ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คืออะไร ? (What is Software Piracy ?)

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คืออะไร ? (What is Software Piracy ?)

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 8,987
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%28What+is+Software+Piracy+%3F%29
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คืออะไร ?
(What is Software Piracy ?)

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (Software Piracy) ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่แสวงหารายได้จากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำงาน หรือซอฟต์แวร์ประเภทเกมก็ตาม

บทความเกี่ยวกับ Software อื่นๆ

ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์จากบริษัทขนาดเล็ก หรือบริษัทขนาดใหญ่ก็ตาม และก็ไม่เกี่ยวด้วยว่ามันจะเป็นซอฟต์แวร์ราคาแพงหรือเปล่า ? แม้แต่ซอฟต์แวร์ราคาถูกที่วางขายในราคาไม่กี่สิบบาท คนที่ไม่เห็นคุณค่า และหยาดเหงื่อของนักพัฒนาก็ไม่คิดที่จะให้เงินปลิวออกจากกระเป๋าสตางค์แม้แต่แดงเดียว พวกอาการหนักหน่อยถึงกับดูถูกคนที่ใช้ ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ (Licensed Software) ว่าโง่ของฟรีก็มีจะเสียเงินซื้อทำไมด้วยซ้ำไป ไม่เป็นไร นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราจะกล่าวถึง

ในบทความนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กันให้มากขึ้น รวมไปถึงวิธีการที่นักพัฒนาใช้ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ...

เนื้อหาภายในบทความ

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คืออะไร ?
(What is Software Piracy ?)

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คือการนำซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มาใช้งาน, ทำสำเนา, แจกจ่าย หรือหารายได้ โดยที่ไม่ผ่านการอนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม ซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้มีแค่การที่เราใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ผ่านการแครกมาเท่านั้น มันมีความเป็นไปได้อีกหลายที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เช่นกัน แต่เราอาจจะไม่รู้ หรือมองข้ามมันไป เช่น

  • ซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แบบติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ได้เครื่องเดียว มาติดตั้งใช้งานบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง
  • ใช้ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ทำการมุดไปซื้อซอฟต์แวร์ หรือเกม ในโซนประเทศอื่นที่วางจำหน่ายในราคาถูกกว่า
  • ใช้งานลิขสิทธิ์ผิดประเภท เช่น นำคีย์ Windows ชนิด แบบ OEM ที่หลุดมาจากโรงงาน มาใช้งานตามบ้าน
  • ใช้งานซอฟต์แวร์ชนิดใช้สำหรับส่วนบุคคล (Personal License) ในงานที่อันที่จริง ๆ แล้วจะต้องเป็น ซอฟต์แวร์สำหรับใช้เชิงพาณิชย์ (Commercial License)

ข้อมูลเพิ่มเติม : Software License หรือ สัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ คืออะไร และมีกี่ชนิด ?

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่
(Software Piracy is not a new thing)

บางคนอาจจะคิดว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นเรื่องที่มาพร้อมกับระบบอินเทอร์เน็ต แต่อันที่จริงแล้ว มันก็มีมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์เลยนี่แหละ ต้องเข้าใจก่อนว่าคอมพิวเตอร์สมัยนั้นเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงมาก เครื่องหนึ่งต้องแบ่งปันใช้งานหลายคน สเปกก็ต่ำ มีข้อจำกัดในการประมวลผลที่ช้ามาก หน่วยความจำก็มีราคาแพง พูดง่าย ๆ ว่าแค่จัดสรรทรัพยากรระบบให้รันโปรแกรมที่ต้องการได้ก็เต็มที่แล้ว ไม่มีใครถามถึงวิธีป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ด้วยซ้ำไป

แต่การมาของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มันกลายเป็นอุปกรณ์ที่มีกันทุกบ้าน การแบ่งปันซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาด้วยการคัดลอก (Copy) แผ่น แผ่นฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk) หรือ แผ่นดิสเกตต์ (Diskette) หรือให้คนรู้จักยืมแผ่นไปติดตั้งเป็นเรื่องปกติ ที่ใครก็ทำกัน

 Microsoft 1.0 ที่มาพร้อมกับแผ่น Floppy Disk แบบ 5.25" จำนวน 4 แผ่น

 Microsoft 1.0 ที่มาพร้อมกับแผ่น Floppy Disk แบบ 5.25" จำนวน 4 แผ่น

Microsoft 1.0 ที่มาพร้อมกับแผ่น Floppy Disk แบบ 5.25" จำนวน 4 แผ่น 
ภาพจาก : https://www.emsps.com/oldtools/mswinv.htm

เมื่อมาถึงขั้นนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้สร้างความเสียหายมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์ แม้ว่าในขณะนั้น จะมีการประการใช้กฏหมายคุ้มครองซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ออกมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันก็ยากแก่การตรวจสอบ และฟ้องร้องอยู่ดี เพราะในตอนนั้นมันเกิดขึ้นแบบออฟไลน์ และไม่มีระบบตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ตเหมือนในสมัยนี้

ประเภทของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
(Types of Software Piracy)

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ แต่ที่สามารถพบเจอได้บ่อยก็จะมีอยู่ 6 ประเภท คือ

1. ซอฟต์ลิฟติ้ง (Softlifting)

ในตอนที่คุณติดตั้งซอฟต์แวร์ ผู้ใช้จะต้องอ่านข้อตกลงสิทธิ์ใช้งาน (End-user License Agreement - EULA) หนึ่งในข้อตกลงที่มักถูกระบุเอาไว้ในนั้นคือ "ผู้ใช้สามารถติดตั้งใช้งานลงบนคอมพิวเตอร์ได้เพียงเครื่องเดียว" แน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีใครอ่านหรอก เลื่อนผ่านคลิก "ยอมรับ" ไปแบบส่ง ๆ และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า ทำไม Softlifting ถึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นได้บ่อย แม้แต่ในโรงเรียน หรือบริษัทก็มักจะมีการละเมิดในข้อนี้ ด้วยการซื้อสิทธิ์ใช้งานเพียงเครื่องเดียว แต่ติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่มี เหตุผลก็เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายนั่นเอง 

2. ซอฟต์แวร์ปลอม (Software Counterfeiting)

เป็นการทำซอฟต์แวร์เลียนแบบซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แล้วขายตัดราคา หรืออาจจะเป็นการนำซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มาทำซ้ำทื่อ ๆ เลยก็ได้ โดยอาจมีการทำหน้าเว็บไซต์ หรือแพ็คเกจสินค้าที่เหมือนของจริง เพื่อสร้างความสับสนให้แก่ผู้ซื้อ

3. ฮาร์ดไดร์ฟพร้อมโปรแกรม (Hard-disk/Solid-State Drive Loading)

การขายฮาร์ดไดร์ฟไม่ว่าจะเป็น HDD หรือ SSD คุณน่าจะเคยเห็นโปรโมชันแบบแถมโปรแกรมใส่มาให้ด้วย นำไปเสียบพร้อมใช้งานได้ทันที หรือประกอบคอมพิวเตอร์แล้วร้านติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows เถื่อน และซอฟต์แวร์อื่น ๆ มาให้ด้วย โดยที่ผู้ใช้บางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำความผิดในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ 

4. ซอฟต์แวร์เถื่อนบนอินเทอร์เน็ต (Online Piracy)

นี่น่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุดในปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่างให้ดาวน์โหลด แน่นอนว่าซอฟต์แวร์เถื่อน และเกมเถื่อนก็มีอยู่ในนั้นด้วย แค่ Google ค้นหาเพียงไม่กี่คลิก เราก็หาลิงก์ดาวน์โหลดมาใช้งานได้ไม่ยาก

5. แยกขาย OEM (OEM unbundling)

ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บางราย จะมีการทำข้อตกลงกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เพื่อขายคีย์ของโปรแกรมเป็นจำนวนมากในราคาถูก ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่ได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation) ผู้ผลิตก็มีซอฟต์แวร์มาดึงดูดให้ลูกค้าซื้อ ส่วนคนทำซอฟต์แวร์ก็ได้ผู้ใช้งานเพิ่มเติม แต่ก็ไม่รู้ทำไม ชอบมีคีย์ OEM เหล่านี้ หลุดออกมาขายในราคาถูก ๆ และหากเราซื้อมาใช้งาน ก็เป็นการใช้งานคีย์ผิดประเภท ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เช่นกัน

6. คีย์ที่ไม่มีที่มาแน่ชัด

มีเว็บไซต์หลายแห่งที่ขาย "คีย์" ในราคาที่ถูก กว่าปกติ โดยมีวางจำหน่ายทั้งโปรแกรม และวิดีโอเกม โดยที่ไม่มีการระบุที่มาของคีย์ หรืออาจจะเป็นแพลตฟอร์มที่อนุญาตให้พ่อค้ามาวางจำหน่ายคีย์ได้ มันมีเว็บที่คีย์มีที่มาอย่างสุจริตอยู่ แต่ก็มีไม่น้อยที่มักจะเป็นคีย์ที่แฮก หรือใช้บัตรเครดิตที่โจรกรรมไปซื้อมา

วิธีป้องกัน การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
(How to prevent Software Piracy ?)

วิธีการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นมีอยู่หลายวิธี ในอดีต ทางผู้พัฒนาได้สรรหาสารพัดวิธีที่อ่านแล้ว คนในยุคนี้ อาจจะรู้สึก "อิหยังวะ" เช่น ต้องเปิดคู่มือไปที่หน้า 4 ในย่อหน้าที่ 6 จะมีคีย์ที่ต้องใช้ถูกซ่อนเอาไว้อยู่ หรือมีจานหมุนสำหรับถอดรหัส ที่ต้องมาหมุนถอดรหัสหาคีย์ที่ต้องใช้ในการปลดล็อกลิขสิทธิ์ ใครเกิดไม่ทัน ลองดูภาพประกอบด้านล่าง

จานหมุนถอดรหัสของเกม Pool of Radiance
จานหมุนถอดรหัสของเกม Pool of Radiance
ภาพจาก : https://www.oldgames.sk/codewheel/hillsfar

แต่การซ่อนรหัสไว้ในคู่มือ หรือจานหมุนก็ไม่สามารถป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อยู่ดี ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เถื่อน ก็แค่ปริ้นคู่มือแถมมาให้ด้วย ส่วนจานก็มีมาประกอบมาให้เช่นกัน กาลถัดมา ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็เลยผลิตดองเกิลออกมาขายคู่กับซอฟต์แวร์ เวลาจะใช้งานโปรแกรมก็ต้องเสียบดองเกิลเอาไว้ที่พอร์ต LPT Port หรือ Parallel Port เอาไว้ตลอดเวลา ซึ่งไม่สะดวกเอามาก ๆ เพราะพอร์ตดังกล่าวมีจำกัด และต้องใช้เป็นพอร์ตเชื่อมต่อกับเครื่องปริ้นเตอร์ด้วย 

ดองเกิลที่ต้องเสียบคาเครื่องเอาไว้ เวลาที่เปิดโปรแกรมเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์
ดองเกิลที่ต้องเสียบคาเครื่องเอาไว้ เวลาที่เปิดโปรแกรมเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Software_protection_dongle

โชคดีว่า ยุคนี้เราไม่ต้องทำอะไรแบบนั้นกันแล้ว ปัจจุบันนี้ วิธีที่ผู้พัฒนานิยมใช้ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์หลัก ๆ อยู่หลายวิธี  ดังต่อไปนี้

  1. ใช้คีย์ (หรือซีเรียลนัมเบอร์) เหมือนสมัยก่อน แต่มักจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของคีย์ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย
  2. เลือกปล่อยซอฟต์แวร์เวอร์ชันเดโม ที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำกัดเวลา เพื่อให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน
  3. ค้นหาเว็บไซต์ หรือทอร์เรนต์ที่แจกจ่ายซอฟต์แวร์ แล้วส่งคำขอให้ทางเว็บ เครื่องมือค้นหา (Search Engines) นำเว็บไซต์เหล่านั้นออกจากผลลัพธ์การค้นหา
  4. ใส่ลายน้ำ (Watermark) ลงบนโปรแกรม เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าคุณยังไม่ได้ใช้งานเวอร์ชันเต็มที่ถูกต้อง ใช้งานคนเดียวที่บ้านอาจจะไม่ช่วยอะไรมาก แต่หากเราไปพรีเซนต์งานกับลูกค้า แล้วเปิดจอให้ลูกค้าเห็นลายน้ำ ก็เป็นเรื่องงามหน้า ที่ทำให้คุณเสียเครดิตอย่างแน่นอน
  5. นำ การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล (Digital Rights Management - DRM) เข้ามาใช้
  6. พยายามอัปเดต และออกแพทช์อัปเดตให้ซอฟต์แวร์เป็นประจำ
  7. นำระบบตรวจสอบสิทธิ์การใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตมาใช้
  8. ใส่ระบบป้องกันการแครกเอาไว้ในซอฟต์แวร์ โดยหากมีตัวโปรแกรมค้นพบว่ามีการแก้ไขโค้ดบางส่วน ซอฟต์แวร์จะไม่อนุญาตให้ใช้งานต่อได้ในทันที
  9. สร้างสังคมให้กลุ่มผู้ใช้งาน เพื่อให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผู้ใช้ โดยผู้ที่ใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แท้เท่านั้น ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านั้น

อันตรายจากการใช้ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
(What are the risks of using Pirated Software ?)

การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อาจทำให้คุณลดค่าใช้จ่ายไปได้บางส่วน แต่มันก็สามารถสร้างความเสียหาย, เสียเวลา และหัวเสียได้เช่นกัน

  • ซอฟต์แวร์ที่ถูกแครกมา คุณไม่รู้เลยว่าแฮกเกอร์แค่ทำการปลดลิขสิทธิ์ หรือแอบใส่มัลแวร์เข้ามาด้วย
  • ซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน มีการอัปเดตความสามารถ และแพทช์รักษาความปลอดภัยอยู่เป็นประจำ ซึ่งซอฟต์แวร์เถื่อนไม่สามารถอัปเดตได้
  • คุณไม่ได้รับการดูแลจากผู้พัฒนา ซึ่งมักจะมีการเชิญไปอบรม หรือให้ความช่วยเหลือเวลาที่มีปัญหา
  • ผิดกฏหมาย หากถูกตรวจสอบเจอ ค่าปรับแพงกว่าค่าซอฟต์แวร์หลายเท่า แถมยังเสื่อมเสียชื่อเสียงอีกด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว ก็หันมาใช้ซอฟต์แวร์แบบถูกลิขสิทธิ์กันเถอะ เดี๋ยวนี้ซอฟต์แวร์ราคาถูกมาก ซื้อง่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องเสี่ยงทำผิดกฏหมาย แถมยังได้รับการอัปเดตสม่ำเสมอด้วย หากไม่รู้จะซื้อที่ไหน ก็ลองเข้าไปใช้บริการของเราได้ที่ https://shop.thaiware.com/


ที่มา : cpl.thalesgroup.com , www.computerhope.com , toltec.net , toltec.net , www.pandasecurity.com

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%28What+is+Software+Piracy+%3F%29
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น