เราคงรู้จัก หน่วยความจำหลัก (RAM), รู้จัก ฮาร์ดดิสก์ (HDD) และรู้จัก อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งในบรรดาหน่วยความจำทั้ง 3 ชนิดนี้ RAM สามารถทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันเก็บข้อมูลได้แบบชั่วคราว ปิดเครื่อง หรือปิดซอฟต์แวร์เมื่อไหร่ ? ข้อมูลที่อยู่ใน RAM ก็จะหายไปทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงมากของ RAM ทำให้มีคนหัวใส หาทางนำ RAM มาทำงานแทน HDD หรือ SSD จนได้ ซึ่งมันก็ช่วยให้การทำงานของตัวระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เร็วขึ้นจริง สิ่งนี้ เรียกว่าการทำ "แรมดิสก์ (RAM Disk)" นั่นเอง
ในบทความนี้เราจะมาอธิบายว่า RAM Disk ทำงานอย่างไร ? มีข้อ-ข้อเสียอะไรบ้าง ? คุ้มค่าที่จะทำหรือไม่กัน ?
ในความเป็นจริงแล้ว "RAM Disk" มีอีกหลายชื่อเรียก บ้างก็เรียกว่า "RAM Drive", "Virtual Disk", "Virtual Hard Drive" หรือ "Emulated Disk (e-disk)" มันเป็น ซอฟต์แวร์บุคคลที่สาม (3rd-Party Software) ชนิดหนึ่ง ที่จะควบคุมให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติกับพื้นที่บางส่วนของ RAM ให้ทำงานเหมือนกับว่ามันเป็นฮาร์ดไดร์ฟ เนื่องจากแรมมีความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูลที่สูงมาก ส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้เร็วขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การทำ RAM Disk ไม่ได้มีแต่ข้อดี มันมีข้อจำกัดในการทำงานอยู่เช่นกัน
RAM Disk ได้ทำลายนิยามของสำคัญของฮาร์ดไดร์ฟลง นั่นคือการเป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลแบบถาวร เพราะ RAM เป็นหน่วยความจำแบบชั่วคราว (Volatile Memory) ที่ข้อมูลทั้งหมดจะหายไปในทันทีที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงเอาไว้ แต่ข้อดีของ RAM ก็เป็นเรื่องของความเร็ว แม้แต่ SSD ที่เร็วที่สุดในตอนนี้ก็ยังมีความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูล ที่ช้ากว่า RAM อยู่หลายเท่า
RAM ที่เร็วแต่เก็บข้อมูลได้ชั่วคราว กับ HDD และ SSD ที่แม้จะทำงานได้ช้ากว่า แต่สามารถเก็บข้อมูลได้แบบถาวร เป็นสัจธรรมเช่นนี้มาตลอดเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเทคโนโลยีของมนุษยชาติอยู่ในระดับที่ส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้แล้ว ทำไมเราจะทำฮาร์ดไดร์ฟจาก RAM ไม่ได้ ?
ตามปกติแล้วคอมพิวเตอร์ทุกระบบจะใช้ RAM ในฐานะแคช Cache (ที่เก็บข้อมูลชั่วคราว) ระหว่างชิปประมวลผล กับ HDD / SSD ในเวลาที่เปิดซอฟต์แวร์ และไฟล์ อย่างไรก็ตาม ตัวระบบปฏิบัติการ รวมถึงซอฟต์แวร์บางชนิด อย่างเช่น โปรแกรม Photoshop, Illustrator หรือ After Effects ในขณะที่มันกำลังทำงาน จะมีการกั้นพื้นที่บางส่วนของฮาร์ดไดร์ฟมาใช้ เรียกว่า "Temp" หรือ "Scratch" เนื่องจากการทำงานของมันมักจะมีการสร้างไฟล์ขนาดใหญ่ขึ้นมา หากนำข้อมูลทั้งหมดไปเก็บไว้ที่ RAM มันอาจจะไม่เพียงพอ และส่งผลให้ระบบไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อการทำงาน ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่าคอมพิวเตอร์ทำงานช้าลงเป็นอย่างมาก
แต่ในปัจจุบันนี้ ราคาของ RAM ถูกกว่าในอดีตมาก คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานหลายคนมี RAM ขนาดใหญ่มากจนเหลือใช้ จึงเริ่มมีความคิดว่า ถ้าเรายกข้อมูลของ Temp ทั้งหมดไปใส่ไว้ใน RAM หรือการทำ RAM Disk ทุกอย่างจะต้องเร็วขึ้นแน่ ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง
อันที่จริง หลักการทำงานของ RAM Disk ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน โดยมันจะนำพื้นที่บางส่วนของ RAM มาแบ่ง Partition เพื่อสร้างเป็นหน่วยความจำแบบจำลอง (Virtual storage) ที่ตัวระบบปฏิบัติการสามารถเข้าถึงได้เหมือนกับ HDD, SSD หรือ แฟลชไดร์ฟ (USB Flash Drive)
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการทำ RAM Disk ก็มีอยู่เช่นกัน
คือผู้ใช้จะต้องไม่ลืมที่จะสำรองข้อมูลทั้งหมดกลับสู่ HDD หรือ SSD ก่อนที่จะปิดเครื่องเสมอ และต้องดาวน์โหลดข้อมูลกลับไปที่ RAM Disk ใหม่ในทุกครั้งที่เปิดเครื่อง
และพื้นที่ของ RAM เมื่อถูกนำมาใช้สร้างเป็น RAM Disk แล้ว ตัวระบบปฏิบัติการก็จะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้น ถ้า RAM ในระบบเรามีความจุต่ำ แทนที่การทำ RAM Disk จะช่วยเพิ่มความเร็วให้ระบบ มันก็อาจส่งผลตรงกันข้ามแทนได้
ภาพจาก : https://www.pcmag.com/encyclopedia/term/ram-disk
อย่างไรก็ตาม หน่วยความจำหลัก (CPU) ในปัจจุบันนี้ ทั้ง Intel และ AMD สามารถรองรับ RAM ได้สูงสุดถึง 192 GB และหากเป็นระดับ Workstations จะรองรับได้สูงสุดถึง 2 TB. ซึ่งซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ใช้ RAM ไม่ถึงจำนวนเท่านั้นอยู่แล้ว จึงมีพื้นที่เหลือเฟือให้ ผู้ใช้งานสามารถนำมันมาทำ RAM Disk ได้
ความเร็วของในการอ่าน-เขียนข้อมูลของ HDD อยู่ที่ประมาณ 120MB/s ส่วน SSD นั้น หากเป็นรุ่นใหม่ที่ใช้โปรโตคอล PCIe 5.0 ก็สามารถทำได้ถึง 10,000 MB/s ซึ่งถือว่าเร็วมากแล้ว แต่หากนำไปเทียบกับความเร็วของ RAM ก็ยังช้ามาก DDR4 RAM Disk มีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 30,000 MB/s ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในยุคของ RAM แบบ DDR5 แล้ว ความเร็วของ DDR5 RAM Disk จึงยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ภาพจาก : https://forum.cockos.com/showthread.php?t=278101
โดยปกติเราจะทำหรือสร้าง RAM Disk ด้วยซอฟต์แวร์ โดยมันมีซอฟต์แวร์สำหรับทำ RAM Disk ให้เลือกใช้งานอยู่มากมาย ทั้งแบบฟรี และไม่ฟรี ตัวฟรีที่ได้รับความนิยมก็อย่างเช่น โปรแกรม ImDisk ที่เป็น ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส (Open-Source Software) มีจุดเด่นตรงที่ไม่จำกัดขนาดของ RAM Disk ที่จะสร้าง และใช้งานค่อนข้างง่าย สามารถสร้างได้ทั้ง ระบบไฟล์ NTFS, exFAT และ FAT32
ตัวเลือกอื่น ๆ ที่ฟรีเหมือนกันก็อย่างเช่น OSFMount จากบริษัท PassMark หรือจะเป็น Radeon RAMDISK จาก AMD (Intel ก็ใช้งานได้) แต่ซอฟต์แวร์ตัวนี้ เวอร์ชันฟรีจะสร้าง RAM Disk ได้ใหญ่สุดแค่ 4 GB. เท่านั้น ถ้าจ่ายเงินจะสร้างได้ใหญ่สุดถึง 64 GB.
ภาพจาก : https://sourceforge.net/projects/imdisk-toolkit/
ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณผู้อ่านก็น่าจะพอเข้าใจแล้วว่า การทำ RAM Disk นั้นมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง ?
ว่ากันตามตรง หากมองในแง่ของความคุ้มค่า มันก็เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่นัก หากคุณต้องซื้อ RAM เพิ่มเพื่อมาทำ RAM Disk โดยเฉพาะ ซึ่งในความเป็นจริง RAM ก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ทำงานแทนฮาร์ดไดร์ฟแต่แรกอยู่แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม หากคอมพิวเตอร์ของคุณมี RAM 32 GB. หรือ 64 GB. ในบางสถานการณ์ที่ RAM มีที่ว่างเหลือเยอะ การนำพื้นที่ที่เหลือมาใช้ในการทำงานอย่างเช่น โปรแกรม Adobe Premiere Pro หรือ เกม AAA จะช่วยให้ตัวซอฟต์แวร์ทำงานได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก
ดังนั้น ควร หรือไม่ควรทำ RAM Disk มันก็ขึ้นกับฮาร์ดแวร์ที่คุณมี และพฤติกรรมในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ถ้าปกติทำแค่งานเอกสาร เล่น เว็บเบราว์เซอร์ ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ชีวิตลำบาก
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |