ถ้าจะมีสักสถานที่ที่เราไม่ควรใช้สมาร์ทโฟนแล้วล่ะก็ นอกจากภายในโรงภาพยนตร์ และงานคอนเสิร์ต ภายในรถยนต์โดยเฉพาะระหว่างขับขี่ น่าจะเป็นสถานการณ์ที่เราไม่ควรใช้ สมาร์ทโฟน (Smartphone) มากที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอุปกรณ์พกพาที่ทำให้ชีวิตเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่การให้ความสำคัญกับภาพตรงหน้า และสิ่งที่อยู่บนถนนนั้นสำคัญ ต่อความปลอดภัยของคนขับ และผู้โดยสารมากที่สุด
ถึงอย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนก็สามารถช่วยให้ข้อมูลที่ทำให้การขับขี่ยานพาหนะดีขึ้นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบนำทาง, ข้อมูลการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด, ตรวจสอบสภาพอากาศของสถานที่ปลายทาง ฯลฯ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการขับขี่ที่ปลอดภัย และยังสามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนได้ มันจึงต้องพัฒนาแอปพลิเคชันรูป ในแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้งานบนรถ หรือยานพาหนะ นั่นเอง
เริ่มต้นจากการที่ Apple เปิดตัวระบบ CarPlay เพื่อเชื่อมต่อ iPhone เข้ากับจอแสดงผลบนรถยนต์ เพื่อให้จอแสดงผลข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยตรง ช่วยลดการใช้งานสมาร์ทโฟนในขณะขับขี่ ทาง Google ที่เป็นบริษัทคู่แข่งก็เลยพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาแข่งขันด้วย
แต่ระบบของ Google นั้นมีออกมาหลายตัวมาก เริ่มตั้งแต่ Android Auto, Google Assistant Driving Mode และ Android Automotive พวกมันมีความแตกต่างกันอย่างไร ? เรามาทำความรู้จักเทคโนโลยีนี้กันให้มากขึ้นกันเถอะ
ถ้าหากรถที่คุณมีรองรับระบบปฏิบัติการ Android ร่วมกับสมาร์ทโฟนที่ใช้งานอยู่ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่มันจะเป็น Android Auto
Google ได้เปิดตัว Android Auto ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) มันเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถรับสายโทรศัพท์ หรือตอบข้อความได้โดนไม่จำเป็นต้องทำผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรงอีกต่อไป ด้วยการนำสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับรถยนต์ผ่านพอร์ต USB และอาศัยการสั่งงานด้วยเสียงแทน
โดยหลังจากที่เชื่อมต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Android Auto จะแสดงผลข้อมูลบนหน้าจอของรถยนต์ได้ทันที สามารถแจ้งเตือนต่าง ๆ, และใช้งานแอปพลิเคชันได้ด้วย เช่น ฟังเพลงจาก Spotify หรือแสดงผลแผนที่จากแอปพลิเคชันนำทาง ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ จะสามารถสั่งการด้วยเสียงผ่านเทคโนโลยี Google Assistant
Android Auto ในปัจจุบันนี้ จะมีความแตกต่างไปจากเวอร์ชันแรกที่เปิดตัวค่อนข้างมาก จากการที่มันได้รับการอัปเดตใหญ่มาหลายต่อหลายครั้ง โดยมันจะมีการออกแบบที่เรียบง่ายมากขึ้น และปรับปรุงการแสดงผลให้มีความทันสมัยใช้งานง่ายกว่าเดิม
ภาพจาก : https://www.androidpolice.com/android-auto-vs-android-automotive-vs-google-automotive-services/
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ได้ประกาศว่าจะแทนที่ Android Auto บนสมาร์ทโฟนด้วย Google Assistant Driving Mode แทน
Google Assistant Driving Mode ถูกเปิดตัวในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) โดยรองรับอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Android 9.0 หรือใหม่กว่า และมีแรมอย่างน้อย 4 GB
โดยสิ่งที่มันแตกต่างจาก Android Auto คือ มันเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวระบบปฏิบัติการ Android เลย ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งเพื่อใช้งานเหมือนกับ Android Auto และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหน้าจอภายในรถยนต์ในการทำงาน
ผู้ใช้งานสามารถเริ่มต้นใช้งานได้ง่าย ๆ ด้วยการสั่งผ่าน Google Assistant ว่า "Ok Google นำทางไปที่[จุดหมาย]" หรือจะเริ่มใช้งานจากแอป Google Maps ก็ได้เช่นกัน
โดยการทำงานของ Google Assistant Driving Mode จะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหน้าจอภายในรถยนต์เหมือนกับ Android Auto
Android Automotive หรือ Android Automotive OS (AAOS) เป็นอีกระบบ ที่หากมองแบบผิวเผินก็ไม่แตกต่างจาก Android Auto เท่าไหร่นัก จากการที่มันทำงานบนหน้าจอที่ติดตั้งอยู่ภายในรถยนต์เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันไม่ใช่แอปพลิเคชันเหมือนกับ Android Auto หรือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Android อย่าง Google Assistant Driving Mode เลย
โดย Android Automotive ถือว่าเป็นระบบปฏิบัติการ Android ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ในรถรถยนต์โดยเฉพาะ เหมือนกับ Android TV ที่พัฒนาขึ้นมาใช้ในโทรทัศน์ หรือแม้แต่ WearOS ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในสมาร์ทวอทช์โดยเฉพาะ
มันเปิดตัวในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัท Google และ Intel กับผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Volvo และ Audi จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับของตนเองได้ง่ายขึ้น ด้วยการนำ Android Automotive ซึ่งเป็น ซอฟต์แวร์แบบ เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-Source Software) มาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอด
Android Automotive จะถูกติดตั้งลงในรถยนต์โดยตรง ทำให้มันมีความสามารถสูงกว่า Android Auto หลายด้าน เพราะมันสามารถควบคุมระบบของรถยนต์ได้ด้วย เช่น สามารถปรับเบาะ, เพิ่มแอร์, เปิดกระจก, แสดงข้อมูลสถานะของรถยนต์ เช่น น้ำมันคงเหลือ, ความเร็ว, ภาพจากกล้องที่ติดตั้งรอบตัวรถ ฯลฯ ได้จากหน้าจอภายในรถยนต์โดยตรง และมันยังรองรับ Google Service และ Google Play เพิ่มดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติมได้ด้วย
ภาพจาก : https://www.polestar.com/uk/polestar-2/infotainment/
อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการใช้ Android Automotive มีทางเดียวคือ ต้องซื้อรถใหม่ที่รองรับ Android Automotive เท่านั้น เนื่องจากต้องมีฮาร์ดแวร์สำหรับรันระบบปฏิบัติการ Android ภายในรถโดยเฉพาะ รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในรถด้วย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ฮาร์ดแวร์ กับ ซอฟต์แวร์ โดยตรง
คุณสมบัติ | Android Auto | Android Automotive |
รูปแบบซอฟต์แวร์ | ทำงานบนสมาร์ทโฟน แสดงผลบนจอภายในรถ | เป็นระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งลงบนรถโดยตรง |
ความแพร่หลาย | รองรับกับรถยุคใหม่แทบทุกรุ่น | มีในบางรุ่น และบางยี่ห้อเท่านั้น |
การติดตั้ง | ผู้ใช้ติดตั้งเพิ่มเองในภายหลังได้ | ติดตั้งเองไม่ได้ มาจากผู้ผลิตโดยตรง |
ความต้องการของระบบ | Android 8.0 หรือใหม่กว่า | รองรับทั้ง iOS และ Android |
แอปพลิเคชันนำทาง | หลากหลาย | จำกัด |
แอปพลิเคชันที่ติดตั้งได้ | หลากหลาย | จำกัด |
ติดตั้งแอปฯ ลงบน | สมาร์ทโฟน | รถ |
การควบคุมอุปกรณ์ภายในรถ | ไม่ได้ | ได้ |
Google Assistant | ได้ | ได้ |
เชื่อมต่อแบบไร้สาย | ได้ (Android 11.0 ขึ้นไป) | ได้ |
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าอะไรจะดีกว่ากัน อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเลือกเลย ถ้ารถเรามี Android Automotive อยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะดาวน์โหลด Android Auto มาใช้ และถ้ารถของเราไม่มี Android Automotive เราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากเลือกใช้งาน Android Auto
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |