คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไม ตัวอักษรบนคีย์บอร์ดถึงไม่ได้มีการเรียงลำดับพยัญชนะ ABCDE หรือ กขคง เหมือนปกติทั่วไป ? ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะทำให้ใช้งานง่ายกว่า โดยเฉพาะกับมือใหม่ บางคนเพิ่งเริ่มหัดใช้ต้องนั่งหาตัวอักษรแต่ละตัวนานแค่ไหน กว่าจะพิมพ์ได้สักประโยค
อย่างไรก็ตาม การเรียงตัวอักษรที่เราเห็นบนแป้นพิมพ์ หรือคีย์บอร์ด (Keyboard) จริง ๆ มันก็มีที่มาอยู่นะ ไม่ใช่ว่าผู้ออกแบบไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าใครมีข้อสงสัยเหมือนเรา บทความนี้เรามีประวัติที่น่าสนใจ มาฝากกัน
ภาพจาก : https://theburner.substack.com/p/why-are-keyboards-qwerty-and-not
ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า ผังปุ่มคีย์บอร์ดแบบสากล ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ มันมีชื่อเรียกว่า "QWERTY" เป็นการตั้งตามตัวษรภาษาอังกฤษที่เรียงต่อกันด้านบน 6 ตัวแรก โดยผู้ออกแบบการลำดับตัวอักษรนี้คนแรกก็คือ Christopher Latham Sholes เขาเป็นคนที่ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแบบเชิงกลคนแรกของโลก และจดสิทธิบัตรเอาไว้ในปี ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) ซึ่งหมายความว่าการออกแบบผังปุ่มคีย์บอร์ดเช่นนี้ มีมาตั้งแต่ยุคสมัยที่เรายังใช้พิมพ์ดีดกันอยู่เลย
ภาพจาก : https://this1sblog.blogspot.com/2012/07/christopher-latham-sholes-sang-penemu.html#.Y4crrXZBy3A
ว่ากันว่าเดิมทีก่อนที่เครื่องพิมพ์ดีดของ Sholes จะได้รับการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการ ตอนแรกมันไม่ได้สร้างให้มีแป้นพิมพ์ที่เรียงตัวอักษรเหมือนในปัจจุบัน แต่เป็นแป้นพิมพ์ที่มีตัวอักษรเรียงตามพยัญชนะ ABCDE มาก่อน แต่เพราะเครื่องพิมพ์ดีดสมัยนั้นมีก้านพิมพ์เรียงติดกันแน่นเกินไป เวลาพิมพ์เร็ว ๆ ก้านพิมพ์จะเกิดอาการขัดกันเอง ดังนั้นถึงแม้ว่าการออกแบบให้ตัวอักษรเรียงตามลำดับพยัญชนะ จะช่วยให้พิมพ์เร็วแต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้สะดวกเลย
เพื่อแก้ปัญหานี้ Sholes ได้พยายามจัดเรียงตัวอักษรใหม่ทั้งหมดเพื่อทำให้การพิมพ์ของผู้ใช้นั้นช้าลง มีการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนกลายมาเป็นรูปแบบการเรียง QWERTY ในปัจจุบัน ที่นับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งต่อมาเครื่องพิมพ์ดีด ก็เริ่มที่จะมีการถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในหลายประเทศ แม้ว่าการผลิตจะออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน แต่มาตรฐานของตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ก็ยึดตามการออกแบบของ Sholes เรื่อยมาจนถึงยุคที่เรามีคอมพิวเตอร์และเปลี่ยนมาเป็นคีย์บอร์ด
สรุปว่าเหตุผลที่ตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าสมัยก่อนเราใช้พิมพ์ดีด และพอพิมพ์เร็วไปก็อาจจะเกิดปัญหา ก็เลยถูกออกแบบมาให้พิมพ์ได้ช้าลงนั่นเอง ซึ่งพอผ่านมาร้อยกว่าปีจนกลายเป็นแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด ความนิยมก็ยังไม่หายไปไหน เพราะเราใช้แบบนี้กันมาจนคุ้นเคยแล้ว
ผังแป้นพิมพ์เกษมณีของไทย
ส่วนแป้นพิมพ์ภาษาไทยที่เราใช้ในปัจจุบันมีชื่อว่า แป้นพิมพ์เกษมณี (Kedmanee) ออกแบบโดย คุณสุวรรณประเสริฐ เกษมณี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) เพื่อใช้กับเครื่องพิมพ์ดีดในยุคสมัยรัฐกาลที่ 7 ต่อมาก็มีการนำมาปรับใช้ในยุคที่เริ่มมีคอมพิวเตอร์
ซึ่งก็ยึดตามหลักของแป้นพิมพ์สากล (หรือ QWERTY) ในการออกแบบเช่นกัน โดยจะเห็นว่าพยัญชนะไทยก็ไม่ได้เรียงแบบถูกต้อง
อย่างไรก็ตามอีกเรื่องคือ จริง ๆ แล้วบริษัทต่างชาติชื่อ Smith Premier เป็นคนนำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเข้ามาจำหน่ายในประเทศเราเป็นรายแรกตอนสมัยรัชกาลที่ 5 หรือปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) ก่อนที่คุณสุวรรณประเสริฐ จะมาออกแบบ แป้นพิมพ์เกษมณีอีกที ให้คนไทยได้ใช้จนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม : รูปแบบแป้นพิมพ์ Kedmanee, Pattachote และ Manoonchai คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?
หัวข้อนี้ เป็นข้อมูลเสริมที่อยากจะเล่าให้ผู้อ่านเฉย ๆ ไว้เป็นความรู้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักสักเท่าไหร่ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า คีย์บอร์ด QWERTY แม้ว่าจะเป็นที่นิยมสวนใหญ่ในประเทศจากทวีปอเมนิกา ยุโรป และอื่น ๆ ในระดับสากล
แต่ว่าถ้าคุณอาศัยอยู่ใน สวิสเซอร์แลนด์หรือเยอรมัน คุณจะพบว่าคีย์บอร์ดที่มีตัวอักษรภาษาอังกฤษเหล่านี้ มันสลับกัน โดยจาก QWERTY ที่เรียงต่อกัน 6 ตัวแถวบน ก็กลายเป็น QWERTZ แทน คีย์บอร์ดประเภทนี้อิงตามภาษาของเยอรมัน และถูกใช้ในประเทศใดก็ตามที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก ซึ่งเหตุผลที่ออกแบบเลย์เอาต์ (Layout) สลับแบบนี้ เพราะว่า ในภาษาเยอรมัน ตัว Z เป็นตัวอักษรที่ใช้โดยทั่วไปมากกว่าตัว Y มันจึงถูกจับมาให้อยู่ตำแหน่งเด่นให้หาง่าย ๆ
ภาพจาก : https://www.typingpal.com/en/blog/what-is-the-difference-between-QWERTY-QWERTZ-and-AZERTY-keyboards
ภาพจาก : https://www.typingpal.com/en/blog/what-is-the-difference-between-QWERTY-QWERTZ-and-AZERTY-keyboards
อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ คีย์บอร์ดแบบ AZERTY ถูกใช้ในประเทศฝรังเศส และ เบลเยียม ออกแบบขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 เพื่อนำมาใช้กับเครื่องพิมพ์ดีดของฝรั่งเศสนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.typingpal.com/en/blog/what-is-the-difference-between-QWERTY-QWERTZ-and-AZERTY-keyboards
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |