ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-ai-image/concept-person-suffering-from-cybersickness-technology-addiction_204412137.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 786
เขียนโดย :
0 7+%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%8C+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ

ในอดีตนักต้มตุ๋น (Scammer) มักใช้ประโยชน์จากคนหัวอ่อน ไหวพริบต่ำ ในการช่องโหว่เพื่อหลอกลวง ซึ่งในปัจจุบันนี้ ภัยอันตรายจากนักต้มตุ๋นมีความใกล้ตัวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารสะดวกกว่าเดิม เราสามารถคุยกับคนแปลกหน้าทั้งโลกได้อย่างง่ายดาย แต่อีกนัยหนึ่ง มิจฉาชีพ นักต้มตุ๋นก็สามารถเข้าหาเราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

บทความเกี่ยวกับ Scam อื่นๆ

ในการล่อลวง นักต้มตุ๋นมักสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เหยื่อตกอยู่ในความรู้สึกเร่งด่วน ใช้ทรัพยากรหลายอย่างเพื่อทำให้การหลอกลวงดูน่าเชื่อถือที่สุด ในบทความนี้ เราจะมาเตือนภัยรูปแบบการหลอกลวงที่พบได้บ่อยที่สุด และสิ่งที่ควรระวัง เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นเหล่านี้ ...

เนื้อหาภายในบทความ

  1. การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง
    (Phishing Scam)
  2. เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ปลอม
    (Shopping Website Scam)
  3. อ้างว่าอุปกรณ์ของคุณมีมัลแวร์ พร้อมช่วยแก้ปัญหา
    (Malware and Tech Support Scams)
  4. หลอกให้รัก
    (Romance Scam)
  5. หลอกจ้างงาน
    (Job Scam)
  6. หลอกว่าถูกลอตเตอรี่ หรือรางวัลใหญ่
    (Lottery and Prize Scams)
  7. หลอกให้บริจาค
    (Charity Scam)

1. การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (Phishing Scam)

ฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นเทคนิคฉ้อโกงที่ออกแบบเพื่อหลอกล่อเหยื่อให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลการเข้าสู่ระบบ, หมายเลขบัตรเครดิต, ข้อมูลบัญชีธนาคาร, รหัสผ่านแบบครั้งเดียว (OTP) ฯลฯ

การ Phishing สามารถพบได้บ่อยที่สุดทางอีเมล, ข้อความ SMS, Ads ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ หรือจะเป็นแกงค์คอลเซ็นเตอร์ที่โทรมาแต่งนิทานให้เราฟังก็จัดว่าเป็นการฟิชชิ่งเช่นกัน

โดยเนื้อหามักจะอ้างว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับบัญชีของคุณ พร้อมกับแนบลิงก์สำหรับใช้แก้ไขปัญหา หากคุณหลงเชื่อคลิก และกรอกข้อมูล ลงไปในหน้าเว็บไซต์ปลอมที่นักต้มตุ๋นสร้างขึ้นมาก็เรียบร้อยเลย

ในการปกป้องตัวเอง ขั้นแรกจงตั้งสติให้มั่น ตรวจสอบที่อยู่อีเมล หรือเบอร์ของผู้ส่งให้ดี เพราะนักต้มตุ๋นมักจะมีที่อยู่อีเมลแปลก ๆ มักจะตั้งเลียนแบบอีเมลของจริง แต่จะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หรือบางจุดที่สะกดผิด เพราะไม่สามารถใช้ที่อยู่ซ้ำกับของจริงได้

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ
ภาพจาก : https://www.limetreelabs.com/blog/apple-phishing-scam/

2. เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ปลอม (Shopping Website Scam)

การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องปกติมากในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะด้วยราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าการไปซื้อตามหน้าร้าน หรือในห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงระบบขนส่งที่ดีกว่าเดิมมาก สั่งวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้รับของแล้ว ทำให้ความนิยมในการซื้อของออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

มีหรือที่นักต้มตุ๋นจะมองไม่เห็นโอกาสนี้ ซึ่งก็มีการโจมตีอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่การทำเว็บไซต์ปลอมที่ลอกเลียนแบบเว็บไซต์ของจริง, เว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าปลอมละเมิดลิขสิทธิ์, ปลอมเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการชำระค่าสินค้า เช่น Paypal, Stripe, Skrill ฯลฯ

ในการสังเกตว่า เว็บไซต์เหล่านี้เป็นของปลอมหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จาก โดเมนเนม (Domain Name), การสะกดชื่อเว็บไซต์, วันที่จดทะเบียนโดเมนเนมใหม่เกินไป หรือราคาสินค้าที่ถูกจนน่าสงสัย หากพบความผิดปกติเหล่าให้คิดไว้ก่อนเลยว่ามันน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอม

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ
หนึ่งในสินค้าปลอมที่พบได้บ่อยมากบนแพลตฟอร์ม Facebook

3. อ้างว่าอุปกรณ์ของคุณมีมัลแวร์ พร้อมช่วยแก้ปัญหา (Malware and Tech Support Scams)

มาพูดถึงหน้าต่างป๊อปอัป (Pop-Up) ที่เรามักเห็นเวลาเข้าเว็บไซต์ที่มีการอัดโฆษณาเยอะ ๆ เต็มหน้าจอ มันมักจะมีสักอันที่มีข้อความบอกว่า "คอมพิวเตอร์ของคุณติดไวรัส" ไม่ก็ติด มัลแวร์ (Malware) พร้อมกับบอกให้คลิก หรือโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ถูกระบุไว้เพื่อติดต่อไปยังฝ่ายสนับสนุนของ ระบบปฏิบัติการ Windows

หน้าต่างเหล้านี้ไม่ได้มาจากบริษัท Microsoft และอุปกรณ์ของคุณก็ไม่ได้มี ไวรัสคอมพิวเตอร์ (Computer Virus) หรือมีมัลแวร์ใด ๆ อยู่จริง ๆ หรือต่อให้มี หน้าต่างป๊อปอัปของเว็บไซต์เหล่านี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบแล้วบอกคุณได้หรอก มันเป็นวิธีการเก่าแก่ที่นักต้มตุ๋นใช้กันมานานแล้ว

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อแล้วติดต่อกลับไป นักต้มตุ๋นจะขอให้เหยื่อจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าบริการในการ "ซ่อม" หรือ "ลบ" "ไวรัส" ซึ่งเหยื่อที่หลงเชื่อมักจะเป็นผู้สูงอายุที่ขาดความรู้เท่าทัน

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ
ภาพจาก : https://www.keepersecurity.com/blog/2024/07/12/how-to-protect-yourself-from-tech-support-scams/

4. หลอกให้รัก (Romance Scam)

มีภาษิตว่าความรักทำให้คนตาบอด ปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันหาคู่เกิดขึ้นมากมาย เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนเหงา หรือผู้ที่วัน ๆ ทำแต่งานไม่มีโอกาสไปพบเจอคนใหม่ ๆ

แต่ความสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดีย หรือแอปหาคู่เป็นสิ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาปากหวาน รีบร้อนในการแสดงความรัก ทำให้คุณรู้สึกดีแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เพราะพวกเขาอาจเป็นนักต้มตุ๋น

นักต้มตุ๋นมักจะสร้างตัวตนปลอมในโลกออนไลน์เป็นคนหน้าตาดีสวยหล่อ มาสร้างความไว้วางใจ และเมื่อเวลาผ่านไปจะใช้การหลงใหลในความรักเพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้ เช่น กำลังจะบินมาหาแต่ติดอยู่สนามบินไม่มีเงินสด หรือจะส่งของขวัญมาให้แต่ขอให้คุณโอนค่าดำเนินการก่อนแล้วเดี๋ยวจะคืนให้พร้อมของขวัญ เป็นต้น นักต้มตุ๋นเหล่านี้มักจะอ้างว่าทำงานนอกประเทศของเหยื่อ เพื่อให้ง่ายต่อการหลีกเลี่ยงการพบกันในชีวิตจริง และสามารถรักษาการหลอกลวงให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในการตรวจสอบ แนะนำให้นำรูปโปรไฟล์ที่คุณมีไปค้นหาภาพย้อนกลับบน Google รวมไปถึงชื่อ เพื่อดูว่ามีข้อมูลของคนนั้นจริงหรือเปล่า และตรงกับที่เขาบอกคุณหรือไม่ ?

5. หลอกจ้างงาน (Job Scam)

ถ้ามันดีเกินไปที่จะเป็นความจริง ควรคิดไว้เสมอว่ามันไม่ใช่ความจริง "การจ้างงาน" เป็นหัวข้อที่นักต้มตุ๋นนิยมใช้ในการล่อลวงเหยื่อ ซึ่งก็มีตั้งแต่หลอกจ้างงานเพื่อให้เหยื่อส่งเอกสารข้อมูลส่วนตัวให้, ส่งเงินเป็นค่าสมัคร หรือไม่ก็หลอกให้ทำงานบางอย่างฟรีให้ แล้วหนีไปโดยไม่จ่ายค่าจ้าง

ทุกวันนี้ ก็ยังเห็นการหลอกลวงประเภทนี้บ่อย โดยมักใช้คำเชิญประมาณว่างานสบาย รายได้ดี ทำที่บ้านได้ บางครั้งนักต้มตุ๋นอาจใช้วิธีตะล่อมอย่างมืออาชีพ มีการนัดสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอแชทเพื่อเพิ่มความสมจริง อย่างไรก็ตาม ในบางจุดของการสัมภาษณ์ หรือหลังจากนั้น นักต้มตุ๋นอาจขอให้คุณซื้ออุปกรณ์บางอย่าง หรือขอข้อมูลสำคัญของคุณ เช่น ใบขับขี่ หรือหมายเลขบัตรประชาชน ไม่ก็ถูกขอให้จ่ายเงินค่าดำเนินการเพื่อเริ่มงาน

วิธีการป้องกันคือ อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือโอนเงินโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลผู้ว่าจ้างให้แน่ใจเสียก่อน ถ้ามีข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินจริง ควรตรวจสอบโดยการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือผู้จ้างงานอย่างละเอียดก่อนที่จะเริ่มทำงานให้

6. หลอกว่าถูกลอตเตอรี่ หรือรางวัลใหญ่ (Lottery and Prize Scams)

อีกหนึ่งท่าสุดคลาสสิคคือ นักต้มตุ๋นจะโทรศัพท์, ส่งข้อความ หรืออีเมลมาบอกว่าคุณเป็นผู้โชคดีถูกรางวัลใหญ่มูลค่ามหาศาล แต่ก่อนที่คุณจะรับรางวัลได้ มันจะแจ้งให้คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียม หรือให้ข้อมูลบัญชีของคุณเสียก่อนเพื่อให้รับรางวัลได้  โดยนักต้มตุ๋นจะนิยมอ้างว่าโทรมาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงเพื่อทำให้คุณรู้สึกเหมือนถูกรางวัลจริง

อีกสัญญาณหนึ่งของการหลอกลวงเรื่องรางวัลคือ ความรู้สึกเร่งด่วนที่นักต้มตุ๋นจะพยายามสร้างขึ้น ด้วยการกดดัน อ้างว่าเป็นข้อเสนอที่มีระยะเวลาจำกัดเพื่อทำให้เหยื่อต้องรีบตัดสินใจก่อนที่จะมีเวลาคิด หรือตรวจสอบ

7. หลอกให้บริจาค (Charity Scam)

นี่เป็นการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยมาก อาจเพราะคนไทยใจดีขี้สงสารด้วย ในช่วงที่มีเหตุการณ์วิกฤต, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือหมาแมวประสบอุบัติเหตุ นักต้มตุ๋นจะรีบตั้งมูลนิธิปลอมเพื่อมาประกาศรับบริจาคเงิน เพื่อนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ แต่แท้จริงแล้วเงินเหล่านั้นจะไหลเข้ากระเป๋าของนักต้มตุ๋น ที่แย่ไปกว่านั้นคือ นักต้มตุ๋นบางคนถึงกับจับสัตว์มาทำร้ายเพื่อเรี่ยไรเงินบริจาคค่ารักษา 

ดังนั้น หากคุณคิดจะเมตตา อยากบริจาคเงินไปยังมูลนิธิใด ๆ ควรตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัด ควรเลือกบริจาคให้กับมูลนิธิที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมายเสียก่อน

7 กลลวงออนไลน์ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ
ภาพจาก : https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/posts/pfbid02Hn4wroUAbJp3HHcsmydfcEpjsBjpAFseoqFFWoUq7JoJby7s7HHmDgMuK7YYqzrFl


มีการหลอกลวงมากมายที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ดังนั้น เราควรระวัง เล่นอินเทอร์เน็ตอย่างมีสติ และติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เพื่อตัวคุณเอง แต่เพื่อครอบครัว และคนใกล้ตัวของคุณด้วย


ที่มา : www.howtogeek.com

0 7+%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%8C+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น