน้อย ส่วนการอัปเกรด (Upgrade) หมายถึงการยกระดับมาตรฐานบางอย่างให้สูงขึ้นและมาแทนที่ของเดิม ถ้าพูดในมุมมองของเทคโนโลยี คือการแทนที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้วยรุ่นใหม่ หรือ เวอร์ชันใหม่ นั่นเอง
ตารางการเปรียบเทียบ | ||
การเปรียบเทียบ | อัปเดต (Update) | อัปเกรด (Upgrade) |
Definition (นิยาม) | การทำให้บางสิ่งมีความทันสมัย สอดคล้องกับปัจจุบัน | การยกระดับมาตรฐานของบางอย่างให้สูงขึ้น โดยการเพิ่มคุณสมบัติ หรือส่วนประกอบบางอย่าง |
Frequency of Occurrence (ความถี่) | ต่อเนื่องเป็นประจำ | ไม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง |
What Does it Do (ใช้ทำอะไร) | ปรับปรุงสินค้า หรือ บริการในปัจจุบัน | แทนที่สินค้าหรือบริการเก่าด้วยของรุ่นใหม่ (ที่ยังใช้ชื่อเดิม) |
Importance (ความสำคัญ) | ช่วยเพิ่มความปลอดภัย แก้ไขจุดบกพร่อง ทำให้สินค้าหรือบริการมีความทันสมัย | เพิ่มศักยภาพของสินค้าและการใช้คุณสมบัติใหม่ ๆ |
Charges (ค่าใช้จ่าย) | การ "อัปเดต" มักจะไม่เสียค่าใช้จ่าย | การ "อัปเกรด" มักจะเสียค่าใช้จ่าย |
Types (ประเภท) | A Security update, service packs, critical update, etc. | Rolling upgrade, non-rolling upgrade, cold install, etc. |
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |